ปัจจุบันการขับเคลื่อน Digital Banking ก้าวข้ามจากการเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกสำหรับลูกค้า สู่การเป็น New Normal เป็นมาตรฐานใหม่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจธนาคารทุกราย เรียกได้ว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ “ไม่มีไม่ได้” เพราะความต้องการในการทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่สาขา หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอีกต่อไป รวมทั้งความสะดวกและอิสระในการทำธุรกรรมได้ด้วยตัวเองจากทุกที่ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยปลอดจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินสำหรับผู้บริโภคคนไทยในยุคนี้ไปแล้ว
สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่แต้มต่อที่ธุรกิจธนาคารต่างๆ จะนำมาใช้เพื่อให้ได้ใจผู้บริโภคอีกต่อไป เพราะในมุมมองของลูกค้าที่ใช้ Digital Banking ในปัจจุบัน ต่างมองว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นบริการพื้นฐานที่ธนาคารต่างๆ ต้องมอบให้แก่ลูกค้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “กำแพงค่าธรรมเนียม” ได้ถูกทำลายลง ทำให้ลูกค้าหลายรายมีความรู้สึกว่า ไม่ว่าจะใช้ Digital Baking จากธนาคารใดก็ไม่มีความแตกต่างกัน
ME ตอกย้ำ Digital Banking ตัวจริง
แม้ช่วงรอบปีที่ผ่านมา จะสัมผัสได้ถึงความรุนแรงและการขยับตัวของธนาคารต่างๆ ในการขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Digital Banking จากฟีเจอร์หรือบริการต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความจริงแล้วประเทศไทยเริ่มพัฒนาดิจิทัลแบ้งก์กิ้งมาไม่ต่ำกว่า 6 ปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยธนาคารทหารไทยหรือ TMB เป็นผู้บุกเบิกด้วยการแนะนำบัญชีเงินฝากดิจิทัลภายใต้แบรนด์ใหม่ ME by TMB ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งถือเป็นการสร้างปรากกฏการณ์ใหม่ให้แก่ธุรกิจธนาคารของประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปที่สาขา รวมทั้งให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปถึง 4.5 เท่า เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินงานผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด จึงมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่ต่ำกว่า เพราะไม่มีสาขาและไม่ต้องใช้พนักงานประจำสาขา จึงสามารถให้ผลตอบแทนผ่านอัตราดอกเบี้ยที่สูงได้ถึง 1.7% ต่อปี
แม้ปัจจุบัน Digital Banking อาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นมากนัก แต่เมื่อย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีก่อนหน้า ในยุคที่คนไทยยังไม่รู้จักคำว่า Thailand 4.0 ยุคที่ยังไม่มีการใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย หรือมีการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย อย่างเฟสบุ๊กหรือไลน์ในระดับกว่า 40 ล้านคนอย่างทุกวันนนี้ ความพร้อมหรือความเป็นไปได้ในการมองเห็นภาพของการขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Banking ในสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ขณะที่รูปแบบในการเข้าถึงดิจิทัลแบงก์กิ้งในขณะนั้นยังเป็นการเข้าผ่าน Internet Banking เป็นหลัก ไม่ใช่การใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นที่อยู่บน Mobile Banking อย่างในปัจจุบัน
คุณมิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารส่งเสริมการตลาดลูกค้าบุคคล TMB และ ME by TMB ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าบัญชีเงินฝากดิจิทัล ME หรือในปัจจุบันคือ ME SAVE ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการฉีกกฏเกณฑ์เดิมๆ ของการดำเนินธุรกิจธนาคารในประเทศไทยในขณะนั้น ในฐานะบัญชีเงินฝากดิจิทัลเป็นรายแรกของประเทศ ภายใต้แนวคิด Self Service Banking to GET MORE สะท้อนถึงสิ่งที่ลูกค้า ME จะได้รับมากกว่า จากการทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ตามกลยุทธ์ Customer Centric ซึ่งต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการธนาคารครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านช่องทางดิจิทัล ตั้งแต่การเปิดบัญชี ไปจนถึงการใช้งานในชีวิตประจำวัน ฝาก-ถอน- โอน-จ่ายบิล และเช็คดอกเบี้ยสะสม ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งทางออนไลน์ และ Call Center
โดยยังใช้แนวคิดเดิมตั้งแต่เริ่มให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการต่อยอดมาสู่คอนเซ็ปต์ ME is MORE พร้อมแนะนำ ME MOVE บัญชีใช้จ่ายดิจิทัล เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทางการเงินของลูกค้าในยุคปัจจุบันได้อย่างเต็มรูปแบบ และยังตอกย้ำภาพความเป็น Digital Banking ตัวจริงของ ME by TMB ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
“ME MOVE เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากซับแบรนด์อย่าง ME ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 7 และสะท้อนภาพผู้นำการพัฒนานวัตกรรม Digital Baking ของ ME ที่จะทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ถึงความแตกต่างจากการใช้งานบัญชีดิจิทัลอื่นๆ เนื่องจากมาพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะ Balance Sweep ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากผู้ช่วยในการบริหารทางการเงินของเจ้าของบัญชี ที่สามารถปัดเงินที่เหลือจากจำนวนที่กำหนดไปเก็บไว้ในบัญชี ME SAVE เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่าได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก และได้รับผลประโยชน์ที่มากกว่าจากอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า”
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB พูดถึงความสามารถของบัญชี ME MOVE ในการตอบ Pain Point ผู้บริโภคคนไทย โดยเฉพาะปัญหาที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม หรือส่วนใหญ่ก็มักจะออมเงินผิดประเภท ทำให้มีปัญหาในการบริหารการเงินต่างๆ หรือหนี้สินตามมา โดยเฉพาะการเลือกเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อความสะดวกในการนำเงินออกมาใช้จ่ายในยามจำเป็น โดยจำนวนบัญชีออมทรัพย์ที่มีการเปิดบัญชีอยู่ทั่วประเทศในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 80 ล้านบัญชี โดยมียอดเงินในบัญชีเกือบ 5 ล้านล้านบาท ที่พลาดได้ดอกเบี้ยที่เหมาะสมไม่ต่ำกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนที่จะได้ในรูปแบบของดอกเบี้ยจากบัญชีกลุ่มนี้อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.3 -0.5 % เท่านั้น
ความแตกต่างของ ME MOVE สะท้อนผ่านแนวคิด “อยากใช้ได้ใช้ อยากเก็บได้มากกว่า” ด้วยการเป็นบัญชีดิจิทัลเพื่อการใช้จ่าย และเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามความต้องการ รวมทั้งยังสามารถนำส่วนที่เกินไปออมไว้ในบัญชีที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าอย่าง ME SAVE โดยอัตโนมัติ จึงไม่พลาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยการปล่อยให้เงินส่วนที่เกินนอนอยู่ในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ โดย ME by TMB นับเป็นรายแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการ Digital Banking อื่นๆ ได้อย่างชัดเจน และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการออมเงินในภาพรวมของคนไทยให้อยู่ในระดับที่ดีเพิ่มมากขึ้นด้วย
ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ชอบออมเงิน
การพัฒนา ME MOVE ถือว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายของ ME ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่ม GEN Y และ Z ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี ชอบบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ชอบความยุ่งยากและซับซ้อน รวมทั้งไม่ชอบรอคอยอะไรนานๆ ขณะที่เรื่องของการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ กลายเป็นหนึ่งองค์ประกอบในการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ไปแล้ว
ขณะที่เงื่อนไขในการใช้บริการ ME MOVE อยู่บนพื้นฐานของความสะดวกและไม่ยุ่งยาก โดยสามารถเปิดบัญชีได้หลังจากมีบัญชี ME SAVE แล้ว ในระยะเวลาเพียง 2 นาที จากแอพพลิเคชั่น ME by TMB โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการดำเนินงานใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการโอน การเปิดบัญชี หรือค่าธรรมเนียมบัตร โดยทาง ME ตั้งเป้าจะมีจำนวนผู้เปิดบัญชี ME MOVE ภายในสิ้นปีนี้ที่ราว 4 หมื่นบัญชี ทั้งจากลูกค้า ME เดิม รวมทั้งลูกค้าใหม่
“ME MOVE เป็นมากกว่าแค่บัญชีเงินฝาก แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและสร้างระบบในการออมเงิน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มองหาวิธีในการออมเงินได้แบบไม่ยุ่งยาก ด้วยบริการจากเทคโนโลยี Balance Sweep ที่ช่วยให้ย้ายเงินไปเก็บไว้ในบัญชี ME SAVE ซึ่งมีผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด และมีการคำนวนดอกเบี้ยแบบรายวัน ต่างจากบัญชีเงินฝากประจำอื่นๆ ที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงก็ต่อเมื่อฝากครบระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้ด้วยตัวเองทั้งจำนวนเงินหมุนเวียนสำหรับการใช้จ่าย รวมทั้งความถี่ในการปัดเงินตามความต้องการทั้งแบบทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน จึงเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการออมที่น่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี”
และเพื่อตอกย้ำความสมบูรณ์ของการเป็น Digital Banking ของ ME หลังจากการพัฒนาเฟสแรก จนทำให้ ME MOVE มีนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างจากตลาดได้แล้ว ในอนาคตจะได้เห็นการพัฒนาที่มากขึ้นในเฟสต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการผูกบัญชีเข้ากับบัญชีพร้อมเพย์ ในช่วงไตรมาส 3 หรือการบรรจุ Virtual Card เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานของลูกค้าผ่านการให้บริการในรูปแบบของดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้นในช่วงปลายปี
ในส่วนของ ME SAVE ในฐานะเกตเวย์เพื่อเข้าสู่บริการ Digital Banking ของ ME ที่นอกจากเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ต้องการบัญชีเงินออมที่ได้ผลตอบแทนสูงและมีสภาพคล่องสูง เพราะสามารถฝากถอนได้ตามความต้องการโดยไม่กำหนดระยะเวลาแล้ว ยังจะพัฒนาการให้บริการเพื่อให้สามารถให้บริการผ่านรูปแบบดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ทั้ง 100% จากปัจจุบันที่ยังเหลือการยืนยันตัวตนในการเปิดบัญชีครั้งแรก (KYC) ที่ยังต้องไปที่สาขาอยู่ แต่ในอนาคตหลังการปลดล็อกจากแบงก์ชาติ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมการยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EKYC) ก็จะทำให้ขั้นตอนธุรกรรมต่างๆ ของ ME SAVE ทำผ่านดิจิทัลได้ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์
เห็นได้ว่า ME เป็น Digital Strategy ของ TMB ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคดิจิทัลได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถสร้างความแตกต่างจากดิจิทัลแบงก์กิ้งทั่วไปได้ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากดิจิทัล Process ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงวิธีการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่เพียงการนำระบบที่สาขามาไว้ในแอปพลิเคชั่น หรือออนไลน์ แต่สุดท้ายแล้วยังต้องไปทำธุรกรรมทุกอย่างที่สาขาเหมือนเดิม ดังนั้น ผลิตภัณฑ์และบริการของ ME ที่ถูกพัฒนาออกมานั้นจะต้องง่าย และสามารถใช้งานได้จริงโดยคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นหลัก บวกกับความคล่องตัวที่ต้องทำได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาเลย โดยสามารถทำทุกอย่างได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคดิจิทัลอย่างปัจจุบันเป็นอย่างดี
โดยตลอดกว่า 6 ปี ในการให้บริการ ME by TMB มีลูกค้าเปิดบัญชี ME SAVE แล้วกว่า 3.3 แสนบัญชี ซึ่งกว่า 70% เป็นกลุ่มลูกค้าใน กทม. และอีกเกือบ 30% อยู่ในต่างจังหวัด โดยในปีนี้ ME ตั้งเป้าหมายการเติบโตของบัญชี ME SAVE เพิ่มขึ้น 20% จากฐานลูกค้าปีก่อน และยังคงเน้นการตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้คอนเซปต์ “ME is MORE” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากการปลดล็อคค่าธรรมเนียมการโอนต่างธนาคารที่ผูกไว้กับบัญชี ME SAVE สูงสุด 3 บัญชี เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 10% สะท้อนถึงการตอบรับที่ดีของลูกค้าในการเข้าถึงและใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เพื่อช่วยให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้มากขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม บัญชี ME by TMB ได้ที่ www.mebytmb.com