HomeCSR“โปลิศน้อย” แชทบอท ก็ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้

“โปลิศน้อย” แชทบอท ก็ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้

แชร์ :

1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 4 ของชายไทยยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งทางเพศและทางร่างกาย แต่น้อยคนนักที่จะกล้าแจ้งความดำเนินคดี คุณจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของไทยที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติข่าวหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ.2559 พบคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวถึง 466 คดี โดย 83 % ของคดีทั้งหมดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถานการณ์ส่วนใหญ่ในทุกประเภทข่าวความรุนแรง ฝ่ายชายมักเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น โดยมีชนวนเหตุมาจากความหึงหวง ภรรยาไม่ยอมคืนดีด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็พบข้อมูลว่าฝ่ายหญิงเป็นผู้กระทำด้วยเช่นกัน แต่เหตุผลส่วนใหญ่ก็สืบเนื่องมาจากการทนทุกข์กับสภาวะการถูกกระทำความรุนแรงมาก่อนแล้ว

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความพยายามใช้ “เทคโนโลยี” มาช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสังคม โดย ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ที่พิจารณาเลือก 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการเห็นสังคมไทยเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หยิบไอเดีย “โปลิศน้อย” ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้โครงการสามารถใช้งานได้จริง

“สังคมเริ่มชินชากับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาดังกล่าวควรเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยน Mindset วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน สะท้อนทัศนคติที่ถูกฝังลึกว่าเมื่อหญิงและชายมีความสัมพันธ์กัน ทั้งในรูปแบบสามี-ภรรยา หรือคู่รักแบบแฟน ฝ่ายชายมักจะแสดงอำนาจเหนือกว่าผ่านการแสดงออกทั้งการครอบครอง การใช้กำลังบังคับข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นร้ายแรงที่สุดคือการฆ่า นอกจากนี้หลักสูตรที่เรียนกันในปัจจุบันก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องเพศอย่างถูกต้องนัก จึงควรบรรจุหลักสูตรเจนเดอร์ (Gender) เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันและบทบาทหญิงชาย รวมไปถึงสื่อก็ควรที่จะหยุดผลิดซ้ำวาทกรรมชายเป็นใหญ่จากละครที่มีฉากข่มขืน ทุบตีทำร้ายร่างกายต่าง ๆ ปัจจัยดังกล่าวทั้งสามข้อจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยยุติความรุนแรงในครอบครัวได้”  คุณจะเด็ด กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.หญิง เพียบพร้อม เมฆิยานนท์ (คุณโอ๋) อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน ผู้นำเสนอโครงการโปลิศน้อยกล่าวถึงปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย โดยส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์เนื่องมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ทั้งเกรงจะถูกตราหน้าให้อับอาย กลัวถูกข่มขู่ เป็นห่วงลูกเพราะยังจำเป็นต้องพึ่งพาคู่กรณีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เกิดจากผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น ผู้เสียหายเกรงว่าคดีที่ร้องทุกข์ไปอาจไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร หรือหากดำเนินคดีไปในขั้นตอนสุดท้ายในชั้นศาลก็เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยซ้ำไปมา เมื่อกลับเข้าสู่ช่วงความสัมพันธ์อันดีก็เกิดความใจอ่อน สงสาร จนทำให้ผู้ถูกกระทำเหล่านี้มักจะถอนคำร้องทุกข์ไปเสียเอง

สาเหตุดังกล่าวส่งผลให้สถิติในการดำเนินคดีมีจำนวนน้อย ขัดกับความจริงที่ปรากฏในข่าวหลายสำนักที่พบว่าผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงในครอบครัวสูงมาก จึงจะเห็นได้ว่ากลไกในการให้คำปรึกษาผ่านช่องทางดิจิตอลอย่างแชทบอทหรือแอปพลิเคชัน Line จะเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

“โปลิศน้อย” ช่วยงานตำรวจ – ลดปัญหาให้เหยื่อ

คุณโอ๋เผยว่าจุดเริ่มต้นไอเดีย “โปลิศน้อย” ได้มาจากในกลุ่มตำรวจที่มีการสอบถามเรื่องกระบวนการสืบสวนสอบสวนด้วยชุดคำถามเดิม ๆ ซ้ำกันอยู่บ่อยครั้ง และก็เห็นว่าในปัจจุบันทางคอลเซ็นเตอร์ของศูนย์บริการต่าง ๆ มักใช้         แชทบอทตอบคำถามลูกค้ามากขึ้น จึงคิดว่าน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการให้คำปรึกษา ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อาจเกิดความไม่ไว้ใจในการให้ข้อมูล

“มุมมองส่วนตัวเราที่เป็นเหยื่อ เวลาเจออะไรหนัก ๆ มาจากมนุษย์ด้วยกัน ก็ไม่อยากคุยกับมนุษย์อีกแล้ว การได้พูดคุยกับสิ่งอื่นอย่างหุ่นยนต์แชทบอททำให้เราระบายได้เต็มที่ อีกทั้งยังสามารถแนะนำแนวทางแก้ไขให้ได้อีกด้วย”

ทางด้านของ ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจากเทเลนอร์ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สื่อสาร “บอทน้อย” (Botnoi) ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย ก็ได้เข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์โปลิศน้อยนี้เช่นกัน โดยเห็นว่าข้อดีของการใช้แชทบอทอยู่ที่การสื่อสารสองทาง สามารถตอบโต้กับผู้ที่ร้องเรียนได้ แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการให้คำปรึกษามากพอ จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงมาก่อน สามารถ Inbox เบาะแสไปได้ในเพจเฟซบุ๊ก PoliceNoi โปลิศน้อย เพื่อรวบรวมข้อมูลชุดคำถาม-คำตอบ ซึ่งในตอนนี้ก็ยังต้องการชุดคำถามที่หลากหลายกว่านี้อีกมาก เพื่อให้สามารถชี้แนะแนวทาง ข้อกฎหมายต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และนำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์โปลิศน้อยต่อไป

ปัจจุบันหุ่นยนต์โปลิศน้อยกำลังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติจากทางแอปพลิเคชั่น LINE คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ สามารถร่วมสนับสนุนโครงการได้โดยการบริจาคเงินให้ “โปลิศน้อย เพื่อนหุ่นยนต์เพื่อผู้หญิง” ผ่านเว็บไซต์เทใจ (taejai.com) ซึ่งเชื่อว่าถ้า ไอเดียดังกล่าวจะช่วยเหยื่อที่ถูกกระทำให้สบายขึ้นเมื่อต้องถ่ายทอดประสบการณ์อันเจ็บปวด และจะช่วยเพิ่มความเข้าใจ แล้วส่งความช่วยเหลือไปได้รวดเร็วขึ้น

Kornkanok C.

   

   


แชร์ :