HomePR Newsสร้างบ้านให้ “ปลา” แปลงขยะ คืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ เพิ่มรายได้ให้ชาวประมง

สร้างบ้านให้ “ปลา” แปลงขยะ คืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ เพิ่มรายได้ให้ชาวประมง

แชร์ :

ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยนับเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการจากทางภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยาวแต่จำนวนการใช้พลาสติกกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกที่ขาดการบริหารจัดการอย่างถูกต้องตกลงสู่ท้องทะเล

ในปีนี้ เอสซีจี ได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนประมงพื้นบ้าน จัดกิจกรรม “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที… จิตอาสาสร้างบ้านปลาเอสซีจี” ณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ จ.ระยอง โดยกิจกรรมในปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที ของเอสซีจี ซึ่งมุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานจาก “จากภูผา สู่มหานที” เพื่อเป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนนายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนบริหารจัดการน้ำในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นโครงการบ้านปลา หัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลากว่า ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่การวางบ้านปลาหรือการสร้างฝายเท่านั้น แต่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลาและดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พลังของจิตอาสาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านปลาแล้วกว่า 10,000 คน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โครงการ ‘บ้านปลาเอสซีจี’ ปัจจุบันย่างเข้าสู่ปีที่ 7 ของการดำเนินงาน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งทำกินของประมงพื้นบ้านและเป็นเสมือนคลังอาหารสำคัญของประเทศไทย ตลอดโครงการที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำท่อ PE100 ซึ่งเป็นท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีนเกรดพิเศษ (High Density Polyethylene Pipe) ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป ประกอบเป็นบ้านปลา เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ (Waste to Value) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยท่อ PE100 นี้ ใช้เป็นท่อส่งน้ำและท่อส่งก๊าซ มีความแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อด้วยสถาบัน VTT ประเทศฟินแลนด์ ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่อันตรายออกมาสู่น้ำทะเล


ต่อยอดนวัตกรรม “บ้านปลารีไซเคิล”

สำหรับปีนี้ เอสซีจีได้ทดลองนำขยะพลาสติกที่พบบริเวณชายหาดและแหล่งชุมชนทั่วไป เช่นถุงพลาสติก ฝาขวดพลาสติก นำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลา เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและนำกลับมาสร้างคุณค่าให้ท้องทะเลไทย ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยในงานมีการแสดงตัว Prototype บ้านปลาที่มีส่วนผสมจากฝาขวดพลาสติกที่ใช้แล้วจำนวน 20,000 ฝา ร่วมกับท่อ PE100 ที่เป็นวัสดุตัวหลัก ลักษณะ “ทรงสามเหลี่ยม” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์และใช้งานได้จริง โดยเหลี่ยมมุมที่ลดลงช่วยลดปัญหาขอบท่อเกี่ยวอวนขาด ช่วยให้ประกอบง่ายขึ้นและใช้วัสดุน้อยลง น้ำหนักเบาลง ง่ายต่อการขนย้ายเพื่อนำไปวางในทะเล และยังคงทนต่อกระแสน้ำ ไม่พลิกหรือเคลื่อนย้ายง่ายเมื่ออยู่ในทะเล จากผลการทดสอบในเบื้องต้น พบว่าบ้านปลารีไซเคิลมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่อย่างไรก็ตาม บ้านปลารีไซเคิลนี้ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงในท้องทะเล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการทำวิจัย เพื่อค้นหาชนิดของพลาสติก และอัตราส่วนที่เหมาะสมที่จะสามารถนำมาทำบ้านปลาได้ดีที่สุด และมีความทนทานในด้านการใช้งานเทียบเท่าของเดิม คาดว่าภายในสองเดือนจะได้อัตราส่วนที่แน่นอน

แนวคิดการสร้างบ้านปลารีไซเคิล นอกจากจะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลแล้ว ขณะเดียวกันยังจะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สร้างสมดุลสู่ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย


ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 110 มม. เชื่อมต่อเป็นบ้านปลา ขนาดประมาณ 2 ตารางเมตรต่อหลัง 
(กว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร สูง 1.1 เมตร) น้ำหนัก 120 กิโลกรัม โดยลักษณะการจัดวาง 
จะใช้ลูกปูน น้ำหนักราว 10 กิโลกรัม วางที่ฐานบ้านปลา 

 

เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีบ้านปลาครอบคลุมชุมชนชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมด 34 ชุมชน ในจ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.จันทบุรี และมีการวางบ้านปลารวมกว่า 1,400 หลัง ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์กว่า 35 ตารางกิโลเมตร โดยจัดวางใกล้กันอย่างน้อย 10 หลัง คิดเป็นพื้นที่ราว 20 ตารางเมตรต่อกลุ่ม ซึ่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันดูแลให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ ที่ปลอดการจับปลา เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นขุมทรัพย์ใกล้ชายฝั่งให้ชาวประมงพื้นบ้านมีแหล่งทำมาหากิน มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

โดยการสำรวจในเดือนธันวาคมปี 2560 พบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการจัดวางบ้านปลามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ กลุ่มปลาสวยงาม
กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน กลุ่มสัตว์เกาะติด และกลุ่มแพลงก์ตอน

เอสซีจีตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกลุ่มประมงพื้นบ้านในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกภายในปี 2563 โดยในปีหน้าจะจัดทำบ้านปลาเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 หลัง

 

รวมพลังจิตอาสา

ครั้งนี้เอสซีจี ได้ระดมพลังจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 900 คน มาร่วมประกอบบ้านปลาจำนวน 50 หลัง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์ใต้ท้องทะเล เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเล พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน

 

งานนี้เรายังได้พบกับ สาวสวยสุดแซ่บเจ้าของเพจ HappyNancy” ถ้าหากพูดถึงเรื่องการดำน้ำและท้องทะเลแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักสาวผิวแทนที่มีรอยยิ้มสดใสคนนี้อย่างแน่นนอน

แนนซี่ได้ให้สัมภาษณ์กับทางเราเกี่ยวกับการตัดสินใจมาร่วมโครงการ ในครั้งนี้ว่า “การสร้างบ้านปลาเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเล เมื่อเอาบ้านปลาไปวางใต้น้ำจะทำให้กระเเสน้ำเปลี่ยน เกิดการหมุนเวียน เป็นที่อนุบาลปลา พอมีปลาเล็กก็จะมีปลาใหญ่ตามมา เกิดเป็นวงจรชีวิตขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์ถ้าได้ช่วยเผยแพร่ให้คนอื่นได้ตระหนักถึงคุณค่าของทะเลที่เรามีอยู่ ถ้าวันนึงมันจะหายไป เราควรทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยคือการลดใช้ถุงพลาสติก หรือการไม่ใช้หลอด งานสร้างบ้านปลานี้เป็นงานใหญ่ การเข้ามาร่วมงานครั้งนี้อาจจะทำให้คนได้เห็นถึงปัญหาและตระหนักมากขึ้น เราเองก็พยายามลดการใช้พลาสติกอยู่แล้ว เช่น การพกกระติกน้ำ ไม่ใช้หลอด และพยายามบอกต่อคนรอบข้างด้วยเช่นกัน

คิดอย่างไรกับ “บ้านปลารีไซเคิล”
เห็นด้วยกับการที่จะนำเอาขยะพลาสติกมาเป็นส่วนประกอบในการทำเป็นบ้านปลา เพราะเหมือนเป็นการได้ประโยชน์ถึงสองต่อ คือการลดปริมาณขยะพลาสติก และได้สร้างความอุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นเเหล่งอนุบาลปลาด้วย

แนนซี่ยังเผยให้ฟังอีกว่า เธอเป็นห่วงทะเล โดยเริ่มต้นจากการที่ตนเองไปดำน้ำที่ประเทศอินโดนีเซีย และได้เห็นภาพม้าน้ำเกาะหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วกลางทะเล ทำให้เธอตระหนักว่า การใช้หลอดเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองมากที่สุด และเธอก็เป็นคนแรกๆ ที่รณรงค์ไม่ใช้หลอด และเป็นกระเเสที่ดีมาก

สุดท้ายเเนนซี่ยังทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “ความจริงทะเลอาจจะไม่ได้คลาดแคลนบ้านปลา แต่ความต้องการของคนมากกว่าที่ต้องการบริโภคมากขึ้นเกินความจำเป็น ดังนั้นเราต้องกลับมามองเรื่องความพอเพียง ซึ่งหากเรา give มันมากๆ เราควรที่ต้อง take back กลับด้วยเช่นกัน

 

การให้และรับอย่างยุติธรรม “give and take” เป็นคติที่น่าสนใจในการที่เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลโครงการ ‘บ้านปลาเอสซีจี’ เป็นอีกกิจกรรมที่เราสามารถ take back สิ่งดีดีคืนกลับให้ธรรมชาติได้หลังจากที่เราได้รับประโยชน์นั้นมามาก และการกระทำนั้นก็จะคืนผลดีกลับมา นั่นคือความสมบูรณ์ของท้องทะเล และปริมาณสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอาหารของเราต่อไป


แชร์ :

You may also like