ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ซึ่งองค์กรต่างๆ จะสามารถอยู่รอดและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล 4.0 ที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามา Disruption และมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของดิจิทัลจึงเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ
สำหรับเทสโก้ โลตัส ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ก็ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม จากการเข้ามาของยุคดิจิทัล 4.0 ที่ถือว่าได้ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากขึ้น แม้ว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส ยังสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่องค์กรที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น จะไม่สามารถหยุดพัฒนาตัวเองลงได้ โดยเฉพาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วด้วย
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่เทสโก้ โลตัสให้ความสำคัญและนำมาใช้ คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กร ที่มีพนักงานประจำและชั่วคราวกว่า 50,000 คน ด้วยการสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และใช้วิธีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของแรงงานยุค 4.0 โดยได้ร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาหลักสูตรร่วมกันเพื่อให้พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้แบบ Personalised Learning ผ่านโครงการ “Learning Dollars” ซึ่งเป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของแรงงานยุค 4.0 ที่เน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ personalisation ownership และ flexibility
โครงการ Learning Dollars ได้เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลาย ตั้งแต่ Micro MBA ที่ใช้เวลาเรียน 2 ปี และหลักสูตรอื่นๆ ที่สามารถเลือกเรียนได้ทั้งแบบ classroom learning และ e-learning จนปัจจุบันได้ขยายความร่วมมือกับอีก 3 มหาวิทยาลัยเพิ่มเติม เบื้องต้นให้พนักงานระดับผู้จัดการเข้าเรียน ซึ่งทางเทสโก้ โลตัสจะมีงบประมาณให้เริ่มต้น 20,000 บาท แต่ผู้บังคับบัญชาจะมีสมุดเช็คมูลค่า 2 แสนบาท ที่สามารถอนุมัติเงินเพื่อศึกษาได้เพิ่มเติม ปัจจุบันมีพนักงานเทสโก้ โลตัสได้เข้าร่วมโครงการและผ่านหลักสูตรไปแล้ว 5 รุ่น ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนกลุ่มเทสโก้ ที่สหราชอาณาจักร มีความสนใจจะนำเอาโครงการดังกล่าวไปใช้ด้วย ซึ่งสหราชอาณาจักรมีพนักงานกว่า 3 แสนคน
คุณอรกานดา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการฝ่ายทรัพยากรบุคคล เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และเป็นการพัฒนาศักยภาพที่ยั่งยืน เพราะนอกจากพนักงานเหล่านั้นจะมีส่วนในการสร้างการเติบโตให้องค์กรแล้ว ยังมีส่วนพัฒนาองค์ความรู้ให้กับภาคแรงงานของประเทศได้ด้วย และเทสโก้ โลตัสเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน หรือเมื่อจบการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง หรือ Life Long Learning และการก้าวไปสู่สังคม 4.0 การเรียนรู้จะต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายภาคส่วนจะต้องมามีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและต่อสังคมด้วย
“เทสโก้ โลตัสเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่มี Corporate Learning จำนวนเยอะมาก ตั้งแต่ระดับพนักงานในการพัฒนาไปจนถึงระดับผู้บริหาร แต่ในระยะหลังสปีดในการพัฒนาคอนเทนต์ และศักยภาพในการพัฒนาความรู้ในมุมมองที่แตกต่าง ไม่ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไปไม่ทัน และบางวิชาเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงมากขึ้นและยุค 4.0 ก็มีวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โครงการนี้ได้มุมมองจากอาจารย์ที่สอนวิชาต่างๆ ที่มีต่องานที่พนักงานได้ทำ ถือว่าเป็นการได้มุมมองที่มีค่าในการมาพัฒนาการทำงานที่มีอยู่ มีการนำเอาปัญหาองค์กรมาแสดงความเห็นร่วมกัน และการที่เทสโก้ โลตัส ขยายโครงการไปยังภูมิภาค ทำให้สามารถเจาะลึกความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพราะสอนโดยอาจารย์ที่อยู่ในภูมิภาค มีการนำไอเดียที่ได้จากการเรียนมาปรับใช้ในการทำงานด้วย” คุณอรกานดา กล่าวถึงรูปแบบการเรียนรู้ของเทสโก้ โลตัส
ด้าน รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยุค 4.0 ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มีเรื่องอายุขัยมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะคนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น จากงานวิจัยจะพบว่าทุกๆ 10 ปี อายุเฉลี่ยของคนจะเพิ่มขึ้น 2 ปี การทำงานในปัจจุบันจึงไม่ได้จบแค่อายุ 60 ปี แต่กำลังจะยาวนานออกไป ซึ่งมีความจำเป็นที่บุคลากรจะต้องมีการเรียนรู้แบบ Life Long Learning มนุษย์ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Learning Machine เพื่อรับมือกับ Machine Learning