เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสามารถยกระดับจากที่เคยเป็นเพียงแค่เรื่องของคนที่สนใจด้านเทคโนโลยี มาสู่การเป็นองค์ประกอบในชีวิตประจำวันของผู้คนและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนปัจจุบันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การเรียนรู้ต่างๆ ไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว บันเทิง สุขภาพ รวมทั้งเรื่องของการเงินการลงทุน
หนึ่งจุดเด่นของการพัฒนาด้านดิจิทัลคือ ทำให้ผู้คนมีความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น สามารถใช้งานได้จากทุกที่และทุกเวลาที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช้อปปิ้ง ใช้บริการต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนหรือทำธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้น Digital Platform ของภาคธุรกิจจึงเป็นอีกหนึ่ง Touchpoint สำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยได้เพราะถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถสร้างความพึงพอใจและประทับใจให้แก่ลูกค้าได้ แต่ในทางกลับกันหากลูกค้าไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการเข้ามาใน Touchpoint นี้ ก็จะส่งผลกระทบกับความรู้สึกต่อแบรนด์หรือองค์กรในภาพรวมได้ ทำให้ความสำคัญและบทบาทของการพัฒนาหรือดีไซน์ด้าน UX/UI ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ดีไซน์ UX/UI ต้องเข้าใจทั้งศาสตร์และศิลป์
การออกแบบและพัฒนา UX/UI จึงถือเป็นการผสมผสานความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปะที่เน้นการออกแบบหน้าเว็บ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้มีหน้าตาที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้อง Work เพื่อนำไปใช้งานด้วย สามารถทำให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกและใช้งานได้ง่าย เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคในฐานะที่เป็นอีกหนึ่ง Touchpoint สำคัญของธุรกิจต่างๆ
สำหรับคำว่า UI = User Interface หมายถึง หน้าตาของ Digital Platform ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ทำการออกแบบหรือดีไซน์ขึ้นมา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของ UX = User Experience หรือเพิ่มประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าของแต่ละแบรนด์หรือองค์กรนั้นๆ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ภาพที่ใหญ่กว่าอย่างการเติมเต็มในเรื่องของ Customer Experience นั่นเอง
จึงจะเห็นได้ว่า UX/UI นั้น แม้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็ต้องทำออกมาให้มีความสอดคล้องกัน
คุณอภิรักษ์ ปนาทกูล ผู้ก่อตั้ง UX Academy ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา UX และการออกแบบประสบการณ์ลูกค้า ให้ความเห็นเรื่องนี้ผ่านหัวข้อ Journey From Customer Insight to Life-Changing Experience จากงาน TMB Digital Talks : UX/UI to Make THE Difference โดยมีมุมมองว่า วิธีคิดในการออกแบบ UX ไม่ต่างจากการสร้างสรรค์เมนูอาหารขึ้นมาหนึ่งอย่าง โดยเฉพาะการทำให้อาหารจานนี้แตกต่างจากอาหารธรรมดาทั่วไป จนได้รับการยอมรับว่าเป็นเมนูในระดับมิชลินสตาร์ สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าอาหารทั่วไป โดยคนที่ยอมจ่ายค่าอาหารจานนี้ จะมองข้ามว่าต้นทุนจริงๆ ของอาหารหรือวัตถุดิบราคาเท่าไหร่ แต่มองไปถึงประสบการณ์ที่จะได้รับมาพร้อมกับอาหารจานนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกจัดแต่งและความพิถีพิถันในทุกๆ ขั้นตอนจากเชฟระดับมิชลิน ซึ่งทุกๆ อย่างก่อนที่จะมาเป็นอาหารจานนี้ต้องผ่านกระบวนการคิด และการบริหารจัดการมามากมายกว่าจะออกมาเสิร์ฟให้แก่ลูกค้าได้
“กระบวนการก่อนที่จะมาสู่การเสิร์ฟอาหารจานนี้ กับกระบวนการในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นเรื่องเดียวกันและมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ การตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องของการขาย Experience เราต้องเลิกคิดว่าวัตถุดิบที่ใช้ราคาเท่าไหร่ แต่ต้องมองว่าจะได้ Experience อะไรจากอาหารจานนี้ อะไรที่ทำให้คนยอมจ่าย ยอมดาวน์โหลด หรือยอมเรียนวิธีการใช้งานซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมา ที่สำคัญไม่ใช่มีแค่อาหารต่างชาติเท่านั้นที่จะขายราคาแพงได้ แต่อาหารไทยก็สามารถที่จะทำแบนี้ได้ แต่เราต้องมองข้ามจากการขายแค่ Product หรือ Service ไปสู่การขาย Experience ที่คนยอมรับในระดับโลกให้ได้ด้วย”
3 เรื่องต้องรู้ก่อนพัฒนา UX/UI
สำหรับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำ UX/UI เพื่อเพิ่ม Touchpoint ที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการได้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น มีสิ่งที่นักพัฒนา UI ต้องคำนึงถึงเพื่อการออกแบบ Interface ให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานได้ดีที่สุด ต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง ต่อไปนี้
- Understand Your User : ต้องรู้ว่าผู้ใช้งานเป็นใคร รวมทั้งต้องเข้าใจ User Journey ด้วย
หนึ่งในเคล็ดลับที่จะทำให้นักพัฒนา UI เข้าใจผู้ใช้งานคือ อย่าเชื่อผู้ใช้งาน เวลาได้ข้อมูลต่างๆ จากผู้ใช้อย่าเพิ่งรีบเชื่อ ต้องถามตัวเองก่อนว่า ผู้ใช้เป็นใคร ต้องการอะไร สิ่งต่างๆ ที่ผู้ใช้ฟีดแบ็คกลับมาเพราะต้องการอะไร เพราะมีหลายครั้งที่เวลาเราเปลี่ยน UI ตามที่ผู้ใช้ Feedback แต่เมื่อใช้ไปได้สักระยะก็ต้องกลับมาสู่รูปแบบเดิม ทำให้เสียทั้งเวลา และพลังกายพลังใจ รวมทั้งเสียเงินเพิ่มมากขึ้นไปโดยเปล่าประโยชน์
“หน้าที่ของผู้พัฒนาคือ ต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน โดยที่บางครั้งผู้ใช้งานเองก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร เราต้องขุดสิ่งเหล่านี้ให้เจอ ด้วยการใส่รองเท้าของ User ทดลองเป็น User ซึ่งหลายคนที่พลาดในจุดนี้ เพราะพยายามที่จะใส่รองเท้า User โดยที่ไม่รู้เลยว่า User ใส่รองเท้าอะไร จึงต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคหรือ Empathy เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนา UI ซึ่งจะมีทั้งส่วนของการ Develop Empathy และ Apply Empathy ซึ่งการจะใส่รองเท้าเป็นยูเซอร์เท่ากับเป็นการ Apply Empathy แต่ก่อนจะใส่ได้ก็จะต้องมีการ Develop Empathy ขึ้นมาก่อน”
ขั้นตอนการพัฒนาเพื่อให้สามารถเข้าใจผู้ใช้งานได้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นการสัมภาษณ์พูดคุยเก็บข้อมูลต่างๆ ถามถึงความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อแอพหรือบริการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่ใช้งานบนแอพเท่านั้น แต่ต้องทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าทั้งช่วงก่อนและหลังจะเข้ามาใช้งานนั้นมี User Journey อย่างไร และอะไรเป็นเหตุผลให้มาใช้แอพต่างๆ และนำข้อมูลที่ได้มาแชร์กันภายในองค์กรเพื่อให้ทั้งทีมสามารถเข้าใจลูกค้าได้เหมือนๆ กัน ก่อนจะนำมาสู่สเตปของการ Apply เป็นลูกค้า
ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ลูกค้าฟีดแบคกลับมาอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ อาจจะคอมเมนต์ว่าใช้งานไม่สะดวก ไม่ชอบรูปแบบ Interface ซับซ้อนใช้งานยาก แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการอาจจะเป็นแค่การทำให้งานเสร็จได้เร็วยิ่งขึ้น ผู้พัฒนาต้องใช้ความพยายามในการขุดหาความต้องการที่แท้จริงเหล่านี้ให้เจอ เพราะเมื่อเจอเป้าหมายและสามารถออกแบบให้ตอบโจทย์เป้าหมายเหล่านี้ได้ ปัจจัยอื่นๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน เช่น บางแอพฯ หรือซอฟต์แวร์บางอย่างที่ผู้ใช้งานอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ อยู่ ความซับซ้อนหรือการใช้งานได้ยากหรือง่ายก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะผู้ใช้งานมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน หรือคนที่ต้องการให้งานเสร็จเร็วก็พร้อมที่จะเรียนรู้เพราะรู้ว่าจะตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการได้
“ถ้าเราไม่เข้าใจผู้ใช้ก็ไม่สามารถออกแบบ UI ได้ แต่เราไม่สามารถเชื่อทุกอย่างที่ผู้ใช้บอกได้ จนกว่าจะขุดต่อจนเจอว่าสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ คืออะไร เราต้องรู้จัก User มากกว่าที่ User รู้จักตัวเอง เพราะเราคุยกับผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งคน ทำให้ได้เรียนรู้ปัญหาและการแก้ปัญหาที่หลากหลาย เช่นเดียวกับการเป็นนักจิตวิทยาหรือเป็นหมอ ที่ต้องเข้าใจคนไข้ได้มากกว่าที่คนไข้รู้จักตัวเอง”
- Understand Your Value : ต้องรู้ว่า Value ที่เรามีคืออะไรบ้าง
หลายคนเคยพัฒนาแอพที่มีฟีเจอร์มากมาย แต่ไม่ค่อยมีคนใช้ ทั้งๆ ที่ก่อนทำหลายคนบอกว่าต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แก้ได้ด้วยการเข้าใจเรื่องของ Value โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า Feature = Value ซึ่งไม่เป็นความจริง การมีฟีเจอร์มากไม่ได้แปลว่ามี Value มาก เพราะหากผู้ใช้ไม่ชอบหรือรู้สึกลำบากในการใช้งานก็เท่ากับเป็นอุปสรรค แต่ถ้าฟีเจอร์น้อยแล้วผู้ใช้งานพอใจกลับเป็นแอพที่มี Value มากกว่า จึงต้องหาให้เจอก่อนว่า Value ที่แท้จริงนั้นคืออะไร
“การเข้าใจ Value ที่แท้จริงจะทำให้ไม่ต้องทำงานจำนวนมาก แต่สามารถ Craft งานที่จำเป็นได้ดีมากขึ้น เป็นโอกาสทำให้ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจมากขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับปริมาณ และไม่ควรใช้วิธีทำออกมามากๆ เพื่อสุ่มว่าจะมีสักอันที่ผู้ใช้งานจะชอบ แต่ให้เน้นฟีเจอร์ที่คิดว่าผู้ใช้จะรักแน่นอน และพัฒนาออกมาให้ดี ต้องโฟกัสและส่งมอบด้วย Value และ Solutions ไม่ใช่ที่จำนวนของฟีเจอร์”
ที่สำคัญหากให้ความสำคัญกับการพัฒนาฟีเจอร์ที่ไม่ใช่ Core Business หรือพระเอกของแอพนั้นๆ ทำให้ต้องเสียทั้งเวลา เงิน และพลังกายพลังใจจำนวนมาก สู้นำสิ่งเหล่านี้มาทุ่มให้กับสิ่งที่เป็นพระเอกเพื่อให้ทำงานได้ดีมากขึ้นดีกว่า เช่น การเป็นแอพโมบายแบงก์กิ้งควรออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย เห็นเมนูต่างๆ ชัดเจน หรือแอพจองตั๋วเดินทางก็ต้องเสิร์ฟข้อมูลจำเป็น เช่น เที่ยวบิน ปฏิทินหรือตารางเวลาต่างๆ ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ผู้ใช้งานจะมีแอพที่ใช้ประจำอยู่แล้ว การจะดึงให้เปลี่ยนมาดูข้อมูลเหล่านี้จากแอพใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีคิดว่า More Function คือ More Value ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ควรทำให้น้อยแต่พัฒนาดีๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานรักที่จะใช้มากขึ้นดีกว่า จึงต้องตีโจทย์ให้ออกว่า แอพเราต้องการให้ Value อะไร เพื่อจะได้ไม่ต้องทุ่มพลังไปกับของแถม แต่ควรมาโฟกัสที่พระเอกจะดีกว่า
- Understand Your Stakeholders : ต้องรู้ว่าคนที่ต้องการให้พัฒนาแอพขึ้นมาต้องการอะไร
เมื่อเข้าใจถึงความต้องการของคนให้พัฒนาแอพขึ้นมาว่า ต้องการพัฒนาแอพนี้ขึ้นมาเพราะอะไร เช่น ต้องการทำกำไร หรือมี Passion ต่อบางสิ่งบางอย่าง หรืออยากเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จะทำให้รู้เป้าหมายในการพัฒนาแอพว่าทำเพื่ออะไร และจะสามารถประเมินทั้งระยะเวลา และกำลังต่างๆ ที่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากต้องขุดความต้องการของผู้ใช้งานให้เจอแล้ว ยังต้องเข้าใจและขุดความต้องการของคนจ่ายเงินด้วยว่าอยากได้อะไร
“เมื่อเข้าใจ Stakeholder ก็ไม่ต่างกับการเข้าใจ Value ที่จะทำให้เราทำงานน้อยลง และ Craft งานที่จำเป็นได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเสียทั้งเวลา เงิน รวมทั้ง Effort ต่างๆ โดยไม่จำเป็น เช่น การปรับปรุงหรือ Redesign บางเว็บอาจจะไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับ User โดยตรง แต่เน้นผลในเชิง SEO เพื่อให้หน้าเว็บของเราสามารถแสดงผลได้ดีในอันดับแรกๆ จากการค้นหาข้อมูลของผู้บริโภค เมื่อ Stakeholder ต้องการให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และมีอยู่บนเว็บ ทำให้ประเด็นในการพัฒนาเว็บให้สวยงาม หรือใช้งานได้ง่ายอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผู้ออกแบบ UI จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก”
สำหรับนักพัฒนา UX/UI จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมาจะดีหรือโดนใจลูกค้า คุณอภิรักษ์ แนะนำว่า ไม่มีอะไรใช้วัดผลได้แน่นอนชัดเจนว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี นอกจากต้องทำไปวัดผลไป พร้อมทั้งประเมินผู้ใช้งานว่าเข้ามาแล้วอยู่นานแค่ไหน เพื่อค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนาให้ถูกใจผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ง่ายและสามารถใช้งานได้จริง แต่หากจะวัดผลในเชิงความคุ้มค่า ต้องตีความมากกว่าแค่ตัวเงินหรือกำไร แต่ให้มองถึงโอกาสที่จะทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจ User ได้มากขึ้น ดังนั้น แม้สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาอาจยังไม่สามารถสร้างรายได้แต่ดึงให้มีคนเข้ามาใช้งานได้จำนวนมากก็ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับการทำความเข้าใจและเรียนรู้ผู้บริโภค แต่หากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีผู้ใช้งานก็ควรปิดโปรเจ็กต์และหันไปพัฒนาสิ่งที่ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ได้มากกว่า
ทำ App ให้โดนใจ ไม่ต่างจากงมเข็มในมหาสมุทร
ปัจจุบันจะเห็นหลากหลายไอเดียจากกลุ่มผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น หรือ UX/UI ต่างๆ พยายามเสนอโซลูชั่นส์เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบันสะดวกสบายมากขึ้น แต่การจะทำให้แอพฯ ที่ออกแบบหรือพัฒนามาสามารถเข้าถึงผู้คนทั่วไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ให้ข้อมูลว่า จำนวนแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีผู้พัฒนาและให้บริการอยู่บน App Store ในขณะนี้นั้นมีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านแอพ ขณะที่จำนวนคนโหลดมาใช้เฉลี่ยคนละ 1 แอพต่อเดือน หรือราว 12 แอพต่อปี แต่จำนวนการใช้งานจริงๆ จะอยู่ที่ประมาณ 9 แอพเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่จะทำให้แอพที่เราพัฒนาขึ้นมาถูกนำไปใช้งานจะมีอยู่เพียง 9 ต่อ 7 ล้าน ซึ่งถือว่ามีโอกาสน้อยมากและไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต่างกับการงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว
“ในส่วนของการพัฒนาประสบการณ์ทางด้านดิจิทัลให้แก่ลูกค้า เป็นสิ่งที่ TMB ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เราพัฒนา Mobile Banking ก่อนใคร จนถึงปัจจุบันพัฒนามาแล้วกว่า 70 เวอร์ชั่น ทุกฟีเจอร์ ทุกโซลูชั่นส์บนโมบายแอพของเราผ่านการคิดมาอย่างหนัก เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้ใช้งาน มีทั้งการลองผิดลองถูก เพื่อเป้าหมายคือทำให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายและสะดวกที่สุด พร้อมยังฟัง Feedbackจากลูกค้าอยู่เสมอเพื่อนำมาปรับปรุง โดยไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องทั้งเรื่องของ UX และ UI เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตที่สะดวกมากขึ้น”
UX/UI ขั้นสุด ต้อง Friendly อย่างเท่าเทียม
ขณะที่การดีไซน์ TMB Touch มาจากความเข้าใจลูกค้าทั้งจากทฤษฎีต่างๆ หรือเทียบจากพฤติกรรมในการใช้งานที่ทำให้ลูกค้ามีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะนำฟังก์ชั่นที่สำคัญของแอพไปวางไว้ในจุดสำคัญของหน้าจอ การปรับฟ้อนต์สำหรับเมนูที่มีการใช้งานบ่อยให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติ รวมทั้งการมีสัญลักษณ์เพื่อแจ้งเตือนการอัพเดทใหม่ๆ ให้ลูกค้าทราบ รวมทั้งยังเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีความเป็น Universal Design ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้จะเป็นผู้พิการทางสายตาก็ตาม
โดยล่าสุด TMB Touch ได้รับรางวัล TAB Digital Inclusive Award 2018 ในฐานะร่วมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด จากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จากการให้คนตาบอดทั่วประเทศที่ใช้โมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชันโหวตให้คะแนน แอปพลิเคชันที่เคยใช้งาน โดยมีกฏเกณฑ์ในการพิจารณา 3 ประเด็นหลักที่สำคัญ ได้แก่
– เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อคนไทยทุกคนได้ใช้
-เป็นแอปพลิเคชันสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คนตาบอดใช้โดยเฉพาะ
– เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงและใช้งานแอปพลิเคชันนั้นได้ตั้งแต่ 80%ขึ้นไป
พร้อมความเห็นจากผู้ใช้งานตัวจริงและเป็นผู้พิการทางสายตา คุณปฏิการ เทพมงคล ที่มาทดสอบการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตัวเอง พร้อมเผยความรู้สึกว่า “การพัฒนาแอพเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานได้ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมต่างได้ด้วยตัวเองอย่างสะดวก ซึ่งสะดวกกว่าการไปตู้ ATM ซึ่งไม่มีอะไรมาช่วยเราได้ นอกจากต้องพยายามจำตำแหน่งต่างๆ แต่หากมีเมนูใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาก็ทำให้ไม่สะดวก หรือการไปให้เจ้าหน้าที่ในสาขาช่วยเหลือก็เดินทางได้ลำบาก แต่การใช้งานผ่านโมบายแอพ ซึ่งจะมีเสียงคอยอ่านเมนูต่างๆ ให้ฟัง จะทำให้เราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ และรู้ข้อมูลทั้งหมดของบัญชีได้ด้วยตัวเอง ทำให้เราสามารถใช้งานต่างๆ ได้ไม่ต่างจากการใช้งานของคนปกติ”
Cover Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand