ธุรกิจการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่ช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีประเทศให้เติบโต โดยตัวเลขจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก หรือ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตให้แก่เศรษฐกิจโลกในปี 2560 เป็นมูลค่าถึง 272 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 10.4% จากดัชนีจีดีพีโลกซึ่งประเทศไทยก็สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3.2 ล้านล้านบาท หรือ 21.2% ของจีดีพี ส่วนในปีนี้คาดว่าจะเติบโตถึง 7.4%
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ปีนี้คาดว่ามีจำนวน 37.5 ล้านคน สร้างรายได้ 2.75 ล้านล้านบาท ในภาพรวมเติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2562 มีการประเมินว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ ซึ่งน่าจะมีตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน และสร้างรายได้ 3.4 ล้านล้านบาทด้วย
ล่าสุด วีซ่าได้ออกมาเผยผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) จากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวจำนวน 500 รายในแต่ละประเทศทั้งสิ้น 27 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 1,000 ราย การสัมภาษณ์ในรูปแบบออนไลน์นี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2560 พร้อมกันทุกประเทศ ยกเว้น อียิปต์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ที่ได้จัดสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรงโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วย ซึ่งมีประเด็นหลักที่นำเสนอด้านการท่องเที่ยวด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เทรนด์การท่องเที่ยว (Trends in Travel) 2.เทคโนโลยีที่ใช้ในด้านการท่องเที่ยว (Tech in Travel)และ 3.การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว
เทรนด์การท่องเที่ยว
คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย เล่าว่า คนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเฉลี่ย 6.6 ครั้งต่อปี โดยเป็นการท่องเที่ยวพักผ่อนเฉลี่ย 3.8 ครั้งต่อปี และเป็นการท่องเที่ยวและธุรกิจเฉลี่ย 1.9 ครั้งต่อปี ส่วนใน 2 ปีหน้า คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน 3.9 ครั้ง และทางธุรกิจ 2.1 ครั้ง และวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก 0.9 ครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มการท่องเที่ยวดังกล่าวสูงกว่าระดับโลก ที่จะเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน 2.7 ครั้งต่อปี ท่องเที่ยวและธุรกิจ 1.5 ครั้งต่อปี และอื่นๆ 0.4 ครั้งต่อปี ส่วนจำนวนวันของการท่องเที่ยว พบว่าคนไทยเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ย 5 วันต่อทริป ส่วนเทรนด์ระดับโลกจะเดินทางเฉลี่ย 8 วันต่อทริป
ส่วนจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวไทยชื่นชอบ ในปัจจุบัน 5 อันดับแรก คือ ประเทศญี่ปุ่น 46% ฮ่องกง 14% สิงค์โปร์ 10% เกาหลีใต้ 5% และมาเลเซีย 5% ต่างจาก 2 ปีที่ผ่านมา ที่มี 5 อันดับแรก คือ ประเทศญี่ปุ่น 64% ตามมาด้วยฮ่องกง 37% สิงค์โปร์ 29% เกาหลีไต้ 21% และจีน 16% ส่วนแนวโน้มในอีก 2 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวไทยมีแผนเดินทางไปยัง 5 ประเทศแรกมากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่น 34% ฮ่องกง 8% สิงค์โปร์ 7% เกาหลีใต้ 7% และออสเตรเลีย 4% ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับ 2 ของจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป ที่ต้องการเดินทางมามากที่สุด 9%
“โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยจำนวน 13% และนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 18% ขณะเดียวกันห้าจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยใน 2 ปีที่ผ่านมาคือ ญี่ปุ่น 64% ฮ่องกง 37% สิงคโปร์ 29% เกาหลีใต้ 21% และจีน 16% โดยสี่ประเทศแรกยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักในอีก 2 ปีข้างหน้า ยกเว้นประเทศจีนที่คาดว่าจะยกอันดับให้แก่ออสเตรเลียแทน”
เทคโนโลยีที่ใช้ในด้านการท่องเที่ยว
การเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะมีการวางแผนการเดินทาง โดยมีแหล่งข้อมูลในการค้นหามากถึง 83% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีสัดส่วน 78% หากพูดถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างทริป เงินสดยังคงเป็นทางเลือกหลัก 52% ในขณะที่คนไทยเลือกที่จะใช้ทั้งเงินสด 52% บัตรเครดิตและเดบิต 33% ดิจิตอลวอลเล็ต 11% และอื่นๆ 4% คละกันไป ซึ่งในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือได้ว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุดที่เลือกใช้ ดิจิตอลวอลเล็ต 20% ในขณะเดินทาง ตามมาด้วย แอฟริกาตะวันตก 11% และอเมริกา 11%
การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว
สำหรับการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ปัจจุบันพบว่ามีการใช้เฉลี่ย 1,502 ดอลล่าห์ต่อทริป ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ 1,793 ดอลล่าห์ ซึ่งแนวโน้มการใช้จ่ายเงินในการท่องเที่วครั้งต่อไป สำหรับคนไทยน่าจะเพิ่มขึ้น 50% หรือประมาณ 2,252 ดอลล่าห์ต่อทริป ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ 1,793 ดอลล่าห์ หรือเพิ่มขึ้น 36% สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คนไทยมีความต้องการที่จะใช้จ่ายในเรื่องใหม่ๆ 5.1% พร้อมที่จะลองอะไรใหม่ๆ เสมอ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งระดับโลกมีสัดส่วน 4.3% และหากเงินที่เหลือจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเก็บเงินไว้ใช้ในการท่องเที่ยวครั้งต่อไป 59% มีบางส่วนในจำนวน 24% ที่จะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคหรือซื้อสินค้าภายในสนามบินก่อนการเดินทางกลับ และอีก 4% จะบริจาคเงินตามตู้รับบริจาคที่บริเวณสนามบิน
“เราเชื่อว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะช่วยเปิดประตูสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการสร้างงาน และการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการท่องเที่ยวนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของวีซ่าที่จะช่วยเหลือทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตร ลูกค้า รวมไปถึงรัฐบาลไทยในสร้างเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน และด้วยจำนวนจุดรับบัตรที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเสีถยรภาพและปลอดภัยจากวีซ่า ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตรเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย” คุณสุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย