เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ประเทศแรกที่นึกขึ้นมาได้คงหนีไม่พ้น “ญี่ปุ่น” ประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มว่าจำนวนประชากรสูงอายุจะทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้หลายๆ ธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ประชากรผู้สูงวัยได้อย่างครอบคลุม และเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศ ทั้งในเอเชียและในโลก นำไปใช้ในการพัฒนาเพื่อรองรับและดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรสูงวัยในประเทศของตัวเอง
โดยมีตัวอย่างจาก 8 อุตสาหกรรมหลักๆ ในญี่ปุ่น ว่ามีการปรับตัวให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิต ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของการให้ความสะดวกและปลอดภัยแก่ประชากรสูงวัยในประเทศได้อย่างไร
สถานการณ์และแนวโน้มจำนวนประชากรสูงวัยในญี่ปุ่น
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับสถานการณ์และโครงสร้างประชากรสูงวัยในญี่ปุ่นกันก่อน โดยปัจจุบันต้องถือว่าประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หรืออยู่ในภาวะ Super-aged Society หรือการเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ซึ่งตามข้อมูลจากกลุ่มบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป บริษัทผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจรในญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม (Total Asset Value) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวโน้มประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในประเทศญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนประชากรโดยรวมในปัจจุบันที่มีกว่า 126.3 ล้านคน เป็นจำนวนผู้สูงอายุถึง 34.3 ล้านคน หรือราว 27% และคาดการณ์ว่าในอีก 47 ปีข้างหน้า หรือในปี 2045 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 38.4% ซึ่งต้องถือว่าเป็นจำนวนที่สูงขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว
เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างผู้สูงวัยกับกลุ่มประชากรวัยทำงานจะพบว่า แนวโน้มที่ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น เพราะจำนวนประชากรวัยทำงานที่จะคอยช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุลดลงเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปี 1950 โดยตัวเลขในปี 2020 จะมีประชากรวัยทำงาน 2 คน ในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งก็ถือว่าเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้ว แต่สัดส่วนกลับยิ่งน้อยลงไปในอนาคต โดยตัวเลขในปี 2065 จะมีสัดส่วนเหลืออยู่เพียง 1.3 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทางญี่ปุ่นเริ่มสนับสนุนให้มีการจ้างคนต่างชาติเข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สาเหตุของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1. อัตราการเสียชีวิตของประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่ลดลง จากการพัฒนาทางการแพทย์และความก้าวหน้าต่างๆ ของเทคโนโลยีที่พัฒนามากยิ่งขึ้น
2. อัตราการเกิดต่อจำนวนประชากรที่ลดลง โดยเมื่อเทียบตัวเลขพบว่าในปี 1947 มีจำนวนเด็กทารกแรกเกิดถึง 2.69 ล้านคน แต่ในปี 2014 จำนวนเด็กเกิดใหม่เหลืออยู่เพียง 1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อคำนวณหาอัตราการเกิดเทียบกับจำนวนประชากรจะพบว่ามีสัดส่วนลดลงจาก 4.32 เหลืออยู่เพียง 1.42 เท่านั้น ในปี 2014
โดยแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หลายๆ ประเทศในโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา รวมทั้งหลายๆ ประเทศในเอเชียก็มีลักษณะไม่แตกต่างกัน ทำให้การเติบโตและขยายตัวของจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในอีก 50 ปีข้างหน้า ทั่วทั้งโลกจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ
สอดคล้องกับข้อมูลจาก UN DESA, Population Division, World Population Prospects, The 2015 Revision ที่ให้ข้อมูลจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกในปี 2015 อยู่ที่ 12.3% หรือราว 901 ล้านคน ซึ่งในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 16.5% หรือ 1402 ล้านคน และคาดว่าในปี 2050 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 21.5% หรือมีจำนวนกว่า 2,092 ล้านคน ขณะที่รายงานในเรื่องเดียวกันฉบับล่าสุดอย่าง World Population Prospects, The 2017 Revision คาดว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากถึง 3,100 ล้านคน เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นับจากปี 2100 เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของจำนวนประชากรผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น จากจำนวนผู้สูงอายุที่มีอยู่ 5.1% เมื่อปี 1950 เพิ่มขึ้นมาเป็น 26.6% ในปี 2015 จนแซงหน้าประเทศอย่างอิตาลี และเยอรมนี พร้อมคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงขึ้นเป็นมากกว่า 35% ในปี 2060 ตามมาด้วยประเทศสเปน อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน และอเมริกาตามลำดับ
ขณะที่การเติบโตของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศแถบเอเชียกีมีการเติบโตในทิศทางที่สูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน ตามข้อมูลของ United Nations Department of Economic and Social Affairs, World Population Prospects, The 2015 Revision คาดการณ์สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2015 ไปจนถึง 2030 ในแต่ละประเทศในเอเชีย ที่นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว หลายๆ ประเทศก็มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไม่วาจะเป็นสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนเพิ่มจาก 12% เป็น 23%, ไทย สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 19% รวมทั้งในจีน ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 17% เป็นต้น
ส่อง 8 ธุรกิจเพื่อผู้สูงวัยจากญี่ปุ่น
แน่นอนว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ภาวะผู้สูงวัย ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ หรือแม้แต่สภาพจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทำให้มีรายละเอียดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากวัยหนุ่มสาวที่ยังมีกำลังวังชา การทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหว การได้ยิน การมองเห็น ระบบการหายใจ การย่อยอาหารล้วนด้อยประสิทธิภาพลง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และเหมาะสมกับประชากรสูงวัยจึงมีรายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน และแตกต่างไปจากเดิม
และในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก และมีความพร้อมในการรับมือต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมามากพอสมควร โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในการ Create & Design เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายสูงวัยได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน ทำให้มีธุรกิจเพื่อผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นและในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะใน 8 กลุ่มตัวอย่างต่อไปนี้
1. Residential หรือในกลุ่มธุรกิจบ้านและที่อยู่อาศัย ซึ่งญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เนื่องจากครอบครัวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักมีบ้านเป็นของตัวเองในสัดส่วนถึง 61.7% และใน 82.7% ของครอบครัวที่มีบ้านของตัวเองจะมีสมาชิกที่เป็นผู้สูงวัยอยู่ด้วย ซึ่งสะท้อนว่าเจ้าของบ้านญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มสูงวัย รวมทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นลักษณะครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันแบบสองคนตายาย
นอกจากนี้ ผลสำรวจเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบ้านสูงสุดถึง 77.1% ขณะที่พื้นที่ในบ้านที่ผู้สูงวัยประสบอุบัติเหตุสูงสุดคือ ห้องนอน เนื่องจากไม่ค่อยได้ไปไหนมากนัก ขณะที่วัยอื่นๆ พื้นที่ในบ้านที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยสุดจะอยู่ในห้องครัว หรือบันได
ดังนั้น Developer ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับการออกแบบบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย หรือ Elderly-Friendly รวมทั้งกับคนทุกวัยที่อาศัยอยู่รวมกัน (Multi-Generation) ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยจะมีความซับซ้อนมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป เพราะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างครอบคลุม ทั้งเรื่องของการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เพื่ออำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ และคำนึงถึงความแตกต่างทางกายภาพที่ผู้สูงอายุอาจจะมีน้อยกว่าวัยอื่นๆ ทำให้ต้องเน้นเรื่องรายละเอียดต่างๆ ทั้งการมีแสงสว่างอย่างเหมาะสม การเลือกใช้สีที่แตกต่างกันสำหรับพื้นที่มีระดับความสูงต่างกัน หรือการออกแบบบันไดให้มีความสูงน้อยลงและหน้ากว้างกว่าปกติ รวมทั้งมีราวจับ และมีสัญลักษณ์สะท้อนแสงเพื่อให้เห็นขั้นบันไดได้อย่างชัดเจนในกรณีที่เกิดไฟดับฉุกเฉิน เป็นต้น
ซึ่งนอกจากการพัฒนาบ้านแล้ว ยังมีการพัฒนาโครงการในลักษณะของการดูแลผู้พักอาศัยสูงวัยในรูปแบบต่างๆ เช่น Nursing Home, Wellness Community รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการออกแบบที่เป็น Elderly-Friendly มากยิ่งขึ้น
2. Amusement หรือการจัดกิจกรรมเพื่อมอบความบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสันทนาการ เล่นเกม เล่นกีฬา การจัดทริปท่องเที่ยว หรือการจัดเวิร์กช็อปต่างๆ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะธรรมชาติของคนญี่ปุ่นชอบที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา แม้ว่าจะเกษียณอายุแล้ว รวมทั้งส่วนใหญ่จะมีกำลังซื้อที่ดี และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งความบันเทิงและบริการต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างจากวัยหนุ่มสาว
โดยผู้สูงอายุญี่ปุ่นในกลุ่มอายุ 60-69 ปี มีความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 12.2% และช่วงอายุ 70-79 ปี ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 14.2% เมื่อดูตัวเลขในปี 2015 เทียบกกับปี 2010 โดยพบว่า 45.2% ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน และ 25.8% ใช้มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเมื่อพิจารณาการใช้จ่าย จะพบว่ากลุ่มครอบครัวผู้สูงวัยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 4700 เยนต่อเดือน โดยใช้จ่ายไปกับค่าอาหารและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
3. Food & Beverage ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการตื่นตัวสำหรับกลุ่มเป้าหมายในวัยสูงอายุอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่บางราย ที่ให้ความสำคัญกับการคำนวนความเหมาะสมในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้สูงวัยควรได้รับในแต่ละมื้อ ทั้งในแง่ปริมาณ วัตถุดิบ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม รวมไปถึงขนาดของชิ้นอาหารหรือวัตถุดิบที่ใช้ปรุง เพื่อให้เหมาะสมกับทั้งสภาพฟันและระบบการย่อยตามวัย ซึ่งจะเห็นได้ทั้งธุรกิจที่ให้บริการในรูปแบบ Retail หรือในกลุ่ม B2B ที่ได้ทำการคำนวณตัวเลขทางโภชนาการ เมนูอาหารที่ต้องเตรียมในแต่ละวัน ครอบคลุมไปถึงต้นทุนในแต่ละมื้อ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับทางบ้านพักคนชราหรือสถานที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุทั่วไป
4. Service ธุรกิจให้บริการต่างๆ เนื่องจากผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะอยู่ด้วยตัวเอง ทำให้ค่อนข้างเหงา ทำให้ธุรกิจบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพาไปเที่ยวนอกบ้าน การไปรับประทานอาหารเป็นเพื่อน ไปเป็นเพื่อนช้อปปิ้ง บริการตัดผม บริการนวดผ่อนคลาย หรือผู้ช่วยดูแลสุขภาพต่างๆ เป็นอีกหนึ่งประเภทของกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน
5. Community การสร้างกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความชื่นชอบในเรื่องเดียวกันมีโอกาสได้มาทักทาย พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่คนต่างเจนเนอเรชั่นก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกัน ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมากกว่า 60% เคยเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมที่นิยมเข้าร่วมมีทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพ กีฬา การทำงานอดิเรก รวมไปถึงการทำงานด้านจิตอาสา หรืออาสาสมัครต่างๆ เนื่องจากช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุได้เพื่อนใหม่ รู้สึกเติมเต็ม และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งยังทำให้รู้สึกว่ามีความมั่นใจในสุขภาพ และร่างกายของตัวเองมากขึ้น
ซึ่งไม่เพียงแค่การสร้าง Community ภายนอกครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น เพราะปัจจุบัน Developer โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญและมองถึงการสร้างชุมชนและสังคมโดยรอบหมู่บ้านที่ดี เพราะมองว่าช่วยยกระดับสังคมให้มีคุณภาพและนำมาซึ่งสุขภาพจิตที่ดีของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
6. Furniture Design การออกแบบเฟอรนิเจอร์ต่างๆ ที่ต้องมองถึงความเหมาะกับสรีระที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงวัย และมีฟังก์ชั่นในการใช้งานที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น เช่น เตียงนอน ที่สามารถปรับระดับให้อยู่ในความสูงที่เหมาะสม หรือสามารถปรับให้กลายเป็นเก้าอี้วีลแชร์ได้ หรือการมีที่นอนหรือฟูกที่ออกแบบมาให้รองรับสรีระและป้องกันการกดทับ หรือในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบบ Built-in ให้กับโครงการต่าง ที่ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน เช่น เก้าอี้ที่สามารถพับเก็บไว้ที่ผนังได้
7. Law & Regulation ข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการดูแลประชากรสูงวัยอย่างมาก ทำให้ดูแลการออกกฎและข้อบังคับต่างๆ เพื่อคุ้มครองและดูแลสิทธิในการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัยอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของ Barrier Free สำหรับการก่อสร้างอาคารหรือสถานที่ต่างๆ ที่คำนึงถึงความเหมาะสม สะดวกสบายและความปลอดภัย ทั้งต่อผู้สูงวัยและกับคนทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง ที่ออกเป็นข้อกฎหมายให้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2549
รวมทั้งการออกข้อกำหนด ข้อจำกัดต่างๆ ที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการ การจ่ายเงินบำนาญ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข หลังจากทำงานหนักมาหลายสิบปี ทำให้คุณภาพของผู้สูงอายุในญี่ปุ่นไม่ว่าจะรวยหรือจน จะมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่สามารถดูแลและรองรับคนทั่วทั้งประเทศได้อย่างทั่วถึง รวมไปถึงการออกข้อกำหนดในเรื่องการทำเงินประกัน เงินบำนาญสำหรับคนทำงานทุกคน ทำให้หลังวัยเกษียณจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก
สอดคล้องกับผลจากการสำรวจสภาพคล่องทางด้านการเงินของประชากร ที่พบว่าผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลทางด้านการเงิน โดยผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 64.6% ตอบว่าไม่มีความกังวลในเรื่องเงินเลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีเงินมากพอจนไม่รู้สึกกังวล หรือจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีเงินมากพอก็ไม่ได้รู้สึกกังวลเช่นเดียวกัน โดยตัวเลขนี้สูงขึ้นถึง 71.5% ในกลุ่มคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญกับการวางนโยบาย หรือกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ ของหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องเหล่านี้
8. Renovation ธุรกิจรับปรับปรุงและแต่งเติมที่อยู่อาศัย ทั้งการให้คำปรึกษาแก่เจ้าของบ้านที่อยู่มาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนเข้าสู่ช่วงสูงวัย ซึ่งถึงเวลาต้อง Renovate บ้านใหม่ เช่น อาจมีการติดตั้งลิฟต์เพิ่มเติม หรือการปรับปรุงเพิ่มเติมเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านให้รองรับกลุ่มลูกค้าสูงวัยเพิ่มมากขึ้น แม้แต่การเข้าไปฟื้นฟูสภาพบ้านภายหลังจากเจ้าของบ้านรายเดิมซึ่งเป็นผู้สูงอายุได้เสียชีวิตลงจนทำให้บ้านหลายหลังกลายเป็นบ้านร้าง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบเห็นได้มากในสังคมญี่ปุ่นขณะนี้ เพราะหลายครอบครัวที่อยู่เพียงลำพังเมื่อสามีหรือภรรยาเสียชีวิต ทำให้ไม่มีคนดูแล และหลายครั้งที่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังเสียชีวิตลงโดยไม่มีใครรู้ ทำให้ธุรกิจ Renovation ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน
ซึ่งการออกแบบใหม่จะเน้นให้มีความเป็น Elderly -Friendly และมีความเป็น Universal Design เพื่อให้เหมาะสมกับผู้อาศัยทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบที่เป็น Stepless หรือมีขั้นบันไดต่างๆ ให้น้อยที่สุด หรือถ้ามีก็ต้องมีความปลอดภัยสูง ความสามารถในการดูแลอุณหภูมิภายในบ้านให้คงที่และเหมาะสม หรือการเลือกใช้วัสดุปูพื้นใหม่ที่สามารถรับแรงกระแทกได้มากขึ้น เป็นต้น
เห็นได้ว่าการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญและหลายธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในมิติของการพัฒนาเพื่อการตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในเชิงการตลาด หรือในมิติของการพัฒนานวัตกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรโลกในอนาคตโดยตรง เพราะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคนมากกว่าที่คาดคิด
Photo Credit: AP THAILAND, NUMBER 24- Authorized Shutterstock Partner in Thailand