ปีนี้ต้องถือว่ากระแสความตื่นตัวเรื่องของการใช้แพ็กเกจจิ้งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจและพูดถึงในวงกว้าง พร้อมทั้งได้เห็นแอคชั่นจากแบรนด์ใหญ่ระดับโลกหลายๆ แบรนด์นำร่องออกนโยบายในการเปลี่ยนจากการใช้หลอดพลาสติกมาเป็นหลอดกระดาษที่ย่อยสลายได้ง่ายและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลาสติกหรือโฟม รวมทั้งคำมั่นสัญญาในการเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจจิ้งอื่นๆ ให้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในอนาคต
ขณะที่ทิศทางในประเทศไทยก็สอดคล้องกัน เมื่อข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยในปัจจุบันเริ่มเติบโตได้ช้าลง จากที่ผ่านมาสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2008-2012 ที่ราว 7% ต่อปี เริ่มชะลอตัวลงเหลือ 3% ต่อปี ในช่วงปี 2013-2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (rigid plastic packaging) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและวิถีชีวิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์พื้นฐาน เช่น ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติกที่มีแนวโน้มถูกใช้งานน้อยลงจากกระแสรักษ์โลกและการรณรงค์ของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งปริมาณดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยพลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging)
แต่ถึงแม้ปริมาณการบริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกในภาพรวมจะเติบโตลดลง แต่ยังคงมีปริมาณการใช้งานในระดับสูง โดยข้อมูลจากฟากฝั่งธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์เฟสท์ (Fest) ในเครือเอสซีจี ระบุว่า แม้อัตราการเกิดของประชากรไทยจะลดลง แต่ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะที่เป็นกล่องโฟมซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ตลาดใช้กันในขณะนี้ยังอยู่ในปริมาณที่สูง โดยตัวเลขเมื่อปี 2015 มีปริมาณการใช้กล่องโฟมรวมกว่า 34 ล้านชิ้นต่อวัน และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มเป็นมากกว่า 61 ล้านชิ้นต่อวัน
สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ในแง่ของปริมาณขยะ โดยเฉพาะจากพลาสติกหรือโฟมที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน โดยบางส่วนที่ไม่ได้ถูกจัดเก็บอย่างถูกต้องก็มีการไหลลงไปสู่ที่ต่างๆ นำมาซึ่งหลายๆ ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วม หรือไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำต่างๆ ในทะเล กลายเป็นภาพหรือข่าวสะเทือนใจให้ได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง
เอสซีจีขยายฐานธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลอดภัย
ที่ผ่านมา การเติบโตของธุรกิจแพ็กเกจจิ้งโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะถูกขับเคลื่อนจากกระแสในเรื่องของการดูแลสุขภาพเป็นหลัก ทำให้การเติบโตยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์โดยรวมของประเทศมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งราว 90% เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกและโฟมทั้งสิ้น แต่ในปีที่ผ่านมานี้ มีกระแสเรื่องขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างแรงและมี Impact ในวงกว้าง ทำให้เริ่มเห็นความตื่นตัวสูงขึ้น
ขณะที่ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้จากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านไลฟ์สไตล์ไปสู่ความเป็นเมือง รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม จากการทานอาหารนอกบ้าน การขยายตัวของธุรกิจเดลิเวอรี่ต่างๆ รวมทั้งกระแสการดูแลสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงและกระจายไปในวงกว้าง เป็นแนวโน้มที่หลายธุรกิจโดยเฉพาะแบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องของแพ็กเกจจิ้งที่ตอบโจทย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมสามารถเข้ามาทดแทนในตลาดพลาสติกและโฟมได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
คุณวิมล จันทร์เทียร Fest Brand Director ผู้ดูแลแบรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ กล่าวว่า จากแนวโน้มและโอกาสในการขยายตัวของบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย ทำให้เฟสท์ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดขอนแก่น ภายใต้งบ 400 ล้านบาท เพื่อเป็นฐานสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อธรรมชาติ ด้วยกำลังผลิต 150 ล้านชิ้นต่อปี เพิ่มเติมจากโรงงานแห่งเดิมในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษ มีกำลังผลิต 250 ล้านบาท ใช้งบลงทุนรวม 400 ล้านบาทเช่นกัน
“เฟสท์เริ่มทำตลาดเมื่อปลายปี 2016 และสามารถปิดยอดขายเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ราว 300 -400 ล้านบาท ขณะที่วางยอดขายสิ้นปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ 4 เท่าตัว ตามการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากเยื่อธรรมชาติเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ โดยผลิตจากเยื่อยูคาลิปตัสจากป่าปลูกที่แข็งแรงมากกว่าเยื่อจากไม้ล้มลุกทั่วไป นำมาผ่านเทคโนโลยีการผลิตของเฟสท์ ทำให้ได้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความขาว ผิวเรียบเนียน แข็งแรงกว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบเดิม รองรับการเรียงซ้อนได้ สามารถทนน้ำและน้ำมัน ไม่รั่วซึม อีกทั้งยังสามารถอุ่นร้อนโดยการเข้าไมโครเวฟได้ รวมทั้งมีดีไซน์ที่หลากหลาย มีขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกัน สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในทุกรูปแบบ เหมาะกับสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน”
เจาะตลาด SME – Food Chain- Restaurant
หนึ่งปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์คือ การขยายตัวของธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่ม Food Service ต่างๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวน Food Shop ทั้งประเทศในปี 2020 ไม่ต่ำกว่า 190,000 แห่ง ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนตลาด 31.3% หรือมูลค่ารวมกว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มธุรกิจ Street Food, SME -Food Restaurant และ Chain Restaurant ซึ่งในปัจจุบันนอกเหนือจากกลุ่ม Chain Restaurant แล้ว กลุ่มSME และ Food Restaurant ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วยเช่นกัน การเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งที่สามารถสะท้อนตัวตนและบ่งบอกแบรนด์ดิ้งของธุรกิจ ก็เริ่มได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมากขึ้น
“เฟสท์ยังมีบริการ เฟสท์ โซลูชั่น เพื่อให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจอาหารอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะให้กับร้าน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับประเภทอาหาร ทำให้อาหารที่ส่งถึงมือลูกค้าน่ารับประทานและสะดวกในการรับประทานทันที พร้อมอำนวยความสะดวกในการสั่งผลิตตามความต้องการของลูกค้าอีกด้วย โดยปัจจุบันมีลูกค้าในส่วนนี้แล้วกว่า 300 ราย อาทิ ขนมกุ้ยช่ายเจ๊อิม มหาชัยไอศกรีม เบเกอรี่ EIFEL รวมทั้งพยายามจะเจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีจำนวนการใช้แพ็กเกจจำนวนมาก รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ประเทศต่างๆ ตามสาขาที่แบรนด์เหล่านี้ขยายธุรกิจออกไป”
ส่วนในกลุ่ม Street Food เอง ก็มีการขับเคลื่อนมาจากภาครัฐในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ และพื้นที่หัวเมืองประมาณ 30 จังหวัดทั่วประเทศ ที่พยายามผลักดันให้มีการใช้แพ็กเกจจิ้งที่ปลอดภัยและดีทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับ Street Food ไทยไปสู่ระดับโลก ทำให้เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะผลักดันให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยให้ขยายตัวไปได้อีกค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน
แต่หนึ่งปัญหาสำคัญในการผลักดันให้มีการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยเหล่านี้ ยังคงเป็นเรื่องของราคาที่ยังค่อนข้างแพงกว่าการใช้กล่องโฟมที่เฉลี่ยต้นทุนประมาณ 40-50 สตางค์ต่อใบ ขณะที่บรรจุภัณฑ์กระดาษและกลุ่มที่ทำจากเยื่อธรรมชาติ ราคามากกว่า 1-2 บาท ตามแต่ลักษณะของแบบที่ผลิต การผลักดันจากมิติแค่ให้ผู้ประกอบการเริ่มเปลี่ยนด้วยตัวเองจึงอาจไม่ได้ผลเต็มที่มากนัก ทางเฟสท์จึงได้จัดสรรงบที่ราว 1% ของยอดขาย หรือประมาณ 15 ล้านบาท สำหรับประชาสัมพันธ์เพื่อ Educated การรับรู้ไปในวงกว้างเพื่อให้ทั้งผู้บริโภคและสังคมเข้ามาร่วมผลักดันและเกิดความตระหนักรู้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงร่วมกันขับเคลื่อนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้เร็วมากขึ้น
ภายหลังการลงทุนขยายฐานการผลิต พร้อมเร่งสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย รวมทั้งการเข้าไปแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทางเฟสท์ได้คาดการณ์เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10% ในกลุ่ม Food Service หรือมียอดขายประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับแบรนด์ชั้นนำในธุรกิจอาหารเพื่อให้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์จากเยื่อธรรมชาติ พร้อมทั้งวางแผนการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการขยายกำลังผลิตเพิ่มเติมในโรงงานที่ขอนแก่นที่คาดว่าจะมีออเดอร์เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทางเลือกใหม่ๆ โดยจะร่วมมือกับทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอสซีจีอย่างใกล้ชิด เพื่อคิดค้นวัสดุทดแทนที่มีคุณภาพสูง ให้ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
ทางรอดของบรรจุภัณฑ์พลาสติก
แม้กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะเข้ามาสกัดการเติบโตของบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มพลาสติกให้ลดลง แต่การใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติกก็ยังคงต้องมีอยู่ เพราะวิถีชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะในความเป็นสังคมเมือง จำนวนครัวเรือนที่เล็กลง ทำให้ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็น Individual เพื่อให้มีขนาดเล็กลงและสอดคล้องกับปริมาณการบริโภค หรือสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และกระแสความใส่ใจด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รักษาความสดใหม่ สามารถยืดอายุสินค้าให้นานที่สุด หรือรักษาระดับความร้อนและความเย็นของอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่มีสารปนเปื้อนออกมาจากพลาสติก
ปัจจัยต่างๆ ทำให้ความต้องการใช้พลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์แบบชั้นฟิล์มหลายชั้น มีประโยชน์ในการทนความร้อนและความดันสูง และยังสามารถพิมพ์ฉลากลงบนบรรจุภัณฑ์ได้ มีความแข็งแรง ความสะดวกในการห่อหุ้มสินค้า สามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์หน่วยเล็กๆ ได้ ง่ายต่อการใช้งาน และการขนส่ง เช่น ถุงแบบตั้งได้ หรือถุงซิป เป็นต้น
EIC แนะนำว่า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกควรปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง โดยปรับลดสัดส่วนการลงทุนบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลาสติกแบบอ่อนตัวที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีกำไรขั้นต้นราว 20% ขณะที่กำไรขั้นต้นของพลาสติกแบบพื้นฐานมีกำไรขั้นต้นที่ 5-10% รวมถึงนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและอาจเพิ่มยอดขายได้ในอนาคต เช่น Active Packaging ช่วยรักษาคุณภาพอาหารและยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ จากการใช้กระบวนการต่างๆ โดยการดูดออกซิเจน การควบคุมความชื้น การดูดหรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเนื่องมาจากแบคทีเรียหรือราบางประเภทที่ปล่อยออกมาระหว่างการเจริญเติบโต
สำหรับในต่างประเทศ จะเน้นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในการใช้พลาสติกชีวภาพ โดยยุโรปตะวันตกเป็นผู้บริโภคพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ซึ่งในปี 2017 มีปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพถึง 500,000 ตัน หรือครึ่งหนึ่งของความต้องการทั่วโลก คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปี 2012-2017 ราว 18% ปัจจัยของการเติบโตนั้นมาจากการได้รับการสนับสนุนจากกฎระเบียบภาครัฐและความตระหนักและความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยยุโรปพร้อมประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกแบบ single-use ภายในปี 2025
ขณะที่ประเทศไทยจะเห็นการผลักดันจากภาครัฐผ่าน 3 เป้าหมายหลัก ในการขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 1. ปริมาณขยะพลาสติกที่นำไปกำจัดจะต้องลดลง 2. การออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ 3. การนำพลาสติกกลับมาใช้หลังการบริโภค 60% ภายในปี 2021
ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีการทบทวนแนวคิดการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ภาษีถุงพลาสติก หรือภาษีห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ให้บริษัทผลิตน้ำดื่มเลิกหุ้มฝาขวดด้วยพลาสติก (cap seal) โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกให้ได้ปีละ 520 ตัน หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลกถึง 6.5 รอบ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2018
ในส่วนของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาทุกหน่วยงานในสังกัด ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2018 ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกของโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ถึงปีละกว่า 9 ล้านใบ
นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกพื้นฐานในภาคเอกชนของไทย เช่น Tops daily จัดกิจกรรมรับคะแนนสะสมเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าในร้านโดยไม่รับถุงพลาสติก SCB จัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการแจกขวดน้ำพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำให้แก่พนักงาน
จะเห็นได้ว่ามาตรการของทั้งภาครัฐและเอกชนข้างต้น แม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่มากนัก เนื่องจากคนไทยมีการใช้ถุงพลาสติกปีละ 7 พันล้านใบ แต่หากภาครัฐปฏิบัติตามเป้าหมายได้สำเร็จในการนำพลาสติกกลับมาใช้หลังการบริโภค 60% ตามที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับกระแสการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบพื้นฐานแบบบริโภคครั้งเดียว (single use) อย่างถุงหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติกแบบพื้นฐาน จากปริมาณการใช้ที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอย่างแน่นอน