“ย่านเจ้าสัวจีนถิ่นขุนนางไทย อดีตแหล่งการค้าใหญ่ที่ฝั่งธน ผู้คนไทย จีน แขก แปลกชาติฯ ศาสนสถานรังสรรค์ผสมผสาน” คือ จารึกที่ปรากฏอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน บรรยายถึงความรุ่งเรืองของย่านคลองสานที่มีมาแต่อดีต เคียงข้างแม่น้ำเจ้าพระยา มีการผสมผสานของชาติพันธุ์ที่หลากหลายหลอมรวมอยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว และเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ 100 ปีก่อน
เชื่อมต่อ Old Town -New Town
จนมาถึงปัจจุบันคลองสานยังคงเป็นประตูเชื่อมความเจริญระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และล่าสุดคลองสานกำลังจะกลายเป็นที่ตั้งของ “ไอคอนสยาม” ที่เตรียมเปิดให้บริการปลายปีนี้ ด้วยความเชื่อว่าโครงการยักษ์แห่งนี้ จะเป็นผู้มาปลุกย่านการค้าเก่าแก่ดั้งเดิมให้กลับมามีชีวิตชีวาและโดดเด่นรุ่งเรืองได้อีกครั้ง
มุมมองสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเรือด่วน เรือลากจูง เรือท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งสามารถทำรายได้หมุนเวียนให้ประเทศได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท เห็นตรงกันว่าไอคอนสยามคือโครงการที่แปลกใหม่และยิ่งใหญ่ที่สุดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีองค์ประกอบหลากหลายที่จะดึงดูดผู้คนมากมายให้เดินทางมาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ช้อปปิ้ง พื้นที่ค้าขายสินค้าท้องถิ่นของไทยจากต้นตำรับตัวจริง ลานแสดงน้ำพุแสงสีเสียง Auditorium ขนาดใหญ่ รองรับการแสดงหรืองานประชุมสัมมนาระดับโลก จึงเชื่อว่า ไอคอนสยามจะเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยง Old Town เข้ากับ New Town และเดินต่อไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน
นาวาโทปริญญา รักวาทิน นายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ในมุมมองของคนภายนอกอาจจะมองว่าไอคอนสยามคือโครงการยักษ์ริมน้ำเพียงแค่นั้น แต่การมาของไอคอนสยามช่วยทำให้ผู้ประกอบการตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตื่นตัวกันอย่างมาก และคาดว่าจะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย นอกเหนือจากคอนโดมิเนียมใหม่ๆ อาจจะมีโรงแรมใหม่ ร้านค้าใหม่ และธุรกิจบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการสนับสนุนอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญอย่างธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งแต่เดิมนักท่องเที่ยวมากรุงเทพฯ ก็จะนิยมไปเที่ยว Old Town ไม่ว่าจะเป็นวัดอรุณ วัดโพธิ์ เกาะรัตนโกสินทร์ ปากคลองตลาด ถนนข้าวสาร หลังจากนั้นก็จะไปช้อปปิ้งในเมือง เช่น ย่านสยาม
แต่ภายหลังจากไอคอนสยามเปิดให้บริการ เชื่อว่า ไอคอนสยามจะถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะเดินทางไม่ไกลจากกลุ่มท่องเที่ยว Old Town มากนัก และไอคอนสยามยังมีแม็กเน็ตสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ช้อปปิ้ง กิน ดื่ม แบบ New Town และกิจกรรมอีกมากมาย ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับบรรยายกาศริมน้ำได้ทั้งวัน
ดันธุรกิจ MICE ริมเจ้าพระยาเติบโต
นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจ MICE เพราะช่วยเพิ่มตัวเลือกในการเป็นอีกหนึ่ง Destination สำหรับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดย มร. เดวิด โรบินสัน ผู้อำนวยการ บางกอก ริเวอร์ พาร์ทเนอร์ส (บีอาร์พี) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งการพักผ่อน ท่องเที่ยว และการเดินทางเพื่อธุรกิจที่สำคัญ โดยมีสมาชิกเป็นโรงแรม และธุรกิจร้านค้าริมเจ้าพระยาให้ความเห็นว่า “นักท่องเที่ยวจากยุโรป และอเมริกา ที่มากรุงเทพฯ เพราะชื่นชอบช้อปปิ้ง ชอบอาหารไทย ชอบวิถีชีวิตแบบไทยๆ และชอบสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะย่านเจริญกรุง คลองสาน ที่สามารถเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของไทยที่มีความหลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ตั้งแต่ย่านไชน่าทาวน์ ตลาดน้อย กะดีจีน คลองสาน และเกาะรัตนโกสินทร์
“การมาของไอคอนสยามจึงช่วยเติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยว หลังจากเที่ยวชมวัด วัง ตรอกซอกซอยต่างๆ แล้ว นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลานอกเหนือจากนั้นไปกับการช้อปปิ้ง พักผ่อนสบายๆ ริมน้ำ ชมความงามของอาคารเก่า วัด วังยามค่ำคืน และวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ กับสายน้ำ และด้วยความเป็นโครงการขนาดใหญ่ ไอคอนสยามยังมีสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมถึงมี Auditorium ที่สามารถรองรับการประชุมในระดับโลกได้ จึงทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจเดินทางมาท่องเที่ยวในย่านนี้มากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการเดินทางมาประชุมหรือดูงานการจัดแสดงต่างๆ ที่ไอคอนสยาม ยังสามารถไปช้อปปิ้ง รวมทั้งไปชมพิพิธภัณฑ์ เที่ยวชมชุมชนรอบข้าง วิถีชีวิตไทย ดูย่านสร้างสรรค์ ซึ่งได้รวมทุกความต้องการทั้งหมดไว้รวมกัรในย่านนี้แล้ว”
สร้างต้นแบบท่าเรือสมัยใหม่
ในส่วนของการเดินทางมายังโครงการ จะเห็นได้ว่าเมื่อโครงการรถไฟฟ้าที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีสถานีที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากมาย อาทิ สถานีตากสิน (สายสีเขียว สนามกีฬา-บางหว้า) สถานีสะพานพระนั่งเกล้า (สายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่) สถานีบางโพ (สายสีน้ำเงิน เตาปูน-ท่าพระ) สถานีสนามไชย (สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค) สถานีสะพานพระราม 6 (สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และ สถานีศิริราช (สายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม)
ทั้งหมดนี้ จะเปิดโอกาสให้คนที่อาศัยอยู่ในโซนต่างๆ ทั้งสุขุมวิท พหลโยธิน แจ้งวัฒนะ หรือราชพฤกษ์ สามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ง่ายขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้คนสนใจมาทำกิจกรรมริมน้ำมากขึ้นด้วย และจะทำให้การเดินทางทางน้ำทวีความสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของระบบการขนส่งทางน้ำของประเทศไทย
“เรือโดยสารที่ปัจจุบันเป็นเรือไม้ จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรือที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงขึ้น จะมีเรือใหม่ๆ เข้ามาแล่นให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า โรงแรม และไอคอนสยาม เราจะได้เห็นเรือคาตามารัน และเรือยอช์ท ให้บริการแถบสองฝั่งเจ้าพระยา เคียงคู่ไปกับเรือหางยาว และเรือท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ซึ่งจะกลายเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวต้องการมาชม เช่นเดียวกับท่าเรือและส่วนพักคอยของผู้โดยสารจะถูกปรับโฉมให้มีความทันสมัย และปลอดภัยยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากตัวเลขผู้โดยสารเฉพาะท่าเรือสาทรแห่งเดียว ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยาประเมินว่า เมื่อไอคอนสยามเปิดดำเนินการ ท่าเรือสาทรจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น เป็นวันละประมาณ 100,000 คน ถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการ โดยเรื่องนี้ทางกรมเจ้าท่าได้ร่วมมือกับบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา สมาคมเรือไทย จัดทำโครงการนำร่อง จัดระเบียบการโดยสารและป้องกันการบรรทุกเกิน เพื่อรองรับกับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการบริหารจัดการการจราจรทางน้ำบริเวณหน้าโครงการไอคอนสยามที่จะต้องมีการวางระบบ ซักซ้อม พร้อมกับนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการกำหนดการเข้าเทียบท่า และการออกจากท่าของเรือประเภทต่างๆ ที่จะกลายเป็นต้นแบบของท่าเรือใหม่ที่ทันสมัยที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ด้าน คุณมนูญ พุฒทอง นายกสมาคมเรือไทย ที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือท่องเที่ยว เรือข้ามฝาก และเรือภัตตาคาร ซึ่งปัจจุบันมีเรือโดยสารประจำทางแล่นให้บริการประมาณ 50 ลำ เรือนำเที่ยวขนาด 40 ที่นั่ง ราว 200 ลำ และเรือหางยาวอีก 200 ลำ กล่าวว่า “เราคิดว่าการเดินทางมาไอคอนสยามที่สะดวกที่สุดคือการเดินทาง ทางเรือ ซึ่งสมาชิกของสมาคมเรือไทยมีความพร้อมทั้งจำนวนเรือและบุคลากรที่จะรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น โดยสมาคมและไอคอนสยามได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการจัดระเบียบการจราจรหน้าท่าอยู่แล้ว”