เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน สำหรับ “พานาโซนิค” และในปีนี้ก็เป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี นับจากเริ่มก่อตั้งธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ 7 มีนาคม 1918 ในชื่อเริ่มต้นว่า บริษัท มัตสุชิตะ อิเล็คทริค เฮ้าส์แวร์ แมนูแฟคเจอริ่ง เวิร์คส์ จำกัด ตามชื่อผู้ก่อตั้งอย่าง โคโนสุเกะ มัตสุชิตะ ก่อนจะสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้มากกว่าแค่ในญี่ปุ่น จนทำให้แบรนด์พานาโซนิคกลายเป็นที่รู้จักและสามารถทำตลาดได้ในระดับโลกได้สำเร็จ
ขณะที่ประเทศไทยต้องนับว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญ เพราะเป็นฐานกำลังผลิตที่พานาโซนิคเลือกลงทุนสร้างโรงงานในต่างประเทศเป็นแห่งแรก จนถึงปัจจุบันก็ได้ดำเนินธุรกิจมา 57 ปีแล้ว และยังขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทในเครือมากถึง 20 แห่ง กระจายไปใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ อยุธยา ขอนแก่น สมุทรปราการ ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา
โดยบริษัทในเครือของพานาโซนิคที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยนั้น แบ่งเป็นส่วนงานที่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ประกอบไปด้วย งานด้านการผลิต(Manufacturing) 11 แห่ง งานขาย(Sales) 4 แห่ง งานด้านวิจัยและพัฒนา (R&D)1 แห่ง และในส่วนของการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ (Holding/ Other) รวม 4 แห่ง
Vision 2020 ยอดขายประเทศไทยต้องถึงแสนล้าน
ขณะที่ความสามารถในการสร้างความแข็งแรงและผลักดันการเติบโตให้กับธุรกิจรวมทั้งการรับรู้ต่อแบรนด์พานาโซนิคในประเทศไทย ก็ถือว่าทำได้เป็นอย่างดีด้วยยอดขายที่ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหลายอย่างหรือในบางปัจจัยจากตลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังซื้อที่ยังไม่ดีมากนัก ส่งผลให้เกิดภาวะการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรง หรือสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการผลักดันสินค้าให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย หรือพัฒนาการทางด้านพฤติกรรม หรือเทคโนโลยีที่กระทบต่อการขยายตัวของสินค้าในบางเซ็กเม้นต์
มร. ฮิเดคาสึ อิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า พานาโซนิคยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้ โดยปีงบประมาณ 2017 ที่ผ่านมา (เม.ย. 2017- มี.ค. 2018) พานาโซนิคสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ตลาดและหลายๆ แบรนด์ไม่ได้เติบโต โดยทำยอดขายรวมได้ 91,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 3.64% ของยอดขายพานาโซนิคทั่วโลก ที่เติบโตได้ถึง 9% ด้วยจำนวนยอดขายรวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท
“หากย้อนการเติบโตในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายเมื่อปีล่าสุดขยับมาเท่ากับปี 2015 ที่ทำยอดขายได้ 9.1 หมื่นล้านบาท ก่อนจะลดเหลือ 9 หมื่นล้านบาทในปี 2016 ตามสถานการณ์ตลาดในประเทศไทยที่ซบเซาลง เนื่องจากภาวะความสูญเสียที่เกิดขึ้น ขณะที่ในปีที่ผ่านมานี้แม้ภาพรวมต่างๆ จะยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่พานาโซนิคก็ยังสามารถฟื้นตัวให้กลับมาเติบโตได้ และเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้ธุรกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5% ในสิ้นปีงบประมาณ 2018 นี้ และจะรักษาการเติบโตในระดับนี้ไปอย่างต่อเนื่องอีก 2-3 ปี เพื่อผลักดันให้ธุรกิจของกลุ่มพานาโซนิคในประเทศไทยสามารถขยับไปสู่การเป็นบริษัทที่สามารถทำยอดขายได้ในระดับ 1 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายในปี 2020 ที่ได้วางไว้”
และในโอกาสดำเนินธุรกิจมาครบ 100 ปี พร้อมมองภาพของพานาโซนิคในอีก 100 ปีถัดไป มร. อิโตะ กล่าวว่า จากนี้ไปผู้บริโภคจะต้องรู้จักแบรนด์พานาโซนิคในมิติที่มากกว่าแค่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ศตวรรษใหม่ที่วางไว้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วโลก และยังสอดคล้องกับปรัชญาของ มร.โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ ผู้ก่อตั้งพานาโซนิค ที่จะไม่หยุดนิ่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการมอบชีวิตที่ดีกว่า เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ดีขึ้น ตามสโลแกน A Better Life, A Better World ซึ่งพานาโซนิคใช้เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
เร่งสร้างแบรนด์ให้เป็นมากกว่าแค่เครื่องใช้ไฟฟ้า
นอกจากเป้าหมายในเชิง Performance ที่วางไว้ค่อนข้าง Aggressive โดยที่ผู้นำทัพเองยังเอ่ยปากว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากในการผลักดันธุรกิจให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้นั้น ขณะที่ตัวเลขในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2018 นี้ (เม.ย -มิ.ย. 2018) พานาโซนิคประเทศไทยเติบโตได้เพียง 98% ด้วยยอดขายรวม 22,000 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมายไป 2% แต่พานาโซนิคยังเชื่อว่าเวลาอีก 3 ไตรมาสที่เหลือจะสามารถ Achieve เป้าหมายได้อย่างแน่นอน จากการผลักดันสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในทุกกลุ่มธุรกิจ
ยังมีเรื่องของการสร้าง Brand Awareness เป็นอีกเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนต่อจากนี้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะ Brand Awareness ของพานาโซนิคในประเทศไทยขยับสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากการสำรวจ Brand Perception Survey ของ AC Nielsen ซึ่งพานาโซนิคอยู่อันดับ 6 ในปี 2016 มาสู่อันดับ 4 ในปี 2017 และล่าสุดในปีนี้ขยับมาสู่ Top 3 ของตลาดแล้ว และหวังว่าในปีต่อๆ ไปจะสามารถขยับมาสู่อันดับที่สูงขึ้นได้อีก
ภาพใหญ่ที่พานาโซนิควางตำแหน่งของแบรนด์ไว้เหมือนกันทั่วโลกคือ จากนี้ไปต้องการเป็นมากกว่าแค่ผู้ผลิตและโฟกัสอยู่ที่ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะก้าวสู่การเป็น Lifestyle Provider ที่จะเข้าไปอยู่ในทุกๆ ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของผู้คน เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยภาพเหล่านี้เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อปี 2013 ที่แยกการดำเนินธุรกิจให้อยู่ภายใต้ 4 กลุ่ม รวมทั้งส่งเสริมการทำธุรกิจ B2B มากขึ้น นอกเหนือจากการทำตลาดตรงกับผู้บริโภคเท่านั้น โดยเฉพาะในบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นที่สัดส่วนรายได้จากแต่ละกลุ่มธุรกิจเริ่มเฉลี่ยสัดส่วนไปในแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจทั้ง 4 และสัดส่วนรายได้ของแต่ละกลุ่มจากทั่วโลก มีดังนี้
1. Appliance Company (AP) หรือ กลุ่มธุรกิจที่รับผิดชอบทั้งการพัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องเสียง เครื่องใช้ในครัว สินค้าความงามต่างๆ เครื่องปรับอากาศ ตู้แช่ หรือคอมเพรสเซอร์ โดยมีสัดส่วนยอดขาย 32%
2. Eco Solution Compan (ES) หรือกลุ่ม Housing โดยดูแลเกี่ยวกับระบบต่างๆ ภายในบ้าน ทั้งน้ำ ไฟ ระบบระบายอากาศ วัสดุตกแต่งภายในบ้าน ระบบเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล จักรยานไฟฟ้า ด้วยสัดส่วนยอดขาย 20%
3. Connected Solution Company (CNS) หรือการนำเสนองานในรูปแบบโปรเจ็กต์ มากกว่าแค่การขายสินค้าอย่างเดียว แต่เพิ่มบริการต่างๆ เป็นโซลูชั่นส์ เช่น การบริการดูแลรักษา การเชื่อมต่อระบบให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ค้าปลีก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ระบบขนส่ง หรือในพื้นที่สาธารณะ โดยมีสัดส่วนการขาย 14%
4. Automotive & Industrial Systems Company (AIS) หรือการพัฒนา ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งแบตเตอรี่ให้กับธุรกิจรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีสัดส่วนการขาย 34%
โฟกัสทำตลาดกลุ่ม Living Space
ขณะที่ภาพในประเทศไทยรายได้หลักส่วนใหญ่ยังมาจากกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยสัดส่วน 30% และในธุรกิจรถยนต์ 59% ขณะที่ในกลุ่ม Housing ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้พานาโซนิคขยายเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ผ่านผู้ประกอบการกลุ่มอสังหารายต่างๆ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนในธุรกิจนี้ของพานาโซนิคประเทศไทยอยู่ที่ 9% และคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับสัดส่วนจากทั่วโลก ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 20% ตาม Midterm Plan ที่วางไว้เพื่อสร้างการเติบโตในช่วง 2-3 ปีนี้เช่นกัน
“จากเป้าหมายสำคัญที่พานาโซนิคจะก้าวไปสู่การเป็น Lifestyle Provider ซึ่งกลุ่มพานาโซนิคในประเทศไทย ได้นำมาปรับกลยุทธ์สำหรับตลาดประเทศไทย ด้วยการโฟกัสการทำตลาดในกลุ่ม Living Space ซึ่งน้ำหนักจะอยู่ที่ 2 หมวดใหญ่คือ AP และ ES หรือกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มเฮ้าส์ซิ่ง ผ่านการพัฒนาสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับทั้งประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ของสมาร์ทโฮม ภายใต้การทำตลาดผ่านแนวคิด Aspire to Me ที่มีความแข็งแรงใน 3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในฐานะแบรนด์ญี่ปุ่นหรือ Japan Quality ที่เป็นกลุ่ม High Technology และดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้งานและมีความพรีเมี่ยม รวมทั้งการออกแบบการใช้งานให้เป็น Local Fit เช่น การมีเทคโนโลยีนาโนอี ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่เหมาะกับสภาพอากาศของไทย ที่จะทำให้การรับรู้แบรนด์พานาโซนิคจากนี้จะขยับไปสู่ภาพของความเป็น Top Premium Brand ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อีกด้วย”
ขณะที่ตลาดในกลุ่ม AIS หรือกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะความแข็งแรงของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญ ขณะที่ในกลุ่ม CNS ที่อาจจะต้องเติบโตร่วมกับการมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละโซลูชั่นส์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการได้แบบครบวงจรที่มากกว่าแค่การขายสินค้าเป็นชิ้นๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง