หนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองในแวดวงค้าปลีกขณะนี้ เมื่อ Key Player ในตลาดอย่างเดอะมอลล์ กรุ๊ป(The Mall) ออกมาเปิดตัวพาร์ทเนอร์รายใหม่จากฟากฝั่งสถาบันการเงิน เพื่อแนะนำบัตรเครดิต Co-Branding ใบใหม่ ที่ชื่อว่า “SCB M” ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนตัวพาร์ทเนอร์หลักจากที่เคยคุ้นเคยกับชื่อเดิมมาเป็น 10 ปี อย่าง Citi M เพื่อก้าวสู่เป้าหมายใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิมและเป็นการตั้งรับการแข่งขันในยุค Digitization อย่างแท้จริง เพราะบัตรใบใหม่อย่าง SCB M นี้ นับได้ว่าเป็นการ Beyond Co-Branded Credit Card มาสู่ สิ่งที่เรียกว่า Co-Create Financial Solution
จะทำ Co-Brand ต้องมองมากกว่าบัตรเครดิต
สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนพาร์ทเนอร์ใหม่ของกลุ่มเดอะมอลล์ เพราะต้องการขยายความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าให้มากกว่าแค่ในมิติของการมอบประสบการณ์ที่ดีจากการช้อปปิ้ง ที่ปัจจุบันต้องถือว่าเป็น Basic Need ที่ผู้ประกอบธุรกิจรีเทลทุกรายจำเป็นต้องตอบโจทย์ลูกค้าในมิตินี้ให้ดีที่สุดอยู่แล้ว จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็น Offer จากการถือบัตรโคแบรนด์ต่างๆ ในรูปของการให้ส่วนลด คะแนนสะสม และเน้นการเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมโปรโมชั่นพิเศษกับทางบัตรต่างๆ อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ให้มากที่สุด ซึ่งยังคงเป็นจุดหลักๆ ที่มองเห็นในการแข่งขันสำหรับการทำโคแบรนด์ดิ้งบัตรเครดิตทุกรายในขณะนี้
ซึ่งในมิตินี้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้ถือบัตร SCB M จะได้รับอย่างไม่แตกต่างจากบัตรใบอื่นๆ เช่นกัน แต่สิ่งที่เป็นความแตกต่างและ Beyond Co-Branded Credit Card ของ SCB M อยู่ที่การสร้าง Seamless Experience ด้วยการ Co-Create ฟังก์ชั่นใหม่ๆ ให้กับ SCB M เพื่อให้เป็นได้มากกว่าแค่บัตร Co-Branding ทั่วๆ ไป แต่ยกระดับมาสู่การเป็น Financial Solution เพราะความสามารถของ SCB M นั้น มากกว่าแค่สิ่งที่บัตรเครดิตทั่วไปจะทำได้ เนื่องจากผนวกผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ฟากฝั่ง Banking สามารถทำได้ ให้ผู้ถือบัตร SCB M สามารถเข้าถึงได้ และมีบทบาทไม่ต่างจาก Banking Agent ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านประกันต่างๆ อาทิ ประกันการเดินทาง, ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล, ประกันสุขภาพ, ประกันรถยนต์, รวมทั้งการมอบประกันให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้บัตร SCB M ในการซื้อสินค้า (Extended Warranty)
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริการบัตรกดเงินสด บริการสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งบริการ Bill Payment หรือบริการชำระค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ และ Payment Service เพื่อตอบโจทย์ประสบการณ์ในการช้อปปิ้งได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยสามารถช้อปปิ้งด้วยบัตร SCB M ผ่านมือถือ ผ่านการแสกน QR หรือชำระผ่านบัตร SCB M VISA ที่อยู่ในรูปแบบ Virtual Card ที่อยู่ในแอป SCB EASY รวมทั้งการเข้าถึงแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ และประสบการณ์การช้อปปิ้งในรูปแบบ Personalize ผ่านการ Chat Bot ที่จะนำเสนอโปรโมชั่นสินค้าที่เหมาะสมกับแต่ละคน ด้วยการนำ AI เข้ามาใช้ เป็นต้น
ส่วนความพิเศษและสิทธิประโยชน์ในฐานะบัตรเครดิตโคแบรนด์ SCB M ยังคงเน้นการมอบประสบการณ์จากการช้อปปิ้งอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการช้องปิ้งทั้งแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ เรียกรถแท็กซี่ ดูหนัง เสริมสวย ท่องเที่ยว รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้ประสบการณ์ในการช้อปปิ้งแบบ O2O ทั้งบริการจองที่จอดรถภายในห้างล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น การบริการ Indoor Navigation เพื่อนำทางไปยังร้านค้าต่างๆ ภายในศูนย์การค้าหรือร่วมกิจกรรมพิเศษต่างๆ ที่จัดขึ้นมา รวมทั้งการมอบส่วนลดและคะแนนพิเศษเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร โดยพยายามนำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากตลาด และการมีพาร์ทเนอร์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแรงในการทำ Relationship เพื่อสร้าง Loyalty และ Engagement ให้ลึกซึ้งได้มากยิ่งขึ้น
คุณศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บัตร SCB M ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มเดอะมอลล์ และธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นมากกว่าการทำ Co-Branding บัตรเครดิตทั่วไป เป็นมากกว่าเรื่องของ CRM หรือการทำ Loyalty Program แต่ถือเป็น The First Evolution of Experience Shopping ที่เป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง ด้วยการผนวกนวัตกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัลเข้ากับธุรกิจค้าปลีกได้อย่างไร้รอยต่อ และนับเป็นการผสานเรื่องของ Digital Banking เข้ากับประสบการณ์ในการช้อปปิ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างแข็งแรง
ขณะที่ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มองว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการผสานจุดแข็งระหว่างสององค์กรชั้นนำระดับประเทศทั้งในฟากธุรกิจค้าปลีกและธนาคารพาณิชย์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินไปสู่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับ Cashless Ecosystem และเร่งการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด โดยที่ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นก้าวสำคัญที่จะสะท้อนและตอกย้ำเป้าหมายของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะเป็นมากกว่าแค่ Banking แต่จะอยู่ในฐานะ Tech Company ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพันธมิตร โดยความร่วมมือกับเดอะมอลล์ในครั้งนี้จะทำให้สามารถยกระดับการให้บริการ เพื่อมอบประสบการณ์ที่แตกต่างให้แก่ลูกค้า และทำให้ทั้งสององค์กรสามารถเข้าไปนั่งในใจลูกค้า เพิ่มความสามารถในการสร้าง Customer Engagement ระดับที่ลึกซึ้งได้มากกว่าที่ผ่านมา
เปิดประตูเชื่อมข้อมูล M CARD – SCB EASY
กุญแจสำคัญที่ช่วยอัพเกรดให้บัตร SCB M สามารถนำเสนอ Financial Solution ให้แก่ลูกค้าได้ เนื่องจาก ข้อมูลต่างๆ ของผู้ถือบัตร SCB M จะถูกเก็บไว้แอปพลิเคชั่น M CARD ซึ่งถือเป็น Data Tank ของลูกค้ากลุ่มหลักของเดอะมอลล์กรุ๊ป
และภายหลังจากการเป็นพารทเนอร์กันระหว่างกลุ่มเดอะมอลล์และทางธนาคารไทยพาณิชย์ จะทำการเชื่อม API และแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างแอปพลิเคชั่น M CARD และ SCB EASY เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ถือบัตร SCB M สามารถใช้บริการจากเมนูต่างๆ ที่มีอยู่ในสองแอปพลิเคชั่นนี้ได้ ไม่ว่าจะเข้ามาจากแอป M CARD หรือ SCB EASY ซึ่งทางธนาคารไทยพาณิชย์เองก็กำลังผลักดันให้แอปพลิเคชั่นนี้เป็นมากกว่าแค่ Digital Banking แต่ขยับมาสู่การเป็น Digital Lifestyle Platform เพื่อให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยที่ SCB EASY จะทำหน้าที่ไม่ต่างกับการเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่คอยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ถือบัตร ให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือสิ่งที่บัตรเครดิตทั่วๆ ไปสามารถทำได้อยู่แล้ว
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บัตร SCB M สามารถเพิ่มฟังก์ชั่นให้เป็นได้มากกว่าแค่บัตรเครดิตโคแบรนด์ทั่วไป แต่สามารถเข้าถึง Financial Solution ได้มากขึ้น โดยที่ทั้งกลุ่มเดอะมอลล์ และ SCB ยังได้มองต่อยอดไปถึงความสามารถในการขยายฐานลูกค้าผู้ถือบัตรไปสู่กลุ่มใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ เพราะปัจจุบันผู้ที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่บัตรโคแบรนดดิ้งต่างๆ มอบให้ ยังคงจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มของคนที่มีความสามารถในการทำบัตรเครดิตได้เท่านั้น
ดังน้ัน อีกหนึ่งความแตกต่างที่สำคัญของ SCB M นั่นคือ การขยายสิทธิประโยชน์จากส่วนลดและสามารถสะสมคะแนนจากการใช้จ่ายไปสู่กลุ่มผู้ถือบัตรเดบิตและบัตรพรีเพดเป็นครั้งแรก ทำให้ SCB M จะมีบัตรสำหรับการใช้งานในแต่ละเซ็กเม้นต์รวม 5 กลุ่ม ประกอบด้วย SCB M LIVE, SCB M LUXE, SCB M LEGEND สำหรับผู้ที่มีความสามารถในการทำบัตรเครดิตแต่ละประเภทได้ตามเงื่อนไข รวมทั้ง SCB M DEBIT CARD และ SCB M PREPAID CARD สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ อาทิ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน รวมทั้งกลุ่มชาวต่างชาติทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยว และ EXPAT ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น โดยเป้าหมายเมื่อครบปีแรก ตั้งเป้าจะมีผู้ถือบัตร SCB M ทุกประเภทรวมกันไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย
คุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ Chief Marketing Officer บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การเพิ่มประเภทบัตรมาสู่บัตรเดบิตและพรีเพด จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายฐานผู้ถือบัตรไปสู่กลุ่มใหม่ๆ ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน รวมทั้งทำให้ฐานลูกค้า M CARD ที่ปัจจุบันมีกว่า 4 ล้านคน และถือเป็นกำลังซื้อสำคัญที่มีสัดส่วนมากถึง 70% ของเดอะมอลล์กรุ๊ป สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจาก ลูกค้าสมาชิกบางรายก็ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้เช่นเดียวกัน
“เรามีพาร์ทเนอร์อย่าง SCB ซึ่งมีฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่สามารถออกบัตรเดบิตให้แก่ลูกค้าได้ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่เปิดบัญชีและใช้งานบัตรเดบิตอยู่แล้วจำนวนหลายล้านรายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะขยับมาถือบัตรเดบิต SCB M เพราะเป็นบัตรเดบิตเพียงรายเดียวในขณะนี้ที่จะได้รับส่วนลดพิเศษและสามารถสะสมคะแนนจากการใช้จ่ายภายในเดอะมอลล์และร้านค้าพันธมิตรต่างๆ โดยในเดือนตุลาคมนี้ก็จะเปิดจำหน่ายบัตรพรีเพด ซึ่งเป็นบัตรใบแรกเช่นเดียวกันที่สามารถได้รับคะแนนสะสมเมื่อมีการใช้จ่ายผ่านบัตร”
กลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมไร้เงินสด
ที่สำคัญ การผนึกกำลังกันของทั้งเดอะมอลล์และ SCB ไม่ใช่เพียงการรบกันในสนามค้าปลีก เพื่อสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามขับเคลื่อนประเทศไปสู่ภาพใหญ่ในการเป็น Cashless Society จากฟากผู้พัฒนา FinTech ด้วยการเข้ามาสู่ธุรกิจหลักที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากของประเทศได้อย่างธุรกิจค้าปลีก ซึ่งแค่เพียงในกลุ่มเดอะมอลล์กรุ๊ป ก็มีคนหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการหมุนเวียนทุกสาขาในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 400 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาภาพรวมการใช้จ่ายเฉพาะในกลุ่มเดอะมอลล์ พบว่า ปัจจุบัน 55% เป็นการใช้จ่ายผ่าน E Payment ในรูปแบบต่างๆ ทั้งบัตรเครดิตหรืออีวอลเล็ต ขณะที่ 45% ยังคงใช้จ่ายด้วเงินสด ซึ่งจากการขับเคลื่อนทั้งในฟากของสิทธิประโยชน์ในการใช้จ่ายผ่านบัตร ความสะดวกในการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบ E Payment ให้มากกลุ่มยิ่งขึ้น ก็เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในห้างให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 80% แค่เพียงในรอบปี
รวมทั้งยังเป็นกลไกสำคัญเพื่อสร้างความคุ้นชินให้กับพฤติกรรมการใช้งาน E Payment ของผู้คนในสังคม เพราะเห็นประโยชน์และความสะดวกในการใช้งาน ทำให้ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็น Cashless Society ได้เร็วมากขึ้น ซึ่งนอกจากความร่วมมือผ่าน SCB M เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทั้ง SCB และเดอะมอลล์กรุ๊ป ยังได้ร่วมกันพัฒนาระบบการชำระเงินผ่าน QR ที่บริเวณจุดชำระเงินบางส่วนในกรูเมต์มาร์เก็ต เพื่อเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการใช้จ่ายในระบบ E Payment ให้มากขึ้น โดยปัจจุบันให้บริการครอบคลุมกูร์เมต์มาร์เก็ตทุกสาขา อาทิ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ พารากอน บลูพอร์ต หัวหิน รวมทั้งในโฮมเฟรชมาร์ทที่เดอะมอลล์บางแห่ง เช่น งามวงศ์วาน รามคำแหง ท่าพระ รวมทั้งในกูร์เมต์ ทู โก ที่ MRT เพชรบุรี ซึ่งจะมีการมอนิเตอร์การใช้งานอยู่เสมอ หากพบว่ามีปริมาณการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ก็จะเพิ่มจำนวนเค้าน์เตอร์ให้บริการเพิ่มมากขึ้นอีกตามความเหมาะสม
เห็นได้ว่าความร่วมมือผ่านบัตร SCB M นี้ หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะไม่ใช่เพียงเกมในธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการสร้าง Customer Loyalty หรือ Customer Engagement ให้กับธุรกิจของตัวเองเท่านั้น แต่ยังช่วยเติมเต็ม Ecosystem เพื่อเร่งให้ประเทศไปสู่ Cashless Society ได้เร็วมากขึ้น โดยมีสนามธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ฟากฝั่งธนาคารจะพัฒนาโซลูชั่นส์หรือเทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ มานำร่องในการใช้งาน เนื่องจากมีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในแต่ละวันค่อนข้างมาก และมีสาขากระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีการขยายเครือข่ายพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้จ่ายได้ทั้งในห้างและนอกห้าง ซึ่งถือเป็นอัตราเร่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสดได้เร็วขึ้นนั่นเอง
ในส่วนของ The Mall และ SCB ก็ได้ประโยชน์เต็มๆ จากการเข้าถึง Life-Style และ DATA มหาศาลที่ลูกค้าใช้จ่ายและใช้ชีวิตภายในศูนย์การค้า รวมทั้งนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินที่เหมาะสม ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นมูฟเมนต์สำคัญที่บ่งบอกว่า ยุคแห่งการทำพาร์ทเนอร์ชิพระหว่างห้างสรรพสินค้าและสถาบันการเงินไปไกลกว่าแค่ CRM แบบเดิมๆ และก้าวเข้าสู่ยุคที่นักการตลาดต้องสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่อจับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้แล้วนำเสนอปรับเป็นบริการที่ลึกซึ้งกว่าที่เคย…