A&W (เอแอนด์ดับบลิว) แบรด์ร้านอาหารจานด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) สัญชาติอเมริกัน เป็นแบรนด์มีอายุใกล้จะ 100 ปีแล้ว และเข้ามาในตลาดเมืองไทยกว่า 36 ปี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในกลุ่ม NPPG หรือ บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวจาก A Great American Brand International Pte. LTD
รูทเบียร์-วาฟเฟิล เมนูพระเอก-นางเอก
เมื่อนึกถึงแบรนด์ A&W สินค้ายอดฮิตและเป็นที่รู้จัก คือ รู้ทเบียร์ และวาฟเฟิล ถือเป็นเมนูพระเอก-นางเอก ตัวชูโรงสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งสัดส่วนลูกค้า 60-70% ที่เข้ามาใช้บริการจะต้องสั่ง 2 เมนูยอดฮิต ถือเป็น Signature ขาดไม่ได้ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สูตรและรสชาติไม่เคยเปลี่ยนไป ที่สำคัญต้องปรุงสดใหม่ทุกๆ วัน นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ A&W ยังสามารถสร้างการเติบโต ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจ QSR ซึ่งรุนแรง แต่ A&W มีจำนวนสาขาไม่มาก คือ ความหลากหลายของเมนูอาหาร ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งคาว-หวานรวมกว่า 100 เมนู มีเมนูซึ่งคิดค้นเฉพาะตลาดเมืองไทย หรือเมนูตามฤดูกาลอีกไตรมาสละ 5 เมนู และยังมีเมนูอาหารเช้า เป็นจุดได้เปรียบคู่แข่งขัน เพราะเป็นอาหารเช้าแบบจริงๆ จังๆ ขายกันตั้งแต่ 9.30-11.00 น
เจาะตลาดเด็กสร้างยอดขายเพิ่ม
ปัจจุบันฐานลูกค้าหลักๆ ของแบรนด์ A&W คือ กลุ่ม พนักงานบริษัทสัดส่วน 64% นักศึกษาสัดส่วน 16% และที่เหลือเป็นกลุ่มครอบครัว ช่องว่างทางการตลาดซึ่งยังไม่ได้เข้าไปเจาะอย่างจริงจัง คือ กลุ่มเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมตอนต้น ซึ่งแบรนด์ A&W อยู่ระหว่างการวางแผน และแนวทางการตลาดจะเข้าไปกวาดต้อนลูกค้ากลุ่มนี้ เตรียมไว้หลายกลยุทธ์ ทั้งเรื่องของเมนูอาหาร การขยายสาขา หรือแม้กระทั่งการสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าพระเอกอย่าง “รูทเบียร์” ว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะมีวัตถุดิบมาจากสมุนไพรและรากไม้ 16 ชนิด
ขยาย 100 สาขา + โมเดลใหม่ A&W Express
ภายในสิ้นปี 2020 A&W วางเป้าหมายจะขยายสาขาให้ครบ 100 สาขา จากปัจจุบันมี 37 สาขา เฉพาะสิ้นปีคงขยายได้ครบ 45 สาขา ซึ่งมีโลเคชันทั้งในคอมมูนิตี้มอลล์ ปั๊มน้ำมัน (ปัจจุบันมีจำนวน 22 สาขา) และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สาขาหลักๆ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดมีประมาณ 5% ล่าสุด ได้ปั้นโมเดลใหม่ในรูปแบบ A&W Express ภายใต้คอนเซ็ปต์ Grab & Go พื้นที่ 27 ตารางเมตร เมโทร มอลล์ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน พระราม 9
โมเดลนี้ คิดขึ้นโดยทีมงานคนไทย วางคอนเซ็ปต์ไว้รองรับไลฟ์สไตล์การเร่งรีบของคนเมือง ซื้อแล้วหิ้วไปกินออฟฟิศหรือบ้าน หากจะนั่งในร้านก็พอมีที่นั่งบ้างแต่ไม่มาก เพราะแต่ละสาขาใช้พื้นที่ 10-30 ตารางเมตรเท่านั้น ใช้งบลงทุนประมาณ 1.5-2.5 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นร้านเต็มรูปแบบจะใช้งบลงทุน 4.5-6 ล้านบาท A&W Express ปัจจุบันมีแล้ว 6 สาขา ต้นปีจะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จตุจักร และภายในปี 2020 จะมีสัดส่วน 30% จากจำนวนสาขาทั้งหมด 100 สาขา
“คอนเซ็ปต์ Grab & Go พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นโมเดลใช้พื้นที่ไม่มาก แต่เข้าถึงลูกค้าได้สะดวก การเลือกพื้นที่เปิดจะพิจารณาจากบริเวณที่มีทราฟฟิกหนาแน่น คอนเซ็ปต์นี้ ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บริการของเรา ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วที่สถานีสุขุมวิท พระราม 9 และเพชรบุรี นอกจากนั้นยังมีสาขาที่แฟชั่นไอซ์แลนด์ เดอะสตรีท รัชดา และเทอมินอล 21” คุณธัญลักษณ์ ธิบดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปของแบรนด์ A&W เล่าถึงคอนเซ็ปต์ร้าน
เตรียมเดลิเวอรี่เสิร์ฟถึงบ้าน
การบริการ ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง คีย์ความสำเร็จของธุรกิจ QSR ปัจจุบันทุกแบรนด์มีบริการส่งอาหารถึงหน้าบ้าน A&W ก็มีเช่นกัน แต่ยังจำกัดอยู่แค่พื้นที่ 8 สาขาหลักๆ และบริษัทดำเนินการเอง แต่ตอนนี้กำลังจะร่วมกับพันธมิตร เปิดให้บริการเดลิเวอรี่อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที คงเปิดตัวได้ภายในปีนี้
A&W เองยังไม่ปิดโอกาสตัวเองในการขยายธุรกิจ เพื่อให้ทัดเทียมคู่แข่งในตลาด ถ้าหากว่ามีบริการอะไร ศักยภาพของ A&W พร้อมมีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันเปิดให้บริการดึกสุดแค่ 21.30 น. การให้บริการแบบไดร์ฟทรู หรือความสามารถในการขยายสาขาไปได้ในปั๊มทุกเชน แม้ว่าจะมีคู่แข่งปักหมุดอยู่แล้วก็ตาม แต่ทุกอย่างอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และเตรียมความพร้อม เพราะบริษัทเพิ่งได้รับสิทธิ์เข้ามาบริหารแบรนด์ A&W อย่างจริงจังในช่วง 1-2 ปีมานี้
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ยังคิดเป็นเพียง 20% ของรายได้รวมเท่านั้น ช่วง 9 เดือน มียอดขายเติบโตประมาณ 5% ภายใต้กลุ่ม NPPG ยังมีแบรนด์สินค้าอาหารอีก 3 แบรนด์ ได้แก่ ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง มิยาบิ (Miyabi) มิสเตอร์โจนส์ออร์แฟเนจ (Mr.Jones’Orphanage) และ ดีนแอนด์เดลูก้า (Dean & Deluca)
“Mission ของธุรกิจอาหาร NPPG คือ เราจะนำเอาเมนูที่มีคุณค่าและหลากหลายออกสู่สาธารณชน และวางเป้าหมายภายใน 5 ปี ให้ธุรกิจอาหารมีความแข็งแกร่ง อนาคตจะต้องติด Top 5 ในกลุ่มธุรกิจอาหารของไทย เพราะธุรกิจอาหารมีความเซ็กซี่ อย่างไรก็ตาม คนก็ยังกินอาหาร แต่เราต้องตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้ได้ดี เราจะพัฒนาแบรนด์ที่มีให้แข็งแกร่ง และอนาคตยังจะมีแบรนด์ใหม่มาเพิ่ม ด้วยการซื้อแบรนด์เข้ามาทำตลาด เรามีความพร้อม เพราะกระแสดงเงินสดหลายร้อยล้านบาท ตอนนี้มีดีลคุยอยู่” คุณธัญลักษณ์ เล่าถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจกลุ่มอาหาร