เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา SangSom เตรียมความพร้อมให้คนรักศิลปะก่อนลงสนามชมผลงานจริง ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ด้วยการชวนศิลปินไทยหลากหลายแขนง ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่จะมีผลงานแสดงใน Bangkok Art Biennale 2018 นี้ด้วย อาทิ กวิตา วัฒนะชยังกูร, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข และธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ มาร่วมเสวนาที่งาน ‘BAB Talk #16 by SangSom’ ขับเคลื่อนมุมมองทางศิลปะ ในหัวข้อ “Beyond Bliss ศิลปะนั้นสร้างความสุขได้จริงหรือ?” พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิด และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้เป็นที่จับตามองในระดับสากล เพื่อแสดงให้เห็นอย่างภาคภูมิใจว่า “คนไทย…ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก”
คนรักศิลปะเตรียมเลคเชอร์ให้พร้อม เรารวบรวมบทสนทนาที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวันนั้นมาให้แล้ว !
ภาพสีสดสวยคล้ายโปสเตอร์ตามห้างสรรพสินค้า ปรากฏภาพหญิงสาวในท่าทางพิลึกพิลั่น แสดงความยากลำบากเป็นผลงานของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินร่วมสมัยมาแรง เธอเลียนแบบอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่ผู้หญิงต้องใช้งานจริงในประชีวิตประจำวัน งานของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน และ การตั้งคำถามกับผู้หญิงในบริบทของสังคมไทย
การทำงานของเธอล้วนสื่อสารออกมาด้วยความทรมาน สะท้อนความอดทนทางกายภาพ ให้เห็นถึงความรุนแรงจากการใช้แรงงาน และการมองเพศหญิงเป็นเพียงวัตถุ ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพสีสันสดใสที่เธอเลือกใช้ ผลงานของเธอได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการและเทศกาลศิลปะชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก และเธอยังเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงในโครงการคัดสรรศิลปินหน้าใหม่มาแรง อย่าง Alamak! Pavilion ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 อีกด้วย
“เราไม่อยากให้งานภูมิสถาปัตย์นั้นจบแค่ความสวยงามหรือฟังก์ชัน เรามองว่าศิลปะน่าจะเพิ่มมิติให้กับงานของเราได้” สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ผู้ก่อตั้ง Sanitas Studio เล่าจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ผลงานของเธอล้วนได้แรงบันดาลใจจากบริบททางสังคม การค้นคว้าทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง และการใช้สัญชาติญาณ สร้างสมดุลย์ระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย อย่างผลงาน “เขามอ” (Mythical Escapism) เธอผสานอดีตกับปัจจุบันผ่านความเก่าและความใหม่ได้อย่างลงตัว จนได้รับรางวัล Commended with Merit Award จาก Emerging Architecture Awards 2015 , ถูกรับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Aesthetica Art Prize 2015: 100 Longlisted Artists และถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือ The Aesthetica Art Prize Anthology ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินชั้นนำ 100 คนจาก 60 ประเทศทั่วโลก
ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เธอทำงานหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นศิลปินศิลปะการแสดง , ผู้กำกับการแสดงของกลุ่มบีฟลอร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว ความสงสัยและการตั้งคำถามนำพาเธอไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เธอเริ่มจากสงสัยว่า การเคลื่อนไหวร่างกาย เหตุใดจึงมีผลทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และในทางกลับกัน เธอจะทำงานร่วมกับจิตใจ ผ่านทางร่างกายได้อย่างไร
หลังจากหาคำตอบของคำถามเป็นผลได้สำเร็จ เธอนำศาสตร์ผสมรวมกับศิลป์ ผลงานศิลปะของเธอจึงเป็นการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวในสังคมผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ สิ่งก่อสร้าง และผู้ชม และเธอยังเป็นศิลปินรับเชิญแสดงศิลปะเคลื่อนไหวในผลงานวิดีโอจัดวางที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะชุด 246247596248914102516 And then there were (2017) ของอริญชย์ รุ่งแจ้ง ในงานมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 17 เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี
ส่วนต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินไทยผู้มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มในต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง เขาสร้างผลงานทางศิลปะโดยมีแรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัว ของเหลือใช้อย่างวัตถุหรือเศษวัสดุ ต่อลาภเชื่อว่าวัตถุหรือวัสดุล้วนมีความทรงจำแอบซ่อนอยู่ ความพิเศษของงานศิลปะของเขาไม่เพียงแต่ติดโก้โชว์บนผนัง แต่แฝงฟังก์ชันการใช้งานลงไปด้วย ต่อลาภให้เหตุผลว่า ศิลปะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยังต้องใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ผลงานของเขามักนำเสนอในแบบประติมากรรม ศิลปะจัดวางและศิลปะในรูปแบบสถาปัตยกรรมเคลื่อนที่ มีขนาดเล็ก คล่องตัว เรียบง่าย และน่าสนใจ จนผลงานของเขาถูกสะสมในหอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติอย่าง Singapore Art museum ด้วย
ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินไทยผู้สร้างชื่อเสียงทั้งไทยและต่างประเทศ หากใครมองว่าผลงานของเขาเป็นประติมากรรมแสนซับซ้อน มีรูปทรงบิดเบี้ยว แต่หารู้ไม่ มันได้ผ่านการคำนวณอย่างแม่นยำของเขามาแล้ว เป็นเพราะว่าเขากำลังนำเสนอ ‘ความจริง’ ความจริงจากการมองเห็นผ่านสายตา จุดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของธวัชชัยในการลวงสายตา และล้อกับสภาพแวดล้อมของการจัดแสดง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามเชิงปรัชญาและจิตวิญญาณ ผลงานของเขาถูกนำไปจัดแสดงในมหกรรมศิลปะ ซิดนีย์ เบียนนาเล่ , จาร์กาต้า เบียนนาเล่ และมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 50 รวมถึงได้รับผลงานทางศิลปะอีกมากมาย
ก่อนจบเสวนา เหล่าศิลปินบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ศิลปะสร้างความสุขได้จริง! และศิลปะไม่เพียงแต่สร้างความสุขให้กับศิลปินเท่านั้น แต่กลับแบ่งปันความสุขนั้นให้กับผู้อื่นด้วย
ศิลปินมากบทบาทอย่างดุจดาวบอกว่า “ศิลปะสร้างได้มากกว่าความสุข ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ศิลปะด้วยวัตถุประสงค์ใด บางทีหน้าตาความสุขของคนเราก็ไม่เหมือนกัน ความเจ็บปวดของบางคนอาจเป็นความสุขของอีกคนก็ได้”
“เมื่อก่อนเราคิดว่าความสุขจะต้องสมหวังกับสิ่งที่เราปรารถนา ปัจจุบันเรามองว่า ความสุขคือการที่เราเป็นอิสระจากความปรารถนานั้น และเราอยากจะทำงานศิลปะที่สื่อถึงความสุขอย่างแท้จริง และหวังว่างานศิลปะของเราจะจุดประกายความคิดหรือสร้างแรงบันดาลใจให้คนเสพย์ได้” สนิทัศน์เฉลยวิธีส่งต่อความสุขผ่านงานศิลปะของเธอ
‘ความสุขคือการที่เราเป็นอิสระจากความปรารถนา’ ธวัชชัยเห็นด้วยกับคำตอบของสนิทัศน์ ทั้งยังเสริมว่า “เป็นความจริงที่ศิลปะสร้างความสุขได้ เราใช้เวลาในชีวิตประจำวันให้เป็นประโยชน์เกิดรูปธรรม แล้วรูปธรรมนั้นสามารถเผยแพร่ให้กับคนอื่นได้ ก็เท่ากับให้ความสุขกับตัวเองได้”
ส่วนต่อลาภเชื่อว่า “การทำงานศิลปะมีทั้งความทุกข์และความสุข แต่เป็นความสุขมากกว่าที่เราได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ และผลงานของเราก็สะท้อนความคิดเราไปสู่คนอื่นได้” ศิลปินหน้าใหม่อย่างกวิตามองว่า “งานศิลปะทำให้เราค้นพบว่าความสุข คือการได้สนับสนุนคนอื่นและสนับสนุนสังคม งานศิลปะของเราจะพูดถึงเรื่องของผู้หญิง เราทำให้คนตัวเล็กอย่างแรงงานได้อยู่ในแสงไฟ เราได้สื่อสารกับคนที่เราต้องการสื่อสารจริงๆ และเป็นการสร้างความสุขให้กับตัวเราและคนอื่นด้วย” เธอกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มจากความสุขอย่างแท้จริง
จากการแลกเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อแสดงให้เห็นว่า “คนไทย…ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก” นอกเหนือจากความตั้งใจ ศิลปินไทยแท้ทั้ง 5 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘การพัฒนา’ ทั้งการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผลงานศิลปะและส่งออกศิลปินไทยสู่เวทีระดับโลก
สุดท้ายต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนงานศิลป์นี้อย่าง SangSom ที่มอบโอกาส และส่งเสริมพลังขับเคลื่อนศิลปะ ชวนคนรุ่นใหม่มาสร้างแรงบันดาลใจที่มีชีวิต จากศิลปินไทยผู้สรรค์สร้างผลงานศิลปะระดับนานาชาติ
ห้ามพลาด! ขอเชิญคนรักงานศิลป์ไปเสพงานอาร์ตกับศิลปินระดับโลกกว่า 75 ชีวิต ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะกับ 20 สถานที่รอบกรุงได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562