Coca-Cola ระเบิดศึกกาแฟครั้งใหญ่ ด้วยการทุ่มเงิน 5.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เข้าซื้อกิจการร้านกาแฟเบอร์หนึ่งของยุโรป Costa Coffee จากเครือ Whitbread
การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ของโค้ก สะท้อนภาพการแข่งขันในธุรกิจกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟร้านกาแฟ จากเดิมที่ โคคา-โคลา มียอดขายกาแฟถึง 1 พันล้าน SKUs ต่อปีอยู่แล้ว จาก 3 แบรนด์ในเครือ ทำให้โคคา-โคลา เป็นหนึ่งในบริษัทที่ซื้อเมล็ดกาแฟมากที่สุดในโลก โดยแบรนด์ที่คนไทยน่าจะรู้จักดีที่สุดก็คือ จอร์เจียคอฟฟี่(Georgia Coffee) ซึ่งโด่งดังในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่เป็นกาแฟในรูปแบบ Ready-to-Drink (อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่) อย่างไรก็ตามในบางประเทศ Coca-Cola มีกาแฟในรูปแบบแคปซูลขาย แต่การเข้าซื้อกิจการ “ร้านกาแฟ” ซึ่งไม่ใช่แค่เครื่องดื่มอย่างเดียว แต่หมายถึงการบริหารจัดการ “ประสบการณ์การดื่มกาแฟ” ด้วย
รู้จัก Costa Coffee
Costa Coffee เป็นร้านกาแฟเบอร์หนึ่งในอังกฤษ และมีอยู่ 4,000 สาขาทั่วยุโรป (ถ้าหากนับทั้งร้านที่เป็นช็อปและเอาท์เล็ต) ในระดับโลกก็ถือว่าเป็นเชนร้านกาแฟเบอร์ 2 ของโลก รองจากสตาร์บัคส์ Whitbread ซึ่งเดิมเป็นเจ้าของเชนโรงแรม Premier Inn hotel เพิ่งซื้อกิจการร้านกาแฟแห่งนี้มาในปี 1995 จากผู้ก่อตั้ง Sergio และ Bruno Costa ซึ่งในตอนนั้นร้านกาแฟแห่งนี้มีแค่ 39 สาเขาเท่านั้น แต่การขายกิจการในครั้งนี้ ถือว่าส่งผลดีกับผู้ถือหุ้นของบริษัท Alison Brittain ซีอีโอ ของ Whitbread มองว่า นี่คือสถานการณ์ที่ Win-Win สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เพราะดีลที่โค้กยื่นข้อเสนอมานี่ก็มีมูลค่าสูงเกินกว่าจะปฏิเสธได้ลง จนหุ้นของ Whitbread พุ่งพรวด 16% อีกทั้งยังทำให้แบรนด์ Costa Coffee ถูกพบเห็นมากขึ้น ส่วนโค้ก ก็จะ “scalable coffee platform” ขยายกิจการในส่วนของกาแฟ ไปได้อย่างก้าวกระโดด
“คุณจะได้เจอกับ Costa ในทุกๆ ที่ ในตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ในโรงแรม ในร้านอาหาร ผับ หรือคาเฟ่ ทุกๆ ที่ทุกวันนี้คุณได้เห็นโค้ก” ซีอีโอ Whitbread กล่าว
ส่วน James Quincey ซีอีโอของโคคา-โคล่า ก็บอกในที่ประชุมผู้ถือหุ้นใจความว่า Costa Coffee มีทีมผู้บริหารที่เข้มแข็ง และโคคา-โคลา ก็เป็นบริษัทที่ดึงดูดมากพอให้พวกเขาทำงานต่อ
“กาแฟ” ทำไมบริษัทใหญ่ต้องทุ่มเต็มกำลังในธุรกิจนี้
โค้กพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะลุยในธุรกิจกาแฟ นอกเหนือจากการขายกาแฟพร้อมดื่มแล้ว โค้กเคยทดลองขายกาแฟชงอัตโนมัติในแอตแลนด์ต้า เมืองที่ตั้งสำนักงานใหญ่โคคา-โคล่า แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนัก การซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่และเพิ่มความชัดเจนที่ในระยะหลังทิศทางของ Coca-Cola ต้องการเป็นบริษัทเครื่องดื่ม ที่ไม่ได้มีจุดเด่นที่ “Coke” อย่างเดียวเท่านั้น
ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็ลุยเต็มพิกัดใน “สงครามกาแฟ” ส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจร้านกาแฟในระดับโลกครุกรุ่นอย่างยิ่งในระยะหลัง เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา JAB Holding Company เจ้าของ Krispy Kreme จ่ายเงิน 2 พันล้านเหรียญ เพื่อซื้อแบรนด์ร้านกาแฟ Pret A Manger ของอังกฤษ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น Nestlé ก็เพิ่งเข้าซื้อสิทธิ์การขาย Starbucks ด้วยมูลค่าสูงลิ่วเกือบ 7.2 พันล้านเหรียญ
Jonny Forsyth นักวิเคราะห์จาก Mintel analyst กล่าวว่า “ศักยภาพของ Costa Coffee ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟในอังกฤษเท่านั้น แต่ศักยภาพที่แท้จริงอยู่ที่การขยายไปทั่วโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จีน ซึ่งมูลค่าจะเพิ่มขึ้นอีก 40% ภายในปี 2022 ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินสูงถึง 120 พันล้านหยวน!
Allegra Group ประเมินว่ามูลค่าร้านกาแฟทั่วโลกตอนนี้มีอยู่ประมาณ 165 พันล้านเหรียญ “กาแฟ” ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแต่กลายเป็น “วัฒนธรรม” และ “ไลฟ์สไตล์” ไปแล้ว Jeffrey Young ซีอีโอของ Allegra Group กล่าวว่า “ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กาแฟ ได้ถูกเปลี่ยนจากสินค้าทั่วไป กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ นักการตลาดในตะวันตกอย่าง Starbucks และ Costa ได้ปลุกภาพลักษณ์ของกาแฟขึ้นมาใหม่ และเมื่อเปิดร้านสาขาใหม่ๆ วัฒนธรรมนี้ก็ได้แทรกซึมเข้าไปในเอเชียและตลาดที่กำลังพัฒนาอื่นๆ”