ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับคำว่าความหลากหลายทางเพศ เพราะไม่ใช่ประเด็นใหม่ทางสังคม แต่เป็นประเด็นที่เริ่มมีบทบาทในการขับเคลื่อนมิติต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิความเท่าเทียม หรือในแง่ของการเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บรรดาแบรนด์หรือนักการตลาดเริ่มหันมาให้ความสนใจและพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรม รูปแบบการใช้ชีวิต วิธีคิดและความรู้สึกที่มีต่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดจากคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
มากกว่าแค่ LGBT เพราะเพศหลากหลายกว่าที่คิด
เริ่มกันด้วยประเด็นความหลากหลายทางเพศ ที่เรามักจะได้ยินคำเรียกคนกลุ่มนี้อย่างง่ายๆ ว่า LGBT ซึ่งเป็นตัวย่อของ 4 กลุ่มหลักๆ ที่สามารถให้คำจำกัดความและบุคลิกลักษณะที่ชัดเจนได้ตาม 3 องค์ประกอบ คือ เพศกำเนิด เพศสภาพ และรสนิยมทางเพศ จนได้มาซึ่ง 4 กลุ่มใหญ่ๆ ประกอบด้วย
L: Lesbian ซึ่งจะมีเพศกำเนิด เพศสภาพ และรสนิยมทางเพศ เป็นผู้หญิงทั้งหมด คือเกิดและแต่งตัวหรือมีเพศสภาพในปัจจุบันเป็นผู้หญิง รวมทั้งมีรสนิยมชื่นชอบผู้หญิงด้วยกัน
G: GAY มีเพศกำเนิด เพศสภาพ และรสนิยมทางเพศ เป็นผู้ชายทั้งหมด คือเกิดและแต่งตัวเป็นผู้ชาย รวมทั้งมีรสนิยมชื่นชอบผู้ชายด้วยกัน
B: Bisexual ซึ่งจะมีเพศกำเนิดและเพศสภาพที่เป็นชายหรือหญิงทั่วไป แต่จะมีรสนิยมความชอบทางเพศที่ชื่นชอบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T: Transgender คือ กลุ่มที่มีเพศกำเนิดและเพศสภาพที่ไม่ตรงกัน หรือเป็นคนข้ามเพศนั่นเอง เช่น มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีเพศสภาพในปัจจุบันเป็นหญิง
ทั้ง 4 กลุ่มนี้ เป็นเพียงกลุ่มที่สามารถแยกย่อยและแบ่งกลุ่มได้โดยง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความหลากหลายทางเพศมีมากกว่านี้ ยังมีคำจำกัดความและรายละเอียดในการระบุเพศที่ซับซ้อน ทำให้อาจจะต้องลงลึกไปถึงเรื่องส่วนตัวจึงยากต่อการได้ข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ งานวิจัย ‘Spectrum Marketing สะท้อนมุมมองใหม่ พิชิตใจชาวสีรุ้ง’ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน ที่แม้แต่ในกลุ่มใหญ่ๆ อย่าง LGBT ก็ยังมีสถานะอื่นๆ แยกย่อยลงไป เมื่อเพิ่มองค์ประกอบในการพิจารณาอื่นๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือรสนิยมในเรื่องเพศ ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังในการให้คำจำกัดความว่าจะกระทบความรู้สึก หรือก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของกลุ่มคนเหล่านี้หรือไม่
“ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น ในกลุ่มหญิงรักหญิงก็อาจจะมีทั้งทอมหรือดี้ หรือในทอมเองก็จะมีทั้งคนที่ยังเป็นผู้หญิงอยู่ซึ่งอาจจัดเป็นกลุ่ม L หรือคนที่แปลงเพศแล้วที่จัดเป็นกลุ่ม T ได้ด้วย แม้แต่กลุ่มเกย์เองก็จะมีทั้งที่เรียกตัวเองว่า King หรือ Queen หรือแม้แต่ Queer ที่หมายถึงกลุ่มที่ไม่ยึดติดกรอบทางเพศใดๆ ทำให้บางครั้งเราอาจได้ยินคำเรียกรวมๆ ว่า LGBTQ ซึ่งหากศึกษาผลวิจัยด้านเพศในต่างประเทศจะพบว่าความหลากหลายทางเพศมีอยู่จำนวนมาก เช่น การศึกษา Australian sex survey โดย The Queensland University of Technology (QUT) ที่แบ่งเพศได้ถึง 33 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเพศหลากหลาย เช่น Poligender, Bigender, Omnigender, Androgyne หรือแม้แต่หน่วยงานที่ดูแลด้าน Human Right ของนิวยอร์กเองยังระบุว่าให้ลืมคำจำกัดความเดิมๆ ของคำว่าเพศไป เพราะตอนนี้เพศมีหลากหลายถึง 31 กลุ่มแล้ว แม้แต่ในประเทศไทยเองก็สามารถแบ่งความหลากหลายทางเพศออกได้ไม่ต่ำกว่า 7-8 กลุ่มเลยทีเดียว”
ที่สำคัญมีคนบางกลุ่มที่ไม่ระบุสถานะทางเพศของตัวเอง หรือขณะที่บางคนแม้จะมีภาพลักษณ์ทางเพศเป็นแบบหนึ่ง แต่ในบางเวลาก็จะมีความรู้สึกหรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากช่วงเวลาปกติ เช่น เราอาจจะเห็นทอมบางคนที่มีแฟนเป็นผู้ชาย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความชื่นชอบผู้หญิงอยู่ หรือในกลุ่มคนข้ามเพศ หรือแม้แต่เพศชายหรือหญิงทั่วไปที่อาจไม่ได้มีรสนิยมทางเพศที่ตายตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนหนึ่งคนอาจจะมีความหลากหลายทางเพศอยู่ในตัว และเลือกที่อยากจะแสดงแง่มุมหรือความเป็นตัวตนด้านใดของตัวเองออกมา ไม่ต่างกับการเลือกใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกันในแต่ละวัน บางวันอาจจะอยากแต่งตัวแบบเรียบง่าย เท่ๆ หวานๆ ห้าวๆ หรือรสนิยมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน บางวันอาจจะอยากรับประทานในโรงแรมหรู ร้านอาหารทั่วไป ผับ บาร์ ไปจนถึงสตรีทฟู้ดนั่นเอง
ประชากร LGBT ยุคมิลเลเนียลไม่ต่ำกว่า 20%
ไม่ว่าความหลากหลายทางเพศจะแยกย่อยอย่างไร แต่กลุ่มที่สามารถ Grouping ออกมาเพื่อทำการศึกษาได้อย่างชัดเจนมากที่สุดยังคงเป็น 4 กลุ่มหลักอย่าง LGBT และจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากศักยภาพที่มีอยู่สูงทั้งในเรื่องของกำลังซื้อ และการขยายตัวของคนกลุ่มนี้ที่ปัจจุบันได้ก้าวข้ามจากการเป็น Niche Market มาเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว
ตามข้อมูลที่งานวิจัย ‘Spectrum Marketing สะท้อนมุมมองใหม่ พิชิตใจชาวสีรุ้ง’ โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้หยิบยกจาก LGBT-Captial.com เว็บไซต์ศูนย์รวมของชาว LGBT ได้ประมาณการจำนวนประชากรในกลุ่ม LGBT ที่มีอยู่ทั่วโลก ไว้เมื่อปี 2559 ว่าน่าจะอยู่ที่ราว 483 ล้านคน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีกลุ่ม LGBT สูงถึง 288 ล้านคน หรือ 60% ของชาว LGBT ทั่วโลก โดยจีนมีกลุ่ม LGBT สูงที่สุดถึง 90 ล้านคน ตามมาด้วยอินเดียที่มี 84 ล้านคน และญี่ปุ่น 8.2 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรในยุคมิลเลเนียลหรือกลุ่มเจนเนอเรชั่น Y ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี 1980 – 2000 จากทั่วโลก มีจำนวนคนที่อยู่ในกลุ่ม LGBT ถึง 20% เลยทีเดียว
และหากลงลึกมาที่กลุ่ม LGBT ของประเทศไทย จะพบว่ามีจำนวนสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย โดยมีถึง 4.2 ล้านคน และมีรายได้สูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักการตลาดหรือแบรนด์ต่างๆ จะอยากเข้ามาทำความรู้จัก เพื่อเข้าใจและเข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ตัวเลขเหล่านี้น่าจะขยับสูงมากกว่าที่ปรากฏอยู่ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว
LGBT Friendly ปัจจัยหลัก ทำให้ยอมควักกระเป๋า
แม้ปัจจุบันเราจะรู้สึกว่า มีการเปิดรับและยอมรับความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น แต่ในความรู้สึกของกลุ่ม LGBT ยังรู้สึกได้ถึงความไม่เท่าเทียมกันและถูกปิดกั้น หรือเลือกปฏิบัติในบางอย่าง ทำให้ความรู้สึกว่าการได้รับการยอมรับ มีความเป็นมิตร และปลอดภัย เป็นสิ่งที่คนในกลุ่ม LGBT ให้ความสำคัญ สะท้อนจากงานวิจัย INTO and Brand Innovators ที่ระบุ 70% ของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการจากแบรนด์ใดๆ เมื่อรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตร หรือมี LGBT Friendly ตั้งแต่แรกพบ ไม่ว่าแบรนด์นั้นๆ จะมีภาพลักษณ์ในเรื่องนี้มาก่อนหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งอีกเกือบ 50% ที่เลือกจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้กลุ่ม LGBT ร่วมแสดงในโฆษณา
ขณะที่การออกแบบหรือเลือกใช้สีของสินค้าหรือหรือเสื้อผ้าก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจซื้อได้ด้วย เพราะแม้จะได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มสีรุ้ง หรือเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง แต่กลับไม่ได้ชอบสินค้าหรือเสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด แต่จะชอบสีที่เรียบง่าย ดูหรูหราและสามารถใช้งานได้หลายโอกาส โดยงานวิจัย ‘Spectrum Marketing สะท้อนมุมมองใหม่ พิชิตใจชาวสีรุ้ง’ ครั้งนี้ ได้ระบุสีที่กลุ่ม LGBT ชื่นขอบมากที่สุด 4 สีเรียงตามลำดับความชอบ ได้แก่ สีดำ สีขาว สีเทา และสีน้ำเงิน
นอกจากนี้ เมื่อลงรายละเอียดทั้ง 4 กลุ่ม ใน L G B และ T จะพบว่าแต่ละกลุ่มมีความชื่นชอบและมีไลฟ์สไตล์ในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกัน รวมทั้งคาแร็คเตอร์และความเป็นตัวของตัวเอง ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้นักการตลาดสามารถทำความเข้าใจแต่ละกลุ่มได้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้งได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ รวมทั้งวิธีสื่อสารที่ตรงใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการเลือกซื้อเสื้อผ้า การดูแลสุขภาพ การออมเงิน การท่องเที่ยว รวมทั้งการเลือกใช้ช่องทางสื่อสารที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม โดยมีรายละเอียดในแต่ละเรื่อง ดังต่อไปนี้
คาแร็คเตอร์ที่สะท้อนตัวตน
L= จริงใจ/ เรียบง่าย/ น่ารัก, G= เลิศที่สุด/ มีสไตล์/ แซ่บ,
B= เรียบแต่โก้/ ใจดี/ พูดน้อยต่อยหนัก, T= สวยประหาร/ สู้ไม่ท้อ/ เต็มที่กับทุกสิ่ง
การเลือกซื้อเสื้อผ้าและการแต่งกาย
L = ชื่นชอบเสื้อผ้าที่มีความสดใส และมีชีวิตชีวาตามสไตล์แบบผู้หญิง
B = ทั้งที่มีเพศกำเนิดเป็นชายและหญิง จะชอบแต่งกายแบบเรียบง่าย และเหมาะสมกับโอกาสในการใช้งาน
กลุ่ม G และ T ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง = นิยมสินค้าที่ดูหรูหรา ชอบแบรนด์เนม เพราะทำให้มั่นใจเวลาใช้งาน และถ่ายรูปออกมาแล้วดูดี
กลุ่ม T ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย = ชอบแนวเรียบหรู ดูแพง เหมาะกับตัวเอง และมีความเซ็กซี่
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้าแต่ละครั้ง กลุ่ม G จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่เฉลี่ยเกือบ 3,000 บาทต่อครั้ง เนื่องจากเน้นที่ความชื่นชอบและพึงพอใจโดยไม่ได้สนใจเรื่องงบประมาณ ถ้าเจอดีไซน์ที่ถูกใจหรือคิดว่าเหมาะกับตัวเอง และยังชื่นชอบแบรนด์เนมอีกด้วย ขณะที่กลุ่ม T ถ้ามีโปรโมชั่นที่โดนใจมากระตุ้นก็จะทำให้ซื้อได้บ่อยมากขึ้น ส่วนกลุ่ม L และ B ค่อนข้างใช้เหตุผลในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการคำนึงถึงโอกาสในการใช้งานและความคุ้มค่า
การดูแลสุขภาพ
พบว่า กลุ่ม G จะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและรูปร่างด้วยการออกกำลังกายมากกว่าการคุมอาหาร โดยเลือกที่จะออกกำลังกายโดยการวิ่งถึง 54% และการคุมอาหาร 47% เพื่ออยากให้มีรูปร่างที่ดี ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มนี้ ควรโฟกัสการทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพหรือการออกกำลังกายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากขึ้น
ขณะที่ กลุ่ม L B และ T จะเน้นที่การควบคุมอาหารเป็นหลักด้วยสัดส่วนถึง 64% ตามมาด้วยการออกกำลังกาย และรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากอยากดูแลสุขภาพและรูปร่างแต่ไม่มีเวลามากพอ โดยภาพรวมทั้ง LGBT มีถึง 67% ที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการรับประทานวิตามิน C E B และซิงค์ (Zinc)
การออมเงิน
พบว่า กลุ่ม B ให้ความสำคัญกับการออมมากที่สุด เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยการออมต่อสัดส่วนรายได้ จะพบว่า กลุ่ม B มีสัดส่วนการออมที่ 17% ตามมาด้วย กลุ่ม G และ T อยู่ที่ 15% และกลุ่ม L มีสัดส่วนการออมน้อยที่สุด 11% โดยมีเหตุผลในการออมเพื่อดูแลครอบครัวและคนที่รัก เพื่อดูแลตัวเอง และเพื่อการลงทุน โดยกลุ่ม L จะให้สัดส่วนสำหรับการดูแลครอบครัวและคนรักสูงที่สุดถึง 43% ตามมาด้วยการดูแลตัวเองและการลงทุนที่ 33% และ 24% ตามลำดับขณะที่กลุ่ม T B และ G จะให้น้ำหนักส่วนใหญ่เพื่อการดูแลตัวเอง ตามมาด้วยการดูแลครบครัวคนรัก และการลงทุน โดยสาเหตุสำคัญที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการออมเนื่องจาก ต้องการให้ครอบครัวภูมิใจ หรือการเก็บไว้ท่องเที่ยว การศึกษา หรือการใช้จ่ายในอนาคต รวมทั้งเพื่อดูแลตัวเองหลังเกษียณเนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่มีลูก จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างๆ ควรคำนึงถึง และพยายามพัฒนารูปแบบการออมหรือการประกันต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น
ไลฟ์สไตล์ด้านการท่องเที่ยว
ซึ่งจะมีทั้งการท่องเที่ยวสั้นๆ ภายใน 1 วัน และการท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดยาว โดยพบว่า หากเป็นการท่องเที่ยวแบบสั้นๆ กลุ่ม L G และ B จะเลือกท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ เช่น ช้อปปิ้ง ดูหนัง ไหว้พระใน กทม. หรือไปต่างจังหวัดใกล้ๆ ที่สามารถไปได้แบบเช้าไปเย็นกลับ ส่วนกลุ่ม T ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย เลือกที่จะพักผ่อนอยู่บ้าน เพราะมองว่าได้พักผ่อนจริงๆ และไม่ต้องการให้ผิวเสีย
แต่หากเป็นการพักผ่อนในวันหยุดยาว กลุ่ม L จะนิยมท่องเที่ยวในประเทศ เพราะรู้สึกสะดวกมากกว่า ส่วนกลุ่ม G จะชอบไปสถานที่ที่เป็นแลนด์มาร์กสวยๆ หรือนิยมไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับกลุ่ม B ที่นิยมชอบเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่วนกลุ่ม T จะมองว่าการท่องเที่ยวต่างประเทศมีขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารยุ่งยาก จึงนิยมเที่ยวในประเทศมากกว่า ส่วนคนร่วมเดินทางนั้น กลุ่ม L และ T จะชอบไปท่องเที่ยวกับแฟนหรือคนรัก ส่วนกลุ่ม G และ B ชอบที่จะท่องเที่ยวกับเพื่อนมากที่สุด
สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวที่กลุ่ม LGBT ชื่นชอบจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น ทะเล น้ำตก ภูเขา เนื่องจาก ให้ความรู้สึกสบาย เหมือนได้มาอีกโลกหนึ่งที่สามารถพักผ่อนได้เต็มที่ ตามมาด้วยการท่องเที่ยวในตัวเมืองและจุดที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญต่างๆ ขณะที่การเตรียมตัวและวางแผนในการเดินทาง มีถึง 48% ที่เลือกวางแผนไว้ล่วงหน้าผ่านการอ่านรีวีวข้อมูลตามอินเตอร์เน็ต และอีก 30% ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ชอบขับรถไปเรื่อยๆ เมื่อเจอสถานที่หรือร้านค้าน่าสนใจก็จะแวะพักระหว่างการขับรถ
การเลือกใช้ช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่ม LGBT
กลุ่ม LGBT จะนิยมใช้แอพพลิเคชั่นทั้งที่เป็นแอพเฉพาะกลุ่มและแอพที่ใช้กันทั่วไป โดยเฉพาะ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่คนกลุ่มนี้ใช้งานสูงสุดถึง 77% เนื่องจากมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครอบคลุมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการ Live Chat VDO หรือการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมไปถึงสามารถส่งข้อความได้ทั้งสั้นและยาวโดยไม่มีข้อจำกัด ตามมาด้วย Instagram 7% Twitter 6% และ Line 5%
ส่วนแอพเฉพาะกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีความนิยมแตกต่างกันไป โดยกลุ่ม L จะนิยมใช้แอพ Spicy หรือ Les Park ซึ่งเป็นที่นิยมของคนโสด กลุ่ม G นิยมใช้ Grindr หรือ Jack’D รวมทั้งยังนิยมเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความสนใจไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ กลุ่ม T นิยมใช้ WeChat หรือ BeeTalk โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การเช็คเรทติ้งของตัวเอง และสุดท้ายคือ กลุ่ม Bisexual ที่จะไม่ค่อยใช้แอพเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเปิดเผยตัวตน
ส่วนช่วงเวลาในการรับสื่อของกลุ่ม LGBT ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 18.00-24.00 น. มีสัดส่วนถึง 74% โดยกลุ่ม L B และ T มักจะใช้ในช่วง 18.00 -21.00 น.มากกว่า ขณะที่ กลุ่ม G จะนิยมใช้ในช่วง 21.00-24.00 น. ดังนั้น หากอยากเข้าถึงคนกลุ่มนี้ผ่านสื่อออนไลน์ ควรเน้นระยะเวลาในช่วงหลังหกโมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงที่คนกลุ่มนี้มักจะใช้สื่อออนไลน์มากที่สุดนั่นเอง รวมไปถึงการเลือกรูปแบบคอนเทนต์ที่เป็นรูปภาพ หรือวิดีโอ และเลือกลักษณะเนื้อหาที่คนกลุ่มนี้ชื่นชอบ ในเรื่องของการท่องเที่ยว การสร้างแรงบันดาลใจ หรือเรื่องราวตลกต่างๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะชื่นชอบมุมมองหรือเรื่องราวในเชิง Positive มากกว่า
8 กลยุทธ์ พิชิตใจชาวสีรุ้ง
เมื่อเข้าใจอินไซต์และพฤติกรรมของกลุ่ม LGBT แล้ว จำเป็นที่ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถเข้าใจ เข้าถึง และได้รับการยอมรับจากกลุ่มเป้าหมายสำคัญนี้ โดยเฉพาะการใช้ 8 กลยุทธ์ ตามแนวคิด SPECTRUM MARKETING ซึ่งออกแบบมาจากอินไซต์และพฤติกรรมต่างๆ จากการศึกษากลุ่ม LGBT ซึ่งประกอบไปด้วย
Simple การเลือกสินค้า บริการ หรือวิธีการสื่อสารแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่มีขั้นตอนซับซ้อนหรือเข้าใจได้ยากมากนัก
Private การจัดกิจกรรมภายในกลุ่มที่ค่อนข้างเฉพาะตัว เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
Equality สร้างความรู้สึกเท่าเทียม หรือการได้รับโอกาสต่างๆ ในสังคมอย่างเสมอภาค โดยเฉาะการมีโอกาสได้เลือกใช้สินค้าหรือบริการได้ตามต้องการ
Classy ส่งเสริมความรู้สึกดูดี มีระดับ มีรสนิยม ด้วยการเลือกใช้วัสดุ โทนสี หรือการตกแต่ง รวมทั้งการมอบบริการอย่างมีระดับ
Truth ความจริงใจ ไม่บิดเบือนหรือให้ข้อมูลอย่างคลุมเครือ เพื่อสร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจ
Respect ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการให้เกียรติ เคารพในตัวตน เพราะต้องการที่จะได้รับการยอมรับในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของความหลากหลายทางเพศ
Utility คำนึงถึงอรรถประโยชน์ของสินค้าหรือบริการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ รวมทั้งต้องเป็นสินค้าคุณาภพ และมีมาตรฐาน
Motivation การสร้างแรงจูงใจโดยเชื่อมโยงถึงความภาคภูมิใจในตนเอง ความรักความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือสร้างแรงบัลดาลใจในการใช้ชีวิต หรือการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าวๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการยอมรับทางเพศ
Photo Credit : NUMBER 24- Authorized Shutterstock Partner in Thailand