ภายในเวลาไม่กี่ปี Huawei(หัวเว่ย) ได้พาตัวเองขึ้นไปสู่ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีคู่แข่งเพียงเจ้าเดียวอย่าง Ericsson จากประเทศสวีเดน ไม่ใช่แค่เครือข่ายโทรคมนาคมเท่านั้น ในวันนี้สมาร์ทโฟน ก็เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่แบรนด์จีนแบรนด์นี้ พร้อมที่จะเขย่าบัลลังค์ของ Samsung และ Apple นี่คือเรื่องราวของแบรนด์ๆ นี้
จากดินแดนยากจน สู่เส้นทางเทคโนโลยี
Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei เกิดในปี 1944 ที่มณฑลกุยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน หนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศ คุณปู่ของเขาเป็นกุ๊กที่มีชื่อเสียงเรื่องการทำแฮม แต่เสียชีวิตไปตั้งแต่พ่อของเขายังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย จึงต้องลาออกกลางคัน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคุณพ่อของเขาก็ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งที่นั่นเองที่ทำให้ได้พบรักและแต่งงานกับแม่ของ Ren Zhengfei หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม Ren เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฉงชิ่ง และหลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางทหารให้กับกองทัพปลดปล่อยประชาชน
Ren ลาออกจากกองทัพในช่วงปี 1980 ตามแผนการลดกำลังพลของกองทัพ เขาย้ายไปเสินเจิ้นเพื่อก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ด้วยเงิน 21,000 หยวน ที่เขาเก็บหอมรอมริบซึ่งในขณะนั้นมีค่าประมาณ 5,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัทนั้นก็คือ Huaweii ซึ่งมีความหมายในภาษาจีนว่า “ดีเยี่ยม” / “เยี่ยมยอด” ในปี 1987 ในช่วงแรกของการดำเนินงาน แหล่งรายได้ของ Huaweii มาจากการขายอุปกรณ์โทรคมนาคมสำนักงานที่นำเข้ามาจากฮ่องกง
เริ่มติดปีกด้วย “นวัตกรรม”
ในปี 1990 Huawei เริ่มที่จะมีทรัพยากรเพียงพอในการเปิดห้องแล็บเพื่อทำการวิจัยของตัวเองเป็นแห่งแรก หลังจากนั้น 2 ปี บริษัทได้เปิดตัวสวิตช์ดิจิทัล ซึ่งเป็นอุปกรณ์แกนกลางที่สำคัญมากของเครือข่ายโทรคมนาคมในการทำหน้าที่ส่งและรับสัญญาณจากผู้ใช้โทรศัพท์ ประเทศจีนในตอนนั้นได้ยอมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของคลื่นโทรคมนาคมได้เป็นครั้งแรก ทำให้ประชาชนตื่นตัวมาก ด้วยระยะเวลาน้อยกว่า 10 ปี ประเทศจีนได้เดินหนีจากการไม่มีโทรศัพท์ส่วนตัวไปสู่ประเทศแรกที่มีเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศและมีหลายเครื่อข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่
ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มมากที่สุดในช่วงนี้คือบริษัทที่ขายอุปกรณ์โทรคมนาคมต่างชาติอย่าง Siemens, Alcatel, Nokia, Motorola, Ericsson และ Nortel ผู้ที่เป็นเบื้องหลังของความสำเร็จของผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศเช่น China Telecom, China Mobile และ China Unicom
บริษัทเหล่านี้ มีฐานลูกค้าในมณฑลที่มีรายได้มากและเมืองในตะวันออกของประเทศ จากกวางเจาในทางใต้สู่ปักกิ่งและ เทียนจินในทางตอนเหนือของประเทศ ที่ที่ผู้บริโภคมีความต้องการอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าที่บริษัทขายอุปกรณ์ต่างชาติมีให้
แต่เนื่องจากกฎหมายของรัฐบาลจีนกล่าวไว้ว่าทุกมณฑลต้องซื้ออุปกรณ์จากผู้ขายสองเจ้าขึ้นไป ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้ Huaweii ได้กลายมาเป็นเบอร์สองของการขายอุปกรณ์ในพื้นที่ตอนกลางที่ยากจนของประเทศ คำสั่งซื้อมีจำนวนน้อยในช่วงแรก แต่ก็ทำให้วิศวกรของ Huawei ได้ฝึกฝนประสบการณ์การทำงานติดตั้งอุปกรณ์และได้เห็นการทำงานของระบบต่างๆ ในอุปกรณ์ของชาวต่างชาติทั้งหลาย
การขับเคลื่อนด้วยความต้องการของ Ren ที่ทำให้ Huawei ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างต่อเนื่องผ่านการทำวิจัยและพัฒนา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการให้ Huawei เข้ามาแทนที่บริษัทขายอุปกรณ์ต่างชาติให้ได้ แม้ว่าความสามารถของตัวสวิตช์ที่ Huaweii พัฒนาขึ้นมายังไม่ดีพอ แต่เนื่องจากราคาที่ถูกทำให้มันบวกลบหักกลบช่องว่างนั้นได้ สุดท้าย Ren สามารถตัดหน้าบริษัทต่างชาติจากราคาที่ถูกกว่า และสามารถเอาชนะรัฐวิสาหกิจได้จากคุณภาพที่ดีกว่า ทำให้ Ren เริ่มหาลูกค้าในชายฝั่งตะออกของประเทศ
แพ็กกระเป๋า ลุยต่างประเทศ
ในปี 1977 Huawei ได้เริ่มคลืบคลานก้าวข้ามชายแดนของประเทศจีนไปสู่ฮ่องกง ในการร่วมมือกับเครื่องขายโทรศัพท์ Hutchison Telecom ภายในระยะเวลา 8 ปี Huaweii ได้ขายฐานลูกค้าไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย และเริ่มต่อไปที่ แอฟริกา ละตินอเมริกา และในที่สุด ยุโรป ทำให้รายได้นอกประเทศของ Huawei มีมากกว่ารายได้ภายในประเทศ เพื่อทำการตอกฝาโลงของความสำเร็จ Ren ยืนยันให้พนักงานขายเปิดราคาต่ำกว่าคู่แข่งเสมอ ประมาณ 5-15% จากรายงานโดย The Wharton School
ตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อตั้งธุรกิจ ไม่ว่าลูกค้ารายนั้นจะมีขนาดเล็กแค่ไหนก็ตาม Huaweii ก็พร้อมที่เข้าไปให้บริการ ในช่วงเวลาทองของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตั้งแต่ 1990 จนถึงวิกฤตการณ์ Dotcom วิธีการที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากบริษัทต่างชาติอื่นที่มีความต้องการจะขายทั้งระบบให้กับบริษัทใหญ่เท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม Huaweii พัฒนาอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้เหมาะสมกับธุรกิจที่มีขนาดที่เล็กกว่า ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในขณะนั้น และอุปกรณ์ของ Huawei สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นกับระบบเดิมที่มีอยู่ของลูกค้าได้
และหนทางของความสำเร็จนี้ มาจากการที่ Huaweii จ้างพนักงานวิศวกรคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่งในการคิดหาวิธีที่จะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งพนักงานเหล่านั้นเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสดๆ ร้อนๆ
ทุกวันนี้ รายได้กว่า 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ 2 ใน 3 มาจากต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้นประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากการควบคุมจากฝ่ายความมั่นคงจากวอชิงตัน ที่มีความคิดว่า Huaweii เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน
แทนที่จะผลิตสินค้าที่ ว้าว แต่ Huawei มุ่งหน้าสร้างนวัตกรรมที่ไปตอบสนองความต้องการของลูกค้าระดับรองลงมา เริ่มจากลูกค้าในประเทศและขยายไปสู่ตลาดที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ในต่างประเทศ ทำให้ไม่ต้องไปต่อกรโดยตรงกับผู้เล่นรายใหญ่จากยุโรปและอเมริกา ทำให้พื้นที่ของผู้เล่นรายใหญ่ลดลง ทำให้ภายในปี 2012 คู่แข่งด้านเครือข่ายโทรคมนาคมรายเดียวที่ยังเหลืออยู่คือ Ericsson และผู้ผลิตเราท์เตอร์และสวิชต์คือ Cisco เท่านั้น
จากหลังบ้าน สู่ “มือ” ผู้บริโภค
ที่ผ่านมา Huawei ลงทุน ผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์ “หลังบ้าน” มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย คลาวด์ อุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งชิ้นส่วนภายในโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่น ฯลฯ แต่เมื่อปี 2009 โทรศัพท์มือถือแบรนด์หัวเว่ยที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกับ T-Mobile แต่ความสำเร็จจริงๆ จังๆ ของหัวเว่ยในสนามสมาร์ทโฟนเกิดขึ้นในปี 2011 เมื่อสมาร์ทโฟนรุ่น C8500 ขายเกลี้ยงในประเทศจีน หลังจากวางจำหน่ายไป 100 วัน
หลังจากนั้น Huawei ก็ติดสปีดในตลาดนี้เต็มพิกัด ด้วยการปล่อยซีรี่ย์ P ซึ่งมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้นลงสู่ตลาด โดยเลือกเปิดตัวในงาน CES ซึ่งเป็นงานเปิดตัวสินค้าไอทีที่ Geek ที่สุดในโลกในเดือนมกราคม 2012 ไตรมาส 4 ของปีเดียวกัน หัวเว่ยก็ขึ้นแท่นเบอร์ 3 ของโลกทันที
หัวเว่ยยังเผยวิสัยทัศน์ในการบุกเข้าสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ สุดยอดนักฟุตบอลอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายที่อเมริกาใต้กระฉูด
Partnership ที่ก้าวเข้ามายกระดับแบรนด์
จุดเปลี่ยนสำคัญของหัวเว่ยอยู่ที่การจับมือเป็นพันธมิตรกับ Leica แบรนด์กล้องระดับโลกจากเยอรมนี “ไลก้า” เข้ามาช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของหัวเว่ยอย่างก้าวกระโดด ในโลกที่ “การถ่ายภาพ” เป็นเรื่องที่ทดสอบได้ง่ายที่สุดเมื่อผู้บริโภคอยู่ในร้านขายโทรศัพท์ รวมทั้งเป็นฟังก์ชันที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด เลนส์ของไลก้า ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดภาพถ่ายอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อผนวกกับเทคโนโลยี AI ของหัวเว่ย ก็ยิ่งทำให้ประสบการณ์การถ่ายภาพจากกล้องในโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ยดีขยิ่งขึ้น
ดีลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แต่กว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้ผู้บริโภคเห็นก็ปี 2016 ในโทรศัพท์มือถือรุ่น Huawei P9 ซึ่งไม่ใช่แค่เลนส์กับโลโก้ที่แปะบนสินค้าเท่านั้น ยังมีเซ็นเซอร์ ISP รวมทั้งทีมวิศวะและทีมดีไซน์ร่วมกันอีกด้วย
โจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ให้หลุด
อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ที่แสนจะยากลำบาก แต่ในโลกโซเชี่ยลมีเดียปัจจุบัน การพังทะลายของแบรนด์กลับเกิดขึ้นอย่างง่ายดายเพียงชั่วข้ามคืน และยิ่งกับกรณีของหัวเว่ย ไม่ใช่ครั้งแรกที่พญามังกรรายนี้ โป๊ะแตก! ถูกจับได้ว่าภาพโฆษณาที่โปรโมทว่าเป็นผลงานการถ่ายภาพเป็นผลงานของกล้องจากโทรศัพท์มือถือของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเกิดจากการปั้นแต่งด้วยกล้อง DSLR จนกลายเป็นเรื่องราวให้ถูกล้ออยู่บ่อยครั้ง
นี่คือเส้นทางการก้าวเดินของ “หัวเว่ย” จากชีวิตของผู้ตั้ง วิศวกรผู้เติบโตจากดินแดนทุรกันดารของจีน ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เซินเจิ้นที่ๆ เคยคิดว่ามีแต่ของก๊อป แต่ตอนนี้หัวเว่ยกลับผงาดเป็นแบรนด์ที่ติด Top 100 ของโลก จากการจัดอันดับของ Forbes และมียอดขาย 86,000 ล้านเหรียญต่อปี มีพนักงาน 180,000 คนใน 170 ประเทศ ครองส่วนแบ่ง 20% ในตลาดโทรศัพท์มือถือ และสร้างความหวั่นไหวให้กับ Apple และ Samsung