“โอสภสภา” ยักษ์ใหญ่ หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สัญชาติไทย กับประวัติศาสตร์การดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 127 ปี ภายใต้เจ้าของและการบริหารงานตระกูล “โอสถานุเคราะห์” ซึ่งถูกส่งต่อจากต้นตระกูลมาถึงทายาทรุ่น 4 แล้ว “เพชร โอสถานุเคราะห์” ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร และกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ กับการก้าวไปสู่ความเป็น “มหาชน” ด้วยการนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ บริษัทมีเรื่องราวและเหตุการณ์ เป็นตำนานการเติบโตที่น่าสนใจมากมาย
เริ่มต้น “ร้านยาย่านสำเพ็ง” จบลง “ตลาดหลักทรัพย์”
ก่อนที่จะเป็นบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ จุดเริ่มต้นของธุรกิจเกิดขึ้นในปี 2434 จากร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็ง “เต็กเฮงหยู” ของ “แป๊ะ แซ่ลิ้ม” ที่ได้นำสูตรยาจีนโบราณชื่อว่า ยากฤษณากลั่น ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาโรคปวดท้องต่างๆ และได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม ด้วยคุณสมบัติของยาใช้ได้ผลดี ชนิดใช้วันนี้พรุ่งนี้หายป่วย ทำให้สินค้าได้รับความนิยมและขายดิบขายดี
ปี 2456 “แป๊ะ แซ่ลิ้ม” ได้รับพระราชทานเข็มเสือป่า และทรงประทานนามสกุล “โอสถานุเคราะห์” จากประสิทธิผลของยากฤษณากลั่น ที่พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็น และเขียนแนะนำให้ใช้ยากฤษณากลั่นในการรักษาโรคท้องร่วง ในพระราชนิพนธ์ “กันป่วย” ต่อมาในปี 2475 ร้านเต๊กเฮงหยูได้ย้ายไปยังถนนเจริญกรุง และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “โอสถสถาน เต๊กเฮงหยู” และผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ ออกขายอีกหลายตัว เช่น ยาธาตุ ยาแก้ไอ ยาอมวัน-วัน ยาอมโบตัน และยาทัมใจ ธุรกิจเจริญเติบโตไปได้ด้วยดี จึงได้ทำการจดทะเบียนบริษัท และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2492 พร้อมกับการขยายฝ่ายผลิตไปยังโรงงานย่านซอยหลังสวน
ความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานครุฑตราตั้งให้แก่ บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด หลังจากนั้นปี 2517 ธุรกิจใหญ่โตขึ้นตามลำดับ มีการควบรวมสำนักงานที่เจริญกรุงและโรงงานใน ซอยหลังสวน ให้มารวมกันอยู่ที่เดียวกัน บนที่ดินกว่า 70 ไร่บนถนนรามคำแหง ย่านหัวหมาก บางกะปิ แล้วได้เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้ง เป็น “บริษัท โอสถสภา จำกัด” ในปี 2538 และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2561 นี้
“โอสถสภา ยั่งยืนมาได้ 127 ปี ครอบครัวอยากให้อยู่ต่อ 200 ปี ไม่อยากให้เป็นบริษัทในครอบครัวอีกต่อไป เป็นเรื่องความยั่งยืน คิดถึงการบริหารจัดการในรูปแบบมืออาชีพ เป็นบริษัทมหาชน และการระดมทุนจาก Public ถ้ามองไกลๆ จำเป็นต้องมีการระดมทุน ต่อไปเราไม่ใช่แค่ประเทศไทย เอเชีย แต่เป็นประเทศต่างๆ ทั่วโลก”คุณเพชร กล่าวถึงเป้าหมายให้องค์กรเติบโตแบบยั่งยืน
จาก Gen 1 ถึง Gen 5 “มหาชน”
ธุรกิจ “โอสถสภา” เริ่มต้นจากชายไทยเชื้อสายจีนเพียงคนเดียว “แป๊ะ แซ่ลิ้ม” ด้วยสูตรยาจีนต้นตำรับโบราณ “กฤษณากลั่นตรากิเลน” เมื่อเขาสิ้นชีวิตลง ธุรกิจถูกส่งต่อมายังทายาทรุ่น 2 “สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์” บุตรคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้อง 6 คน พัฒนาการช่วง Gen 2 นี้ มีทั้งการย้ายร้านขายยามาตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง การเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด จากการนำเอาความรู้ในเชิง “วิทยาศาสตร์” ผสานกับ “สมุนไพรต้นตำรับโบราณ” กลายเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ความรู้ความสามารถของ “สวัสดิ์” ทำให้บริษัทเติบโตก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และยังสร้างหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้กับ “โอสถสภา” มากมายจนมาถึงปัจจุบัน
ธุรกิจถูกส่งต่อมายังทายาท Gen 3 คือ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” บุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 6 คนของ “สวัสดิ์” ก้าวสำคัญภายใต้การบริหารของ Gen 3 คือ การนำเอาเครื่องดื่มให้พลังงาน หรือ Energy Drink อย่าง “ลิโพ วิตัน-ดี” จากบริษัท ไทโช่ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาด สร้างกระแสเครื่องดื่มให้พลังงานเกิดขึ้นในตลาดเมืองไทย ทั้งๆ ขณะนั้นผู้บริโภคแทบไม่รู้จักว่าเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นอย่างไร แต่ก็ประสบความสำเร็จสร้างทั้งยอดขาย และเกิดมีคู่แข่งขันมากหน้าหลายตา ความสำเร็จยังต่อยอดเกิดแบรนด์เครื่องดื่มอื่นๆ ในพอร์ตด้วย อาทิ M-150 และยังมีอีกก้าวสำคัญของบริษัท คือ การนำสินค้าไปบุกตลาดต่างประเทศ
การบริหารงานในยุค Gen 4 มี “รัตน์ โอสถานุเคราะห์” บุตรชายคนที่ 2 ของ “สุรัตน์” เข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ปี 2551 แต่ได้เข้ามาช่วยงานตั้งแต่ปี 2538 แล้ว ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน ควบคู่กับการบริหารการเงินของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และได้ส่งไม้ต่อให้พี่ชาย คือ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ที่เข้ามาบริหารธุรกิจอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน และกำลังส่งไม้ต่อไปให้กับ “มหาชน” เข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางของบริษัทต่อไป
“สิ่งหนึ่งที่อยากให้นักลงทุนมั่นใจ เราให้ความสำคัญทั้งยอดขายและกำไร Gen 4 ตอนนี้มีผมคนเดียว ในฐานะแชร์โฮลเดอร์ และเป็นทายาทอยู่ในนามสกุลนี้ ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจต่อไป ไม่ใช่แค่บริษัทครอบครัว แต่เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราต้องการให้บริษัทนี้มีความยั่งยืน ส่วน Gen 5 คือคนที่อยู่แถวนี้ (ผู้ถือหุ้น)”คุณเพชร กล่าวถึงการส่งต่อธุรกิจไปยังเจเนอเรชั่นที่ 5 ซึ่งหมายถึงผู้ซื้อหุ้นของบริษัท
9 เรื่องไม่ลับ แต่อาจไม่รู้ กว่าจะเป็น “มหาชน”
1. สินค้าแรกของ “โอสถสภา” (เต๊กเฮงหยู สมัยนั้น) เริ่มขายไม่ใช่ “ยา” แต่สิ่งของเครื่องใช้ทั่วไป อาทิ ร่ม ถ้วยชาม และนาฬิกา โดยขายส่งไปยังต่างจังหวัด บางครั้งลูกค้าต่างจังหวัดเข้ามาซื้อ
2. ยาชนิดแรกที่ขายไม่ได้ผลิตเอง แต่เป็นของห้างบี.กริมม์ นำมาฝากขาย เป็นยาแก้เมื่อย แก้แพ้ ชื่อ “ปัถวีพิการ” เป็นการจุดประกายให้ “แป๊ะ” เห็นโอกาสทางการตลาด ในการผลิตยาขึ้นมาขาย เพราะมีตำรับยาโบราณจีนขนาดแท้ “กฤษณากลั่น” หลังจากผลิตออกขายก็ประสบความสำเร็จ ด้วยคุณสมบัติใช้แล้วได้ผล แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้หยุดขายสินค้าชนิดอื่น แล้วมุ่งทำตลาดยาเป็นหลัก พร้อมกับมียาชนิดอื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ยากแก้ลม ชื่อ “ยาแสงสว่าง” ยาบำรุงผิวพรรณสตรี “ยาสตรีทีฆายุ” ยาแก้ปัญหานอนไม่หลับ “ยานิทราสำราญ” เป็นต้น
3. “สวัสดิ์” ทายาทรุ่น 2 เรียนแพทย์ แต่ไม่จบแพทย์ เพราะบิดาเสียชีวิตก่อน เขาเรียนได้แค่ปี 2 ต้องออกมาช่วยกิจการในขณะที่อายุ 16-17 ปี แต่ได้นำความรู้ด้านการแพทย์มาผสมผสานกับตำรับยาโบราณ เกิดเป็นยาหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ “ทัมใจ” ขายในราคาขณะนั้น ซองละ 5 สตางค์
4. เคยมียาสีฟันขายภายใต้แบรนด์ Dental และ Superdent ชนิดผงใส่ตลับและบรรจุซอง เกิดขึ้นจากน้องสาวของ “สวัสดิ์” ทายาทรุ่น 2 ได้กลับจากการศึกษาด้านเภสัชจากต่างประเทศริเริ่มให้ผลิต ด้วยรสชาติแบบฝรั่ง ขณะนั้นมีแบรนด์คู่แข่งสำคัญอย่าง วิเศษนิยม ทำตลาดอยู่ด้วยแต่เป็นรสชาติแบบไทย กลยุทธ์การทำตลาดยาสีฟันขณะนั้น ใช้วิธีการให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม ด้วยการส่งภาพถ่ายยิ้มมาประกวดฟันงาม ถือเป็นการทำตลาดและโฆษณายุคแรกๆ
5. ว่าด้วยเรื่องชื่อ “เต็กเฮงหยู” แปลว่า เจริญโดยการช่วยเหลือผู้อื่น ก่อนหน้าจะใช้ชื่อ “โอสถสภา” เคยใช้คำว่า “โอสถสถาน” มาก่อน ซึ่งมีแนวคิดมาจากนามสกุล แต่เลิกไปเพราะขณะนั้นมีร้านขายยาจำนวนมากเอาไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อร้าน จนชื่อร้านคล้ายกันไปหมด เลยหันมาใช้ “โอสถสภา” แทน และมีวงเล็บ “เต็กเฮงหยู” ด้วย ซึ่งที่มาของชื่อ “โอสถสภา” คือ เป็นชื่อเดิมที่รัฐบาลใช้ หมายถึงที่ขายยาของรัฐบาล คล้ายกับองค์การเภสัชกรรมของรัฐบาล ตอนหลังรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้ “โอสถศาลา” ด้วย แต่ก็เลิกใช้ทั้ง 2 ชื่อนี้ ทาง “เต็กเฮงหยู” จึงนำเอามาใช้ตั้งชื่อบริษัท
6. ก่อนจะเป็นที่ตั้งบริษัทในปัจจุบัน บนที่ดิน 70 ไร่ ย่านรามคำแหง “สวัสดิ์และคุณหญิงล้อม” คิดที่จะย้ายบริษัทที่อยู่บริเวณหลังสวนไปตั้งในย่านพระโขนง บนที่ดินซื้อไว้ประมาณ 5 ไร่ แต่ขณะนั้นมีบริษัท แคตเตอร์ฟิลล่าร์ จำกัด ได้ขอเช่าเพื่อจอดรถแทรกเตอร์ ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่เป็นถนนรามคำแหงแทน ช่วงนั้นบริษัทเริ่มมีเงินเหลือจากการดำเนินธุรกิจ จึงได้เริ่มซื้อที่ดินสะสม ก่อนซื้อที่ดินย่านรามคำแหง มีคนบอกว่าจะมีถนนเข้ามาในย่านนี้ (ขณะนั้นยังไม่มีถนน) ทำให้สองสามีภรรยาต้องนั่งเรือจ้างทางคลองแสนแสบไปดูที่ดินและซื้อ ซึ่งเป็นทุ่งนา โดยซื้อที่ดินไว้มากมายหลายแปลง แต่ถูกรัฐบาลเวนคืนไปกว่า 100 ไร่
7.ผู้นำด้านการตลาด ในสมัยบริหารงานยุคของ “สวัสดิ์” เขาเป็นผู้นำและผู้สร้างปรากฎการณ์ด้านการตลาดหลายอย่าง อาทิ ใช้กลยุทธ์สื่อโฆษณาทุกรูปแบบที่มีขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแจกใบปลิว โปสเตอร์ ลงโฆษณาหนังสือพิมพ์ ทำแคตตาล็อกสินค้า การใช้รถแห่โฆษณา การติดป้ายบิลบอร์ดริมทางรถไฟ กลยุทธ์โปรโมชันซื้อยากฤษณากลั่น 2 แถม 1 และหนังกลางแปลง ที่ออกฉายหนังและขายสินค้าไปพร้อมๆ กัน หรือการแจกสินค้าตัวอย่าง โดยได้ให้ยาทัมใจกับบรรดา ส.ส. ในทุกพรรคการเมือง นำเอาไปแจกให้ประชาชนตอนหาเสียง ทำให้ยอดขายยาทัมใจเติบโตและฮิตทั่วบ้านเมือง สิ่งที่ทำให้ “สวัสดิ์” มีความคิดและไอเดียด้านการตลาดเป็นเพราะอ่านหนังสือ Herbert Casson และนิตยสาร Efficiency ซึ่งสอนเรื่องการค้า การตลาด การบริหารงาน และการทำงานให้มีประสิทธิภาพ จนสร้างความสำเร็จให้กับโอสถสภามาถึงทุกวันนี้
8.โอสถสภา เคยมี กรรมการผู้จัดการหญิงคนแรก เป็นคนในตระกูลมาก่อนหน้า “วรรณิภา ภักดีบุตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นมือปืนรับจ้าง คนนอกตระกูล ซีอีโอหญิงคนแรก คือ “วิมลทิพย์ พงศธร” บุตรสาวของ “สุวิทย์ โอสถานุเคราะห์” พี่ชายของ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” สำหรับ “วิมลทิพย์” หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโอไฮโอคอลเลจ มาเริ่มงานที่โอสถสภา ในสำนักกรรมการจัดการ และเข้าดูแลด้านการเงินและบัญชี และไปดูแลด้านการคลัง และด้านการผลิตตามลำดับ
9.ปรับโครงสร้าง+ดึงมืออาชีพเสริมทัพ วิสัยทัศน์ของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ต้องการทำให้องค์กรเติบโตและยั่งยืน มีความเป็นมืออาชีพ สลัดภาพธุรกิจครอบครัว ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงได้ดึงมืออาชีพในแวดวงธุรกิจการเงิน ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ เข้ามาเสริมทัพ ไม่ว่าจะเป็น “กรรณิกา ชลิตอาภรณฑ์” อดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้บริหารกลุ่มยูนิลีเวอร์ “วรรณิภา ภักดีบุตร” อดีตรองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด โดยเฉพาะผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มยูนิลีเวอร์ ได้ย้ายมาอยู่ “โอสถาสภา” เป็นจำนวนมาก
เติบโตด้วย Port Folio
หลังจากเอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว การทำให้ “โอสถสภา” เติบโตอย่างยั่งยืน คือ กลยุทธ์ Port Folio หรือการมีสินค้าหลากกลายกลุ่ม ไม่หวังพึ่งพาสินค้าแค่กลุ่มเดียว ซึ่งต้องยอมรับว่า “โอสถสภา” มีกลุ่มสินค้า Energy Drink แข็งแกร่ง ภายใต้แบรนด์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เอ็ม-150 เอ็ม-สตอร์ม ลิโพวิตัน-ดี ลิโพ-พลัส ฉลาม โสมอิน-ซัม เอ็มเกลือแร่ กลุ่มนี้เป็นรายได้หลักของ “โอสถสภา” 77% จาก 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ธุรกิจบริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งรวมถึง ธุรกิจลูกอมด้วย การเติบโตต้องบาลานซ์พอร์ต และเสริมสร้างให้แบรนด์ยังไม่แข็งแรงให้แข็งแรง สามารถสร้างรายได้เพิ่มเพื่อไม่ต้องเสี่ยงกับการพึ่งพาธุรกิจใดเพียงธุรกิจเดียว
“เราโตมาจากฐานะบริษัทร้านขายยาเล็กๆ ในสำเพ็ง ด้วยยากฤษณากลั่น ทัมใจ โบตัน และเราได้แปลงสภาพจากร้านขาย จากวิสัยทัศน์ของคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้นำเอาลิโพวิตันดี เข้ามาขายในประเทศ เป็นการเปิดตลาดให้มันบูม มีคู่แข่งมากมาย และเราเป็นมาร์เก็ตลีดเดอร์ มีสินค้าเพอร์ซันนอลแคร์ บริษัทเรามีกลยุทธ์ที่จะเติบโต โดยอาศัย การตลาดที่เรียกว่า Port Folio ไม่ใช่แค่ One Brand ไม่ใช่แค่ Energy Drink ไม่ใช่แค่ Beverage เราคือบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีทั้ง Beverage ,Personal Care และยา ตอนนี้อาจจะไม่ได้ถูกโฟกัสมาก อนาคตเรามีเป้าหมายที่จะนำมันกลับคืนมาให้แข็งแรง” คุณเพชร เล่าถึงกลยุทะ์การเติบโตในอนาคต
3 ยุทธ์ศาสตร์โตยั่งยืน–ปั้นแบรนด์สู่เวทีโลก
แนวทางการทำให้องค์กรเติบโตแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้มีมืออาชีพมาบริหารเท่านั้น แต่ยังมีอีก 3 ยุทธศาสตร์ถูกวางเอาไว้ คือ
1.ยุทธศาสตร์ด้านสินค้า (Product) กับกลยุทธ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกสินค้าใหม่ การปรับ Positioning สินค้า ให้มีประสิทธิภาพ เช่น แบรนด์ทเวลฟ์พลัส จากจับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นผู้หญิง สู่การจับตลาดผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน เป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการทำตลาดร่วมกับ BNK48 เพื่อหารายได้ และปรับภาพลักษณ์ให้แบรนด์ทันสมัย เครื่องดื่มโสมอิน-ซัม หันมาจับตลาดผู้หญิง จากเดิมที่เป็นตลาดผู้ชายหลักเป็น การมุ่งสู่สินค้าพรีเมียม เช่น เครื่องดื่มเอ็ม-สตอร์ม ฉลาม และชาร์คคูลไบท์ บรรจุภัณฑ์รูปแบบกระป๋อง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนเมือง เป็นต้น การเพิ่มสินค้ากลุ่มเพื่อสุขภาพ และการทำ Data Analytic
2.กลยุทธ์ขยายตลาดต่างประเทศ สินค้าของ “โอสถสภา” ปัจจุบันส่งออกไปทำตลาดอยู่ใน 25 ประเทศทั่วโลกแล้ว เป้าหมายสุดท้ายของบริษัท คือ การสร้างชื่อในฐานะสินค้าแบรนด์ไทย แต่ไปไกลในตลาดต่างประเทศ แต่ในสเต็ปแรก คือ การสร้างแบรนด์และทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ก่อน โดยเรียมสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลังในเมียนมา จะเดินเครื่องผลิตสินค้าในปลายปีหน้า และการทำตลาดสร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น เตรียมทำตลาดแบรนด์เบบี้มายด์ในประเทศจีนและเวียดนาม เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีอัตราการเกิดสูง จากปัจจุบันเบบี้มายด์เป็นผู้นำตลาดแล้วในเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว
3.การเพิ่มประสิทธิภาพและอัตรากำไรอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารต้นทุนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการเติบโตด้านยอดขายและกำไร ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบ วัสดุบรรจุภัณฑ์ ลดค่าใช้จ่ายจากเครือข่ายโลจิสติกส์