HomeBig Featured4 เหตุผล “มาม่า” ซื้อ “ฟาร์มเฮาส์” จากปรัชญาของนายห้างเทียม สู่มรรคาธุรกิจของเสี่ยบุณยสิทธิ์

4 เหตุผล “มาม่า” ซื้อ “ฟาร์มเฮาส์” จากปรัชญาของนายห้างเทียม สู่มรรคาธุรกิจของเสี่ยบุณยสิทธิ์

แชร์ :


ข่าวแบรนด์ “มาม่า” (MAMA) ของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ​จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA  ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเครือสหพัฒน์  ประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เพรซิเดนท์เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์” บริษัทในเครือสหพัฒน์อีกเช่นกัน  ด้วยวงเงินรวม 9,082 ล้านบาท เป็นการตอกย้ำความชัดเจนในนโยบายการจัดกลุ่มธุรกิจในเครือสหพัฒน์เอง  ให้แต่ละธุรกิจกลับมามีขนาดใหญ่  และมีความแข็งแกร่ง  เป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ  จากจำนวนบริษัทที่มีอยู่จำนวนมาก

แนวทางการนำบริษัทยิบๆ ย่อยๆ ที่เป็นธุรกิจเดียวกัน แต่อยู่คนละบริษัทกระจัดกระจายกันไป  นำมาควบรวมกันไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมา  ตามแผนของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ผู้ถือหุ้นใหญ่และในฐานะบริษัททำหน้าที่ขยายธุรกิจ  และสร้างกำไรจากการลงทุนของเครือสหพัฒน์  โดยได้จับเอา 2 บริษัทในเครือสหพัฒน์ควบรวมเป็นหนึ่งเดียว คือ ผลิตภัณฑ์ข้าวต้ม โจ๊ก เส้นหมี่แบรนด์มาม่า ของ บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์  จำกัด (มหาชน) หรือ PR   กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า  ของบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จำกัด (มหาขน) หรือ TF  ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  และได้ทำการเปลี่ยนชื่อย่อใหม่​เป็น TFMAMA  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แนวทางเริ่มต้นในการสร้างอาณาจักร เครือสหพัฒน์ หรือปัจจุบันเรียกว่า กลยุทธ์ ของนายห้างเทียม โชควัฒนา เจ้าของและผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์  บิ๊กธุรกิจด้านสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติไทย  คือ  โตแล้วแตก และ แตกแล้วโต ส่งผลให้อาณาจักรของเครือสพัฒน์ปัจจุบันจึงมีกว่า 200 บริษัท  กับยอดขายรวมกว่า 300,000 ล้านบาท  เติบโตเป็น 15 เท่า  นับตั้งแต่ช่วงที่นายห้างเทียมยังดำเนินธุรกิจอยู่  โดยปัจจุบันมียอดขายหลัก 20,000 ล้านบาท

แม้เครือสหพัฒน์จะมีบริษัทในเครือจำนวนมาก  แต่ไม่เคยหยุดการขยายธุรกิจใหม่  ทุกปีเครือสหพัฒน์จะร่วมทุนกับพันธมิตร  เพื่อลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสและศักยภาพการเติบโต  แต่ในอีกมุมหนึ่งธุรกิจเดิมจำนวนมาก  และเป็นธุรกิจที่เสริมการเติบโตซึ่งกันและกันได้  เครือสหพัฒน์ก็มีแผนควบรวม จัดกลุ่มก้อนธุรกิจของตัวเองเพื่อให้แต่ละบริษัทที่ โต” อยู่แล้วมาเสริมพลังกันและกันให้ โตยิ่งขึ้นไปอีก” ซึ่งเหตุผลสำคัญของการผนึกเอา “มาม่า” กับ “ฟาร์มเฮ้าส์” เข้าเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันครั้งนี้  คงเป็นเพราะ 4 เหตุผลหลักนี้

1.สร้างมาร์เก็ตแคปติด Top 5

การทำให้พอร์ตธุรกิจอาหารใหญ่ขึ้น  เครือสหพัฒน์ต้องการให้กลุ่มธุรกิจอาหารมีขนาดใหญ่  ก้าวเข้าไปสู่ Top 5 ของกลุ่มธุรกิจอาหารในตลาดหลักทรัพย์ฯ​  และมีมาร์เก็ตแคประดับแสนล้านบาทกับเข้าได้บ้าง  เพราะมั่นใจในศักยภาพของแบรนด์ในมือ  เมื่อเทียบกับแบรนด์คู่แข่งต่างๆ ซึ่งไม่ได้ด้อยหรือสู้ไม่ได้  ศักยภาพของแบรนด์มาม่าเอง สามารถก้าวไปสู่บริษัทแสนล้านบาทได้ไม่ยาก  และยังเติบโตต่อเนื่องได้อีก 20-30 ปี ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 14 กันยายน 2561) TFMAMA มีมาร์เก็ตแคปกว่า 52,093.23 ล้านบาท  แต่ยังคงห่างไกลกับหลักแสนล้านบาทอีกมาก  ส่วนคู่แข่งในธุรกิจอาหารหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ  กลับมีมาร์เก็ตแคปแซงหน้าสู่ระดับแสนล้านบาท  การควบรวมบริษัทระหว่างมาม่าเส้นเหลือง  กับเส้นขาว  ในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นเฟสแรก  ส่วนการตั้งโต๊ะซื้อหุ้นฟาร์มเฮ้าส์ของ “มาม่า” จึงถือว่าเป็นสเต็ปที่สอง  ของการจัดพอร์ตธุรกิจในเครือ  เพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นไปอีก

2.สร้างเสน่ห์-ความเคลื่อนไหวให้หุ้น

ถามว่าบริษัทใหญ่ขึ้นแล้วดีอย่างไร  นอกจากมีมาร์เก็ตแคปใหญ่ขึ้น  มองในสายตาของนักลงทุนหรือบรรดานักเล่นหุ้น เมื่อเกิดการควบรวมกันขึ้น นอกจากได้ความใหญ่โตของมาร์เก็ตแคปแล้ว  ราคาหุ้นก็เคลื่อนไหวดี  หุ้นก็มีเสน่ห์น่าเข้าไปจับจอง จากที่ผ่านๆ มาราคาหุ้นอาจจะไม่เคลื่อนไหวมากนัก  จึงมองว่าจะช่วยทำให้ธุรกิจมีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน   มีโอกาสเข้ามาซื้อหุ้น  ทั้งหุ้นของมาม่า (TFMAMA) หรือสหพัฒน์อินเตอร์ฯ (SPI)  ผลดีอีกอย่าง  คือ  มีโอกาสที่จะมีคนนำเอาบริษัทหรือโรงงานมาเสนอขาย  เพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่องไปได้อีกมาก  เพราะเมื่อกลุ่มธุรกิจอาหารเครือสหพัฒน์มีขนาดใหญ่  มีศักยภาพในกาขยายหรือซื้อกิจการได้เพิ่มมากขึ้นตามมา

3.เพิ่มศักยภาพทำตลาดและผลิตสินค้า

การควบรวมธุรกิจอาหารเพื่อให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น   ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ “มาม่าเส้นเหลือง” กับ “มาม่าเส้นขาว”  หรือระหว่าง “มาม่า” กับ “ฟาร์มเฮ้าส์” ยังส่งผลดีในการสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้แบบดับเบิ้ลดิจิต  จากที่เคยเติบโตเลขตัวเดียว  และยังได้ประโยชน์ในเรื่องของประสิทธิภาพการบริหารงาน  ทำให้องค์กรที่มีเงินทุนน้อยกว่า  มีเงินทุนเข้ามาหนุนกิจการ  ทั้งด้านการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น  แถมยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย  อย่างเช่นกรณีของมาม่าเส้นขาว  ที่ผ่านมามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณการทำตลาด และการซื้อเครื่องจักรมาเพิ่มกำลังการผลิต  นอกจากนี้  การควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน  ยังได้ประโยชน์จากการบริหารงาน  ภายใต้ต้นทุนและทรัพยากรรวมกันด้วยที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  ตามหลัก Economy of scale นั่นเอง

4.กระจายความเสี่ยงนโยบาย “ปลูกป่า” ไม่ปลูกต้นไม้ต้นเดียว

แม้ว่า Movement สำคัญของเครือสหพัฒน์ช่วงที่ผ่านมา  อาจจะเห็นการควบรวมของกลุ่มธุรกิจอาหารเป็นหลัก  แต่ช่วง 4  ปีก่อนหน้านี้ก็มีการเอาบริษัทต่างๆ ในเครือ มาควบรวมกันเป็นกลุ่มก้อนมาครั้งหนึ่งแล้ว  กับการควบรวม 5 บริษัทในเครือด้านสิ่งทอเข้ามาไว้ด้วยกัน   เพื่อความแข็งแกร่งของธุรกิจ   ทำให้บริษัทมียอดขายระดับหลักร้อยล้านบาท  ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทสิ่งทอระดับ 1,000  ล้านบาท  แต่เราอาจจะไม่ได้ยินข่าวการควบรวมกิจการของบริษัทเหล่านั้น  เพราะเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ  การจัดกลุ่มธุรกิจครั้งนั้นถือเป็นการเริ่มต้น  ของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและทำให้ธุรกิจเติบโต  เพราะหลายปีก่อนธุรกิจสิ่งทอ (Textiles) ของไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าแรงงานเพิ่มสูง  แบรนด์สินค้าเลิกจ้างผู้ผลิตคนไทยย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน  แต่บริษัทยังประครองธุรกิจให้อยู่รอดมาได้  ส่วนการจะเติบโตต่อไปการรวมตัวกันน่าจะเป็นทางที่ดีกว่า  เพราะทำให้แบรนด์สินค้าชั้นนำเห็นศักยภาพและมีโอกาสรับออร์เดอร์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอกขายมากขึ้น

ไม่เพียงแต่ธุรกิจสิ่งทอและธุรกิจอาหารต้องจัดทัพให้มีขนาดใหญ่  และมีความแข็งแกร่งเท่านั้น  กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในเครือสหพัฒน์ยังจะถูกจัดทัพตามมาอีกด้วย  ปัจจุบันเครือสหพัฒน์มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลัทรัพย์อยู่ใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์  (Commerce) ธุรกิจพลังงาน (Energy) ธุรกิจแฟชั่น  (Fashion)  ธุรกิจอาหาร (Food) ธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (Personal & Products) ด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคปกว่า 174,456 ล้านบาท  ซึ่งต่อไปต้องมีการจัดกลุ่มธุรกิจปรับพอร์ตให้มีความแข็งแกร่ง  ทั้งขนาดและคุณภาพต่อไปอย่างแน่นอน  เพียงแต่การดำเนินการต้องเป็นแบบ Step by step และต้องมองเห็นโอกาสในธุรกิจนั้นๆ อย่างชัดเจน เครือสหพัฒน์จะไม่เน้นธุรกิจใดเพียงธุรกิจเดียว

ที่สำคัญนโยบายการดำเนินธุรกิจของ เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์  ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ  ไม่พึ่งพาธุรกิจหลักเพียงธุรกิจเดียว

“นโยบายการดำเนินธุรกิจของเสี่ย  เสี่ยชอบกระจายความเสี่ยง จึงปลูกป่า ไม่ปลูกต้นไม้เพียงต้นเดียว”คำบอกเล่าของแหล่งข่าวคนสนิท  เสี่ยบุณยสิทธิ์​  โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เล่าถึงวิธีคิดและการดำเนินธุรกิจของประธานเครือสหพัฒน์

 


แชร์ :

You may also like