การแข่งขันในธุรกิจอาหารในปัจจุบัน ไม่สามารถมองสนามแข่งขันแบบแคบๆ อยู่แค่ใน Category ที่ตัวเองทำตลาดอยู่เท่านั้น เพราะทุกแบรนด์ที่ทำตลาดไม่ว่าจะจัดเป็นอาหารประเภทใด เชื้อชาติไหน ต่างก็ต้องเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ในกระเพาะของผู้บริโภคแต่ละคนที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะคุณสาวๆ ที่วิตกกังวลในเรื่องของรูปร่างทำให้เลือกหรือจำกัดปริมาณในการรับประทานลงไปอีก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารทุกรายจำเป็นต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธุรกิจ Dining เมื่อจะแข่งต้องลงสนามใหญ่เท่านั้น
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ต่างก็ต้องกระโดดลงมาในสนามเดียวกันคือ ความพยายามที่จะเป็นทางเลือกหรือ Best of Choice ของผู้บริโภคที่เลือกจะรับประทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากในแต่ละมื้อผู้บริโภคก็มักจะเลือกได้เพียงแค่ 1 ร้าน หรืออย่างมากก็อาจจะมีมื้อหลักและของหวาน ถ้ายังพอมีพื้นที่ในกระเพาะหลงเหลือ แต่ถ้าบางรายอิ่มง่าย หรือบางร้านที่มีเมนูครบทั้งคาวหวาน โอกาสที่ผู้บริโภคจะเดินเข้าร้านที่สองก็แทบจะไม่มีหลงเหลือ ดังนั้น เมื่อเลือกที่จะเข้ามาในธุรกิจ Dining ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกอยู่ Category หรือ Positioning ใด สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่การแข่งขันกับคู่แข่งรายใดๆ ในตลาด แต่อยู่ที่ความสามารถที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเลือกที่จะเดินเข้าร้านเราใหัได้มากที่สุดนั้นเอง
วิธีคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการวางกลยุทธ์ในการทำตลาดของ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีกับแบรนด์ร้านสเต๊กสัญชาติไทยอย่าง “ซานตาเฟ่ สเต๊ก” ที่บุกเบิกสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดในประเทศไทยมากว่า 14 ปีแล้ว นับตั้งแต่เปิดให้บริการสาขาแรกที่แฟชั่น ไอส์แลนด์ ในปี 2547
คุณเหม็ง สุรชัย ชาญอนุเดช CEO บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารซานตาเฟ่ สเต๊ก ให้ข้อมูลว่า ซานตาเฟ่ เลือกที่จะนำเสนอเมนูสเต๊กคุณภาพ ในราคาที่คนไทยสามารถเอื้อมถึงได้ง่าย รวมทั้งกระจายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวก รวมทั้งการมีโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าและช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สามารถชนะใจลูกค้า เพราะมองว่าลูกค้าคือคนที่ช่วยสร้างแบรนด์ได้ดีที่สุด จากการที่มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัสกับแบรนด์ รับรู้ได้ถึงคุณภาพทั้งจากสินค้าและบริการในระดับราคาที่จับต้องได้ จนสุดท้ายลูกค้าทุกคนจะช่วยบอกต่อและกลับมาใช้บริการซ้ำ ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ที่ดีและยั่งยืนที่สุด
โดยปัจจุบันร้านซานตาเฟ่ สเต๊ก มีจำนวนสาขาอยู่ที่ 111 สาขา พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีจำนวนสาขาสิ้นปีนี้ที่ 115 สาขา พร้อมตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,900 ล้านบาท เติบโตเพิ่มจากเดิมประมาณ 15% จากปีที่ผ่านมาที่ทำรายได้ 1,650 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าซานตาเฟ่ สเต๊ก เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสเต๊กของประเทศไทย ด้วยการมีจำนวนสาขามากที่สุดในบรรดาผู้เล่นที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่การวางกลยุทธ์ของซานตาเฟ่ สเต๊กในประเทศไทยนั้น ต้องถือว่าไม่ได้โฟกัสที่จะแข่งขันอยู่เฉพาะแค่ในตลาดสเต๊กเทื่านั้น แต่ซานตาเฟ่เลือกที่จะมองและขยับมาแข่งขันในภาพใหญ่ เพราะสิ่งที่ทุกแบรนด์ในธุรกิจอาหารต้องการคือ สามารถเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้บริโภคที่เลือกรับประทานอาหารนอกบ้านได้ ซึ่งปัจจุบันสเต๊กติดอยู่ใน Top 10 ของเมนูที่ผู้บริโภคจะนึกถึงเมื่อต้องการรับประทานอาหารนอกบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารแบบคาเฟ่ อาหารปิ้งย่าง สุกี้ ชาบู รวมไปถึงพิซซ่า หรือแฮมเบอร์เกอร์
โดยคุณสุรชัย เปิดเผยกลยุทธ์การรบของซานตาเฟ่ สเต๊ก อยู่ที่การวางตำแหน่งของแบรนด์และธุรกิจให้เป็นมื้ออาหารแบบที่เป็น Daily หรือร้านที่คนสามารถเข้ามารับประทานได้ทุกวัน มากกว่าการเป็นร้านที่คนจะนึกถึงเฉพาะในวาระพิเศษ หรือเพียงแค่โอกาสในการเฉลิมฉลองต่างๆ เท่านั้น เพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้ามารับประทานให้ได้เพิ่มมากขึ้น
“ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าประจำของซานตาเฟ่ จะมาใช้บริการประมาณ 2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเราสามารถเพิ่มโอกาสในการมาให้บ่อยขึ้นเป็น 3 ครั้งต่อเดือน หรืออาจจะสัปดาห์ละครั้งได้ เนื่องจาก เมนูในร้านที่มีหลากหลายมากกว่าแค่สเต๊ก แต่ยังมีอาหารจานหลักอื่นๆ เช่น สปาเก็ตตี้ หรือเมนูต่างๆ อีกมาก ประกอบกับระดับราคาที่ไม่สูงมาก แค่หลักร้อยต้นๆ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องคิดมากในการมารับประทาน ประกอบกับยังมีการทำรายการโปรโมชั่นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอภายในร้านที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น ส่วนการที่ในตลาดมีช้อยส์หรือตัวเลือกต่างๆ อยู่มาก ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือสร้างความหนักใจแต่อย่างใด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเปลี่ยนร้านในการรับประทานไปเรื่อยๆ ไม่มีใครที่จะกินอาหารญี่ปุ่น พิซซ่า หรือสุกี้ได้ทุกวันอยู่แล้ว เราเพียงแค่หาวิธีทำให้ลูกค้านึกถึงและเลือกที่จะเดินเข้ามาใช้บริการเราให้บ่อยได้มากที่สุดเท่านั้น”
และอีกหนึ่ง Turning Point สำคัญของซานตาเฟ่ สเต๊ก คือ การรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการปรับภาพลักษณ์ให้ดูสดใส เพื่อให้ทั้งแบรนด์และร้านเป็นตัวแทนในการส่งมอบความสุขให้กับทุกๆ มื้อของผู้บริโภค เพื่อรักษาการเติบโตต่อเนื่องที่ราว 15-25% ซึ่งซานตาเฟ่ สามารถทำได้ต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ได้มากกว่าก่อนรีแบรนด์ถึง 300% ทำให้โอกาสที่ซานตาเฟ่ จะขยับมาอยู่ในกลุ่มแบรนด์ที่มี Top of Mind ในระดับที่สูงขึ้น และมีโอกาสที่จะขยับมาเป็นช้อยส์แรกๆ ที่ผู้บริโภคจะนึกถึงในแต่ละมื้อได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
แค่สเต๊กไม่พอ ขยายสู่พอร์ตส้มตำ
ส่วนการขยายแนวรบด้วยการขยายสาขาให้ครอบคลุม นอกจากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทแล้ว ยังจะเพิ่มการลงทุนจากกลุ่มแฟรนไชส์ให้มีสัดส่วนสาขาของกลุ่มแฟรนไชส์เท่ากับบริษัทที่ 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสัดส่วนร้านแฟรนไชส์อยู่ที่ประมาณ 45% รวมทั้งการเพิ่มโอกาสที่จะได้เป็นตัวเลือกของผู้บริโภคที่มากขึ้นจากแบรนด์อื่นๆ ภายในเครือ นอกเหนือจากการรบภายใต้แบรนด์หลักอย่างซานตาเฟ่ สเต๊ก
ซึ่งทางเคที เรสทัวรองท์ ได้เปิดแบรนด์ใหม่เพื่อเป็นทางเลือกที่มากขึ้นสำหรับผู้บริโภค คือ “เหม็ง นัว นัว” เพื่อขยายการทำตลาดในกลุ่มธุรกิจร้านสัมตำ อีกหนึ่งเมนูยอดนิยมของคนไทย และเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตได้ในระดับสูงถึงปีละ 10-15% ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่ากลุ่มอาหารญี่ปุ่นที่มีการเติบโตราว 5% ต่อปี รวมทั้งขนาดของตลาดที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องถือว่ามากกว่าตลาดร้านสเต๊กที่มีมูลค่าจากทุก Positioning รวมกันของไทยที่มีรวมกันอยู่ที่ราวๆ 1 หมื่นล้านบาท
โดยเหม็ง นัว นัว เปิดให้บริการสาขาแรกไปแล้วที่แฟชั่น ไอส์แลนด์ และเตรียมเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติมที่ซีคอนบางแค ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งอีก 3 สาขาในปีหน้า ภายใต้การลงทุนต่อสาขาประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ประมาณ 250 ตารางเมตร โดยจะโฟกัสทำเลในแถบชานเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปสู้ในโลเกชั่นที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่กลางเมือง ที่มีหลายแบรนด์ปักธงทำตลาดอยู่ ขณะที่กลุ่มเป้าหมายมองไว้จะเป็นกลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นเป็นหลัก
ปักธงสร้างตลาดสเต๊กในกัมพูชา
ปีนี้ยังนับเป็นปีแรกที่ซานตาเฟ่ สเต๊ก จะเริ่มขยายธุรกิจออกไปสร้างแบรนด์ในต่างประเทศ ด้วยการเซ็นสัญญากับกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศกัมพูชาอย่าง SOPHEAVORN INVESTMENT Co.,LTD. (โซเฟียวอร์น อินเวสเม้นต์) บริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่แห่งหนึ่งในกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ขยายแฟรนไชส์ร้านซานตาเฟ่ สเต๊ก ในกัมพูชา โดยคาดว่าจะได้เห็นร้านซานตาเฟ่ สเต๊ก สาขาแรกในกรุงพนมเปญ ที่เตรียมเปิดให้บริการได้ประมาณช่วงปลายปีนี้
สำหรับที่มาที่ไปของดีลนี้ คุณเหม็ง สุรชัย ชาญอนุเดช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางคุณ DIM SOPHEAVORN ซึ่งเป็น CEO ของโซเฟียวอร์น อินเวสเม้นต์ กรุ๊ป ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยบ่อยครั้ง และมีโอกาสรับประทานสเต๊กที่ร้านซานตาเฟ่ จึงติดใจและอยากนำแบรนด์ไปขยายเพิ่มเติมในกัมพูชา ประกอบกับทางเคที เรสทัวรองท์เอง ก็มีแผนจะขยายธุรกิจไปในกลุ่ม AEC เพิ่มเติมอยู่แล้ว นำมาสู่การตกลงเซ็นสัญญาเพื่อขยายแฟรนไชส์ในกัมพูชา โดยการบริหารงานของกลุ่มโซเฟียวอร์น ที่นับเป็นการ Diversify มาสู่ธุรกิจอาหารเป็นครั้งแรกเช่นกัน
โดยแผนการลงทุน รวมทั้งโอกาสต่างๆ ของแบรนด์ซานตาเฟ่ ที่จะเกิดขึ้นในกัมพูชา และทิศทางในการบุกตลาดต่างประเทศของซานตาเฟ่ สเต๊กนั้น คุณเหม็งให้รายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1. สำหรับสาขาแรกของซานตาเฟ่ สเต๊ก ในกัมพูชา จะเปิดเป็นร้านแบบ Stand Alone พื้นที่ราว 400 ตารางเมตร บริเวณใจกลางกรุงพนมเปญ ซึ่งรูปแบบการลงทุนในกัมพูชาจะแตกต่างจากในไทย ที่เน้นขยายสาขาเฉพาะในศูนย์การค้าเท่านั้น เนื่องจาก กลุ่มเป้าหมายของซานตาเฟ่ในประเทศไทยเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าอยู่แล้ว ประกอบกับพฤติกรรมคนไทยชื่นชอบการเดินห้าง การมีสาขาในห้างจึงเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายที่สุด รวมทั้ง Developer แต่ละรายก็มีการทำการบ้านในการเลือกโลเคชันที่มีศักยภาพในการลงทุนมาเป็นอย่างดี
ขณะที่ในกัมพูชาเอง พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนยังมีความแตกต่างหรือห่างจากประเทศไทยราว 10-20 ปี คนส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานอาหารในบ้าน มีเพียง 10% ที่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง และมักจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเดินทางตรงไปร้านที่ต้องการเลย ประกอบกับจำนวนศูนย์การค้าที่เปิดยังมีอยู่น้อย โดยในพนมเปญมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น ทำให้การขยายในรูปแบบร้านสแตนอะโลนจึงเหมาะสมมากกว่า ซึ่งคาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจจะเริ่มเห็นโมเดลการขยายสาขาในห้างของร้านซานตาเฟ่ สเต๊ก ที่ประเทศกัมพูชา เช่นเดียวกับรูปแบบในประเทศไทย
2. สำหรับเป้าหมายการขยายสาขาในกัมพูชา จะเน้นขยายในเมืองพนมเปญเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพกำลังซื้อที่ดี โดยทางโซเฟียวอร์น อินเวสเม้นต์ ตั้งเป้าขยายให้ได้ 5 สาขา ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งประเมินศักยภาพของพื้นที่ในกรุงพนมเปญยังสามารถรองรับการขยายสาขาได้ไม่ต่ำกว่า 10-20 สาขา ตลอดระยะเวลา 10 ปีนี้
3. ส่วนศักยภาพของตลาดในกัมพูชา แม้ว่าจะมีกลุ่มกำลังซื้อสูงในระดับ B+ ขึ้นไปเพียง 10% แต่เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการจ่าย และชอบที่จะเสพวัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ซานตาเฟ่ สเต๊กเลือกที่จะเข้าไปเจาะ ขณะที่สภาพของตลาดโดยรวมก็ถือว่ามีศักยภาพสูง ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างนิ่ง เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงของการเติบโต ทำให้ Global Brand หลายรายเริ่มขยายการลงทุนเข้ามามากขึ้น แต่โดยรวมแล้วการแข่งขันยังถือว่าไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารต่างๆ ที่ยังมีผู้เล่นไม่มากนัก ประกอบกับค่านิยมที่มีต่อแบรนด์ไทยและสินค้าไทย ว่าเป็นของระดับพรีเมี่ยมจึงมักจะได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งการวางตำแหน่งร้านซานตาเฟ่ ในกัมพูชานั้นจะมีความพรีเมี่ยมกว่าในประเทศไทยที่จับตลาดกลุ่ม B เป็นหลัก รวมทั้งจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ จากประเทศไทย ทำให้มีต้นทุนสูงกว่า จึงวางราคาสูงกว่าในไทยประมาณ 25%
4. ที่สำคัญการเข้าไปเปิดตลาดสเต๊กในกัมพูชา ต้องถือว่ายังเป็น Blue Ocean ที่ยังไม่มีแบรนด์สเต๊กรายใดเข้าไปทำตลาดมาก่อน ซานตาเฟ่จึงกลายเป็นแบรนด์แรกที่เข้าไปบุกเบิกตลาดนี้ รวมทั้งเป็นการสร้างให้สเต๊กกลายเป็นทางเลือกแรกๆ ที่คนกัมพูชาจะนึกถึงเมื่ออยากรับประทานอาหารนอกบ้าน และหากสามารถเจาะตลาดได้สำเร็จก็จะทำให้ซานต่าเฟ่ สามารถ Own ความเป็นเจ้าตลาดสเต๊กในกัมพูชาได้ด้วย ทำให้เมื่อคนกัมพูชานึกถึงสเต๊ก ชื่อของซานต่าเฟ่ สเต๊ก ก็จะกลายเป็นแบรนด์ที่มี Top of Mind สูงที่สุด เป็นการสร้างการรับรู้ในตลาดกัมพูชาว่า “สเต๊ก = ซานต่าเฟ่ สเต๊ก”
5. สำหรับการ Educated หรือกระตุ้นการบริโภคสเต๊กในตลาดกัมพูชา ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เนื่องจาก คนกัมพูชาปัจจุบันรับสื่อจากประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้น ส่วนใหญ่จะรู้จักและเคยเห็นแบรนด์ซานตาเฟ่อยู่แล้ว รวมทั้งเมนูสเต๊ก ถือเป็น International Food ที่ทุกคนคุ้นเคยและรับประทานได้ง่าย เพียงแค่ยังไม่มีใครเข้าไปลงทุน และเมื่อซานตาเฟ่เริ่มเข้าไปบุกเบิกตลาด ก็คาดว่าจะได้รับการตอบรับและมีการเติบโตได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ในปีแรกที่เริ่มเปิดให้บริการ
6. และเพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานทั้งในเรื่องของคุณภาพและรสชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน วัตถุดิบรวมทั้งสูตรอาหารต่างๆ จะถูกส่งไปจากประเทศไทยโดยตรง รวมทั้งในช่วงแรกของการเปิดร้านที่ทางประเทศไทย จะมีทีมไปช่วยในเบื้องต้น จนเมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัวจึงค่อยถอนทีมออกมา และให้ทางมาสเตอร์แฟรนไชส์เป็นผู้ดูแลต่อ
7. ขณะที่แผนในการขยายร้านซานตาเฟ่ สเต๊ก ในต่างประเทศนั้น เคที เรสทัวรองท์ อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนในฟิลิปปินส์ราว 2-3 ราย เพื่อเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ เพื่อดูแลแบรนด์ซานตาเฟ่ สเต๊กในฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณไตรมาส 2 ของปีหน้า ส่วนสาเหตุที่เลือกขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีเทรนด์ในการเติบโตที่ดีของความนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเช่นกัน
8. ผู้บริหารร้านซานตาเฟ่ สเต๊ก มองภาพในอนาคตเมื่อดำเนินธุรกิจครบ 2 ทศวรรษ หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า จะสามารถขยายสาขาร้านซานตาเฟ่ สเต๊กในต่างประเทศได้ 20 สาขา ใน 4 ประเทศ โดยเฉพาะในแถบ AEC ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งด้วยวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศแถบนี้ที่มีความใกล้เคียงกัน ขณะที่จำนวนสาขาในประเทศไทยในเวลานั้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่ราวๆ 200 สาขา จากปัจจุบันมี 111 สาขา โดยจะลงทุนเพิ่มเติม 15-20 สาขาต่อปี ภายใต้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท
ในส่วนของ Key Success ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาของซานตาเฟ่ สเต๊ก คุณเหม็งมองว่า อยู่ที่ความสามารถในการทำให้ทุกมื้อสร้างความสุขที่ลงตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นความลงตัวสำหรับลูกค้า ความลงตัวสำหรับพนักงาน รวมไปถึงความลงตัวสำหรับผู้ลงทุนทุกรายนั่นเอง
Photo Credit : Facebook, YouTube Santa Fe’ Steak