ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทั้งเศรษฐกิจ การพัฒนาสินค้าและบริการ หรือแม้แต่ความต้องการลูกค้า ที่เรียกว่า “ยุค Disruptive” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกวัน ทำให้ทุกองค์กรต้องหันมาวิเคราะห์สถานการณ์ของตัวเองเพื่อปรับมุมมอง เปลี่ยนกลยุทธ์ และความคิดในการบริหารงาน เพื่อให้พลิกเกมทันกับความเปลี่ยนแปลงอันร้ายแรงของโลก และเพื่อไม่ให้ถูกกลืนกินโดยบริษัทคู่แข่งจากอุตสาหกรรมเดียวกันและอุตสาหกรรมอื่นที่พร้อมกระโดดเข้ามาแข่งขันได้ทุกเมื่อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหัวใจสำคัญที่ไม่ได้อยู่ไกล แต่หลายองค์กรกลับมองผ่าน หรือแก้ปัญหาไม่ถูกจุด คือการปรับทิศหัวเรือใหญ่อย่าง “ผู้นำองค์กร” (Leader) ให้เพียบพร้อมด้วย “ภาวะผู้นำ (Leadership)” ที่มีศักยภาพ รู้เท่าทันสถานการณ์ และสามารถมองเห็นเทรนด์และโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงต้องกล้าตัดสินใจและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อนำองค์กรทลายทางตันสู่การหยัดยืนเป็นผู้นำทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
“คำตอบของการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน ท่ามกลางโลกที่เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันตลอดเวลา ดังเช่น ในปัจจุบันนี้ คือ การที่องค์กรสามารถนำการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มาใช้ให้เกิดเป็นโอกาสและสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้นๆ ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยเริ่มต้นจากผู้นำองค์กร ซึ่งจะต้องเป็นคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและมีความสามารถในการปรับตัวเท่านั้น จึงจะสามารถนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และไม่ติดอยู่ในกับดักของยุค Disruptive” นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง กล่าวถึงใจความสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาภาวะผู้นำของบุคลากรในองค์กรของไทยและเหล่าประเทศอาเซียน ก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า “ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของคำว่า ‘ผู้นำ – Leader’ กับ ‘ภาวะผู้นำ – Leadership’ อย่างถ่องแท้เสียก่อน โดยคำว่า ‘ผู้นำ’ ส่วนมากหมายถึงตำแหน่งหน้าที่การงาน ส่วน “ภาวะผู้นำ” จะเป็นเรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับวุฒิภาวะ ซึ่งรวมรายละเอียดของบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย การวางตัว แนวความคิด ตลอดจนมุมมองและวิธีการแก้ไขปัญหามารวมไว้ด้วยกัน โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือแม้แต่เพศ หรือวัยใดวัยหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ‘ภาวะผู้นำ’ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้และเร่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง และพร้อมขับเคลื่อนพลวัตรของกลุ่มและทุกองคาพยพขององค์กรให้สามารถดำเนินงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในยุคปัจจุบัน”
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีองค์กรและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันทางการตลาดสูง แต่หลายครั้งเรากลับทำลายโอกาสทางธุรกิจเหล่านี้ลงด้วย “ตัวฉุดรั้ง” อย่างการสร้างกรอบความคิดที่ผิดซึ่งเกิดขึ้นจากความเคยชินกับการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ของผู้นำและบุคลากรในองค์กร หรือการยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ที่ทำให้ “ผู้นำ” ยังคงอยู่ในวังวนของแนวคิดและวิธีการทำงานแบบเดิม โดยละเลยถึงบริบทและห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป และประเด็นสำคัญ คือ การที่เรายังไม่สามารถนำ “นวัตกรรม” ทางความคิดออกมาประยุกต์ใช้ร่วมกับสถานการณ์และรูปแบบเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันได้อย่างทันท่วงที SEAC ในฐานะที่เป็นศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูงแห่งแรกของประเทศไทย ได้เดินหน้าผลักดันและสร้างแรงกระเพื่อมให้ประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญและแนวทางแก้ไขปัญหานี้ โดยได้รวบรวมและนำเสนอหลักสูตรซึ่งได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตั้งแต่ภาคทฤษฏีไปจนถึงการปฏิบัติจริง จากความสำเร็จขององค์กรชั้นนำที่ผ่านการเรียนรู้ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก โดยล่าสุด ได้ร่วมมือกับ สถาบันเคน บลานชาร์ด (The Ken Blanchard Companies) บริษัทพัฒนาผู้นำและบุคลากรระดับโลก ผู้ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ 500 องค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune Global 500) และประสบการณ์ในการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละมากกว่า 150,000 คน เพื่อสร้างสรรค์โปรแกรม “พัฒนาภาวะผู้นำ” ผ่าน 4 หลักสูตรสำคัญ ที่นับเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ประกอบด้วย 1. Self Leadership 2. Situational Leadership® II Experience 3. Management Essentials และ 4. Coaching Essentials® ซึ่งได้เริ่มต้นอบรมและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับองค์กรมากกว่า 20 องค์กร อาทิ เครือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เครือข่ายแมนพาวเวอร์กรุ๊ป บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง สำนักงาน ก.พ. เป็นต้น
นางอริญญา กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ คือการนำประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจ (Real-world experience) งานวิจัย (Research) ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปฏิบัติได้จริง มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับผู้นำองค์กรที่เข้าร่วมอบรม ตลอดจนนำเสนอมุมมองและแนวความคิด สำหรับการมีภาวะผู้นำที่ดีอย่าง “Mindset – มายด์เซ็ต” และ “Skillset – สกิลเซ็ต” เข้าไว้ด้วยกัน โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรและบุคลากรทุกระดับเกิดความมุ่งมั่นและตระหนักรู้ในการพัฒนา “ภาวะผู้นำ – Leadership” ของตนเอง กระตุ้นให้ผู้นำสามารถดึงศักยภาพของตนด้วยการฝึกฝนโดยนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน เพื่อให้สามารถก้าวทันสถานการณ์สู่การสร้างและเป็นผู้นำในวงการธุรกิจในยุค Disruptive เช่นนี้”
มร. ฮาเวิร์ด ฟาร์เฟล ประธาน สถาบันเคน บลานชาร์ด (The Ken Blanchard Companies) กล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายอย่างเร่งด่วนที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ แต่ใครจะปรับตัวได้รวดเร็วและมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการค้นหาโอกาส แบบอย่างในการพัฒนาและความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ โดยทางสถาบันฯ ได้ให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำของโลกมากมาย โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในการจัดอันดับให้เป็น 500 องค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยนิตยสารฟอร์จูน (Fortune Global 500) มามากกว่า 40 ปี โดยให้บริการกับลูกค้าองค์กรที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่องค์กรเอกชนทุกระดับ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป็นต้น เราจึงค้นพบว่ายังมีอีกหลายๆ องค์กร ที่ผู้นำและบุคลากรในองค์กรยังติดกับดักของตัวเอง เป็นผลให้ประสิทธิภาพไม่เกิดและประสิทธิผลไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งยังทำให้หมดความมุ่งมั่นในการนำองค์กรสู่จุดมุ่งหมายลงกลางทางเสียดื้อๆ ดังนั้นการเติมเต็ม “ภาวะผู้นำ – Leadership” จึงเป็นเรื่องที่หลายๆ องค์กรไม่ควรมองข้าม โดยสถาบันฯ ได้นำทฤษฎีภาวะผู้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มุ่งสอนเรื่องการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้นำที่เท่าทันโลกได้อย่างครอบคลุม จนเกิดเป็นหลักสูตรทั้ง 4 หลักสูตร ได้แก่ 1. Self Leadership 2. Situational Leadership® II Experience 3. Management Essentials และ 4. Coaching Essentials® แต่สำหรับหลักสูตรในไทยจะพิเศษมากขึ้น เพราะเราเชื่อมั่นให้ทาง SEAC ซึ่งเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของ The Ken Blanchard Companies ในประเทศไทยประยุกต์เนื้อหาให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยและประเทศอาเซียน”
ดังนั้น การสร้างและพัฒนา “ภาวะผู้นำ – Leadership” ให้กับผู้นำและบุคลากรทุกระดับ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนสำหรับทุกองค์กร เพื่อที่จะพร้อม “ต่อกร” กับความโหดร้ายของยุค Disruptive ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และรู้จักที่จะนำ “นวัตกรรม” ใหม่ๆ เข้าผสานเข้ากับแนวทางดำเนินงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถนำความรู้มาพัฒนาและปฏิบัติ จนสามารถสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ที่จะนำทุกองคาพยพขององค์กรและประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต