ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วน แม้แต่องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว อย่างท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ก็ไม่หยุดที่จะเสาะหาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เข้ามาเสริมศักยภาพในการดำเนินงานให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้นไป ในฐานะที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ได้ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของแผนการสนับสนุนเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้นโยบายThailand 4.0
รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย “สนามบินอัจฉริยะ”
ธงหลัก คือ การยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการของท่าอากาศยาน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้เดินทางมาใช้บริการจากทั่วโลก ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารอาคาร และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น
พลเรือตรี ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ กล่าวว่า “การจะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ Smart Terminal เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ดังนั้น เราจึงพัฒนาให้สนามบินอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบที่ทันสมัย ซึ่งจะถูกปูทางไปสู่การเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ลำดับที่ 3 ของกรุงเทพมหานครในอนาคต เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกันด้วยรถไฟความเร็วสูง พร้อมปักหมุดการเป็น Aviation Hub ของภูมิภาคนี้
การท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ จึงร่วมมือกับพันธมิตรภาคเอกชน บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือของเอไอเอส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายดิจิทัล ซึ่งเรามองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดบริการรูปแบบใหม่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ท้ายที่สุดแล้ว ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ และระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ”
เอไอเอสขานรับ แลนด์ดิ้งนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่โดยเฉพาะ
คุณยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Life Service Provider) นอกเหนือจากให้บริการด้านสื่อสารที่ดีที่สุดแก่คนไทยแล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ การพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพเพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งของประเทศในทุกด้าน โดยในครั้งนี้ เอไอเอส ร่วมพัฒนาโซลูชันส์สำหรับให้บริการกับผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่ภายในสนามบิน ซึ่งจะพร้อมให้บริการได้ในราวไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยหวังว่าจะเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาอาคารผู้โดยสารในสนามบินให้เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ “Smart Terminal” เต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต
เราเชื่อว่า เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศครั้งใหญ่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน วันนี้เอไอเอส ภูมิใจอย่างมากที่ได้รับความไว้วางใจจากการท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ ที่ให้เราเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อยกระดับการให้บริการ และการบริหารจัดการ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในครั้งนี้”
U-Tapao แอปฯ ประสบการณ์ใหม่ในการใช้บริการสนามบิน
ผู้โดยสารสามารถสัมผัสกับประสบการณ์สนามบินอัจฉริยะแห่งนี้ได้ ด้วยแอปพลิเคชั่น U-Tapao ที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ทั้งในแอปสโตร์ และกูเกิ้ล เพลย์สโตร์ ภายในแอปฯ นี้ จะมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการบินและสนามบินอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นรายงานตารางการบินของสายการบินต่างๆ บริการการเดินทางไปกลับสนามบิน บริการจองที่จอดรถล่วงหน้า เท่านั้นยังไม่พอ U-Tapao ยังเป็นแอปฯ ที่ช่วยนำทาง แสดงตำแหน่งจุดให้บริการภายในสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและเสริมประสบการณ์ภายในสนามบินให้เป็นไปอย่างลื่นไหลและรวดเร็วมากขึ้น อาทิ เคาน์เตอร์-ห้องจำหน่ายตั๋ว-สำนักงานสายการบิน ร้านค้า ร้านอาหาร ตู้เอทีเอ็ม ฯลฯ โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality : AR) รวมถึงมีระบบ Notification แจ้งเตือนเวลาขึ้นเครื่องส่งตรงถึงมือถือผู้โดยสารด้วย
Video Analytics ช่วยบริหารจัดการอาคาร
สนามบินอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก จากการใช้ Video Analytics ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายของกล้องวงจรปิดหลายร้อยตัวทั่วอาคาร วิเคราะห์ประมวลผลภาพด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และบิ๊กดาต้า
นอกจากนี้ยังสามารถระบุตัวตนของผู้เข้าออกภายในอาคาร ว่าใครเป็นใคร รู้ได้ฉับไวด้วยเทคโนโลยีตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Face Recognition) ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวตนด้วยชื่อ-สกุล เที่ยวบิน ผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับกล้องที่ติดตั้งไว้ได้ทันที เพียงแค่เดินผ่านในรัศมีการทำงานของกล้องที่กระจายอยู่ทั่วทั้งอาคาร สามารถใช้ในการรองรับวีไอพีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบุคคลต้องสงสัย
ขณะที่เทคโนโลยีแสดงข้อมูลความหนาแน่นของผู้โดยสาร (Heat Map Analytics) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำโลเคชั่นมาใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ ก็จะช่วยทำให้การรักษาความปลอดภัยและการบริหารสนามบินนี้มีประสิทธิภาพขึ้นไปอีกระดับ เบื้องต้นจะใช้บริหารจัดการอาคาร ในพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนบริการก่อนจะเข้าไปสู่โซนตรวจคนเข้าเมือง แต่ในอนาคตวางแผนจะนำไปใช้บริหารจัดการการเดินทางตั้งแต่ต้นจนกระทั่งก้าวขึ้นเครื่องบินโดยสาร รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มเติม เช่น การตรวจจับอุณหภูมิร่างกายอัตโนมัติ เพื่อตรวจตราและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อรุนแรงที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
นำ AR เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับพันธมิตร
ไม่เพียงแต่เอไอเอสจะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ดังกล่าว ให้กับสนามบินอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเตรียมนำเทคโนโลยี AR ไปใช้เพิ่มโอกาสธุรกิจให้กับพันธมิตร เช่น ศูนย์การค้าเพื่อทำให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งและการใช้บริการร้านค้าต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกสบาย ทั้งในแง่ของการนำทาง โดยเฉพาะภายในศูนย์การค้าซึ่งมีเลย์เอาท์สลับซับซ้อน ทำให้ผู้บริโภคประหยัดเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าต่าง ๆ ด้วยการแจ้งเตือนโปรโมชันทั่วไป รวมถึง Personalized promotionให้กับผู้บริโภคแต่ละคนได้ เพื่อดึงดูดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับพันธมิตรค้าปลีกรายใหญ่ของไทย
เป็นอีกก้าวที่น่าจับตามองของการผนึกกำลังกันของภาครัฐและภาคเอกชน จากสองฝั่งอุตสาหกรรม สื่อสารโทรคมนาคมและคมนาคมขนส่ง ที่ถือเป็นการต่อจิ๊กซอวร์ภาพแผนเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ในยุคที่ดิจิทัลไม่เพียงแต่เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ยังเป็น DNA เลือดเนื้อของการพัฒนาในทุกๆ สิ่ง ใครที่คิดว่าองค์กรอยู่ในสเตตัสของผู้นำและหยุดพัฒนา เมื่อนั้น คุณอาจได้เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ตามได้ในพริบตาเดียว