เป็นกระแสข่าวใหญ่มาหลายวันสำหรับ Big Deal มูลค่ากว่าพันล้านรายล่าสุดในธุรกิจทีวีดิจิทัล กรณีที่ บมจ. ทีวี ไดเร็ค หรือ TVD เข้าซื้อหุ้น 90.1% ในสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น เพื่อเข้าเป็นผู้บริหารทีวีดิจิทัลช่องหมายเลข 19 ในมูลค่า 1,080.04 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าซื้อหุ้น 949.22 ล้านบาท และค่าจ้างในการผลิตข่าวของทางสปริงนิวส์ เพื่อป้อนให้กับช่อง 19 จำนวน 130.82 ล้านบาท
ดังนั้น ตามระยะเวลาของใบอนุญาตสัมปทานที่เหลืออีก 124 เดือนจากนี้ไป TVD จะกลายเป็นผู้ถือใบอนุญาตแทน ขณะที่สปริงนิวส์จะแยกตัวออกมาเป็น News Content Provider อย่างเต็มตัว ในการผลิตรายการข่าวให้กับทางช่อง 19 และยังสามารถรับจ้างผลิตให้กับช่องและแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้
โดยความกระจ่างต่างๆ เกี่ยวกับดีลครั้งนี้ ทั้งเหตุผลที่มาที่ไป รวมทั้งทิศทางต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในช่องทีวีดิจิทัล หมายเลยข 19 ซึ่งขณะนี้ทางผู้บริหารเดิมอย่างสปริงนิวส์ยอมรับว่า มีเรตติ้งอยู่อันดับบ๊วยที่สุดในจำนวน 22 ช่องของทีวีดิจิทัล จะมิทิศทางในการขับเคลื่อนเพื่อให้ Survived และเติบโตต่อด้วยโมเดลธุรกิจใหม่นี้ได้อย่างไร จากทั้งฟากผู้บริหารใหม่ของช่องอย่าง คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) (TVD) คุณพงษ์ชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานสถานีโทรทัศน์ TVD และผู้บริหารกลุ่มเดิมอย่าง คุณฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สปริง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ให้รายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน
โมเดลทีวีสายพันธ์ใหม่ เมื่อคนข่าว X คนขายของ
สำหรับดีลครั้งนี้เริ่มต้นมาจาก Collaborated Project ของทีวีดีและสปริงนิวส์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์มายาวนาน ในฐานะที่ทีวีดีซื้อ Airtime ในช่องสปริงนิวส์มาตั้งแต่ยังทำช่องทีวีดาวเทียม ก่อนจะก้าวเข้ามาในสนามธุรกิจดิจิทัลทีวี โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีวีดีได้ร่วมเป็นผู้ผลิตรายการเพื่อป้อนให้กับช่อง 19 จำนวน 18 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโมเดลในการสร้างรายได้ให้กับช่องได้มากกว่าแค่การรอรายได้จากโฆษณาที่จำกัดอยู่ที่ชั่วโมงละ 10 นาที มาเป็นการสร้างรายได้จากกลุ่มผู้ชมรายโดยตรงจากการขายสินค้า ซึ่งผลตอบรับเป็นไปทิศทางที่ดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นำมาสู่การขยายความร่วมมือกลายเป็นดีลในครั้งนี้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นการเกิด Win ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไมว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้ถือใบอนุญาต หรือพันธมิตรทั้งสองรายที่สามารถเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ และยังขยายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายและทั่วถึงมากขึ้น โดยที่แต่ละรายก็ยังอยู่ในจุดที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ ทั้งสปริงนิวส์ที่ยอมรับว่าสิ่งเดียวที่มีความถนัดคือการทำข่าวและค่อนข้างลำบากกับการต้องมาบริหารจัดการภาระต่างๆ ภายในช่อง ขณะที่ทีวีไดเร็คก็จะได้ความมั่นคงในเรื่องของเวลาในการออกอากาศ และประเมินว่าจะช่วยลดต้นทุนการออกอากาศในระยะยาวลงได้ พร้อมทั้งประเมินถึงความจำเป็นในการปรับตัวและโอกาสของธุรกิจจาก Landscape ที่เปลี่ยนไปในทั้งสองธุรกิจ คือ
– ในแง่ของการทำธุรกิจทีวีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากจำนวนช่องที่เคยมีอยู่ 6 ช่อง เพิ่มมาเป็น 22 ช่อง ขณะที่กลุ่มคนดูยังเป็นกลุ่มเดิมในจำนวนที่เท่าเดิมราวๆ 21 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 45 ล้านคน ทำให้ค่าเฉลี่ยของเรตติ้ง ซึ่งเป็นมาตรวัดของการกำหนดราคาในการซื้อโฆษณาของแต่ละช่องตกลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายของคนทำดิจิทัลทีวีที่มีทั้งต้นทุนจากค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่ายในการออกอากาศ ค่าผลิตรายการ และการบริหารจัดการต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาโมเดลใหม่ๆ ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าแค่การรอให้มีโฆษณาเข้ามา โดยเฉพาะหากสร้างโมเดลเสริมรายได้ที่มีความแข็งแรงมากพอ ในอนาคตรายได้เสริมเหล่านี้ จะกลายมาเป็นรายได้หลักให้แก่ช่องทีวีนั้นๆ
หากจะแบ่งตามอายุสัมปทานทีวิดิจิทัลที่ได้มา 15 ปี ซึ่งตอนนี้ผ่านไปแล้ว 5 ปี จากนี้ก็จะต้องถือว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ซีซันที่ 2 และ 3 ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นการเปิดมหาศึกทีวีดิจิทัลในซีซันที่ 2 พร้อมเปิดตัวผู้เล่นใหม่คือทีวีไดเร็ค ในการก้าวเข้ามาสู่ภาพของการทำ Virtual Shopping บนสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลอย่างเป็นทางการ
– ด้านการเติบโตของธุรกิจออนไลน์และทีวีช้อปปิ้ง ที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในประเทศไทย โดยปีที่ผ่านมา ธุรกิจออนไลน์ช้อปปิ้งโตได้มากกว่า 30% ขณะที่ทีวีช้อปปิ้งเติบโตได้ถึง 20% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจในรูปแบบ Virtual Shopping ซึ่งหมายถึงการช้อปปิ้งในทุกรูปแบบโดยที่ไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อที่ Physical Store และสะท้อนได้ว่าการเติบโตในกลุ่มออนไลน์ช้อปปิ้งและทีวีช้อปปิ้งเติบโตร่วมกันไปอย่างคู่ขนาน สวนทางกับหลายๆ ความเชื่อที่มองว่าออนไลน์ช้อปปิ้งจะมาทำให้ทีวีช้อปปิ้งอ่อนแอลง แต่ในความเป็นจริงทั้งสองธุรกิจสามารถเสริมความแข็งแรงให้แก่กันได้เป็นอย่างดี
สำหรับโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมโฮมช้อปปิ้งคาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20% ไปอีก 6-7 ปี จากทิศทางเติบโตเช่นนี้มาหลายปี และคาดว่าจะทำตัวเลขรวมในสิ้นปีนี้ที่ประมาณ 13,500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามียอดขายรวม 12,000 ล้านบาท ขณะที่ทิศทางของธุรกิจออนไลน์ช้อปปิ้ง มีอัตราการเติบโตสูงได้ถึง 40% เลยทีเดียว
ทำไมต้องเป็นช่องสปริงนิวส์ ?
การเข้ามาเป็นผู้บริหารช่องทีวีของ TVD ในยุคที่เจ้าของธุรกิจเดิมหลายๆ ราย ต่างเจ็บตัวและพยายามหาทางรอดให้กับตัวเองกันแบบวันต่อวัน แต่สิ่งที่ทำให้ TVD มั่นใจและกล้าที่จะกระโดดเข้ามาในเกมครั้งนี้ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นว่าได้ทำการประเมินทั้งโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งทิศทางที่จะก้าวไปจากนี้ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่วางไว้ในการทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้
1. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง จากการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเอื้อต่อการบริโภคแบบ Virtual Shopping เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจุดที่เป็น Game Changer ในตลาดเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013 ที่เริ่มมีการใช้งาน 3G ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวและการพัฒนาดีไวซ์ต่างๆ มารองรับ โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ส่งผลต่อทั้งกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ขึ้นไป ซึ่งยังนิยมสื่อเดิมอย่างทีวีแต่ก็พยายามเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ซึ่งยังถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ TVD ในขณะนี้ และเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการซื้อที่สูงอีกด้วย
ส่วนกลุ่มคนอายุ 36 -45 ปี ถือเป็นกลุ่มที่รับสื่อได้ทั้งสื่อเดิมและสื่อใหม่ รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และสามารถตัดสินใจซื้อได้จากทุกช่องทางที่สะดวก และกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา หรือในกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเน้นการรับสื่อออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งในโอกาสที่ TVD ต้องการจะเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
2. TV Never Die เนื่องจากทีวียังคงเป็นหนึ่งใน Screen ที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ เพื่อให้เลือกรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ตามความสะดวกของแต่ละคน แต่การทำธุรกิจทีวีต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ไม่สามารถพึ่งพาอาศัยรายได้จากแค่เม็ดเงินโฆษณาเพียงอย่างเดียวเพื่อหล่อเลี้ยงทั้งองค์กรได้แบบเดิม จำเป็นต้องหารายได้เสริม โดยเฉพาะการขยับมาตามทิศทาง Virtual Shopping ที่เป็นการสร้างพันธมิตรระหว่างคนทำข่าวและคนขายของ จะเป็นการเกิดขึ้นของ Sector ใหม่ในธุรกิจโทรทัศน์กลายเป็น “โทรทัศน์พันธุ์ใหม่” ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคใหม่ และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้แบบยั่งยืน
“เรามีความเชื่อว่าทีวีไม่ตาย สปริงนิวส์ทำทีวีมา 8 ปี และอยู่ในดิจิทัลทีวีมา 5 ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้าจนกระทั่งใบอนุญาตสัมปทานสิ้นสุดทีวีก็ยังคงอยู่ได้ แต่คนถือใบอนุญาตใกล้ตายเต็มที เพราะสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในการทำทีวีเปลี่ยนไป Ecosystem ในการสร้างรายได้เปลี่ยนไป วันนี้คนทำดิจิทัลทีวีทั้ง 22 ช่อง มีไม่ถึงครึ่งที่ยังสนุกอยู่ แต่ส่วนมากต่างรู้สึกเหนื่อยกับโมเดลในการหารายได้ในปัจจุบันที่ไม่คุ้มกับต้นทุนค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่าย รวมทั้งค่าผลิตคอนเทนต์ ขณะที่การปรับมาใช้โมเดลในการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากแค่ค่าโฆษณาเช่นนี้ เชื่อว่าจะทำให้เราเป็นช่องในท้ายตารางช่องแรกๆ ที่จะสามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้” ความเห็นของคุณฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ในฐานะที่เคยบริหารช่องสปริงนิวส์
ด้าน TVD ที่กระโดดข้ามาเป็นผู้รับบริหารช่องต่อ นอกจากมีโมเดลในการสร้างรายได้เสริมให้กับช่องจากการทำธุรกิจในรูปแบบ B2C ซึ่งมองว่าในอนาคตข้างหน้ารายได้กลุ่มนี้จะเป็นรายได้หลักให้กับช่องถึง 90% ขณะที่จะพึ่งพารายได้จากโฆษณาเพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่สำคัญการเข้ามาบริหารช่อง 19 ซึ่งมีฐานคนดูเป็นกลุ่มคนเมือง จะทำให้ TVD มีโอกาสขยายทาร์เก็ตมาสู่กลุ่ม Urban มากขึ้นจากปัจจุบันเน้นการทำตลาดแมสไปทั่วประเทศเป็นหลัก
3. เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด TV Shopping เนื่องจากการแข่งขันในตลาดนี้จะขยับไปสู่ Next Level ทั้งจำนวน Player ในตลาดที่เพิ่มขึ้นมากถึง 12 ราย จาก 2 ปีก่อนที่มีอยู่ 6-7 รายเท่านั้น โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการในธุรกิจทีวีดิจิทัลเริ่มหันมาลงทุนทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ด้วยการผนึกกับพันธมิตรรายใหญ่จากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้ง 12 บริษัทรวมกันมีสูงถึง 4 พันล้านบาท สะท้อนถึงความจริงจังในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละราย
ที่สำคัญเชื่อว่าธุรกิจ B2C จะกลายเป็น Game Changer สำคัญที่เกิดขึ้นในธุรกิจรีเทล ที่จะเปลี่ยนยอดขายจาก Retail Store มาเป็น Virtual Shopping หรือ Direct Shopping มากขึ้น ซึ่งเมื่อมองจากเทรนด์การเติบโตเชื่อว่าธุรกิจยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จากปัจจุบันยอดขายของธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยที่เป็น B2C มีสัดส่วนอยู่ราว 2.1% จากมูลค่าธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของประเทศที่มีกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดขายของ TVD ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในการทำตลาดในกลุ่ม Direct Shopping มีสัดส่วนยอดขายอยู่ไม่ถึง 1% จึงเชื่อว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 5-10 เท่าตัว เมื่อเทียบการเติบโตกับในหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนยอดขายรูปแบบนี้ที่ราว 30% เมื่อเทียบกับมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ หรือเกาหลีที่มีสัดสวน 17% และในจีน มีสัดส่วน 15-16%
การซื้อหุ้นสปริงนิวส์ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ TVD ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้าง Massive Awareness หรือการสร้างการรับรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้กว้างได้มากที่สุด, การปรับโครงสร้างธุรกิจแบบ Omni Channel ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบ O2O เพื่อรองรับพฤติกรรมในการซื้อของลูกค้าที่มีการรับสื่อและตัดสินใจซื้อจากหลากหลายช่องทาง, การเพิ่มความหลากหลายของโปรดักต์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และตอบโจทย์เรื่องประสบการณ์ในการช้อปปิ้งของผู้บริโภคได้สูงสุด รวมทั้งการทำธุรกิจแบบ Nua Marketing ที่อาศัยการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลและการประเมินทิศทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะยังไม่เห็นความชัดเจนได้แบบ 100% ก็ตาม โดยในดีลครั้งนี้ทาง TVD ประเมินไว้ว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปี
การบริหารหลังจากซื้อช่องพร้อมโอกาสทางธุรกิจ
1. ภายหลังการเข้ามาบริหารช่องของทาง TVD ที่คาดว่าการเปลี่ยนผ่านต่างๆ จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี และเสร็จสมบูรณ์ประมาณต้นปีหน้า พร้อมทั้งการเปลี่ยนชื่อช่องใหม่เพื่อให้สะท้อน Position และ Identity ของช่องได้ตรงจุดมากขึ้น
2. ช่อง 19 ยังคงสถานะเป็นช่องข่าว โดยคงเนื้อหาสาระและข่าวไว้ที่ 50% โดยแบ่งสล็อตเวลาเป็นรายการข่าวที่ผลิตโดยสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำนวน 6 ชั่วโมง ส่วนอีก 18 ชั่วโมง จะรับผิดชอบการผลิตคอนเทนต์โดย TVD ซึ่งเป็นรายการสาระเชิงข่าว, รายการโฮม ช้อปปิ้ง และรายการทีวี ช้อปปิ้ง ในจำนวน 6 ชั่วโมง เท่าๆ กัน โดยเชื่อว่าจะไม่ทำให้คนดูสับสนสถานะของช่องจากช่องข่าวไปเป็นช่องขายสินค้า เพราะได้กำหนดการนำเสนอเนื้อหาโปรแกรมภายในช่องตามข้อกำหนดของ กสทช. แต่ในทางกลับกันความน่าเชื่อถือในการเป็นช่องข่าวของสปริง นิวส์ จะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าจะนำเสนอสินค้ามีคุณภาพ เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่มีโมเดลช่องข่าวที่มีการสอดแทรกคอนเทนต์ในการขายสินค้า เช่น CNN, FOX หรือ CNBC ซึ่งสามารถนำมาเป็นต้นแบบได้
3. ผู้บริหารช่องรายเดิมอย่างสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จะลดบทบาทเป็น News Content Provider ที่เป็นความเชี่ยวชาญ โดยเน้นที่เป็น VDO Based เพื่อผลิตรายการข่าวป้อนให้กับช่องต่างๆ และในดิจิทัลพลตฟอร์ม จากปัจจุบันผลิตให้ช่อง 19 จำนวน 6 ชั่วโมง และช่อง Now 4 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ลดการแบกรับต้นทุนต่างๆ โดยเฉพาะการที่ต้องอุ้มธุรกิจช่องดิจิทัลทีวีทั้งช่อง มารับผิดชอบเพียงการผลิตคอนเทนต์ป้อนให้ช่อง 6 ชั่วโมง และแม้ว่าในแง่เรตติ้งปัจจุบันสปริงนิวส์ จะอยู่อันดับสุดท้ายในจำนวน 22 ช่อง แต่เชื่อว่าแบรนด์และชื่อของสปริงนิวส์ยังคงสามารถสร้างความเชื่อมั่นในแง่ของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ข่าวที่มีความแข็งแรง แม้ว่าในอนาคตชื่อของช่องจะเปลี่ยนไปก็ตาม
4. สำหรับคอนเทนต์ช้อปปิ้งที่ TVD จะนำเสนอขายผ่านช่อง 19 จะเน้นสินค้าที่มีไลฟ์สไตล์ตรงกลุ่มเป้าหมายของช่อง หรือมี Exclusive Content เฉพาะเพื่อให้เกิดความแตกต่าง ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตคอนเทนต์ จะมองที่กลุ่มเป้าหมายของสินค้าแต่ละชิ้นว่าสามารถนำเสนอคอนเทนต์เดียวกันได้ทุกช่อง หรือสินค้าบางอย่างที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง ก็จะเลือกปล่อยในช่องที่เหมาะสม โดยตั้งเป้ายอดขายสิ้นปีนี้ไว้ที่ 3,900 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่อง 19 สัดส่วนประมาณ 5%
5. ขณะที่การก้าวเข้ามาบริหารช่อง 19 ของ TVD คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อช่องทางหลักเดิมๆ ของ TVD โดยเฉพาะในส่วนของทีวีดาวเทียมที่ยังคงเติบโตได้ดีอยู่ เพราะหลายคนยังเข้าถึงทีวีดิจิทัลผ่านกล่องดาวเทียม ส่วนการดูทีวีบนมือถือก็ค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูงตามแพกเกจอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน
6. ช่องทางหลักๆ ที่สร้างยอดขายให้ TVD ในปัจจุบันยังคงมาจากทีวีเป็นหลัก ทั้งรูปแบบทีวีช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้งรวม 60% (ทั้งรูปแบบของการเช่าเวลาในสถานีและการผลิตรายการในช่องตัวเอง) ช่องทาง Out Bound 15% Show case ( TVD Shop) 15% และจาก Online 10% โดยสินค้าที่ขายดียังคงเป็นเครื่องออกกำลังกาย เพราะเป็นเทรนด์ที่คนนิยมหันมาดูแลสุขภาพ รวมทั้ง Perception ที่ชัดเจนต่อผู้บริโภคมีต่อ TVD จะเป็นกลุ่มสินค้าออกกำลังกายเป็นหลัก ตามมาด้วยสินค้า Health & Beauty เครื่องครัว และเครื่องใช้ภายในบ้าน
7. ที่สำคัญการมีช่อง 19 ทำให้ TVD สามารถขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนเมืองได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าใน กทม. 35-38% ลูกค้าต่างจังหวัดประมาณ 60% โดยคาดว่าลูกค้าใน กทม. จะเพิ่มขึ้นเป็น 40-42% รวมทั้งการเจาะไปสู่กลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปี ด้วยการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลาย เพราะฟีดแบคบางส่วนจากลูกค้าสะท้อนว่ามีแต่สินค้าสำหรับผู้ใหญ่ ขณะที่ลูกค้าหลักยังเป็นกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ แต่เริ่มเห็นการเติบโตของลูกค้าผู้ชายมากขึ้นจาก 30% เป็นมากกว่า 45% จากการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น
8. ช่วงไตรมาสสี่ปีนี้ทาง TVD จะทำการรีแบรนด์ใหม่อีกครั้ง ด้วยการนำคาแร็คเตอร์ “จอร์จ -ซาร่า” มาช่วยในเรื่องของการสือสารแบรนด์อีกครั้ง เนื่องจากเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้คนนึกถึงแบรนด์ทีวีไดเร็คได้ดี หลังจากก่อนหน้านี้มีการลอนช์ผ่านสติ๊กเกอร์ไลน์ไปแล้วครั้งหนึ่ง และได้รับการตอบรับโดยมียอดดาวน์โหลดที่ดี แต่ไม่ได้ทำการตลาดต่อเนื่อง จึงมีแผนที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้แบรนด์เพิ่มมากขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
9. ในอนาคต TVD สนใจที่จะเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้มากขึ้นอีก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่คาดคิดว่าจะขายได้บนแพลตฟอร์มเช่นนี้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ หรือในกลุ่มโกรเซอรี่ ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถขายได้ แต่เริ่มเห็นในต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น ในเกาหลีที่สามารถขายรถยนต์ หรือในไต้หวันที่ขายโกรเซอรี่ รวมทั้งโมเดิร์นเทรดในประเทศบางรายก็เริ่มขายได้แล้ว