หากย้อนไปสิบกว่าปีก่อน เมื่อเอ่ยถึง “วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา” สิ่งที่ทุกคนนึกถึงและสามารถ Represent ความเป็นตัวตนของวู้ดดี้ได้อย่างชัดเจนมากที่สุดคงหนีไม่พ้นคำว่า Talk อาจจะด้วยภาพจำจากรายการในยุคทีวีอะนาล็อกอย่าง วู้ดดี้เกิดมาคุย และ ตื่นมาคุย ที่จัดมาตลอดเกือบสิบปี รวมทั้งการสร้างแบรนด์ดิ้งผ่านชื่อ WOODYTALK บนช่องทางต่างๆ เพื่อสื่อสารสู่ Publish ไม่ว่าจะเป็นยูทูป ทวิตเตอร์ และในอินสตาแกรม ที่แต่ละช่องทางมีคนติดตามไม่ต่ำกว่าหลักล้านขึ้นไป ยิ่งเมื่อรวมกับผู้ติดตามผ่านแฟนเพจ Woody ยอดผู้ติดตามรวมจากทุกช่องทางน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่าสิบล้านรายเลยทีเดียว
เปลี่ยนจาก Talk มาเป็นการสร้าง Engagement
แต่วันนี้เมื่อถามเจ้าตัวว่า วู้ดดี้ในวันนี้คืออะไร? หรือเป้าหมายของวู้ดดี้จากนี้จะไปในทิศทางไหน? คำตอบที่ได้รับคือ “เมื่อก่อนเราทำคอนเทนต์เพื่อความบันเทิง แต่จากนี้คอนเทนต์ของวู้ดดี้เวิลด์จะให้ความสำคัญกับการสร้าง Transformative Thinking แต่ก็ต้องถือเป็นความท้าทายของเราด้วยคือ จะทำอย่างใรให้ทุกคอนเทนต์ที่เราทำขึ้นมา ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างไอเดียให้คนที่ได้เข้ามาสัมผัส เพราะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการทำให้คนที่ร่างพังกลับมามีร่างกายที่ดี ทำให้คนที่มีความรู้สึกหรือจิตใจที่คิดลบกลับมาคิดบวกและมีกำลังใจ หรือแม้แต่ทำให้คนที่รู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถเป็นไปได้ ให้ได้ทดลองทำด้วยความหวังว่าอาจจะมีโอกาสเป็นไปได้”
ขณะที่ Talk ซึ่งเคยเป็นวิธีสำคัญในการสร้างคอนเทนต์ของวู้ดดี้ จะเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลากหลายวิธีการที่วู้ดดี้จะหยิบมาใช้เพื่อไปสู่เป้าหมายให้เกิดการ Transform โดยสิ่งสำคัญจากนี้ไปที่จะทำให้ได้มาซึ่งคอนเทนต์ คือ การสร้าง Engagement ด้วยการสร้างพาร์ทเนอร์ สร้าง Influencer ใหม่ๆ มาร่วมกันช่วยสร้างเอนเกจ เพราะลำพังแค่วู้ดดี้คนเดียวแบบที่ผ่านมานั้น วู้ดดี้ยอมรับว่า ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้
ที่สำคัญการสร้างคอนเทนต์ผ่าน Engagement เช่นนี้ ยังเพิ่มรูปแบบในการพัฒนา Business Model ใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศในอาณาจักร Woody World ให้ตอบโจทย์เป้าหมายของการขับเคลื่อนเพื่อสร้าง Transformative Thinking Ecosystem ที่แม้แต่วู้ดดี้เวิลด์เองแม้จะผ่านการ Transform ตัวเองมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะปรับและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในปีหน้า วู้ดดี้มีโปรเจ็กต์ใหม่ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตให้กับ Woody World อีกเป็นสิบโปรเจ็กต์ อาทิ
1. การตั้ง Digital Agency เพื่อดูแลลูกค้าในระยะยาว ทั้งในเรื่องของการช่วยครีเอทคอนเทนต์ในการสื่อสารแบรนด์และวางแผนการใช้สื่ออย่างเหมาะสม ซึ่งวู้ดดี้บอกว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทาง Woody World ทำให้ลูกค้ามาก่อนหน้านี้แล้ว ผ่านสายงานฟากคอนเทนต์ แต่ด้วยรูปแบบงานและความต้องการลูกค้าที่เริ่มหลากหลายแยกย่อยมากขึ้น ทำให้ในปีหน้าจะมีการตั้งส่วนงานเฉพาะเพื่อมาดูแลงานด้านนี้โดยตรง
“หลังจากที่เราขยับมาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้ง 100% รูปแบบโฆษณาที่เข้ามาก็มีหลากหลายมากขึ้น จากที่เคยทำรายการทีวีแล้วมีแค่สินค้ามา Tie-in ก็เปลี่ยนไป หรือแม้แต่การซื้อโฆษณาในดิจิทัลที่ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อแบนเนอร์มาแปะ แต่มีทั้งอยากให้ช่วยครีเอทคอนเทนต์ให้ อยากให้คิดกิจกรรมเพื่อการสื่อสารหรือโปรโมทแบรนด์ บางคนอยากได้แค่วู้ดดี้เพื่อไปใช้ในสื่อของตัวเอง บางคนก็อยากได้แค่แพลตฟอร์มของเราเพราะมี Reach สูง หรือบางคนมีโจทย์เป็นวัตถุประสงค์ในการสร้างแบรนด์ สร้างไวรัลคอนเทนต์ ซึ่งที่ผ่านมาวู้ดดี้เวิลด์ทำงานต่างๆ เหล่านี้มาโดยตลอด แต่จากนี้จะมีทีม มี Business Unit ขึ้นมาดูแลชัดเจน โดยกลุ่มลูกค้าที่มีในปัจจุบัน อาทิ สถาบันการเงิน ธุรกิจประกัน Health &Fitness และกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์”
2. การสร้างแพลตฟอร์มใหม่ของตัวเอง (Own Platform) เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการเติมเต็มให้ Ecosystem ของตัวเองให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มด้วยการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์รวมคอนเทนต์ต่างๆ ของวู้ดดี้เวิลด์ โดยมีต้นแบบเช่นเดียวกับ www.ellentube.com ในอเมริกา รวมทั้งอาจจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นในสเตปต่อๆ ไป
3. การครีเอทโปรดักต์หรือ Influencer ใหม่ๆ ในเครือข่ายให้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้เพียงวู้ดดี้เท่านั้น จากการเลือก Unit ที่มีศักยภาพจากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่อยู่ในวู้ดดี้เวิลด์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของ Music, Health & Fitness หรือการร่วม Co-creation กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสไปสู่การต่อยอดคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งโมเดลในการสร้างรายได้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
4. ในส่วนของโปรแกรมคอนเทนต์ต่างๆ จะมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความสนใจของผู้ชมมากขึ้น เช่น การออกอากาศ Woody Live ที่จะทำอย่างเข้มข้นขึ้น และเปลี่ยนจากการออกอากาศทุกวันมาเป็นเดือนละครั้ง โดยเลือกหัวข้อคอนเทนต์หรือคนที่จะคุยด้วยที่สามารถสร้าง Talk of The Town ทั้งในระดับประเทศหรือระดับโลก เพื่อรักษา Engagement Rate ที่มีต่อคอนเทนต์ เพราะการมีรายการทุกวันทำให้ยอดผู้ชมลดลงจากที่เคยทำได้หลัก 2-3 แสนวิว แต่ในบางเทปยอดผู้ชมลดเหลืออยู่เพียงแค่ 800 วิวเท่านั้น
5. ยังมีรายการอื่นๆ ที่จะนำกลับมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง “ทำทันที” ในรูปแบบของ Business Talk หรือ “คนแปลงร่าง” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนกลับมาดูแลรูปร่างและสุขภาพตัวเอง ที่จะกลับมาในซีซั่นใหม่ในปีหน้าเช่นกัน รวมทั้งรายการต่างๆ ที่เคยทำไว้และจะมาแบบเฉพาะกิจอย่าง “W and O” เมื่อมีการครีเอทคอนเทนต์ร่วมกับแบรนด์ หรือมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจอยากนำเสนอ รวมไปถึงรายการใหม่ๆ ที่จะครีเอทเพิ่มเติมในปีหน้าไม่ว่าจะเป็น Reality Show เรื่องราวของคู่รัก ชีวิตคุณหมอ รวมทั้งภารกิจในการหาคู่แต่งงานของพระเอกบางคนด้วย
6. ที่สำคัญจะมีการทบทวนและปรับรูปแบบรายการทีวี หลังจากกลับมาทำรายการอีกครั้งกับรายการ Woody World ที่เริ่มออกอากาศทางช่องเวิร์กพ้อยท์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ผลตอบรับในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยังเป็น Business Unit เดียวที่ไม่สามารถมองเห็นการเติบโตที่ชัดเจนได้ ทำให้อยู่ระหว่างการปรับเนื้อหาและรูปแบบรายการเพื่อให้สอดคล้องกับคาแร็คเตอร์ของช่อง ซึ่งหากผลตอบรับออกมาดีขึ้นก็จะทำต่อ แต่หากยังไม่มีการเติบโตอยู่เช่นเดิมก็อาจจะตัดสินใจที่จะต้องหยุดทำรายการทีวีลง เพราะแม้จะย้ายช่องก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่ปัญหาน่าจะมาจากรูปแบบรายการทีวีที่ไม่สอดคล้องกับยุคและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อก่อนที่คนรอดูรายการคืนวันอาทิตย์ได้ แต่ปัจจุบันทุกคนรับรู้ข้อมูลเท่ากัน ทุกคนสามารถ Live ได้ จะทำทีวียุคนี้ต้องคิดนอกกรอบและปรับตัวให้เร็ว
7. ขณะที่ในกลุ่มอีเวนท์ ยังคงเดินหน้าทั้งแบรนด์ S2O ที่เข้าสู่ปีที่ 5 และสามารถต่อยอดแพลตฟอร์มไปสู่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดย S2O จะทำการจัดต่อเนื่องในญี่ปุ่นไปตลอด 3 ปี ปีละเมือง หลังนำร่องแล้วในปีแรก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในเมืองโอไดบะ ส่วนงาน Fit Fest ที่เริ่มนำร่องในปีที่ผ่านมา แม้ตัวเลขจะติดลบ แต่ประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างแบรนด์ดิ้งและทำให้คนเข้าใจคอนเทนต์ภายในงาน จนทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่กำไรเร็วที่สุดในกลุ่มอีเวนท์ เพราะเพียงแค่ก้าวเข้าปีที่ 2 ที่เตรียมจะจัดขึ้นในปีนี้ ก็สามารถสร้างกำไรให้กับวู้ดดี้เวิลด์ได้แล้ว
8. วู้ดดี้เวิลด์ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ทเนอร์ในกลุ่ม Music Festival รายใหญ่ที่สุดในยุโรป เพื่อเป็นผู้ร่วมจัดงาน Music Fest ของแบรนด์นี้ในประเทศไทย ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้มีแบรนด์ Music Festival เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแบรนด์ในพอร์ตของวู้ดดี้เวิลด์ และหากต้องรับผิดชอบโปรเจ็กต์ Music Festival ร่วมกับพาร์ทเนอร์รายใหม่ อาจจะต้องหยุดการจัดงาน Bangkok Count Down ที่เคยทำไว้ในปีที่ผ่านมา
9. อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่วู้ดดี้จะทำเพิ่มเติม และจัดเป็น Passion Project ที่ไม่ได้มองโมเดลเพื่อหารายได้ไว้ตั้งแต่ช่วงวางแผนเหมือนโปรเจ็กต์อื่นๆ คือ Woody FM ซึ่งจะเป็นการทำคอนเทนต์ผ่าน Podcast ในรูปแบบของ lifestyle Business หรือ Transformative Talk ด้วยการพูดคุยกับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือตกผลึกทางความคิดแล้ว และเป็นบุคคลชั้นนำในสังคม เพื่อถ่ายทอดมุมมอง ความคิด และการใช้ชีวิตของผู้คนเหล่านี้ ซึ่งจะมีทั้งที่เป็น Podcast และ Full VDO โดยจะทำเดือนละ 2 ครั้ง และเริ่มออกอากาศในเดือนตุลาคมปีนี้
“การทำ Woody FM เหมือนกับเราได้กลับมาเป็นดีเจอีกครั้ง และได้ถ่ายทอดการเดินทางของเรา ที่หลายครั้งมีโอกาสได้คุยกับนักธุรกิจระดับประเทศ หรือคนที่มีชื่อเสียงระดับโลก และอยากบอกเล่าเรื่องราวให้กับคนอื่นๆ ได้ฟัง โดยที่ส่วนตัวเราเองก็ฟัง Podcast ทุกเช้า ขณะที่ภาพของการเกิดมาคุยก็ยังมีอยู่ แต่เราเต็มอิ่มกับการสัมภาษณ์ดาราแล้ว อยากเปลี่ยนมาคุยในมุมมองของธุรกิจ หรือมุมมองในการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ผ่านสื่อของเรา ซึ่งในวันที่เราทำทีวีหรือการจะ Live ผ่านเฟสบุ๊กที่มีคนตามมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งมันค่อนข้างแมส เรากังวลว่าทำแล้วจะมีใครดูหรือเปล่า แต่วันนี้เราต้องก้าวข้ามความกลัวต่างๆ เพื่อให้ได้มีโอกาสในสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ”
10. ในส่วนเป้าหมายในการวาง Positioning ของตัวเองในองค์กร วู้ดดี้ต้องการลดบทบาทของตัวเองจากปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดวู้ดดี้เวิลด์ ให้เป็นเพียง Talent หรือเป็นหนึ่ง Influencer ที่อยู่ใน Ecosystem ของตัวเอง และอยากหาคนมานั่งในตำแหน่ง CEO เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต โดยอยู่ระหว่างการหาบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสม
สร้างภาพจำใหม่ สาย Health & Fitness
เมื่อมองลึกลงไปในโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้เห็นภาพการต่อยอดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอาณาจักร Woody World ได้ชัดมากขึ้น จะพบว่า ท่อน้ำเลี้ยงหรือแหล่งรายได้สำคัญจะมาจากสองสายใหญ่ๆ คือ ส่วนของอีเวนท์ซึ่งทำรายได้หลักให้แก่วู้ดดี้เวิลด์ถึงครึ่งหนึ่ง โดยกว่า 80% ในส่วนนี้มาจาก Music Platform โดยมีแบรนด์สำคัญอย่าง S2O เทศกาลดนตรีที่จัดต่อเนื่องมาถึงปีที่ 5 และเริ่มขยายแพลตฟอร์มไปต่างประเทศ ส่วนอีก 20% มาจากสาย Health & Fitness ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่วู้ดดี้เวิลด์ครีเอทมาเมื่อปีทีผ่านมา ภายใต้ชื่อ Fit Fest ซึ่งเป็นการสร้างอีกหนึ่ง Community ที่น่าสนใจและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นการสร้างอีกหนึ่งภาพจำของวู้ดดี้ เมื่อทุกวันนี้หัวข้อสนทนาของคนรอบข้างที่พูดคุยด้วย คือ ประเด็นในเรื่องของการดูแลสุขภาพ การรักษาและเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือเคล็ดลับในการ Transform ตัวเอง
ขณะที่รายได้ในส่วนที่เหลือจะมาจากฝั่งของงานคอนเทนต์ จากทั้งส่วนที่เป็น Own Content ประมาณ 30% และจากส่วนของ Non-Woody ที่เป็นการครีเอทคอนเทนต์ร่วมกับแบรนด์หรือพาร์ทเนอร์ต่างๆ อีกราวๆ 20% ซึ่งในส่วนนี้นี่เองที่ทางวู้ดดี้จะต่อยอดออกมาเป็นดิจิทัล เอเยนซี่ตามแผนงานที่วางไว้
และเมื่อพิจารณาการเติบโตของแต่ละขา จะพบว่าฝั่งอีเวนท์มีการเติบโตที่เห็นได้ชัดถึงกว่า 20% ขณะที่การเติบโตของคอนเทนต์นั้นจะเป็นไปในลักษณะที่กระจัดกระจาย เพราะด้วยรูปแบบการซื้อที่ปรับเปลี่ยนไปและมีความซับซ้อนมากขึ้นต่างจากยุคก่อนหน้า แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มความหลากหลายใน Ecosystem โดยได้เพิ่มงบสำหรับการพัฒนา Ecosystem เพิ่มเติมอีกกว่า 30 ล้านบาท
ส่วนการเติบโตที่เห็นได้อย้างชัดเจนของฟากอีเวนท์นั้น มาจากการที่ทุกอย่างเริ่มลงตัว ทั้ง S2O ที่เริ่มออกดอกผลให้เก็บเกี่ยวหลังจากแบกภาระขาดทุนมาถึง 3 ปี โดยเฉพาะในปีแรกที่ลงทุนไป 90 ล้านบาท แต่ต้องขาดทุนไปเกือบครึ่งถึง 40 ล้านบาท แต่เมื่อแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก คนเริ่มมามากขึ้น งานสามารถขยายสเกลได้จาก 2 หมื่นคนในปีแรก มาสู่ 6 หมื่นคนในปีล่าสุด และเตรียมย้ายที่จัดงาน เพื่อให้สามารถรองรับคนได้มากขึ้น รวมทั้งรายได้จากการขายบัตรที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขในปีล่าสุดที่มีสัดส่วนสูงถึง 90% ประกอบกับโอกาสจากการขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้จัดงานจากต่างประเทศที่สนใจนำคอนเทนต์ไปต่อยอด
ล่าสุด วู้ดดี้เวิลด์เตรียมจัดงาน Fit Fest 2018 ในวันที่ 22-23 กันยายนนี้ ในคอนเซ็ปต์ “สวนสนุกแห่งการออกกำลังกายที่ใหญ่และมันส์ที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งเป็นปีที่ 2 และเป็นอีเวนท์ที่ประสบความสำเร็จเร็วที่สุดของวู้ดดี้เวิลด์ แม้ว่าจะเป็นงานฟรีและจัดที่สยามพารากอน ซึ่งค่าเช่าสถานที่ในโลเกชั่นกลางเมืองเช่นนี้ไม่ถูกอย่างแน่นอน ที่สำคัญยังเป็น Community สำคัญที่จะต่อยอดในแง่ของการเพิ่ม Resource ในแง่ของการทำโปรดักต์ และการครีเอทคอนเทนต์ของวู้ดดี้เวิลด์ได้มากขึ้น
“จุดตั้งต้นของ Fit Fest ค่อนข้างแตกต่างจากโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เราจะมองโมเดลในการสร้างรายได้ก่อนที่จะเริ่มโปรเจ็กต์ต่างๆ แต่การทำ Fit Fest ทุกอย่างในงานฟรี แต่โปรดักชันคุณภาพสูง ทั้งฟิตเนสคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพื่อต้องการให้คนมางานสนุกและเกิดแรงบันดาลใจจากผู้คนที่มีสุขภาพดี รูปร่างที่ดีภายในงาน ขณะที่พาร์ทเนอร์ต่างๆ ที่เข้ามาร่วมกับเราก็มองในแง่ของการต่อยอด เช่น ร้านที่มาออกงานก็สามารถครีเอทเมนูสุขภาพไปขายต่อได้แม้จะจบงานแล้ว หรือ Influencer ที่สามารถต่อยอดในการปั้นเป็นคอนเทนต์ให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น รวมทั้งผลลัพธ์จากการจัดงานครั้งแรกในปีทีผ่านมา ทำให้ปีนี้เราได้รับการตอบรับที่ดีในแง่ของพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมงาน แต่ในส่วนของคนที่มาร่วมงานคาดว่าจะมีถึง 4 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีคนร่วมงานที่ 24,000 คน”
สำหรับวู้ดดี้แล้ว Fit Fest จึงเป็นอีกหนึ่งการสร้าง Passion Project เพราะมองผลลัพธ์มากกว่าแค่เรื่องของตัวเลขของรายได้หรือกำไร แต่ยังมองการต่อยอดไปในวงกว้างด้วยการผลักดันให้เกิด Fit Fest Unit ไปในทุกๆ จังหวัด และช่วยกระตุ้นหรือเป็นส่วนหนึ่งในการจุดกระแสให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น โดยวู้ดดี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า
“วู้ดดี้มักจะใช้คอนเซ็ปต์ One Thingในการทำธุรกิจหรือต่อ Passion ที่จะทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละช่วง เพื่อให้เกิดการโฟกัสที่ชัดเจน และ One Thing ในปีนี้ของเรา คือ การที่ตื่นมาแล้วได้ออกกำลังกายทุกเช้า เวลาเราไปไหนหัวข้อสนทนาก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ทำให้เราอยากขยายผลเหล่านี้ไปในมุมกว้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่เรามีความรู้สึกว่า Fit Fest เป็นคอนเทนต์ที่เราทำแล้วมีความสุขมากที่สุดก็ว่าได้”