คนไทยอยู่ในวัยแรงงานตอนนี้มีกว่า 40 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรด้วยสัดส่วนถึง 31% หรือกว่า 12 ล้านคน ที่เหลือทำอาชีพก่อสร้าง สัดส่วน 15% ทำธุรกิจค้าขาย 16% ภาคอุตสาหกรรมบริการด้านท่องเที่ยว 7% และอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีก 5% แม้ว่าตัวเลขเกษตรกรบ้านเราจะเยอะมากที่สุด แต่กลับส่งผลสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศน้อยกว่า คือ มีสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท จากจีดีพีของประเทศโดยรวมที่มีมูลค่า 15 ล้านล้านบาท
ปัญหาของเกษตรกรไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน บางปีก็มากบางปีก็น้อย ตามลมฟ้าอากาศจะอำนวย ควบคุมผลผลิตให้ออกมาได้ตามใจเป็นเรื่องยาก ไหนจะเรื่องราคาขายอีก บางปีก็แพงบางปีก็ถูก เป็นเรื่อง Demand และ Supply ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาวะตลาดในประเทศ แต่ยังรวมถึงภาวะตลาดโลกที่เข้ามาเป็นตัวแปรอีกด้วย เอาแค่ 2 เรื่อง “ราคา-ปริมาณผลผลิต” เกษตรกรไทยก็มึนหัวแก้ปัญหากันไม่ตกแล้ว อย่าไปพูดถึงปัญหาเรื่องอื่นๆ เลย แก้ 2 เรื่องนี้ได้ เกษตรกรไทยก็น่าจะไปได้อีกไกล ที่ผ่านมาไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนเอง ก็พยายามเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเกษตรกรไทย ให้ผ่านปัญหาต่างๆ ไปให้ได้
แต่ด้วยโลกเข้าสู่ความเป็น “Digital” อะไรๆ ก็ถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยี หากมองในแง่ดีก็น่าจะทำให้เกิดความสะดวกสบายและใช้ชีวิตง่ายขึ้นแค่ปลายนิ้ว ตอนนี้เราจึงได้เห็นเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตร อย่างล่าสุด ค่ายมือถือ “ดีแทค” ได้ร่วมมือกับ “รีคัลท์” สตาร์ตอัพในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท และมูลนิธิรักบ้านเกิดพัฒนาบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” เป็นการบริการให้ข้อมูลปัจจัยเพาะปลูกทางการเกษตรเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการ ทั้งเรื่องการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ติดตามสุขภาพพืช และข้อมูลวางแผนการเพาะปลูกพืช
“ทำไมดีแทคและรักบ้านเกิดไม่ทำมือถือเหมือนอีก 2 เจ้า มายุ่งอะไรกับการเกษตร เราถือว่าเราตัวเล็กกว่า เจ้าของค่าย 2 คนในยุคนั้น เราตัวเล็กจริงๆ เขาแตะผมก็ตาย เพราะฉะนั้นการตลาดเราต้องต่างจากเขา ดีแทคคิดว่าถ้าลูกค้าดีแทคเสียเงินค่าโทรศัพท์กับเรา เดือนนั้นเขาต้องได้เงินมากกว่าค่าโทรศัพท์ที่ให้เรา เราจะไม่เน้นให้ลูกค้าไปดูหนัง หรือซื้อน้ำแก้วที่ 2 ลดครึ่งราคา หรือเที่ยว กินอาหารที่ไหน ไปเมืองนอก เราเน้นให้เขาหาเงิน เน้นให้เขามีสุขภาพ คุณภาพที่ดี และเกษตรกร เอาความเป็นจริงจะไปสู่บริษัทใหญ่อย่างซีพี สู้เบทาโกรได้อย่างไร วันหนึ่งมีนกบินมาทั่วประเทศ หล่นลงมาไก่ที่มีอยู่ก็ตายหมด เราสู้ภัยธรรมชาติอย่างนั้นได้อย่างไร เรามีสองทางเลือก คือ หนึ่งจอยเขา แล้วกลายเป็นเซเว่นอีเลฟเว่นไปเลย หรือเราทำในสิ่งที่เราหารายได้ให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ”คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ลแอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เล่าว่า เหตุผลที่ดีแทคและรักบ้านเกิดเข้ามามีส่วนในภาคการเกษตร
ฟาร์มแม่นยำ กับ 3 ฟีเจอร์เพื่อเกษตรกรไทย
สำหรับฟาร์มแม่นยำ เป็นหนึ่งฟังก์ชันใน Farmer Info App ที่ช่วยให้เกษตรกรทราบถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนการวิเคราะห์สภาพการเพาะปลูกในแปลง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที โดยมี 3 ฟีเจอร์สำคัญ ได้แก่
1.พยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่ การแสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนในพื้นที่ที่ต้องการด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย หรือจะพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วันก็ได้ ด้วยการใช้ข้อมูลแบบ Microclimate weather ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีฐานทั่วโลก เช่น GFS, Met Office, ECMWF และ Environment Canada และการใช้แบบจำลองสภาพด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจวางแผนเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.ภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้เกษตรกรมองเห็นพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองแบบภาพรวมจากอากาศ เพื่อช่วยหาความผิดปกติและปัญหาสุขภาพของพืชได้ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม EU-Sentinel และ NASA-Landset ช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาพืช
3.ผู้ช่วยส่วนตัว ช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยว โดยนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย ตามข้อมูลทางวิชาการจากอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและมีการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน สามารถครอบคลุมพืชถึง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน
คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด สตาร์ตอัพในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท เล่าว่า ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบ Machine Learning ประมวลและแปรผล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพอากาศและสุขภาพพืช เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาจัดการและวางแผนการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นแนวคิดหลักของรีคัลท์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ Those who feed us, need us ซึ่งผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอป Farmer Info ผ่าน App Store และ Google Play และเข้าไปที่บริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ใช้บริการฟรี 60 วัน และเก็บค่าบริการเริ่มต้น 30 บาทต่อเดือน
ขายดีเปิด “FarmKaidee”แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
ส่วนแพลตฟอร์ม Kaidee มองเห็นปัญหาเกษตรกร ไม่สามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้ด้วยตนเอง มักจะถูกกลไกลพ่อค้าคนกลาง หรือไม่ก็ภาวะตลาดโลกเข้ามาเป็นผู้กำหนด ส่งผลต่อรายได้ภาคการเกษตร ประกอบกับเห็นเทรนด์ว่ามีกลุ่มเกษตรกร เข้ามาค้นหาสินค้าด้านการเกษตรในแฟลตฟอร์มของ Kaidee ซึ่งอันดับที่ 11 เป็นคำว่ารถไถ จึงได้สร้างตลาดออนไลน์ของสินค้าการเกษตร “FarmKaidee” เพื่อรองรับกับการซื้อขายสินค้าการเกษตรโดยเฉพาะ
ช่วงการทดลองเปิดบริการ 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการกว่า 100,000 ราย ซึ่งมีคำค้นหาสินค้ามากสุด 5 อันดับแรก คือ 1.รถไถ 2. รอกตกปลา 3. วัว 4.ต้นทุเรียน และ 5.เครื่องตัดหญ้า ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ราย ส่วนอนาคตตั้งเป้าว่าจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าหรือเป็น 2 ล้านรายด้วย ขณะที่แพลตฟอร์ม Kaidee มีฐานผู้ใช้ 35 ล้านราย มีผู้เข้ามาใช้บริกาเดือนละ 1.85 ล้านราย โดยผู้ลงประกาศขายจะไม่เสียค่าบริการ ยกเว้นกลุ่มพระเครื่อง อะไหล่รถยนต์ และมือถือ ส่วนรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ครั้งแรกจะลงฟรี ส่วนครั้งที่ 2 จะมีค่าใช้จ่าย และประกาศมีอายุ 30 วัน
“เป้าหมาย FarmKaidee ต้องการเป็นตลาดเกษตรที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเกษตรกรต้องการใช้อะไรที่เป็นเบสิค การทำตลาดออนไลน์จึงต้องการอะไรง่ายๆ และปกติสินค้าการเกษตรก็ขายกันปีละไม่กี่ครั้งตามฤดูกาล ส่วนรูปแบบการให้บริการหลักจะมี 2 ตลาด คือ 1. Farmer Market ซึ่งรูปแบบการขายก็เป็นการขายจากเกษตรกรให้กับธุรกิจ และเกษตรกรให้กับลูกค้า และ 2. Agricultural Market มีรูปแบบการขาย ที่เกษตรกรขายให้กับเกษตรกรด้วยกันเอง เช่น ขายข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น และการขายจากธุรกิจให้เกษตรกร เช่น การขายปุ๋ย หรือเคมีภัณฑ์ให้กับเกษตรกร เป็นต้น” คุณทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฮดโค้ช Kaidee เล่าถึงรูปแบบการให้บริการ