แอปพิลเคชั่นแชทสุดฮิตในประเทศจีน WeChat กลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญกับชาวเน็ตทั้งหลาย แต่ก็คงหมือนกับ Facebook ในโลกตะวันตก ที่ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่มาของการทำ “WeChat rumor debunking assistant” เพื่อช่วยขจัดข่าวปลอมออกจากสังคมออนไลน์ ก่อนที่ข่าวปลอมนั้นจะส่งผลกระทบระดับชาติ หรือเข้าไปพัวพันกับการเมืองเหมือนที่ Facebook กำลังเผชิญหน้าอยู่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016
หนึ่งในหนทางที่ WeChat งัดออกมาใช้ต่อสู้กับข่าวปลอมคือจัดอันดับ 10 ข่าวปลอมประจำเดือนผ่าน Official Account เพื่อที่จะบอกว่านี่คือ “ข่าวปลอม” นะเฟ้ยยยย
แล้วในตอนนี้มีข่าวปลอมอะไรบ้างที่แพร่กระจายอยู่ใน WeChat?
อันดับแรก ข่าวรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้โพสต์ข้อความโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ ประเทศ และสังคม ผ่าน WeChat รวมทั้งทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความอ่อนไหวทางการเมือง และ ทางการก็บอกว่านี่ไม่จริง มันเป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น (แน่นอน คุณไม่สามารถแชร์ข้อมูลที่ถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์อยู่แล้วในการส่งข้อความในกลุ่ม และจีนเองก็เซ็นเซอร์สื่อด้วยความเร็วอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวจริงหรือปลอมกันแน่)
เรื่องต่อมาเป็นบทความที่บอกให้คนหยุดใช้ไมโครเวฟ เพราะอาหารที่ผ่านการเวฟทำให้คนเป็นมะเร็ง หรือข่าวว่าคุณสามารถแสกนธนบัตรผ่านแอปฯ QQ ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม แต่ที่แน่ๆ คือข่าวนี่เป็นข่าวปลอมแน่นอนเพราะมันทำไม่ได้
ฟีเจอร์จัดอันดับข่าวปลอมนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จเลยทีเดียว ใน account แสดงข่าวปลอมนี้ยังมีโปรแกรมเล็กๆ ชื่อ “ผู้ช่วยกำจัดข่าวปลอมของ WeChat” ซึ่ง WeChat เคลมว่ามีการใช้งานโดยผู้ใช้ 300,000 คนต่อวัน
การทำงานของโปรแกรมจิ๋วนี้ก็แสนง่ายดาย หน้าแรกแสดงข่าวที่เป็นข่าวปลอมเมื่อไม่นานมานี้ และมีกล่องค้นหาด้านบนที่คุณสามารถค้นหาข่าวปลอมได้ด้วย keywords ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น
ส่วนที่สองของโปรแกรมนี้ คือ การรวมข่าวปลอมทั้งหมดที่คุณอ่านหรือแชร์ออกไป และส่วนสุดท้ายแสดงจำนวนของข่าวปลอมและใครเป็นผู้ค้นหาความจริง
WeChat ได้เปิดเผยจำนวนผู้ช่วยค้นหาความจริงมีมากถึง 800 ราย (เป็น third party) และรวมทั้งสถาบัน 289 แห่งในระบบของ อย. จีน, สื่อระดับประเทศ 5 แห่ง, และ เจ้าหน้าที่จัดการปัญหาไซเบอร์ท้องถิ่น 32 คน องค์กรอื่นสามารถยื่นสมัครเข้าเป็นผู้ช่วยค้นหาความจริงได้ โดยการส่งเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องให้กับ Tencent และมีบัญชีสาธารณะ WeChat ที่ได้รับการรับรองแล้ว
WeChat ยังส่งการแจ้งเตือนมาให้คุณด้วยหากคุณกำลังอ่านข่าวที่เป็นข่าวปลอมอยู่ โดยล่าสุด WeChat กล่าวว่ามีผู้ใช้บริการใหม่นี้ 19.7 ล้านรายในปลายปี 2017 และได้ประกาศข่าวปลอมไปแล้วกว่าล้านข่าว และได้ทำการลงโทษบัญชีปล่อยข่าวปลอมเหล่านี้ไปแล้วกว่า 180,000 บัญชี
แม้ว่าทั้ง Facebook และ Twitter เองจะพยายามแก้ปัญหาข่าวปลอม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลเท่าใดนัก ขณะที่วิธีการของ Tencent นี่ถึงแม้ว่ามันไม่ได้การันตีว่าได้ผล หรือจะเป็นดาบสองคมให้คนหาแหล่งข่าวปลอมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นี่เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่อาจจะดีกับการสู้กับ “ข่าวปลอม” หรือว่า “ไร้สาระทั้งหลายในโลกออนไลน์” ก็ได้นะ