เรียกได้ว่าแรงตั้งแต่เปิดตัว พร้อมทุบทุกสถิติภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องในรอบ 10 ปี สำหรับ “นาคี ๒” ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ในวันเปิดตัวสูงสุดถึง 50 ล้านบาท (เข้าฉาย 18 ตุลาคม 2561) รวมทั้งยังทำรายได้แตะ 100 ล้านบาท เร็วที่สุด เพียงแค่วันที่ 2 ของการเข้าฉาย ขณะที่ยอดรายได้ล่าสุดซึ่งยังไม่พ้นสัปดาห์แรกของโปรแกรม ตัวเลขก็วิ่งเข้าสู่หลัก 200 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย เรียกได้ว่าต่อความหวังและสร้างกำลังใจให้กับกลุ่มคนสร้างหนังไทยไปได้อีกมากโข
ถอดรหัสความสำเร็จ นาคี ๒
คุณพรชัย ว่องศรีอุดมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ให้ข้อมูลว่า นาคี ๒ เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ถึง 200 ล้านบาทได้ค่อนข้างเร็ว เพียงแค่วันที่ 4 ในการเปิดตัวก็มียอดถึง 213 -218 ล้านบาท ทำให้คาดว่าจะสามารถพิชิตเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้นที่ 500 ล้านบาทได้ภายในสัปดาห์แรกเท่านั้น
ส่วนรายได้ตลอดโปรแกรมการฉายประมาณ 6-8 สัปดาห์ คาดว่าจะได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีมากเช่นกัน เพราะสามารถ Break Record ทุกสถิติของวงการหนังไทย ทำให้มีโอกาสสูงที่นาคี ๒ จะขึ้นแท่นสร้างปรากฏการณ์เป็น “หนังไทยพันล้าน” เรื่องใหม่ได้อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้หนังเรื่อง “พี่มากพระโขนง” เคยทำไว้ได้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อย้อนกลับไปดูจะพบว่า กว่าที่หนังเรื่องพี่มากพระโขนงจะทำรายได้แตะหลักร้อยล้านบาทได้ ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน เลยทีเดียว
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้ นาคี ๒ ประสบความสำเร็จได้เร็วและแรง คุณพรชัย ให้เหตุผลว่ามาจากความลงตัวในทุกองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น
1. เนื้อเรื่องแนว Thriller Fantasy ที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะยังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทย
2. ความพอดีของ Timing ในการเข้าฉายของภาพยนตร์ ในช่วงระยะเวลาเทศกาลออกพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ทำให้การโปรโมทหรือประชาสัมพันธ์ได้รับความสนใจ และเข้ากับกระแสที่เกิดขึ้น
3. คุณภาพของทีมโปรดักชั่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียนบท คนทำกราฟิก ผู้กำกับอย่างคุณอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ หรือทีมนักแสดงทั้ง เคน-แต้ว, ณเดชน์-ญาญ่า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกๆ รายละเอียดของการทำงาน
นอกจากนี้ นาคี ๒ ยังเป็นการต่อยอดกระแสความแรงของคอนเทนต์เดิมที่เคยประสบความสำเร็จจากการเป็นละครในช่องฟรีทีวีมาก่อน ทำให้เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จึงมีฐานผู้ชมกลุ่มที่ชื่นชอบและอยากดูเพื่อติดตามเรื่องราวต่อเนื่อง และจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เอ็ม พิคเจอร์ส นำไปเป็นต้นแบบเพื่อสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะการต่อยอดภาพยนตร์จากคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จจากช่องทางอื่นๆ มาแล้ว ซึ่งไม่ใช่โมเดลใหม่ เพราะในหลายๆ ประเทศก็มีการทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือในเกาหลีก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างกระแส Talk of The Town รวมทั้งประสบความสำเร็จในเรื่องของเรตติ้งซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างมากในยุคดิจิทัลทีวี จนทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ได้รับอานิสสงส์กันไปถ้วนหน้า ทั้งนักแสดงหลัก นักแสดงสมทบ คนเขียนบท เจ้าของบทประพันธ์ ผู้กำกับ หรือแม้แต่ไก่ที่อยู่ในเรื่องก็ยังเป็นประเด็นให้คนพูดถึง ตามมาด้วยสารพัด Hashtag จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทั้งในไทยและเทรนด์โลก หลากหลายสินค้าและแบรนด์ต่างก็เกาะกระแส Realtime Marketing กันอย่างสนุกสนาน ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่โปรเจ็กต์ต่อไปของเอ็ม พิคเจอร์ส น่าจะเป็นการต่อยอดคอนเทนต์จากละครบุพเพสันนิวาสของทางช่อง 3 นั่นเอง
สร้างปรากฏการณ์ได้ทั้ง 2 ฝั่งโขง
ไม่เพียงแค่การตอบรับอย่างถล่มทลายในตลาดประเทศไทยเท่านั้น เพราะ นาคี ๒ ยังสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับตลาดภาพยนตร์ในลาวได้ด้วยเช่นกัน ในฐานะภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในวันเปิดตัว โดยได้ฤกษ์เข้าฉายในวันเดียวกับไทยและทำรายได้ในวันแรกถึง 31,000 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าสถิติเดิมที่เป็นของหนังไทยเช่นเดียวกัน โดยทำไว้ในปีที่ผ่านมาคือเรื่อง ส่ม ภัค เสี่ยน มีรายได้วันเปิดตัวที่ 23,000 เหรียญสหรัฐ และทำรายได้ตลอดโปรแกรมฉายรวมทั้งสิ้น 1.2 แสนเหรียญสหรัฐ ขณะที่การตอบรับของนาคี ๒ ซึ่งค่อนข้างแรงกว่า ทำให้คาดว่าตลอดโปรแกรมการฉายรวม 4 สัปดาห์ในลาวน่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนเหรียญสหรัฐ
“สาเหตุที่ฉายในลาวเพียงแค่ 4 สัปดาห์ เนื่องจากจำนวนโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศในลาวไม่ได้มีจำนวนมากเท่าในไทย โดยจะมีอยู่ใน 2 เมือง คือ ปากเซ และเวียงจันทน์เท่านั้น ประกอบกับจำนวนประชากรในประเทศที่มีน้อยกว่าไทยหลายเท่าตัว การตอบรับในระดับนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงมากทีเดียว”
ขณะเดียวกันยังได้วางแผนในการนำภาพยนตร์นาคี ๒ ไปทำตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยในเดือนธันวาคม จะนำไปฉายเพิ่มเติมในกัมพูชา รวมทั้งในกลุ่ม CMLV ที่อยู่ภายใต้การดูแลและบุกเบิกของทางเอ็ม พิคเจอร์สเอง ส่วนในตลาดอื่นๆ ทางพันธมิตรอย่างบริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ขายลิขสิทธิ์แบบ All Right ในการทำตลาด Worldwide นอกเหนือจากพื้นที่ที่เอ็ม พิคเจอร์สดูแลอยู่ ให้กับทางบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการทำตลาดได้ทั้งหมด
ปีทองหนังไทย โตได้เท่าตัว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปีนี้ ต้องนับว่าเป็นอีกหนึ่งปีทองของหนังไทยก็เป็นได้ เพราะสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดจาก 11% มาเป็น 22% ได้ในปีนี้ ขณะที่รายได้เฉลี่ยหนังไทยแต่ละเรื่องก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จาก 18 ล้านบาท มาเป็นมากกว่า 50 ล้านบาท แม้ว่าจะมีจำนวนหนังไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์น้อยลงจาก 48 เรื่องในปีที่ผ่านมา เหลืออยู่เพียง 43 เรื่องในปีนี้
นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท มีมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจนถึงปัจจุบัน มีหนังทำเงิน 100 ล้านได้แล้วถึง 5 เรื่อง ทั้ง น้องพี่ที่รัก ที่ทำรายได้ 244 ล้านบาท ไบค์แมน ศักรินทร์ ตูดหมึก ทำรายได้ 142 ล้านบาท ขุนพันธ์ 2 ทำรายได้ 125 ล้านบาท ๙ ศาสตรา ทำรายได้ 111 ล้านบาท และเรื่องล่าสุดอย่าง นาคี ๒ ที่ทำรายได้ใน 4 วันแรกที่เข้าฉายทะลุ 200 ล้านบาทไปแล้ว และยังมีโอกาสที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องใหม่ที่จะทำรายได้สูงสุดแทนแชมป์เก่าอย่าง พี่มากพระโขนงได้อีกด้วย
ที่สำคัญยังมีภาพยนตร์อีก 11 เรื่อง ที่เตรียมเข้าฉายในไตรมาสสุดท้ายนี้ หลังประเดิมเรื่องแรกด้วยนาคี ๒ ซึ่งทำรายได้ไปอย่างสวยงาม จนขึ้นแท่นภาพยนตร์ร้อยล้านเรื่องล่าสุด และเชื่อว่ายังมีภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย ที่มีโอกาสทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท ได้อีกราว 3-4 เรื่อง อาทิ โฮมสเตย์ ที่มี เฌอปราง กัปตันวง BNK 48 แสดงนำ จะเข้าฉายปลายเดือนตุลาคมนี้, ภาพยนตร์เรื่องโนราห์ โดยมีศิลปินชาวปักษ์ใต้อย่าง เอกชัย ศรีวิชัย เป็นผู้สร้าง รวมทั้งภาพยนตร์ขุนบันลือ ที่ได้หม่ำ จ๊กมก มาเป็นผู้กำกับ
“เห็นได้ว่าจำนวนหนังไทยร้อยล้านในปีนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากปีที่แล้วมีหนังไทยทะลุ 100 ล้าน เพียง 3 เรื่อง คือ ส่ม ภัค เสี่ยน ทำได้ 210 ล้านบาท ฉลาดเกมส์โกง 186 ล้านบาท และ มิสเตอร์เฮิร์ท ทำรายได้ 133 ล้านบาท ประกอบกับมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศเข้ามาฉายหลายเรื่อง ทำให้ในปีที่ผ่านมาหนังไทยมีรายได้ประมาณ 1พันล้านบาท ถือเป็นปีหนึ่งที่แย่ที่สุดของหนังไทยก็ว่าได้ โดยที่แชร์ในตลาดเหลืออยู่เพียงแค่ 11% ขณะที่ปีนี้หนังไทยสามารถพลิกฟื้นมาเติบโตได้เป็นเท่าตัว ขณะที่หนังต่างประเทศโต 5-6% เท่านั้น โดยเฉพาะแรงหนุนจากหนังมาแรงล่าสุดอย่างนาคี ๒ และเรื่องอื่นๆ ที่จ่อคิวเข้าโรงในไตรมาสสุดท้าย โดยคาดว่าเฉพาะรายได้ในไตรมาสสุดท้ายนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทอย่างแน่นอน ขณะที่รายได้หนังไทยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 2 พันล้านบาท”
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างโดดเด่นของหนังไทยในปีนี้คือ การเดินหน้าขยายจำนวนโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเจ้าตลาดอย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ที่มีแผนเปิดโรงภาพยนตร์ใหม่จนถึงสิ้นเดือนตุลาคมรวม 21 สาขา จำนวน 45 โรง ทำให้ในภาพรวมจะมีจำนวนสาขารวม 115 สาขา จำนวนโรงภาพยนตร์ 747 โรง โดยเฉพาะสาขาในต่างจังหวัดที่มีถึง 105 สาขา ใน 53 จังหวัด และสามารถขยายลงลึกไปจนถึงระดับอำเภอ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ไทย นอกเหนือไปจากพื้นที่ชานเมืองรอบกรุงเทพฯ โดยคาดว่าจำนวนโรงภาพยนตร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจากผู้ประกอบการทุกรายในตลาดรวมกันในปัจจุบันน่าจะมีไม่ต่ำกว่าหลักพันโรงแล้ว ซึ่งการเข้าถึงโรงภาพยนยตร์ได้อย่างสะดวกก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโตได้มากขึ้นเช่นกัน
เอ็ม พิคเจอร์ส เดินเกมใหม่ ต้องขาดทุนน้อยลง
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงภาพยนตร์ที่มีความพร้อมมากขึ้นแล้ว การพัฒนาการทำตลาดและคอนเทนต์เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเติบโตขึ้นได้เช่นกัน สะท้อนผ่านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของเอ็ม พิคเจอร์สเอง ด้วยการปรับระบบการทำหนังทั้งวิธีคิดและวิธีการทำตลาดให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดและกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์มากขึ้นโดยเฉพาะการเพิ่มความหลากหลายให้กับตัวภาพยนตร์ ทั้งหนังแนวตลก หนังผี หรือหนังแอคชั่น
ที่สำคัญจะเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่ของการแชร์ต้นทุน แชร์โนวเลจต่างๆ หรือการใช้ช่องทางของแต่ละฝ่ายเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการโปรโมทคอนเทนต์ หรือโอกาสในการนำหนังไปฉายในหลากหลายตลาดร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทั้งคนไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากเกาหลี จีน และสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างให้หนังไทยมีความแข็งแรงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“คอนเทนต์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะตัดสินว่าหนังแต่ละเรื่องจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งเราได้ปรับวิธีคิดและแนวทางในการผลิตคอนเทนต์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตลาดและคนดูชอบมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้อาจจะตอบโจทย์ Passion ในฝั่งของผู้สร้างหรือผู้ผลิตมากเกินไป รวมทั้งการผลิตหนังที่ตอบโจทย์การแบ่งกลุ่มเซ็กเม้นต์คนดูอย่างชัดเจน เช่น ความสำเร็จจาก ส่ม ภัค เสี่ยน ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในปีที่ผ่านมา และต่อยอดกลยุทธ์มาสู่หนังเรื่องโนราห์ในปีนี้ เพราะหนังบางเรื่องจะมีฐานที่แข็งแรงในบางพื้นที่ ซึ่งเพียงแค่ฟังชื่อเรื่อง บางคนก็อาจจะไม่คิดที่จะดู แต่ขณะที่ในคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายกลับรู้สึกอยากจะดูแค่ได้ยินเพียงชื่อเรื่อง แม้จะยังไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรก็ตาม ดังนั้น การทำเซ็กเม้นต์ให้ถูกต้องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จเช่นกัน”
รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการติดตามเทรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ การคุยกับกลุ่มคนซื้อหนังว่าต้องการอะไร หรือพยายามติดตามข้อมูลรีเสิร์ชหรือผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนการผลิตหนังให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเอกลักษณ์ให้กับภาพยนตร์ไทย เพื่อให้มีความแตกต่างและได้รับการยอมรับจากระดับ Global ภายใต้ความเป็นไทยที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว
ขณะที่การลงทุนในปีหน้า เอ็ม พิคเจอร์ส เตรียมสร้างหนังใหม่รวม 12 เรื่อง ภายใต้งบลงทุนเฉลี่ยต่อเรื่อง 30-40 ล้านบาท หรือหากสถานการณ์ทางการตลาดเอื้ออำนวย อาจจะเพิ่มการลงทุนหนังฟอร์มไม่ใหญ่มากเพิ่มเติมอีกประมาณ 2-3 เรื่อง ผ่านงบลงทุนทั้งปีที่เตรียมไว้รวมกว่า 300-400 ล้านบาท โดยยังเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงและตอบโจทย์ได้ในทุกๆ กลุ่ม ทั้งหนังรักโรแมนติค หนังตลก ดราม่า หรือสยองขวัญ เช่น รักไม่เป็นภาษา, สิ้นสามต่อน, บุษบา, คืนยุติธรรม, สตอจิ้มแจ่ว, ฟ้าฟื้น, แสงกระสือ, Music High School, โปรเมย์ และ ขจร-ดาหลา เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถทำรายได้รวมในปีหน้าราวๆ 2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ เอ็ม พิคเจอร์ส มีความเชื่อว่าการปรับวิธีคิดและกระบวนการในการทำงานต่างๆ จะทำให้สถานการณ์ของหนังไทยและการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น เช่น จากที่ก่อนหน้านี้เคยทำหนัง 10 เรื่อง อาจจะขาดทุนถึง 7 เรื่อง ได้กำไรเพียงแค่ 2-3 เรื่อง แต่ตอนนี้เริ่มมองเห็นภาพของผลลัพธ์ที่กลับขั้วมาในทิศทางที่ดีได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้หนังที่สร้างมา 10 เรื่อง อาจจะได้ผลตอบรับที่ดีได้ถึง 7 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่ต้องการเห็นหนังไทยสามารถแชร์สัดส่วนในตลาดได้เทียบเท่ากับหนังต่างประเทศ จากปีนี้เริ่มเห็นทิศทางสัญญาณที่ดีขึ้นจากแชร์ที่โตได้เป็นเท่าตัว และหากรักษามาตราฐานและการเติบโตเช่นนี้ไว้ได้ก็เชื่อว่าภาพที่หวังไว้จะสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะแม้แต่ในเกาหลีหรือญี่ปุ่น ก่อนที่ Local Content จะแข็งแกร่งเช่นทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกับประเทศไทยมาก่อนเช่นกัน