อารีย์-พหลโยธิน ย่านดั้งเดิมเก่าแก่กำลังจะกลายเป็น ศูนย์กลางสำคัญแห่งใหม่ของอาคารสำนักงานและแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับคนจะย้ายเข้ามาใช้ชีวิตใจกลางเมือง โดยเฉพาะทำเลระหว่างช่วงสถานีอารีย์และสถานีสะพานควาย ในระยะทางประมาณ 2 กม. ที่มีสถานที่ราชการ อาคารสำนักงานและอาคารมิกส์ยูส ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญยังแวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร คาเฟ่นั่งทำงาน และโรงพยาบาล ด้วยการเดินทางที่ง่ายในระยะเดินเท้าถึงได้อย่างสบายหรือด้วยรถไฟฟ้าที่ใช้เวลาไม่นานสำหรับเดินทางเข้าเมืองและออกนอกเมือง จึงกลายเป็นทำเลที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาอยู่อาศัย และขณะเดียวกันผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมไม่ค่อยจะย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ทำเลย่านอารีย์-พหลโยธิน ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองของย่านนี้ อาจเรียกได้ว่าที่นี่ คือ ศูนย์กลางสำคัญแห่งใหม่ของอาคารสำนักงาน เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานเอกชนและสถานที่ราชการสำคัญอยู่ก่อนแล้ว เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ธนาคารออมสิน (สำนักงานใหญ่) สำนักงาน กสทช. ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ และเอไอเอส ทาวเวอร์ เป็นต้น ยังมีอาคารสำนักงาน เกรด A แห่งใหม่บนถนนพหลโยธิน อีก 3 อาคารที่เพิ่งเปิดใช้งาน ได้แก่ 1. Pearl Bangkok อาคารสูง 25 ชั้น แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ 2. Ari Hill อาคารมิกส์ยูส สูง 34 ชั้น ที่มีทั้งอาคารออฟฟิศ ร้านค้า และโรงแรม 3. SC Tower อาคารสูง 24 ชั้น คาดการณ์ว่าจะมีผู้ทำงานในทั้ง 3 อาคารนี้ประมาณ 3,733 คน 1,500 คน และ 817 คน ตามลำดับ หรือรวมแล้วประมาณ 6,050 คน อีกทั้งยังมีโครงการใหญ่อื่นๆ ที่กำลังก่อสร้างและคาดการณ์กำหนดแล้วเสร็จภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. The Rice อาคารมิกส์ยูส สูง 24 ชั้น มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท 2. โรงพยาบาลวิมุตติ ในเครือพฤกษา ที่มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2020 ทั้ง 2 โครงการ 3. อาคารวานิช เพลส ของกลุ่มแหลมทองสหการ เป็นออฟฟิศ 31 ชั้น และคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2021 การผุดขึ้นของอาคารสูงระดับไฮเอนด์เหล่านี้อย่างต่อเนื่องเป็นการตอกย้ำว่าย่านนี้ ยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ผสานกับเสน่ห์ของไลฟ์สไตล์ดั้งเดิมแบบกึ่งบ้านกึ่งเมืองทำให้คนรุ่นใหม่ อยากเข้ามาใช้ชีวิตในย่านนี้มากขึ้น
ด้วยจุดเด่นที่สำคัญของทำเลนี้ ที่มีความชัดเจนของการขยายเมืองทั้งการเพิ่มขึ้นของอาคารสำนักงาน และตึกสูงเกรด A ความสะดวกในการเดินทางมีเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงใกล้จุดขึ้นลงทางด่วน สร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เติบโตทั้งด้านอุปทาน, อุปสงค์และราคาขาย โดยตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีโครงการคอนโดเปิดใหม่มากขึ้น ซึ่งภาพรวมโครงการในตลาดมีทั้งคอนโดมิเนียมรูปแบบไฮไรส์และรูปแบบโลวไรส์ โดยมีคอนโดมิเนียมเปิดขาย ทั้งหมด 4,103 ยูนิต จาก 16 โครงการ ขายไปแล้ว 3,318 ยูนิต หรือประมาณ 81% ซึ่งโครงการที่เพิ่งเปิดขายในช่วงระยะ 1-2 ปี ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมียอดขายเกินกว่า 70% ทั้งนี้คอนโดมิเนียมตลาดระดับไฮเอนด์ (110,000 – 190,000 บาท/ตร.ม.) เป็นตลาดใหญ่ที่สุด คิดเป็น 74% ของสัดส่วนตลาดทั้งหมด หรือจำนวน 2,544 ยูนิต มีทั้งคอนโดมิเนียมรูปแบบไฮไรส์และรูปแบบโลวไรส์ โดยอัตราขายที่ดีที่สุดของตลาดกลุ่มนี้ คือ โครงการที่มีระดับราคาต่อตารางเมตรอยู่ในช่วง 110,000-120,000 บาท/ตร.ม. ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทำเลอินทามระ ขณะที่ยังไม่มีโครงการในระดับราคานี้ในทำเลอารีย์-พหล จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมแบบโลวไรส์ที่ยังเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องของตลาดในทำเลนี้ เพราะราคาอยู่ในช่วงที่จับต้องได้แม้อยู่ใจกลางเมืองหรือใกล้รถไฟฟ้า ในขณะที่คอนโดไฮไรส์มีราคาสูงกว่าเพราะราคาที่ดินที่ติดถนนใหญ่หรือติดรถไฟฟ้ามีราคาสูงและทำเลที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาโครงการมีอยู่จำกัด อีกทั้งคอนโดมิเนียมแบบโลวไรส์ยังมีจุดเด่นที่จำนวนยูนิตน้อยและมีบรรยากาศที่ดีทำให้มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองได้ตรงความต้องการมากกว่านั่นเอง
ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าในโลกที่ต้องการความรวดเร็วไปหมดทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การมีที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมือง ซึ่งจะสามารถลดเวลาการเดินทาง ลดขั้นตอนในการออกไปหาการพักผ่อนแบบมีไลฟ์สไตล์ ทำเลย่านพหลโยธิน ถือเป็นทำเลที่ตอบโจทย์อีกทำเลหนึ่งในกรุงเทพ นางนลินรัตน์ กล่าวปิดท้าย