HomeFeaturedสู่ทศวรรษที่ 9 บุญรอดฯ “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” จับมือพันธมิตรยักษ์ใหญ่ สร้างธุรกิจยั่งยืนทั้ง Supply Chain

สู่ทศวรรษที่ 9 บุญรอดฯ “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” จับมือพันธมิตรยักษ์ใหญ่ สร้างธุรกิจยั่งยืนทั้ง Supply Chain

แชร์ :

การที่ธุรกิจหนึ่งๆ สามารถหยั่งรากลึกให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมแผ่กิ่งก้านสาขาให้กระจายออกไปได้กว้างมากกว่าแค่ในธุรกิจเดิมๆ รวมทั้งยังสามารถรักษาและส่งต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้นต่อไปได้แบบรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ 1 หรือ 2 รุ่น แต่ปัจจุบันธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจครอบครัวอย่าง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เดินทางมาสู่การบริหารงานภายใต้การขับเคลื่อนของทายาทในรุ่นที่ 4 แล้ว ขณะที่เส้นทางของธุรกิจเองนั้น ได้เผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ มาจนถึงปีนี้ก็อายุครบ 85 ปีเต็มแล้ว  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เส้นทางสู่ทศวรรษที่ 9 ของ “บุญรอดบริวเวอรี่”

ความสามารถยืนหยัดอยู่ในธุรกิจจนกำลังจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 9 เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ถึงศักยภาพในการทำธุรกิจของบุญรอดได้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2476

เส้นทางของบุญรอดประสบความสำเร็จในตลาดเบียร์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งของตลาด จนสร้างตำนานและภาพจำของเบียร์สิงห์ในฐานะที่เป็น “เบียร์ไทย” มานับตั้งแต่นั้น จากธุรกิจเบียร์ที่บุญรอดบริวเวอรี่ยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งในตลาดมาได้จนถึงปัจจุบัน ภายใต้หลากหลายแบรนด์ที่ครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคในทุกเซ็กเม้นต์ของตลาด ไม่ว่าจะเป็นสิงห์ ลีโอ ยูเบียร์ สโนวี่ ไวเซ็น รวมทั้งการเป็นพันธมิตรเพื่อทำตลาดให้เบียร์ต่างประเทศ เช่น อาซาฮี โคโรลน่า คาร์ลสเบิร์ก เป็นต้น

ขณะเดียวกันบุญรอดได้ทำการขยายและ Diversify ธุรกิจเพิ่มเติมในอีกหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม Non-Alcohol ที่มีสินค้าเรือธงอย่าง น้ำ โซดา รวมทั้งกลุ่มธุรกิจอาหารและขนม ที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของกลุ่มบุญรอดฯ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในเครือที่ดูแลกลุ่มธุรกิจนี้อยู่ถึง 14 บริษัท นอกจากนี้ยังขยายไปในธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตให้เครือบุญรอดได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง สิงห์ เอสเตท กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์และแฟชั่นอย่าง สิงห์ ไลฟ์ หรือแม้แต่การขยับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อตั้งรับกับการถูก Digital Disruption ด้วยการตั้งอีกหนึ่ง Business Unit อย่างสิงห์ เวนเจอร์ เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตใหม่ๆ ให้องค์กร ด้วยการเข้าไปสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถแข่งขันได้ดีมากขึ้น หรือโอกาสในการ Diversify ไปสู่น่านน้ำแห่งการเติบโตใหม่ๆ ให้กับธุรกิจในอนาคตต่อไป

ส่งต่อปรัชญาและความเชื่อมั่นสู่ Generation 4

เมื่อย้อนกลับไปดูเส้นทางการเติบโตของเครือบุญรอดฯ ตลอด 85 ปีที่ผ่านมา จะพบได้ว่าสิ่งที่บุญรอดฯ ยึดถือเป็นปรัชญาสำคัญในการดำเนินงานมาโดยตลอดคือ การเข้าไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมกันสร้างโอกาสใหม่ๆ และทำให้ธุรกิจของทั้งสองฝ่ายต่างเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน มากกว่าการเข้าไปแบบองค์กรใหญ่ที่ใช้วิธี Take Over หรือซื้อกิจการต่างๆ มาเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว

โดยเฉพาะการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มุมมองและวิธีคิดต้องปรับเปลี่ยน ต้องมองทุกคนที่ร่วมอยู่ในธุรกิจเดียวกันเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่าการมองเป็นคู่แข่ง พยายามนำจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบที่แต่ละฝ่ายมีมาเสริมความแข็งแกร่งและช่วยลดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำมาซึ่งความร่วมมือหรือการจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันได้นั้นต้องมี Trusted หรือมีความไว้เนื้อเชื่อใจและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ทำให้กล้าที่จะลงทุนหรือทำธุรกิจต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งการรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นและไว้วางใจทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้า รวมทั้งแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ก็เป็นสิ่งที่ทางบุญรอดฯ ให้ความสำคัญอย่างสูงสุดมาโดยตลอดเช่นกัน

เห็นได้ว่าการเติบโตอย่างมั่นคงมาตลอดหลายทศวรรษ พร้อมด้วยจำนวนพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เป็นข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่บุญรอดฯ คิดและยึดถือมาตลอดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่สำคัญ Philosophy เช่นนี้ยังคงถูกถ่ายทอดและส่งต่อมาจนถึงยุคการบริหารในเจนเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งมี คุณต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตรวมทั้งการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้แก่เครือบุญรอดฯ ต่อจากนี้ไป

ปัจจุบันคุณต๊อด ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ซัพพลายเชน และกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด แต่เมื่อย้อนไปช่วงสิบกว่าปีก่อนหน้า ในช่วงเริ่มต้นของการเข้ามาสานต่อธุรกิจ คุณต๊อดได้รับหน้าที่ดูแลกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มเบียร์ในเครือ ทำให้มีโอกาสได้รับรู้และเข้าใจหนึ่งใน Pain Point สำคัญของธุรกิจที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีต้นทุนการดำเนินงานค่อนข้างสูง ดังนั้น การรักษาให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้จึงอยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการบริหารจัดการด้านการขนส่งและกระจายสินค้าตลอดทั้งซัพพลายเชน หรือการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง

ที่สำคัญ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งมาตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจ เพราะหากจัดการได้ดีก็จะส่งผลให้ศักยภาพการทำธุรกิจโดยรวมเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องของต้นทุนที่ลดลงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานในที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการสินค้า การมอบบริการที่ดีให้แก่คู่ค้าและลูกค้า และยังเป็นอีกหนึ่งการสร้าง Trusted ให้แก่ทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของเครือบุญรอดฯ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

การบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดทั้งซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธภาพเป็นหนึ่งใน Key Success ที่จะทำให้การทำธุรกิจในปัจจุบันประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกกว่าคู่แข่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงระยะเวลาที่สั้นลงสำหรับการส่งของไปยังหน้าร้านต่างๆ ทำให้ลดจำนวนสินค้าที่ต้องค้างไว้ในสต็อกลงได้ ขณะที่คุณภาพสินค้าที่ส่งไปถึงลูกค้าก็ดีขึ้นด้วย รวมทั้งยังส่งได้ตรงเวลา มีของขายสม่ำเสมอ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าบุญรอดฯ จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นของตัวเอง แต่หากได้พันธมิตรที่มีศักยภาพมาช่วยเสริมให้ประสิทธิภาพเหล่านี้ดีขึ้นได้อีก ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ประโยชน์จะเกิดกับบุญรอดเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งประเทศให้มีต้นทุนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้ดีมากขึ้น ภายใต้การลงทุนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเครือบุญรอดฯ เพื่อสร้างให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้อีกครั้ง”

เปิดตัวพันธมิตรบริหารโลจิสติกส์ระดับโลก

ดีลครั้งล่าสุดระหว่างเครือบุญรอดฯ และลินฟ้อกซ์ ผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ของออสเตรเลีย ด้วยการเปิดบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่อย่าง บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า BevChain Logistics ซึ่งเป็นการถือหุ้นเท่ากันที่ 50% ระหว่าง บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด และ บริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย) โดยมีคุณต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี นั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

คุณต๊อด เล่าถึงศักยภาพที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กรที่แข็งแกร่งที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี โดยลินฟ้อกซ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ และมีจุดแข็งด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งในไทยและเอเชียแปซิฟิกมากว่า 25 ปี ทำให้มีกรอบความคิดและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการด้านการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นอย่างดี จนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลและบริหารจัดการแบรนด์ชั้นนำระดับประเทศหลายราย อาทิ กลุ่มไมเนอร์ และเทสโก้ โลตัส เป็นต้น

ขณะที่ทางเครือบุญรอดเองก็มีความเชี่ยวชาญในการกระจายสินค้าในเครือมายาวนานถึง 85 ปี ทำให้มีความเข้าใจระบบการขนส่งและกระจายสินค้าของประเทศไทยเป็นอย่างดีและลงลึกจนถึงระดับ Last Mile เพราะสามารถเจาะเข้าไปได้จนถึงร้านค้าปลีกที่อยู่ในตำบลหรือหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และร้านโชว์ห่วยเล็กๆ ที่กระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับร้านค้าเหล่านี้มายาวนานหลายสิบปี จนกลายเป็นหนึ่งช่องทางหลักในการกระจายสินค้าของเครือบุญรอดถึง 80-85%

ดังนั้น BevChain Logistics จึงเกิดขึ้นจากการผสานศักยภาพที่แข็งแกร่งของทั้งสององค์กร และเกิดบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการธุรกิจและโลจิสติกส์ตลอดทั้งซัพพลายเชนขนาดใหญ่แห่งใหม่ขึ้นในประเทศไทย เพราะเมื่อรวมมูลค่าทางธุรกิจจากทั้งสองพันธมิตรจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7-8 พันล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับขนาดของบริษัทผู้นำรายใหญ่ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ และไม่ใช่เพียงการตั้งขึ้นเพื่อเข้ามารองรับธุรกิจภายในเครือบุญรอดเท่านั้น แต่ทุกธุรกิจในประเทศที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้เช่นกัน ขณะเดียวกันจะทำให้ประสิทธิภาพในธุรกิจด้านการขนส่งและกระจายสินค้าของทั้งประเทศมีศักยภาพมากขึ้นและสามารถเชื่อมต่อกันได้ตลอดทั้ง Supply Chain

ที่สำคัญคือ นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพและเชี่ยวชาญทางธุรกิจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เครือบุญรอดมั่นใจในการเลือกลินฟ้อกซ์เป็นพันธมิตรก็คือ ความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมบางอย่างที่มีเหมือนกันของทั้งสององค์กร โดยเฉพาะแนวทางในการบริหารธุรกิจแบบครอบครัว ซึ่งไม่ได้หมายถึงการมีครอบครัวเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่หมายถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานและคู่ค้าทุกรายเป็นอย่างดี ไม่ต่างจากการดูแลคนในครอบครัวนั่นเอง

“ภายหลังความร่วมมือกัน BevChain Logistics จะเพิ่มการขนส่งให้ธุรกิจที่อยู่นอกเครือมากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะมีลูกค้านอกเครือเพิ่มเข้ามาเท่ากับในเครือด้วยสัดส่วน 50% โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มที่สามารถใช้ Facility เดียวกันได้ทันที ก่อนจะขยายไปยังธุรกิจอาหาร และสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์ต่อไปในอนาคต โดยสิ่งที่กลุ่มบุญรอดคำนึงถึงในการทำธุรกิจไม่ได้เน้นแค่การลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะมองที่คุณภาพและศักยภาพที่เพิ่มขึ้นโดยรวมเป็นสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วแม้ว่าจะช่วยลดต้นทุนลงได้มากเพียงใดก็ตาม แต่หากกระทบกับความเชื่อมั่นและคุณภาพ กลุ่มบุญรอดก็ปฏิเสธที่จะทำ แต่เลือกที่จะรักษามาตรฐานและคุณภาพที่ดีเอาไว้ และใช้วิธีการบริหารจัดการด้านอื่นๆ มาช่วยควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงขึ้นจนไปกระทบกับการดำเนินงานของธุรกิจแทน” 

แต่หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่จะผลักดันให้ BevChain Logistics เติบโตและเป็นกลไกในการพัฒนาธุรกิจด้านโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศได้นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติในการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่ยังมีบางส่วนกังวลว่าการให้บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันมาช่วยดูแลและกระจายสินค้าให้ จะทำให้ความลับทางธุรกิจรั่วไหล ซึ่งเป็นวิธีคิดที่สวนทางกับการบริหารธุรกิจในยุคใหม่ ที่ต้องมองประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจเป็นสำคัญ ควรมองทุกคนเป็นพันธมิตรไม่ใช่คู่แข่ง เมื่อมีผู้มีความเชี่ยวชาญกว่ามาช่วยบริหารจัดการและส่งผลดีต่อธุรกิจก็ควรให้เข้ามาช่วยดูแล เพราะยุคนี้หมดยุคของการแข่งขัน แต่เป็นยุคที่ทุกคนต้องร่วมมือกันและพยายามสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้ามัวแต่คิดแข่งกันจะมีแต่คนเสียหายและเจ็บตัว

เราต้องมองถึงสิ่งที่ธุรกิจได้รับ ถ้าต่างฝ่ายต่าง Win ก็ควรปรับเปลี่ยน แม้แต่เราเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเช่นกัน จากที่ก่อนหน้านี้เราเองก็ส่งแต่สินค้าของตัวเอง เคยคิดว่าทำไมต้องส่งให้คนอื่น แต่ในความเป็นจริงหากรอส่งแต่ของตัวเองทั้ง 100% อาจต้องใช้เวลาในการส่งนานหลายวัน และทุกอย่างก็คือต้นทุน คือสต็อกที่บริษัทต้องแบกรับ แต่หากเรารับส่งให้คนอื่นด้วย และลดของตัวเองเหลือเพียงครึ่งเดียว ของก็เต็มเร็วขึ้น มีคนมาช่วยในเรื่องต้นทุน และใช้เวลาไปถึงหน้าร้านตามแต่ละช่องทางเร็วขึ้น ทำให้ต้นทุนที่ต้องสต็อกของลดลง สินค้าที่ไปถึงปลายทางไปถึงมือผู้บริโภคก็มีความสดใหม่และคุณภาพดีขึ้น” 

 นอกจากนี้ คุณต๊อดยังมีแผนนำธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของตัวเองทั้งหมด มาเชื่อมโยงให้อยู่ภายในเครือข่ายเดียวกันเพื่อเสริมให้มีศักยภาพในการจัดการได้ดีขึ้นด้วย ทั้งกลุ่มธุรกิจ Supply Chain, Food Factors และธุรกิจทางด้าน Digital Service โดยเฉพาะธุรกิจอาหารซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักภาพในการเติบโตและสามารถขยายเพิ่มเติมไปในกลุ่มธุรกิจ Horeca ซึ่งบทบาทของธุรกิจโลจิสติกส์ก็จะเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนใหญ่ก็จะกระจายผ่านไปในเครือข่ายหรือช่องทางเดียวกันกับการขนส่งเครื่องดื่มที่มีอยู่แล้ว

ขณะที่การนำ Digital Service มาสนับสนุนธุรกิจในส่วนอื่นๆ นั้น มีทั้งแผนการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งให้ทั้งลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้าที่จะเข้ามาในอนาคตตลอดทั้งเครือข่าย เช่น การติดตามข้อมูลการขนส่งแบบ Realtime การดูแลความความปลอดภัยทั้งของพนักงานและสินค้า หรือการวิเคราะห์เส้นทางที่มีศักยภาพและต้นทุนต่ำที่สุด ทำให้กำหนดระยะเวลาในการส่งสินค้าไปยัง Last Mile หรือในจุดสุดท้ายได้ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดได้ในหลักวัน ซึ่งอาจจะขยับไปเป็นหลักรายชั่วโมงในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อยิ่งมีข้อมูลเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บไว้ได้มากขึ้น รวมทั้งจะนำระบบคอลเซ็นเตอร์ที่ทางบุญรอดฯ มีอยู่มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในเรื่องการให้บริการ ติดตาม สอบถาม เพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มความพึงพอใจในการให้บริการที่มากขึ้นแก่ลูกค้าได้มากขึ้น

เป้าหมายที่คุณต๊อดมองไว้ ในการผลักดันธุรกิจใหม่อย่าง BevChian Logistics คือ การผลักดันให้รายได้ในกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชนของเครือบุญรอดฯ เติบโตเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว หรือสามารถทำรายได้มากกว่า 5 พันล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มศักยภาพในการลดตุ้นทุนในการขนส่งแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 10-15% จากปัจจุบันมีศักยภาพในการลดตุ้นทุนการขนส่งจากเดิมได้ประมาณ 8% ด้วยการบริหารจัดการงานอย่างมีระบบและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางพันธมิตร รวมทั้งความสามารถในการขยายเครือข่ายธุรกิจได้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้มากขึ้นทั้งในประเทศ ในระดับภูมิภาค รวมไปถึงในระดับโลก

การเติบโตอย่างมั่นคงมาตลอด 85 ปีของบุญรอด พิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งของการวางโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจที่บุญรอดมีอยู่เป็นอย่างดี และเมื่อเสริมโครงสร้างเหล่านี้ให้ยิ่งแข็งแรงและมีประสิทธิภาพขึ้น ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งภาพต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น ภายใต้การบริหารงานและขับเคลื่อนโดยผู้บริหารในรุ่นที่ 4 ที่มีคุณต๊อดเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อน โดยเริ่มมองเห็นถึงทิศทางที่จะมุ่งไปเพื่อการเติบโตในอนาคตได้ชัดมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงการปูทางเพื่อเติบโตไปสู่ทศวรรษใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งให้กับเครือบุญรอดฯ เพื่อเตรียมส่งต่อความแข็งแรงและยั่งยืนของธุรกิจไปสู่ศตวรรษใหม่ในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย


แชร์ :

You may also like