จังหวะการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีที่เร็วและรุนแรง ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคยอีกต่อไป แต่สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไปจากนี้ นั่นคือการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ เพื่อสร้างโอกาสและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีนโยบายพร้อมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร เพื่อนำเอาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการทำงานมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้น และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการประสานความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ที่แต่ละองค์กรมีประสบการณ์อยู่ มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนให้คนในสังคมไทยได้เรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
AIS เป็นหนึ่งในต้นแบบของการเคลื่อนทัพองค์กรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการปรับเปลี่ยน พัฒนา คิดค้นโซลูชั่น หรือองานบริการรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยีและสัมพันธ์กับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น แต่หากมองให้ลึกลงไปในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า หัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนองค์กรนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ แต่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้บุคลากรภายในองค์กรเติบโตไปพร้อมกันด้วย
คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)ในฐานะหัวเรือใหญ่ เล่าถึง การสร้าง Digital Transformation ตลอดช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ว่า “เราไม่รู้อย่างแน่ชัดว่า ในอนาคตนั้น เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไร แต่สิ่งที่เราจะทำได้ในปัจจุบัน คือการเตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ องค์ความรู้ต่างๆ เป็นอาวุธทางปัญญาให้เราต่อยอดทำสิ่งใหม่ๆ ได้ ถ้าเรามัวแต่กลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามา Disrupt แล้วรอให้เกิดผลขึ้นมาก่อน ค่อยมาแก้ไขทีหลัง จะยิ่งทำให้เราเสียโอกาสและเสียเปรียบ ที่ผ่านมา เราจึงได้คิดค้นและสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พนักงานกว่า 12,000คน ตื่นตัวและตื่นรู้ที่จะค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ภายใต้การทำงานของ AIS Academy ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้ของพนักงานทุกคน ด้วยแนวคิด Anywhere Anytime Any Device ผ่านรูปแบบ Digital Platform และรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่นำองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร มาช่วยกระตุ้นให้พนักงานได้ “ตื่นตัว” และ “ตื่นรู้” พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะความรู้ใหม่ๆ และเสริมศักยภาพในด้านการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ขยายสู่ ACADEMY for THAIs
หลังจากวางรากฐานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าตามทิศทางที่วางไว้แล้วAIS Academy มุ่งหวังที่จะยกระดับความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อคนไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่า แต่ละองค์กรต่างมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน หากสามารถสร้างEcosystem เชื่อมโยงทุกๆ ภาคส่วน มาร่วมกันสร้างสรรค์ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ ออกแบบ และพัฒนาประเทศไทยให้แข็งแรงร่วมกันได้ เราคิดเรื่อง “ทำเผื่อ” แบ่งปันความรู้ให้คนไทย ไม่จำกัดแต่เพียงลูกค้าเอไอเอส จึงได้ชักชวนภาคเอกชนผู้มีเจตนารมย์เดียวกันมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับคนในสังคมไทย จนได้เกิดเป็นงานสัมมนาระดับนานาชาติ ACADEMY for THAIs ขึ้น เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประสบความเร็จเป็นอย่างมาก การันตีด้วยเสียงตอบรับจากคนไทยทุกภาคส่วนที่เดินทางมาเข้าร่วมงานมากกว่า 4,000คน
คุณกานติมาเล่าถึงงานสัมมนาแรกของ AIS Academy ที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า “ก่อนงานสัมมนานี้จะเริ่มขึ้น เราเตรียมทำการบ้านกันหนักมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยได้มากที่สุด เราโชคดีที่ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำจากเมืองไทยและระดับโลก ที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เราได้รู้ทิศทางและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น และต่อเนื่องจากเวทีสัมมนา เราได้เห็นสัญญาณของโอกาสในการร่วมมือร่วมใจกันของภาคเอกชน ที่เห็นตรงกันว่าต้องช่วยกันทำ เพื่อให้สังคมนี้ขับเคลื่อนไปได้ภายใต้ Digital Disruptionทำให้เรารู้สึกดีใจที่ถือว่าได้จุดประกายให้ภาคส่วนต่างๆ เล็งเห็นว่า การจะทำให้ประเทศไทยของเรากลับไปมีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างที่ควรจะเป็น เราต้องมีความสามัคคี
มีความร่วมมือกัน สังคมไทยจึงจะไปต่อได้”
ACADEMY for THAIs กิจกรรมไร้ขีด (จำกัด)
ความเก่งกาจของเทคโนโลยีที่อวดโฉมอยู่บนโลกทุกวันนี้ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ งานบางอย่างถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ งานบางอย่างถูกวางระบบให้คอมพิวเตอร์เป็นผู้ดูแลแทน แต่ถึงอย่างไร ทักษะที่มนุษย์มีอยู่ ยังมีความจำเป็นและสำคัญต่อการทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการคิด วิเคราะห์ การตัดสินใจ และกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งล้วนแต่จะต้องอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของโลกยุคดิจิทัลอยู่อย่างสม่ำเสมอ
“เราไม่เชื่อเรื่องการทำอะไรเป็นPattern ตายตัว ACADEMY for THAIs ต่อจากนี้ อาจไม่ใช่การจัดงานสัมมนา หรือคอร์สฝึกอบรม เพราะการฝึกทักษะ จะต้องอาศัยทั้งความรู้ภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ ขณะที่ การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ย่อมจะต้องอาศัยเครื่องมือและรูปแบบการสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน”
ด้วยเหตุนี้ ภาพที่จะได้เห็นจาก ACADEMY for THAIs ในปี2562จึงเป็นไปได้ว่าจะมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานอีเว้นท์ โดยเชิญวิทยากรระดับโลกในแวดวงเทคโนโลยีมาร่วมถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อที่หลากหลาย รวมทั้ง เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ภายในเอไอเอสด้วย
“เราเชื่อมั่นในเรื่องการเติบโตไปด้วยกัน มากกว่าการมุ่งเน้นเติบโตแต่องค์กรเราเพียงผู้เดียว และเชื่อว่าสังคมไทยจะเติบโตได้ เป็นเรื่องของการผสานกำลังของทุกภาคส่วน โดยเอไอเอสพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของการจับมือกับภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น” คุณกานติมากล่าว
องค์กรที่ให้อิสระ เลือกชีวิตแบบ Customize
เป้าหมายของ AIS Academy ต่อจากนี้ไป ยังคงมีโจทย์ที่ท้าทายรออยู่อีก แต่สิ่งที่ยังต้องคอยติดตามและสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะจะต้องดึงคนออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย (Comfort Zone)และไม่ยึดติดกับกรอบความคิด(Mindset)แบบเดิมๆ
“รู้ไหม คนที่เจ็บปวดกับการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดอาจเป็นผู้บริหาร เพราะเราต้องทิ้งหัวโขนไป แล้วหันมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้องค์กรแข็งแรงและส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ได้ พร้อมกันนั้นก็ต้องทำให้คนรุ่นใหม่แข็งแรงด้วย”
ดังนั้น เอไอเอส เริ่มเปลี่ยนแปลงโดยการดึงชื่อตำแหน่งทั้งหลายออกไป จากเดิมที่มีทั้ง Manager, Senior Manager, AVP, VP, SVP, EVP และSEVP ให้เหลือเพียง Head of โดยหน่วยงานแรกที่เปลี่ยนก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ซึ่งเป็นความโชคดีที่ผู้บริหารสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย
“เราพบว่า การไปยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และถ่วงเวลา ทำให้เด็กรุ่นใหม่ กลัวเรามากขึ้น แทนที่เวลาเด็กๆ มีไอเดียอะไรดีๆ จะเดินมาหาเราได้เลย ก็ต้องเดินไปบอกซุปเปอร์ไวเซอร์ก่อน ซึ่งซุปเปอร์ไวเซอร์อาจจะเข้าใจสัก 80%จากนั้นซุปเปอร์ไวเซอร์ก็ต้องมาบอกเมเนเจอร์ ซึ่งอาจเหลือความเข้าใจแค่ 60%
แต่พอเราไม่มีตำแหน่งเหล่านั้น มันสร้างวัฒนธรรมใหม่เรื่องการติดต่อสื่อสารได้”
นอกจากนั้น วิธีดูแลคนก็ต้องเปลี่ยนไป อย่างเช่นการดูแลด้านสุขภาพ แต่ละ Gen ก็มีทางเลือกเพื่อการดูแลแตกต่างกัน ทั้งการออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง และการดูแลเพื่อป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วย
ส่วนบรรยากาศในการทำงาน ก็เป็นปัจจัยที่ไม่ถูกมองข้าม มีการดีไซน์พื้นที่ให้สามารถทำงานเป็นทีม ได้พูดคุยในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่เป็นทางการ และยังเพิ่มความใส่ใจด้วยการจัดสรรพื้นที่เก็บของแบบสมาร์ทล็อกเกอร์ให้พนักงานสามารถเก็บของได้
แต่มากไปกว่านั้นAIS ยังหวังไปถึงว่า ภายในปี 2563เอไอเอสจะเปิดโอกาสให้พนักงานที่รู้ตัวเองว่า อยากจะขยายขีดความสามารถหรือพัฒนาศักยภาพด้านใด องค์กรจะมีงบประมาณให้ไปเสริมความรู้นั้น ตามหลักสูตรที่น่าสนใจของ AIS Academy
“ทั้งหมดนี้คือการทำอย่างไรก็ได้ให้สปีดการเรียนรู้ของคนเอไอเอส เท่ากับสปีดการเรียนรู้ของคนข้างนอก เราไม่สามารถป้อนอย่างเดียว รวมถึงไม่อาจให้พนักงานร้องขออย่างเดียวได้อีกต่อไปค่ะ”
“เดอะบลูม” ทีมแห่งอนาคต
นอกจากทิศทางการพัฒนาคนในองค์กรที่ชัดเจนแล้ว “เดอะบลูม”(The Bloom)เป็นอีกหนึ่งโครงการที่
เอไอเอสผุดขึ้นเพื่อตอบโจทย์อนาคต โดยเป็นการคัดเลือกคนรุ่นใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีศักยภาพ
มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน หรือที่คุณกานติมาเปรียบว่าเป็นเรือลำเล็กรุ่นใหม่ที่จะทำงานร่วมกับเรือลำใหญ่อย่างเอไอเอสนั่นเอง
“สมัยก่อน งานแรกของพนักงานใหม่อาจเป็นการช่วยพี่ๆ ที่ทำงานปกติในการช่วยเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเริ่มต้น
แต่เด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีศักยภาพมากกว่านั้น เขาเรียนรู้ในสิ่งที่คนรุ่นพี่ไม่เคยเรียนมาก่อน นั่นคือเดอะบลูม หน้าที่ของเดอะบลูมคือใช้ความรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อคิดไปถึงโอกาสข้างหน้า ทำงานกับเรือใหญ่ให้สอดคล้องกัน ซึ่งเราก็หวังว่าจะเป็นส่วนช่วยทำให้เรือใหญ่ออกสู่ปากน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น”
ทั้งหมดนี้ คือภาพรวมของการสร้างองค์กรที่อาจเรียกว่าครบทุกด้านมากที่สุดองค์กรหนึ่งของไทย และแรงกระเพื่อมนั้นกำลังขยายออกไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นพันธมิตร คู่ค้า หรือแม้ไม่ได้เป็นลูกค้าเอไอเอสก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยใจความสำคัญของภาพนี้อาจมีเป้าหมายสูงสุดนั่นคือ การเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทย และคนไทยแข็งแรงพอที่จะต้านทานความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราเรียกกันว่า Digital Disruption นั่นเอง