คอหนังที่ชื่นชอบหนังที่ไม่ได้หาดูได้ในโรงภาพยนตร์ทั่วไป ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกหลากหลายแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นหนังอินดี้ หนังต้นทุนต่ำ หนังนอกกระแส หรือหนังอาร์ท แล้วแต่ใครจะบัญญัติ น่าจะรู้จักโรงภาพยนตร์ house (เฮ้าส์) หรือที่เรียกกันติดปากว่า house RCA กันเป็นอย่างดี แต่ในปีหน้านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับโรงหนังเครือนี้…ด้วยการย้ายเข้ามาอินดี้ในเมืองที่ โครงการสามย่านมิตรทาวน์
เบื้องหลังดีลใหญ่ครั้งแรกในรอบ 14 ปี เกิดจากการจากการชักชวนของบริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เจ้าของโปรเจ็กต์ เพื่อมาสร้าง Marketing Mixed เพิ่มเสน่ห์และเรื่องราวให้กับโครงการของตัวเอง
ในมุมของคอ.คนรักหนังทั้งหลาย การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโรงหนัง house ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คงถูกจับตามองว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงและอะไรคือสิ่งหลงเหลือเป็นคาแร็กเตอร์ของโรงหนังแห่งใหม่ในถิ่นแผ่นดินทองนี้…แต่กว่าจะได้สัมผัสกับบรรยากาศจริง ในเดือนกันยายน ปี 2562 เราลองมา Back to the Future ย้อนดูว่าตลอดช่วงเวลาที่โรงภาพยนตร์ที่ดำเนินธุรกิจผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 14 ปีนี้ มีเรื่องราวอย่างไร และจะเป็นไปเยี่ยงไร?
1.เกิดจาก Passion และความรัก โรงหนัง house เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว จาก Passion ความรักและความชื่นชอบโดยส่วนตัวของ 2 หุ้นส่วนหลัก คือ คุณพงศ์นรินทร์ อุลิศ นักธุรกิจและดีเจรายการวิทยุ กับ คุณชมศรี เตชะรัตนประเสริฐ ลูกสาวคนที่ 3 ของเสี่ยเจียง คุณสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เจ้าของบริษัท สหมงคลฟิล์ม จำกัด พร้อมกับเพื่อนๆ อีกส่วนหนึ่งที่ลงขันด้วยทุน 15 ล้านบาท สร้าง โรงหนัง house ที่ย่าน RCA จำนวน 2 โรง เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ไม่มีโรงหนังที่ฉายหนังซึ่งเป็นหนังนอกกระแส หนังต้นทุนต่ำ หรือหนังอาร์ท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนังฮอลลีวู้ดหรือหนังตลาดแมสทั่วไป
2.ปรับโฉมโรงหนัง UMG โรงหนัง house ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการรีโนเวตโรงหนัง UMG จำนวนโรงหนัง 5 โรง ของสหมงคลฟิล์ม มาเป็นโรงหนัง house 2 โรงในขนาดความจุ 117 ที่นั่งและ 130 ที่นั่ง แต่สำหรับโรงหนังแห่งใหม่ในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ จะมีด้วยกัน 3 โรงในขนาดความจุ 200 ที่นั่ง 140 ที่นั่งและ 100 ที่นั่ง ส่วนราคาตั๋วจำหน่ายเบื้องต้นจะคงราคาไว้เท่าเดิมทุกที่นั่ง ด้วยราคา 140 บาท แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงหากการลงทุนเกินกว่างบที่ตั้งไว้เบื้องต้น 45 ล้านบาท
3.ปรากฎการณ์ต่อแถวจากชั้น 3 ถึงชั้น 1 เนื่องจากเป็นการเปิดตัวโรงหนังที่ไม่เคยมีมาก่อนในกรุงเทพฯ จึงทำให้วันแรกที่โรงหนังแห่งนี้เริ่มต้นมีผู้ชมเข้ามามากเกินความคาดหมาย ถึงขนาดต่อแถวเพื่อเข้าชมตั้งแต่ชั้น 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงหนังยาวมาจนถึงชั้น 1 เพื่อรอเข้าโรงหนัง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นโรงหนังยังรีโนเวตไม่เรียบร้อยด้วยซ้ำ ถึงขนาดว่าพื้นปูนยังไม่แห้งสนิท จึงต้องทำทางเดินพิเศษและขอให้ลูกค้าถอดรองเท้าเพื่อเข้าไปในดูหนัง
“ช็อตประทับใจวันแรกที่เริ่มฉาย คนมายืนต่อคิวจากชั้น 3 ไปถึงชั้นล่าง เพื่อเข้าโรงหนัง ตอนนั้นโรงหนัง house เป็นของประหลาด คนอยากมี Experience แต่เรายังปรับปรุงไม่เสร็จ ปูพื้นยังไม่เสร็จ ขณะที่หนังต้องฉายแล้ว เราเลยต้องทำทางให้คนดูเดินตรงนี้เท่านั้น ถ้าเดินไปทางอื่นพื้นมันจะยุบ คนเลยต้องเดินถอดรองเท้าเข้าโรง เป็นภาพประหลาดที่ไม่เคยปรากฏที่โรงหนังไหนมาก่อน”คุณพงศ์นรินทร์ เล่าถึงความประทับใจครั้งแรก
4.ฉายหนังแบบบุฟเฟ่ต์ดูฟรีวันแรก ช่วงเปิดตัวครั้งแรก ยังไม่ได้มีการโปรแกรมการจัดฉายหนังเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นการนำเอาหนังดีๆ น่าสนใจในรอบ 10 ปีย้อนหลังมาฉายให้ผู้ชมได้ดูฟรี เพียงแค่สมัครสมาชิกโรงหนัง house เท่านั้น จึงทำให้เกิดกระแสการต้อนรับที่ดีเกินคาด และหนังเรื่องแรกที่ฉาย คือ เรื่อง High Fidelity หรือชื่อไทย หนุ่มร็อกหัวใจสะออน นำแสดงโดย John Cusack, Iben Hjejle และ Todd Louiso เป็นหนังแนวโรแมนติกคอมเมดี้
5.ช่วง 3 ปีแรกหนังดีทำเงิน คือ “หนังเกย์” ในช่วงเวลานั้นหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศที่ 3 แทบจะหาดูไม่ได้ในโรงหนังปกติทั่วไป ยิ่งเป็นหนังอาร์ทหรือหนังนอกกระแสเกี่ยวกับเพศที่ 3 ก็ไม่ต้องพูดถึง โรงหนัง house จึงนำเอาหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศที่ 3 โดยเฉพาะหนังเกย์มาฉาย และได้กระแสตอบรับที่ดี มีจำนวนผู้ชมเข้ามาจำนวนมาก ถือเป็นประเภทหนังทำเงินให้กับ โรงหนัง house อย่างเป็นกอบเป็นกำ แม้ในความเป็นจริงจะมีหนังทุกประเภท ทุกแนวที่ฉายอยู่ ส่วนหนังทำเงินสูงสุดนับตั้งแต่มีโรงหนัง house คือเรื่อง Call Me By Your Name
6.จากคนดู 50,000 คนจนถึง 100,000 คน ช่วงปีแรกๆ จำนวนผู้ชมในโรงหนัง house มีอยู่ประมาณปีละ 50,000 คนเท่านัน เป็นแฟนพันธุ์แท้ของโรงหนังแวะเวียนมาดูหนังในเรื่องที่ชอบ จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และสามารถทำจำนวนแตะ 100,000 คนได้เมื่อประมาณปีที่ 10 ของการดำเนินธุรกิจ แม้ตัวเลขคนดูไม่ได้หวือหวา แต่เป็นตัวจริงเสียงจริงที่ชื่นชอบหนังของโรงหนัง house และในแง่ผลประกอบการช่วงแรกก็ต้องแบกรับภาระการขาดทุนอยู่บ้าง เพราะจำนวนผู้ชมไม่ได้มากเท่าโรงหนังทั่วไป แต่ธุรกิจก็ดำเนินมาได้เรื่อยๆ และเริ่มถึงจุดคุ้มทุนและเห็นกำไรบ้างในปีที่ 10
7.คัดสรรหนังดีทั่วโลก ทุกชาติทุกภาษา หนังที่เข้ามาฉายในโรงหนัง house แทบจะมีทุกชาติทุกภาษา เพราะต้องการนำหนังดีโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องภาษาเข้ามาฉาย หนังทั้งหมดใช้ระบบ Soundtrack พร้อมซับไตเติ้ล โดยไม่มีการพากย์เพื่อคงอรรถรสการดูหนังไว้ แต่ละปีโรงหนัง house ฉายหนังจากทั่วโลกมา 60-70 เรื่อง ช่วงแรกๆ ฉายหนังด้วยระบบฟิล์ม 35mm. แต่ระยะหลังมามีข้อจำกัดในเรื่องการผลิตจึงกลายเป็นระบบดิจิทัลแทน ซึ่งที่ผ่านมาฉายหนังวันละ 5-6 รอบ และหนังที่เข้าฉายช่วงแรกมีกฎเหล็กให้หนังยืนโปรแกรมอย่างน้อย 3 สัปดาห์ แต่ระยะหลังได้ปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม ส่วนโรงหนังแห่งใหม่คงจะใช้นโยบายเดียวกัน แต่จำนวนหนังที่จะเลือกเข้ามาฉายอาจจะมีจำนวนมากขึ้นถึง 100 เรื่องได้
“แต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตหนังออกมากว่า 3,000 เรื่อง แต่คัดมาฉายในบ้านเราประมาณ 300 เรื่องต่อปี ก่อนหน้านี้เอาเข้ามาฉายแค่ 120 เรื่องด้วยซ้ำ ทำให้มีโอกาสของหนังอีก 2,700 เรื่อง และเป็นหนังทำเงินในต่างประเทศที่จะถูกคัดมาฉายในโรงหนัง house”
8.รายใหญ่ยังลงมาเล่นตลาดหนังแนวอินดี้ ช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นปรากฎการณ์ค่ายโรงหนังยักษ์ใหญ่ ทั้ง “เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์-เอสเอฟ ซีนีมา” นำหนังแนวเดียวกันที่ฉายในโรงหนัง house มาฉายในโรงหนังของตัวเอง แม้จะไม่ได้ยืนระยะเวลาการฉายนาน หรือมีจำนวนโรงมากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า “ตลาดนี้มีคนดูแน่นอน” ขอให้หนังถูกจริตและรสนิยมของคนดูนั้นๆ ก็พอ เพราะสุดท้ายแล้ว “หนังเลือกคนดู” ตลาดคนดูหนังแนวนี้จึงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัดจากตัวเลขแฟนเพจของโรงหนัง house ที่มีกว่า 130,000 คนในปัจจุบัน พอยืนยันได้ว่ามีฐานคนดูที่มากพอสมควร
“เราเริ่มทำโรงหนังจากสิ่งที่ไม่เคยมี ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าจะเป็นอย่างไร การอยู่มาได้ 14 ปี แสดงว่า หนึ่งหนังแนวนี้มีคนดูอยู่จริง สองทำให้ตลาดมันเปลี่ยนแปลง อย่างโรงหนังลิโด้ก็มีการฉายหนังอินดี้เพิ่มขึ้น จากช่วงแรก 30% เพิ่มขึ้นเป็น 60% ของหนังทั้งหมดที่ฉาย โรงหนังรายอื่นๆ ก็ทำตาม”
นอกจากนี้ เรายังเห็นการเกิดขึ้นของโรงหนังอิสระที่ฉายหนังแนวนี้อีกหลายแห่ง อาทิ Bangkok Screening Room ย่านศาลาแดงซอย 1 ที่จุคนได้ 50 ที่นั่ง หนังมีคุณภาพภาพและเสียงระดับ 4K เลยทีเดียว The Friese-Greene Club โรงหนังเล็กๆ ย่าน BTS อโศก ที่จุคนได้เพียง 9 ที่นั่ง ฉายเฉพาะหนังคัลท์อินดี้หาดูยาก หนังรางวัลเมืองคานส์ และหนังอาร์ท ซึ่งฉายวันละรอบเดียวเท่านั้น หรือแม้แต่ “ช่างชุ่ย” อาณาจักรแห่งศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ยังมีโรงหนังขนาดเล็กเปิดฉายหนังสารคดีวันละ 2 รอบ ค่าตั๋วคนละ 100 บาทเท่านั้น
9.ถึงจะทำเลใหม่ แต่กลิ่นอายอารมณ์เดิม เสน่ห์ของโรงหนัง house มีความเฉพาะตัวในเรื่องของบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นกันเอง มีความเฟรนลี่สูง ซึ่งการย้ายไปยังโครงการสามย่านมิตรทาวน์ แม้ว่าจะมีการตกแต่งใหม่ แต่ความเป็นโรงหนัง house ยังกลิ่นอายและบรรยากาศที่อบอุ่นไว้เช่นเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติม คือ การเดินทางสะดวกสบาย โดยเฉพาะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสามย่าน ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ปัญหาที่คนดูหนังในโรงหนัง house น้อยเพราะการเดินทางที่ไม่ค่อยสะดวกนัก ทางเลือกหนึ่งของคนชอบดูหนัง คือ การดูในโรงหนังลิโด้ แต่ปัจจุบันได้ปิดตัวลง เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นก็จะมาเลือกดูที่โรงหนัง house สามย่านมิตรทาวน์
“ความเหมือนระหว่าง สองที่ คือ ยืนยันฉายหนังแบบนี้ ในบรรยากาศ ที่อบอุ่น เป็นกันเองยังเหมือนเดิม แต่หน้าตาจะเปลี่ยนไป สิ่งที่แตกต่างอีกอย่าง คือ พื้นที่จัดวางโรงมากขึ้น รองรับคนมากขึ้น ฉายหนังมากขึ้น รวมทั้งการดูแลที่ดีขึ้น มีการใช้ระบบออนไลน์จองตั๋ว และการเดินทางที่สะดวกสบายเป็นอย่างมาก”
นอกเหนือจากการฉายหนัง สิ่งที่เราพยายามทำ คือ กิจกรรมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ กิจกรรมที่จัดจะทำให้สนุกเพื่อให้เกิดความเข้าร่วม เช่น การเอาหนังอันดับหนึ่งของบ็อกซ์ออฟฟิศของต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นหนังสนุกเข้ามาฉาย การจัดเทศกาลหนังที่คนดูจัดเอง อยากให้มีเรื่องอะไรบ้างก็จัด การเอาหนังคลาสสิคมาฉาย กิจกรรมที่จะร่วมกับคนทำหนังอินดี้ เป็นต้น
10.“house RCA” คงไว้หรือไม่ไปต่อ เรื่องนี้อาจจะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่โรงหนัง house ที่ RCA จะหมดสัญญาเช่าในปลายปีหน้า ซึ่งเบื้องต้นยังคงฉายหนังเป็นปกติไปจนถึงเดือนสิงหาคมปีหน้าเช่นกัน แต่หลังจากนั้นคงต้องมาลุ้นอีกทีว่าจะทำอย่างไรดี เพราะมีเงื่อนไขเรื่องการเช่าที่ดิน ซึ่งเช่าช่วงต่อจากธนาคารกรุงเทพ ที่เช่าโดยตรงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และจะหมดสัญญาในปลายปีเช่นกัน ต้องดูว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ในใจของผู้บริหารตอนนี้ อยากจะเก็บโรงหนังไว้โดยไม่ปิดทำการเลยทีเดียว แต่อาจจะปรับเป็นการฉายหนังในระบบฟิล์ม 35 mm. ซึ่งสต็อกหนังของสหมงคลฟิล์มมีอยู่จำนวนมาก พร้อมเอามาฉายสร้างความแตกต่างจากโรงหนังปัจจุบัน และรองรับกลุ่มคนที่ชื่นชอบหนังคลาสสิคพวกนี้ด้วย
“ตอนเริ่มต้นธุรกิจ เราเข้าใจเรื่องทำเลทองผิดพลาดไป เพราะมีทำเลที่ดีกว่า ตอนนั้นคิดว่าเป็นทำเลทอง เพราะมันติดทางด่วน และคิดว่าจะมีสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์มาลง แต่ไม่มา การย้ายมาสามย่านมิตรทาวน์ มีความเชื่อว่าการเดินทางสะดวก การสื่อสารชัดเจน คนอยากดูแต่ไปไม่ถึงอาร์ซีเอมีเยอะ เราดูว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่พร้อมจะมาดู ถ้าบอกว่าย้ายน่าจะมีคนตามมาดู”
คุณพงศ์นรินทร์ เล่าอีกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโรงหนัง house ซึ่งที่ผ่านมา 14 ปี ไม่มีอะไรที่เป็นจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจ มีศักยภาพในสิ่งที่สามารถทำได้ และไม่ใช่เงินเยอะแยะในการทำโฆษณา แต่สามารถมีผลประกอบการที่เมหาะสม ขณะที่แบรนด์ดิ้งก็ทำได้ดี สามารถทำให้โรงหนังเล็กๆ ที่ไม่ใช้เงินโฆษณาเป็นที่รู้จักได้ และมีลูกค้าต่อเนื่อง มีแฟนแสนกว่าคนแบบออร์แกนิค ซึ่งสิ่งที่ขาดอย่างเดียว คือ สะดวก โลเกชั่นใหม่นี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในขณะที่โรงภาพยนตร์ที่จับกลุ่มเป้าหมายใกล้เคียงกันอย่างลิโด้ก็ไม่มีในตลาดแล้ว เมื่อผนวก “หนัง” กับ “ทำเล” ใหม่เข้าด้วยกันแล้ว house จึงเชื่อว่าการย้ายเข้ามาลุยในเมืองเพื่อสร้างทางเลือกให้กับคนดูหนังและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายของตัวเองจึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญกับ house และวงการภาพยนตร์ แต่งานนี้จะ happy together หรือจะกลายเป็น Blue Valentine ต้องติดตามชม…หนังชีวิตสุดอินดี้เรื่องนี้