HomeBrand Move !!จับสัญญาณ ‘ลาซาด้า’ กับการ Beyond อีคอมมิร์ซ สู่ Data Tech Company นำร่องด้วย Digital Lending

จับสัญญาณ ‘ลาซาด้า’ กับการ Beyond อีคอมมิร์ซ สู่ Data Tech Company นำร่องด้วย Digital Lending

แชร์ :

เริ่มเห็นความชัดเจนในการขยับตัวไปตามทิศทางเดียวกับบริษัทแม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Ecosystem ของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่างอาลีบาบาได้กว่า 2 ปี โดยเฉพาะการวาง Direction สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้ไปของลาซาด้า ที่ต้องการเป็นมากกว่าแค่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่วาง Next Step ในการต่อยอดจากจุดแข็งทางธุรกิจด้วยการทำให้ภาพของการเป็น Data Technology Company มีความชัดเจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จาก Platform Provider สู่  Data Provider  

จุดแข็งของลาซาด้าคือ การเป็นเบอร์หนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 6 ประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รวมทั้งประเทศไทย ด้วยจำนวน Sellers ทั้งหมดมากกว่า 4.5 แสนราย และสินค้ามากกว่า 3 พันแบรนด์ หรือกว่า 300 ล้านรายการ รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ต่ำกว่า 560 ล้านคน ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากแดนมังกรอย่างอาลีบาบายังต้องหันมาสนใจ และตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช้อปแพลตฟอร์มนี้ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนิเวศเดียวกัน

แน่นอนว่า การเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค จึงหมายถึงการมี Big Data หรือจำนวนข้อมูลต่างๆ อยู่อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นจากฟากฝั่ง Users หรือ Sellers โดยเฉพาะพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภค การเติบโตของแต่ละธุรกิจที่เข้ามาค้าขายอยู่บนแพลตฟอร์ม หรือข้อมูลสำคัญที่สะท้อนเทรนด์บางอย่างที่มีนัยยะในการทำธุรกิจ ประกอบกับการอยู่ในเครืออาลีบาบากรุ๊ป ที่ภาพของความเป็น Technology Company เริ่มฉายชัดมากขึ้นทุกที ทั้งการวางโรดแม็พและให้น้ำหนักสำคัญกับการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเข้มข้น ทำให้ลาซาด้าสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีรวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในฝั่งของอาลีบาบา ประกอบกับการมี Business Intelligence ของลาซาด้าเอง ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับที่ คุณเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด พูดถึงนโยบายในการขับเคลื่อนลาซาด้า ประเทศไทยนับจากนี้ว่า ลาซาด้าต้องการเป็นมากกว่าแค่บริษัทที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่ต้องการขยับไปสู่บริษัทที่ทำงานด้วยข้อมูล โดยเฉพาะในมิติของการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างสรรค์ประโยชน์ หรือการช่วยพัฒนาร้านค้าต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มให้มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นทั้ง Ecosystem โดยกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มลาซาด้าจะกระจายไปในหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Health & Beauty ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟน รวมทั้งสินค้าแม่และเด็ก เป็นต้น

โดย Movement ล่าสุด ที่สะท้อนว่า ลาซาด้ากำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางสู่การเป็น Data Tech Company กับการทำงานร่วมกับทางเอสซีบี อบาคัส ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่มสินเชื่อออนไลน์หรือ Digital Lending สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีร้านค้าหรือให้บริการบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ของลาซาด้า ในชื่อ “สินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์” ซึ่งถือเป็นการให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบ 100% เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อบรรดาธุรกิจ SME ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของลาซาด้าโดยตรง

“แม่มณีศรีออนไลน์” สร้างนวัตกรรมด้วย Data

สำหรับ สินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์ เป็นบริการ Digital Lending ซึ่งเป็นรูปแบบในการให้สินเชื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง`100% เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พัฒนาโดยเอสซีบี อบาคัส ด้วยการนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) และ Machine Learning มาทำงานอยู่บนฐานข้อมูล Big Data เพื่อใช้ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าในประเทศไทย ซึ่งจุดเด่นของบริการนี้คือ ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่สมัครจนถึงการอนุมัติจะทำอยู่บนออนไลน์ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่ต้องยื่นเอกสารรายได้เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ค้าหรือธุรกิจต่างๆ ได้รวดเร็วในเวลาเพียง 15 นาที จากที่รูปแบบการขอสินเชื่อเดิมๆ ที่ต้องรอการดำเนินการอนุมัติอย่างน้อย 3 วันไปจนถึงหนึ่งสัปดาห์

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด กล่าวว่า สินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์สามารถอนุมัติได้อย่างรวดเร็วเพราะสามารถประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ ของเอสเอ็มอีที่ยื่นขอสินเชื่อเข้ามาได้อย่างเรียลไทม์จากฐานข้อมูลที่ทางลาซาด้ามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น User Profile, Business Performance ฟีดแบ็คของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจแต่ละราย การบริหารจัดการธุรกิจต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมทางการเงินของผู้ประกอบการ ซึ่งมากพอในการพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อให้แต่ละราย โดยไม่ต้องส่งเอกสารทางการเงินต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติม จึงสามารถลดระยะเวลาในการขอสินเชื่อลงได้ให้เหลือระยะเวลาเพียง 15 นาที

“การอนุมัติสินเชื่อยังพัฒนาไปสู่รูปแบบ Personalization ด้วยการอนุมัติวงเงินที่สอดคล้องกับการเติบโตของแต่ละธุรกิจ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการ ด้วยการคิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษที่ปีละ 19% หรือ 1.59% บาทต่อเดือน จึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจของ SME ได้ดีขึ้น ทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการลดข้อจำกัดสำคัญในการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ส่วนใหญ่มีปัญหาหลักในการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยได้เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และขยายขอบเขตการให้บริการจากกรุงเทพฯ ไปยัง 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งมีผู้สนใจส่งใบสมัครสินเชื่อออนไลน์มามากกว่า 2 พันรายการ โดยคาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินในปีแรกได้ประมาณ 500 ล้านบาท”

ขณะที่ในธุรกิจสินเชื่อ ความแม่นยำในการประเมินศักยภาพของผู้ขอสินเชื่อถือว่ามีความสำคัญมาก เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารในการเกิดหนี้สูญ ซึ่งก่อนหน้านี้การให้บริการ Digital Lending ของกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่จะยังเป็นเพียงการยื่นใบสมัครผ่านมาทางออนไลน์เท่านั้น แต่กระบวนการพิจารณาอนุมัติต่างๆ ยังคงทำด้วยคนเป็นหลัก ทำให้ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพื่อนุมัติ ขณะที่สินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์ มีการพัฒนาเทคโนโลยี AI Credit Scoring ทำให้สามารถประมวลผลจากข้อมูลต่างๆ ของผู้ขอสินเชื่อที่มีอยู่บนแพลตฟอร์ม เนื่องจากจุดเด่นของ Digital Platform คือ การมี Data Footprint และกลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาสินเชื่อได้แบบ Real Time จึงสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ภายในเวลาอันรวดเร็วรวมทั้งมีความแม่นยำสูงอีกด้วย

Win – Win Strategy

การผนึกกำลังกันของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเอสซีบี อบาคัส และดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างลาซาด้า ถือว่าเป็นอีกหนึ่งดีลที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์แบบ Win-Win Strategy เนื่องจาก ได้เห็นภาพการพัฒนามาสู่เฟสในการสร้างรายได้จาก Digital Banking Platform ของธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากการเป็น Free Platform มาตั้งแต่เริ่มบุกเบิกการ Transform ธุรกิจเพื่อให้รอดพ้นจากการถูก Digital Disruption จนทำให้มีฐานลูกค้าที่มากพอในการพัฒนามาสู่โมเดลในการสร้างรายได้แล้ว

โดยที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์สร้างความคุ้นเคยในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มของธนาคารด้วย SCB EASY จนมี Users ทะลุ 8 ล้านรายไปแล้ว ประกอบกับการยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ นำมาสู่การสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภคหันมาทำ Digital Transaction ในปริมาณที่สูงมากขึ้น ก่อนจะปล่อยผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับธนาคารอย่าง Digital Lending ซึ่งธนาคารจะสามารถมีรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์นั่นเอง

ส่วนการเลือก Target มาที่กลุ่ม SME เนื่องจากทราบกันดีว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งขนาดของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่คนกลุ่มนี้ใช้ในการเข้าถึงลูกค้าและเป็นเครื่องมือสำคัญในการขายในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความคุ้นเคยและใช้เวลาบนโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก การมี Digital Lending ที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะจึงน่าจะได้รับการตอบรับได้เป็นอย่างดี

ขณะที่การเป็นพันธมิตรกับลาซาด้าซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่สุดของอาเซียน ก็เท่ากับเลือกตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค โดยเฉพาะสัดส่วนผู้ประกอบการ SME ที่อยู่บนแพลตฟอร์มซึ่งสูงถึงราวๆ 90% หรือมีอยู่ 4 แสนรายจาก 6 ประเทศในอาเซียน จากผู้ขายทั้งหมดบนแพลตฟอร์มที่มีมากกว่า 4.5 แสนราย โดยที่กลุ่มผู้ขายจากประเทศไทยถือเป็นหนึ่งกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของแพลตฟอร์ม โดยประเมินแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น SME บนแพลตฟอร์มจะเพิ่มเป็น 8 ล้านราย ภายในปี 2030 ทำให้โอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็จะเติบโตได้มากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนประโยชน์ที่ฟากฝั่งลาซาด้าจะได้รับจากการเป็นพันธมิตรกับเอสซีบีในครั้งนี้ คือโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มของตัวเองให้มีศักยภาพในการขยายธุรกิจให้เติบโต ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนที่ต่ำจากดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความแข็งแรงของผู้ประกอบการก็จะนำมาสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของแพลตฟอร์มทั้ง Ecosystem 

ที่สำคัญยังสอดคล้องกับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนได้สะดวกจากการเป็นพันธมิตรครั้งนี้แล้ว ทางลาซาด้ายังให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเดินสายโรดโชว์เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ รวมทั้งสามารถใช้บริการจากพันธมิตรในเครือข่ายอีมาร์เก็ตเพลสที่มีอยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการสร้างแบรนด์ การทำตลาด การทำบัญชี การคำนวนภาษี รวมทั้งทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมความแข็งแรงให้กับธุรกิจในแต่ละมิติสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและมั่นคงเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย


แชร์ :

You may also like