ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดนัดสวนจตุจักร (Chatuchak Market) หรือ JJ Market เป็นที่รู้จักและชื่นชอบไม่เฉพาะนักช้อปชาวไทยเท่านั้น แต่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เห็นได้จากการจัดอันดับที่ 1 ของ tripadvisor ให้เป็น Shopping in Bangkok อันดับ 2 World’s Grestest Markets จาก Lonely Planet อับดับ 1 Market around the world จาก USA Today 10Best และอันดับ 3 Best Things to do in Bangkok จาก U.S.News & world report เป็นสิ่งการันตีชื่อเสียงและความนิยมของตลาดนัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญแต่ละเดือนมีนักท่องเที่ยวและนักชอป ทั้งชาวไทยและต่างชาติหมุนเวียนมาที่แห่งนี้มากกว่า 2.8 ล้านคน เป็นตลาดที่มีกำลังซื้ออย่างมหาศาล
ฐานลูกค้าจำนวนมากดังกล่าว เป็นสิ่งที่บริษัท สยามพิริยา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มองเห็นว่าเป็นโอกาสทางการตลาดขนาดใหญ่ ที่สามารถจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่รีเทลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อีกมาก ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าระดับ SMEs อีกกลุ่ม ซึ่งอยากจะเข้ามาขายสินค้าในตลาดนัดจตุจักร แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่โครงการปัจจุบันก็แน่นเอี๊ยดไปเสียแล้ว แม้ว่าจะมีพื้นที่ร้านค้ามากถึง 10,000 ร้านค้า ก็ยังมีความต้องการของผู้ประกอบการที่อยากเข้ามาขายของอีกมากมาย บรรดาผู้ค้ารายเดิมเองยังมีความต้องการขายของทุกวัน ไม่จำกัดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้นด้วย แต่ยังไม่มีสถานที่รองรับเพียงพอ หรือแม้แต่นักชอปไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติก็ตาม ยังอยากจะมาหาซื้อสินค้าไม่ใช่เฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์เท่านั้น
คุณมีพร ไชยูปถัมภ์ กรรมการบริหาร บริษัท สยามพิริยา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และผู้ก่อตั้งบริษัท ดีลซ่า จำกัด เล่าว่า ลูกค้ามีความต้องการมาซื้อสินค้าในตลาดนัดสวนจตุจักรมากกว่าวันเสาร์อาทิตย์ หรือแม้แต่ร้านค้าก็ต้องการขายสินค้าจำนวนวันมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัด หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ยังอยากมาซื้อสินค้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร แต่ยังไม่มีสถานที่จอดรถทัวร์หรือรถตู้รองรับ จึงมองว่าหากสามารถพัฒนาศูนย์การค้าขึ้นมา และขายสินค้าได้ทุกวัน มีสถานที่จอดรถทัวร์และรถตู้ จะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้าได้สะดวก คนขายสินค้าก็สามารถขายสินค้าได้ทุกวันด้วย จึงได้เปิดโครงการ “มิกซ์ จตุจักร” (Mixt Chatuchak) ขึ้นมา ด้วยมูลค่าการลงทุน 900 ล้านบาท เพื่อเป็นสถานที่ขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเปิดขายทุกวันตั้งแต่ 10.00-22.00 น. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในเดือนกรกฎาคม 2562
เป้าหมายของการพัฒนาโครงการ Mixt Chatuchak คือ การดึงผู้ประกอบการ SMEs เจ้าของแบรนด์สินค้า เข้ามาเปิดขายกับพื้นที่รองรับ 16,000 ตารางเมตร ซึ่งต้องเป็นผู้ผลิตสินค้าโดยตรง จะไม่รับผู้ประกอบการแบบซื้อมาขายไป และต้องการให้คนเข้ามาช้อปปิ้งภายในศูนย์การค้าประมาณ 25,000-30,000 คนต่อวัน ในช่วงวันธรรมดา และวันละ 50,000 คนในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยหวังว่าการลงทุนครั้งนี้จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 8 ปี ปัจจุบันมีผู้ค้าจากตลาดนัดสวนจตุจักรเดิม เข้ามาเช่าพื้นที่แล้ว 50%
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารศูนย์การค้า Mixt Chatuchak ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จึงได้เตรียมกลยุทธ์สำคัญทางการตลาดไว้ ดังนี้
1.เตรียมงบประมาณ 40 ล้านบาท ทำการตลาดและประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักผ่านสื่อต่างๆ
2.ร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรีเทล พัฒนา Omni-Channel เพื่อใช้เป็นช่องทางการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ด้านการตลาดและอีคอมเมิร์ซ เพิ่มโอกาสการขายสินค้าให้ร้านค้า ซึ่งจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับโครงการขึ้นมาโดยเฉพาะด้วย
3.การร่วมมือกับ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA ดึงกลุ่มทัวร์ต่างชาติเข้ามาซื้อสินค้าในศูนย์การค้า ซึ่งโครงการได้เตรียมพื้นที่จอดรถทัวร์ไว้ 20 คัน และยังเตรียมใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าเป็นคิวรถตู้ในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ด้วย โดยวางเป้าหมายจำนวนลูกค้าต่างชาติ 30% และลูกค้าคนไทย 70% เข้ามาใช้บริการ
4.เพิ่มความหลากหลายสินค้า ด้วยการจัดพื้นที่ Marketing Event Arena ขนาด 4,000-5,000 ตารางเมตร รองรับจำนวนร้านค้าได้ 200-300 ร้านค้า เพื่อให้เข้ามาขายสินค้าชั่วคราวทุก 2 สัปดาห์ เป็นการสร้างความหลากหลายและไม่จำเจในการช้อปปิ้งให้กับลูกค้า
5.การเปิดพื้นที่ขายในรูปแบบ Night Market ในอนาคต ที่สามารถรองรับลูกค้าได้กว่า 300-350 ร้านค้า
นี่อาจจะเป็นความพยายามอีกครั้งของผู้บริหาร บริษัท สยามพิริยา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หลังจากได้เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งครั้งนั้นได้ร่วมทุนกับพันธมิตร และเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 20 ปี (ปี 2557-2577) แต่เนื่องจากแนวคิดการบริหารโครงการไม่ตรงกัน จึงได้ดึงโครงการมาทำเอง เพราะยังเชื่อมั่นในศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ไม่ว่าบริเวณด้านหน้าจตุจักรเป็นจุดเชื่อมต่อรถเมล์ที่มีทราฟิกมากที่สุดในกรุงเทพฯ อนาคตยังจะมีสกาย์วอล์คผ่านบริเวณหน้าโครงการ ระหว่างสถานีบีทีเอสกับโครงการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งที่ตั้งโครงการห่างเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น หรือแม้แต่ความหนาแน่นของชุมชนโดยรอบก็มีจำนวนคนอยู่อาศัยถึง 170,000 คนในรัศมี 1 กิโลเมตร และเป็นตลาดนัดที่ใครๆ ก็ชื่นชอบและอยากมา จำนวนฐานลูกค้า 2.8 ล้านคนนี่มากพอสำหรับโครงการที่จะเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง และอาจจะขยายการรองรับจำนวนลูกค้าได้อีกเท่าตัวด้วย ซึ่งคงต้องรอดูว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน