การเข้ามาในธุรกิจโลจิสติกส์ ของผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งต่างชาติและชาติเดียวกันเอง อาทิ เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express) นิ่มซี่เส็ง ดีเอชแอล และเอ็กซ์เพรส (DHL Express) หรือแม้แต่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ล้วนแต่เป็นคู่แข่งสำคัญเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของไปรษณีย์ไทย ซึ่งทำให้จากที่เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 100% ในอดีต (ในช่วงเวลานั้นมียอดขายกว่าเ 10,000 ล้านบาท) ลดลงมาเหลือประมาณ 50% ในปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้ไปรษณีย์ไทยหวาดกลัวหรือกังวลใจ เพราะยอดขายยังเติบโตต่อเนื่อง ปีที่แล้วมียอดขายมากกว่า 27,000 ล้านบาท ปีนี้น่าจะปิดตัวเลขที่ 30,000 ล้านบาท ทำกำไรอีกกว่า 4,500-4,600 ล้านบาท
และแม้ว่า คุณสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) จะยอมรับว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของธุรกิจในโลกตลาดเสรี ที่ไม่สามารถไปปิดกั้นการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ได้ และแม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของไปรษณีย์จะลดลง ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพราะตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลประกอบการและรายได้ของไปรษณีย์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และที่สำคัญ ไปรษณีย์เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่เน้นการบริการอย่างดีที่สุดให้กับลูกค้า เมื่อบริการดีแล้ว ลูกค้าก็จะเลือกใช้บริการของไปรษณีย์ไทยเอง
“การเข้ามาของเซเว่น เฉยๆ นะ เซเว่นจะเปิดมา 2 ปีที่แล้วแต่ไม่เวิร์ค เพราะเขาไม่รู้ระบบ เขาเปิดเราก็ทำของเราให้ดีที่สุด เราจะไปห้ามไม่ให้เปิด มันทำไม่ได้ เราไม่ต้องไปคิด แต่รู้ไหมรู้ เราต้องรู้เขารู้เรา เราไม่ต้องกังวล เราต้องทำตัวเองให้ดี เป็นจุดยืนของไปรษณีย์ไทย ถ้าเป็นหน่วยงานธุรกิจเขาจะมองกำไรสูงสุด มาร์เก็ตแชร์สูงสุด เอาลูกค้าให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ไปรษณีย์ไทย เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลาย เราต้องขยายตัวและสนับสนุนการเติบโตของลูกค้า ถ้าลูกค้าโต เราก็โตมีความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”
เมื่อต้องตั้งรับกับการแข่งขัน พร้อมกับเสริมศักยภาพการบริการ ไปรษณีย์ไทยจึงเตรียมแผนงานและการความพร้อมในการดำเนินธุรกิจในหลายๆ เรื่อง
1.จัดตั้งศูนย์ไปรษณีย์ควบคุม ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ก่อนหน้านี้ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (The International Civil Aviation Organization) ได้ปักธงแดงกับสายการบินไทยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในช่วงปี 2548 ส่งผลให้พัสดุไปรษณีย์ไม่สามารถจัดส่งทางเครื่องบินได้ แต่ล่าสุดไปรษณีย์ไทยได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัยการขนส่งทางอากาศ และการแผนการฝึกอบรมเรื่องการขนส่ง ซึ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)ให้ดำเนินการขนส่งพัสดุไปรษณีย์ทางอากาศได้แล้ว จึงลงทุน 60 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ไปรษณีย์ควบคุม แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากรอใบประกาศรับรองในช่วงเดือนธันวาคมนี้อีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้จะทำให้ไปรษณีย์ไทยสามารถให้บริการจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ได้ภายในวันเดียวหรือภายในวันถัดไปด้วย
ในปีหน้าทางไปรษณีย์ไทยยังมีแผนขยายศูนย์การไปรษณีย์ควบคุมอีก 5 สนามบิน คือ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงราย และอุดรธานี เพื่อใช้เป็นศูนย์จัดส่งพัสดุไปรษณีย์ทั่วประเทศภายในวันเดียว และส่งต่อไปยังภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเอเชียในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น โดยส่งออกจากสนามบินนานาชาติในแต่ละภูมิภาคที่มีเที่ยวบินไปยังต่างประเทศได้เลย จากก่อนหน้าที่ต้องขนส่งมาลงสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเดียว
บริการที่เหนือกว่านั้น ไปรษณีย์ไทยจะเช่าเหมาลำเครื่องบิน เพื่อจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ไปยังต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมายังมีปัญหาว่าการจัดส่งล่าช้า อย่างพัสดุไปรษณีย์ EMS หากเกินรัศมี 400 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ จะไม่ได้รับภายใน 1 วันหรือในวันถัดไป แต่หากมีการจัดส่งทางอากาศก็จะทำให้ผู้รับ สามารถรับได้ภายในวันเดียวกัน หรือวันถัดไปเป็นอย่างช้า เบื้องต้นกำลังเจรจากับการบินไทย เพื่อเช่าเหมาลำเครื่องบิน ซึ่งจะมีเส้นทางการบินจาก กรุงเทพฯ -เชียงใหม่- อุดร-กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ -หาดใหญ่ -ภูเก็ต -กรุงเทพฯ
นอกจากได้ความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยแล้ว อัตราค่าบริการจะถูกลงด้วย แถมไปรษณีย์ไทยยังจะมีรายได้เพิ่มจากบริการคาร์โก และการตรวจสอบความปลอดภัยของพัสดุไปรษณีย์จากสายการบินอื่นๆ ด้วยในอัตรากิโลกรัมละ 23 บาท เพราะทุกสายการบินที่ขนส่งพัสดุไปรษณีย์ ต้องผ่านการตรวจสอบจากศูนย์ไปรษณีย์ควบคุม ประเมินคร่าวๆ เฉพาะศูนย์ไปรษณีย์ควบคุม สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีรายได้เบื้องต้นปีละ 30 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้มีการจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ด่วนทางอากาศประมาณ 35 ล้านชิ้นต่อเดือน
2.ลงทุน 10,000 ล้านเพิ่มประสิทธิภาพบริการ
ในแต่ละปีไปรษณีย์ไทย จะลงทุนพัฒนาระบบการบริการ การขยายศูนย์ไปรษณีย์ การรีโนเวตไปรษณีย์เก่า การจัดซื้อที่ดินรองรับกับการขยายที่ทำการไปรษณีย์ หรือเตรียมไว้เพื่อขยายพื้นที่บริการ และยังมีการลงทุนพัฒนาระบบไอที เทคโนโลยี รวมถึงการทำตลาดต่างๆ อย่างต่อเนื่องทุกปี ปีที่แล้วมีงบลงทุน 7,000 กว่าล้านบาท ปีนี้ก็ใช้เงินกว่า 10,000 ล้านบาท ปีหน้าก็คงใช้ในวงเงินกว่า 10,000 ล้านบาทเช่นกัน การพัฒนาประสิทธิภาพการบริการที่สำคัญของไปรษณีย์ไทย อาทิ การติดตั้งเครื่องคัดแยกจดหมายและพัสดุอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งแล้วที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา นครราชสีมา และศูนย์อีเอ็มเอส หลักสี่ ภายในปี 2564-2565 จะให้ติดตั้งครบ 19 แห่งทั่วประเทศ
3.เพิ่มบริการใหม่ Flexible Delivery – IBOX
จากการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าปัจจุบัน พบว่าสิ่งที่ต้องการได้รับจากไปรษณีย์ไทยมากที่สุด คือ เรื่องความสะดวกสบาย ไปรษณีย์ไทยจึงได้เพิ่มบริการ Flexible Delivery ด้วยบริการจัดส่งไปรษณีย์ตามที่ลูกค้าแจ้งที่ใดก็ได้ ปัจจุบันให้บริการกับลูกค้ารายใหญ่ ปีหน้าจะเพิ่มบริการสำหรับรายย่อยด้วย
การบริการตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ (IBOX) ให้ลูกค้ารับพัสดุไปรษณีย์ได้ตลอด 24 เป็นตู้อัจฉริยะอำนวยความสะดวก หลังจากที่ทำการไปรษณีย์ปิดให้บริการแล้ว ปัจจุบันทดลองติดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ 50 แห่ง ปีหน้าจะเพิ่มให้มากขึ้น แต่รอประเมินผลการให้บริการในปีแรกก่อน
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมบริการต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพการให้บริการ ด้วย อาทิ การเก็บเงินปลายทาง (COD) พร้อมนำส่งเข้าระบบ e-Wallet ของไปรษณีย์ไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซบริหารเงินใน e-Wallet ได้ทันที จะเริ่มให้บริการได้ในเดือนธันวาคมนี้ การบริการรับพัสดุไปรษณีย์ที่สถานที่ของลูกค้าต้องการ และการให้บริการ 24 ชั่วโมง ศูนย์อีเอ็มเอส หลักสี่ การพัฒนาเว็บไซต์ thailandpost.co.th เพื่อใช้เป็นพื้นที่ขายสินค้าให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
4.จัดแคมเปญ “ไปรษณีย์ไทย…ดี๊ดี” ขยายฐาน Gen X-Z
ไปรษณีย์ไทย ตั้งมากว่า 135 ปี และเป็นรัฐวิสาหกิจมาสู่ปีที่ 16 ตลอดระยะเวลา 10 ปีไม่เคยจัดทำแคมเปญใหญ่และการทำภาพยนตร์โฆษณา ขณะที่สภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen X-Z เข้ามาทำธุรกิจออนไลน์และอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น ต้องมีการส่งสินค้า แต่อาจจะไม่รู้จักไปรษณีย์ไทยดีพอ หรืออาจจะรู้จักแต่ไม่รู้ว่ามีบริการอะไรบ้าง แคมเปญ “ไปรษณีย์ไทย…ดี๊ดี” จึงมีขึ้นมาเพื่อการสร้างรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่และขยายฐานให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญของไปรษณีย์ไทยกลุ่มหนึ่ง มีสัดส่วนถึง 50% ของรายได้ทั้งหมด และตลาดก็มีขนาดใหญ่ถึง 30,000 ล้านบาทด้วย เติบโตปีละ 20% ซึ่งแต่ละวันไปรษณีย์ไทยให้บริการจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ทั้งหมดกว่า 8 ล้านชิ้น โดยแคมเปญนอกจากจะมีการสื่อสารทางการตลาดแล้ว ยังมีแคมเปญการลดราคาต่างๆ อาทิ ลดราคาบริการ EMS ในประเทศตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนลดกล่องและซองฟอร์คอมเมิร์ซ 3-5% และส่วนลดค่าบริการส่งต่างประเทศ 200 บาท เป็นต้น