HomeBrand Move !!ค้าปลีกแดนปลาดิบ ยกธงขาว ประกาศปิดตัวห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ถาวร

ค้าปลีกแดนปลาดิบ ยกธงขาว ประกาศปิดตัวห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ถาวร

แชร์ :

สมรภูมิค้าปลีกประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ขึ้นชื่อว่า “ปราบเซียน” สำหรับทุนข้ามชาติ เพราะต่อให้เงินทุนหนาปึ้ก! ถ้าไม่เจ๋งจริง ไม่สตรองพอ ก็อาจแป้ก! เสียท่าให้กับเจ้าถิ่นพี่ทุนไทยได้อย่างง่ายดาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การประกาศโบกมือบ๊ายบายของห้างสรรพสินค้า “กรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค” แบบ “ถาวร” เป็นเรื่องที่บรรดาขาช็อปปิ้งกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกอยู่บ้าง เพราะหมายถึง “ทางเลือก” ในการจับจ่ายใช้สอยไปอีกหนึ่ง

แต่ในมุมของผู้ประกอบการค้าปลีก คือ บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ระยะ 3 ปีที่เปิดดำเนินกิจการมา ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” มาโดยตลอด และเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็น “เท่าตัว” ทุกปี หากไม่รีบหยุดเลือดไหล ในวันที่พฤติกรรมการช็อปปิ้งเปลี่ยน จากเดินไปซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกเป็นคลิกช็อปปิ้งด้วยปลายนิ้วผ่านโลกออนไลน์ อาจต้องเจ็บหนักกว่านี้

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ทางห้างจึงร่อนประกาศผ่านโซเชียลมีเดียให้ลูกค้าประชาชนรับทราบโดยทั่วกันเรื่อง แจ้งปิดทำการถาวร

“ทางบริษัทฯ มีความเสียใจที่จะต้องแจ้งให้ท่านทราบว่า ห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค จะเปิดให้บริการวันสุดท้าย ณ วันที่ 31มกราคม พ.ศ. 2562

ห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ – โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2558 ในรูปแบบห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นและเมื่อไม่นานมานี้ ได้เพิ่มสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น อาทิผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพ อาหารญี่ปุ่น และเป็นห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นแห่งเดียวในย่านศรีนครินทร์ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมาก”

เป็นธรรมเนียมก่อนปิดตัว ทางห้างจะมีการนำสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีมาลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ เพื่อระบายสต๊อกและขอบคุณลูกค้าผู้มีอุปการะคุณในคราวเดียวกัน

 

ย้อนรอยโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค

หลังจากบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด(มหาชน) ตัดสินใจทุ่มงบ 3,200 ล้านบาท เพื่อพลิกห้าง “เสรีเซ็นเตอร์” บนถนนศรีนครินทร์ ให้เป็น “พาราไดซ์ พาร์ค” จุดหมายปลายทางการช็อปปิ้งของคนกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ด้วยคอนเซ็ปต์ “สวนสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงเทพตะวันออก” รองรับประชากรที่อยู่อาศัยในย่านนั้นจำนวนมาก และผู้คนล้วนมีกำลังซื้อสูงในระดับ เอ บี

การไปเดี่ยวๆ ไม่เพียงพอ เอ็ม บี เค จึงดึงพันธมิตรห้างสรรพสินค้า “โตคิว” มาลุยตลาดค้าปลีกด้วยกัน เป็นหนึ่งในแองเคอร์ “แม่เหล็ก” ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาช็อปปิ้ง

บริษัท โตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ (ประเทศญี่ปุ่น) จึงตัดสินใจร่วมทุนกับ เอ็ม บี เค โดยทั้งคู่ส่งบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด และ บริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด ลงขันกันในสัดส่วน 50% เท่ากัน ลงทุนพัฒนาโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท

ห้างสรรพสินค้าโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค มีพื้นที่ 13,000 ตารางเมตร(ตร.ม.)แบ่งเป็น 2 ชั้น มุ่งนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่นเด็ก สินค้าเครื่องแต่งกายชาย ฯ และยังสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการระดมสินค้าญี่ปุ่นมาขาย แต่ไฮไลท์ที่พูดถึงกันมากคือการตกแต่งภายในด้วย “ทองแท้” และชูคอนเซ็ปต์ห้างญี่ปุ่นที่ดูเรียบง่ายแต่พรีเมี่ยมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

3 ปีขาดทุนบักโกรก!

ใส่เงินลงทุนเป็นร้อยล้านเพื่อเปิดห้างบนทำเลกรุงเทพฯโซนตะวันออก จากเดิมมีสาขาอยู่เพียงแห่งเดียวใจกลางกรุงที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จึงไม่แปลกที่บริษัทจะหมายมั่นมากจะให้โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค เป็น “จุดหมายปลายทางนักช้อป” วาดเป้าจะมีคนเข้าห้างไม่หลักหลายหมื่นคนต่อวัน ที่สำคัญหวังจะโกยเงินเป็นกอบเป็นกำ แต่ผลการดำเนินงานกลับผิดคาดจากที่ตั้งไว้ ซึ่งต่อให้รู้กันดีว่า ช่วง 3-5 ปีแรกของค้าปลีก ไม่ใช่จังหวะคืนทุน แต่จะให้ยอดขาย รายได้ลดลงต่อเนื่อง สวนทางการเติบโต เห็นทีจะไม่ไหว จึงเห็นการ “ยกธงขาว”

บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค ตั้งแต่ปี 2558-2560 ผลการดำเนินงานเป็นดังนี้

ปี 2558 รายได้รวม 108,561,571 บาท

            ขาดทุน 65,438,507 บาท

ปี 2559 รายได้รวม 212,945,381 บาท เพิ่มขึ้น 96.15%

            ขาดทุน 89,906,295 บาท ติดลบ 37.40%

ปี 2560 รายได้รวม 188,035,949 บาท ลดลง 11.70%

            ขาดทุน 154,290,103 บาท ติดลบ 71.61%

ส่วนพันธมิตรที่ร่วมทุนคือ บริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด ผลการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ลดลงไม่ต่างกัน ดังนี้
ปี 2558 รายได้รวม 128,220,225 บาท
มีกำไรสุทธิ 7,379,172 บาท

ปี 2559 รายได้รวม 113,697,110 บาท ลดลง 11.33%
มีกำไรสุทธิ 16,085,552 บาท เพิ่มขึ้น 117.99%

ปี 2560 รายได้รวม 108,924,798 บาท ลดลง 4.20%
ขาดทุน 139,380,650 บาท ติดลบ 966.50%

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

การหยุดเลือดไหลด้วยการปิดกิจการถาวร อาจเป็นทางรอด และทำให้ “โตคิว คอร์ปอเรชั่น” ทุ่มงบประมาณและสรรพกำลังทั้งหมดไปโฟกัสสาขาที่มีโอกาสทำเงินเติบโตคงจะดีกว่า


แชร์ :

You may also like