การสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสามารถส่งต่อคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจไปยังภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้ง Supply chain นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการทำธุรกิจ ที่นอกเหนือไปจากแค่การสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้จากยอดขายหรือกำไร และไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจของเราเท่านั้นที่จะแข็งแรงเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการกระจายความแข็งแรงไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอีกด้วย
เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจในกลุ่มธุรกิจกาแฟของ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ในเครือซีพี ออลล์ ภายใต้การดูแลบริหาร แบรนด์กาแฟมวลชน และ ออลล์ คาเฟ่ (All Cafe) ที่นอกจากจะเสิร์ฟความสดชื่นด้วยกาแฟคุณภาพดีให้ผู้คนทั่วประเทศแล้ว ยังมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ด้วยการเข้าไปเป็นตลาดรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งยังเป็นหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้คงความสมบูรณ์ไว้ จากการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟ ทดแทนการปลูกพืชไร่หมุนเวียนอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลายจากผลกระทบของการทำไร่แบบผิดวิธี
ส่งต่อ “คุณค่า” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ดร. นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์, รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า
“กาแฟออลล์ คาเฟ่ และกาแฟมวลชน จะสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรหันมาปลูกกาแฟเพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับบริษัท โดยราคาที่บริษัทรับซื้อจะสูงกว่าราคาที่เกษตรกรขายผ่านพ่อค้าคนกลางถึง 10% ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเข้าไปให้ความรู้ต่างๆ ทั้งเรื่องของการปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้ พร้อมทั้งสนับสนุนทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องสี โรงสี และโรงตากกาแฟ สำหรับใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต เพื่อให้สามารถทำกาแฟแปรรูปเพิ่มเติม และสามารถขายได้ในราคาที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ขณะที่ราคาเมล็ดกาแฟเรารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่สูงกว่าตลาดอยู่แล้ว”
การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟ ได้ทำผ่านการเข้าไปสนับสนุนโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือทั้งจากกลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์หลักคือการรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลายจากการทำเกษตรและพืชไร่แบบผิดวิธี จนส่งผลกระทบให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงและเสื่อมโทรมลง หลายพื้นที่กลายสภาพไปเป็นเขาหัวโล้น โดยโครงการนี้มีกลุ่มเกษตรกรจาก อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนอยู่ และเป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรนำร่องที่เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย
“ออลล์ คาเฟ่ -กาแฟมวลชน” เพิ่มตลาด เพิ่มโอกาส
สาเหตุที่ซีพี ออลล์ มั่นใจว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการรับซื้อเมล็ดกาแฟทั้งหมดที่เกษตรกรสามารถผลิตได้ เนื่องจากมีช่องทางระบายผลผลิตด้วยการใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับกาแฟมวลชน และออลล์ คาเฟ่ ที่จำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งมีจำนวนสาขามากกว่าหมื่นแห่งกระจายไปทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสบริโภคกาแฟของคนไทย ที่มีคุณภาพดี ราคาไม่แพง และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยสนับสนุนเกษตรกรไปพร้อมกัน
“ที่ผ่านมาเรารับซื้อผลผลิตกาแฟของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี และสามารถชักชวนเกษตรกรให้มาเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้นด้วย จากปีแรกที่มีผลผลิตออกมาในปี 2558 และทำการรับบซื้อผลผลิตในจำนวน 700 กิโลกรัม และในปีต่อมามีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 3 เท่าตัว เป็น 2,300 กิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตล่าสุดในปี 2560 ที่ผ่านมา มีปริมาณเมล็ดกาแฟเพิ่มขึ้นถึง 15,000 กิโลกรัม หรือ 15 ตัน โดยที่ในสิ้นปีนี้เชื่อว่าจะมีปริมาณเมล็ดกาแฟเพิ่มขึ้นได้อีกไม่ต่ำกว่า 30 ตัน หรือมากกว่า 30,000 กิโลกรัม”
ดร. นริศ ให้ความมั่นใจในความสามารถของบริษัทที่จะสามารถรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรได้ต่อไป โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหา Over Supply เนื่องจากปริมาณความต้องการบริโภคกาแฟของผู้บริโภคคนไทยก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยหากย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน คนไทยมีปริมาณบริโภคกาแฟเพียง 22 แก้วต่อคนต่อปี แต่ล่าสุดอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า มาอยู่ที่ 220 แก้วต่อคนต่อปี ทำให้ปริมาณความต้องการเมล็ดกาแฟเติบโตเพิ่มขึ้น ประกอบกับโอกาสจากการขยายธุรกิจทั้งของออลล์ คาเฟ่ และกาแฟมวลชน เพื่อให้มีสาขากระจายไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ก็เป็นโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟด้วยเช่นกัน
นอกจากการเป็นวัตถุดิบให้กับแบรนด์ออลล์ คาเฟ่ และกาแฟมวลชนแล้ว ซีพี ออลล์ ยังจัดกิจกรรม “โครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน” ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเปิดอบรมความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในการทำธุรกิจร้านกาแฟ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สนใจจะทำธุรกิจร้านกาแฟ โดยอบรมไปทั้งหมดแล้วไม่ต่ำกว่า 8,500 คน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดร้านกาแฟรายย่อยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้แข็งแรงและเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน