HomeAutomobileส่องสถานการณ์รถยนต์ EV ทั่วโลก และอัพเดทความเคลื่อนไหวในไทย สู่พลังงานไฟฟ้าเพื่อการเดินทาง

ส่องสถานการณ์รถยนต์ EV ทั่วโลก และอัพเดทความเคลื่อนไหวในไทย สู่พลังงานไฟฟ้าเพื่อการเดินทาง

แชร์ :

ดูเหมือนว่ากระแสรถยนต์พลังงานทางเลือกจะเป็นสิ่งที่ ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากกระแสข่าว การตื่นตัวที่เกิดขึ้นในระดับโลก ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกยานยนต์ ซึ่งแนวทางความเปลี่ยนแปลงนั้น กำลังเดินหน้าถาโถมเข้ามาในอุตสาหกรรมรถยนต์ของเมืองไทยเช่นกัน บทความนี้ BrandBuffet ขอพาท่านผู้อ่านไปอัพเดทเทรนด์ที่น่าสนใจ ของเจ้าเทคโนโลยีใหม่นี้ ที่อีกไม่ช้านานน่าจะส่งผลความเปลี่ยนแปลงกับสังคมไทยอย่างแน่นอน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

พลังงานทางเลือกมีอะไรบ้าง

ปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่องของพลังงานมีความก้าวหน้าและได้กลายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากมายซึ่งได้รับความนิยมเชิงพาณิชย์ในต่างประเทศ รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่มในประเทศไทย ท่ามกลางทางเลือกที่หลากหลายเหล่านั้น วันนี้เราขอนำเสนอ 3 เทคโนโลยีของรถยนต์ ซึ่งได้รับการพูดถึงมากที่สุด ณ ขณะนี้ ซึ่งก็ได้แก่

– รถยนต์พลังงานไฮบริด (Hybrid) เป็นการใช้พลังงานที่เกิดจากการผสมผสานการทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์สันดาปภายในและพลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ โดยจะมีระบบคำนวนการทำงานอัตโนมัติว่าจะใช้เครื่องยนต์ชนิดใดในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์

– รถพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ผลิตพลังงานด้วยกระบวนการทางเคมี ทำให้เกิดการรวมตัวของไฮโดรเจนกับออกซิเจน กระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดมลพิษน้อยมาก แต่ราคาก็อยู่ในเกณฑ์สูงมากๆ เช่นกัน ทำให้ไม่สามารถผลิตออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

– รถยนต์พลังงานไฟฟ้า100%หรือ EV เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนทั้งหมด โดยแบตเตอรี่จะทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าที่รับเข้ามาจากการชาร์จ และส่งต่อผ่านตัวแปลงกระแสไฟฟ้า ไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อส่งพลังงานไปยังเพลาเพื่อทำการขับเคลื่อน และอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนจะอยู่ที่ก้อนแบตเตอรี่ลิเธียม- ไอออนซึ่งแบตเตอรี่ชนิดนี้ให้สามารถเก็บพลังงานได้มากและมีอายุการใช้งานนาน

 

จับตาเทรนด์โลก เมื่อ “รัฐ” ออกตัวแรงหนุนขั้นสุด

เทคโนโลยีมีทางเลือกใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่พลังงานน้ำมันที่เรารู้จักกันดี แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะใช้อะไร และจะเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกเหล่านี้อย่างไรกัน? ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า  “อุตสาหกรรมรถยนต์” เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่เม็ดเงินการลงทุนแต่ละครั้งก็ระดับแสนล้าน หรือล้านล้าน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงและแรงผลักดันที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ตลาดของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าในกรณีที่มีการพัฒนาถึงขั้นการเปลี่ยนโมเดลหรือเครื่องยนต์ใดๆเกิดขึ้น ก็ย่อมมีผลต่อหลายๆ ตลาดในภูมิภาคนั้นๆ ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระดับ Minor change ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละพื้นที่

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมกันในระดับโลก และถ้าจะคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของไทย อาจจะต้องเริ่มจับตามองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นผู้นำในอุตสาหากรรม เช่น

– เยอรมนี หนึ่งในผู้นำด้านนี้ที่ประกาศออกมาแล้วว่าภายในปี 2020 จะต้องมีรถยนต์ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 1ล้านคัน เพื่อเข้ามาแทนที่รถยนต์แบบเดิม โดยอาศัยการที่รัฐจะเข้าไปสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการรถ ต่อเนื่องเป็นเวลา 10ปี นับตั้งแต่ ปี 2016

-เนเธอร์แลนด์ มีแนวคิดคล้ายกัน โดยคาดการณ์ว่าจะต้องมีรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศราว 200,000 ภายในปี 2020ความน่าสนใจอยู่ที่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง1ล้านคันในปี 2025นั่นหมายถึง เมื่อความเข้าใจของผู้บริโภคเปิดรับอย่างเต็มที่แล้ว เทรนด์จะพุ่งสูงทันที สิ่งที่รัฐเนเธอร์แลนด์ผลักดันออกมาในรูปแบบของการงดภาษีสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นเวลา4ปีเต็ม

– จีน เริ่มมีนโยบายเรื่องรถยนต์จริงจังตั้งแต่ปี 2009ทั้งเรื่องของรถยนต์ Hybrid และ EV เพราะปัญหาของมลพิษทางอากาศ และการศึกษาพบว่าถ้าหากเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไซส์เท่ากัน จะช่วยลดมลพิษได้ถึง 19%ปัจจุบัน รัฐบาลจีนใช้วิธีการสนับสนุนเงินเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยรถที่วิ่งได้ระยะทาง 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1ครั้งจะได้รับเงินสนับสนุนถึง 50,000หยวน มาตรการนี้ยังมีไปถึงรถบรรทุกด้วย ไม่ใช่แค่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น

– ญี่ปุ่น มีโปรแกรมสนับสนุนการคิดค้นใหม่ๆ เกี่ยวกับด้านนี้ตั้งแต่ปี 1996และนับตั้งแต่ปี 1998-2003รัฐบาลก็ช่วยจ่ายเงินเกือบครึ่งหนึ่งของราคารถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและไฮบริด รวมทั้งลดภาษีให้ด้วย นั่นทำให้รถยนต์ที่ราคา 4ล้านเยน อาจจะเหลือเพียงแค่ 2.8ล้านเยนเลยทีเดียว ปัจจบุันรัฐมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มสถานีชาร์จไฟ ในปี 2016ที่ญี่ปุ่นมีรถ EV เพียงแค่ 60,000คันเท่านั้น ซึ่งถ้ามองว่าเป็นประเทศเจ้าเทคโนโลยีรถยนต์แล้วละก็ ปริมาณแค่นี้ถือว่าน้อยจริงๆ แต่รัฐบาลมุ่งมั่นและเข้าใจอินไซต์ของคนใช้รถเป็นอย่างดีว่า ถ้าหากจะเพิ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้องสร้างความอุ่นใจว่าวิ่งไปแล้วจะมีที่ชาร์จไฟ โดยมีการคำนวณว่าต้องทำให้ผู้ใช้งานสามารถชาร์จไฟได้ทุกๆ 30กิโลเมตร และต้องทำให้จุดชาร์จไฟมีเทียบเท่ากับจุดที่สามารถเติมน้ำมันในปัจจุบัน

ประเทศไทยช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน

สำหรับกระแสตอบรับในประเทศไทยมีความตื่นตัวขึ้นเรื่อยๆ มีหลายองค์กรเห็นความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรีเทล ค้าปลีก อสังหาริมทัพย์ ไปจนถึงผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมรถยนต์ ต่างก็จับตาและทดลองลงทุนเพื่อจับเทรนด์นี้ให้ได้ก่อน ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้และสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคก่อนใครเพื่อนแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพจำ ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม ความเป็นเจ้าเทคโนโลยี และ First Mover ของวงการการตลาด ผลพลอยได้ที่มาถึงผู้บริโภคก็คือ การได้ใช้บริการเหล่านี้ไปด้วย

ในส่วนของภาครัฐเองก็ให้การสนับสนุนอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบทุกระดับ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย (Motor Driven Vehicle) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้งานได้ รวมทั้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการนำรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้เป็นรถยนต์บริการในบางที่พื้นที่ เช่น สนามบิน หรือบริเวณที่ปลอดมลพิษ อย่างเขตอุทยานประวัติศาสตร์

ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้มีการคาดการณ์กันว่า สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะอยู่เพียง 1% ของยอดขายรถใหม่ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดรถโลกที่ประมาณ 2.5% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราภาษีที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรามีราคาสูง แต่ภายในระยะเวลา 5 ข้างหน้านับจากนี้ อัตราภาษีมีแนวโน้มว่าจะลดลง

การกระตุ้นดีมานด์ในประเทศ มีส่วนทำให้เกิดการลงทุนและพัฒนาในส่วนของการผลตเพื่อรองรับกับความต้องการนั่น ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดเทคโนโลยี การแข่งขัน และการสร้างงานในประเทศที่สอดคล้องกับเทรนด์แห่งอนาคต ดังนั้นรัฐจึงต้องมองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ“ความปลอดภัย” ของผู้บริโภค ซึ่งนอกเหนือจากกระบวนการผลิตที่ผ่านการตรวจสอบมาเป็นอย่างดีแล้ว ในช่วงแรกๆ ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า วิธีการ และอุปกรณ์การชาร์จเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเผยแพร่ให้กับผู้ใช้งานได้เข้าใจอย่างถ่องแท้…

 

ทำความรู้จักอุปกรณ์และระบบการชาร์จ

สำหรับการชาร์จที่ถูกต้องนั่น ขณะนี้มีอยู่ 3 รูปแบบที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ

  1. แท่นชาร์จแบบWall Charger ซึ่งต้องติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ และเป็นการติดตั้งแบบตายตัว ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ข้อดีคือ สามารถชาร์จได้เร็ว เพราะมาจากแหล่งพลังงานโดยตรง ตอนนี้พบเห็นได้มากในลานจอดรถห้างสรรพสินค้า โครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ และสถานีบริการน้ำมันบางแห่ง

2. การชาร์จแบบสายแปลง Adapter (Portable Charger) ที่จะมีหัวปลั๊กไปแบบ 3ขามาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งข้อดีก็คือ สามารถชาร์จที่ไหนก็ได้ สะดวกตอบโจทย์ชีวิต Mobilityของคนยุคใหม่ แต่จุดที่เสียบชาร์จต้องพลังงานมากพอ จุดสังเกตง่ายๆ ก็คือ ระบบไฟฟ้าต้องสามารถรองรับการใช้งานแอร์คอนดิชั่นเนอร์ได้เป็นอย่างดี

3. การชาร์จผ่านตู้ชาร์จเร็ว DC (DC Fast Charger หรือ DC Quick Charger) ข้อดีของตู้นิดนี้คือ การที่มีกำลังไฟสูงมากกว่า 350กิโลวัตต์ ทำให้สามารถชาร์จไฟได้เร็วมาก อาจจะใช้เวลาเพียง 30นาที – 1ชั่วโมงเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น Nissan Leaf แบตเตอรี่สามารถรับไฟได้สูงสุดที่6.6 kW/h โดย Nissan Leaf รุ่นที่มีขนาดแบต24 kWh จะใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 4ชั่วโมง หรือ 5ชั่วโมงสำหรับ Leaf ที่ใช้ แบตเตอรี่ 30kWh แต่หากชาร์จในรูปแบบ DC Fast Charge จะใช้เวลาราว 25นาทีส่วนหัวชาร์จมี 2 Type ซึ่งในประเทศไทยมีทั้ง 2แบบนั้นก็คือ

-Type 1เป็นหัวชาร์จที่สามารถรองรับกำลังไฟได้ 32 A, 250 V. นิยมใช้กันมากในฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่น

– Type 2หัวชาร์จที่ผ่านการปรับปรุงให้รองรับกำลังไฟได้มากกว่าเดิม โดยเฟสแรก สามารถรองรับไฟได้ 70 A, 250 V. แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก สามารถรองรับไฟได้ 63 A, 480 V. เป็นที่นิยมใช้กันมาในยุโรปและประเทศจีน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการติดตั้งระบบป้องกันความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นสายดิน เบรกเกอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานต้องมีความเข้าใจ ศึกษาคู่มือประจำรถมาเป็นอย่างดีแล้ว เพราะหัวชาร์จทั้ง 2แบบนี้มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามเริ่มมีตู้ชาร์จที่ให้บริการทั้ง 3แบบ หรือมีผู้ให้บริการที่สามารถดำเนินการเปลี่ยนสายและหัวชาร์จโดยที่ตัวเครื่องยังใช้เครื่องเดิมได้ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้หรือปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้ง่ายขึ้น

 

3 ข้อดีของรถยนต์พลังงาน EV

เมื่อแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ตลอดจนภาคธุรกิจในประเทศไทยที่จับกระแสนี้แล้ว สำหรับเราในฐานะผู้บริโภคอาจจะเริ่มต้นคิดถึง และศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รู้ก่อน มีข้อมูลก่อน ได้ตัดสินใจก่อน โดยข้อดีของการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่น

  1. ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิง เพราะเสียบชาร์จกับไฟบ้านได้ปกติ แถมตอนนี้ห้างสรรพสินค้าหรือโครงการคอนโดมิเนี่ยมที่เล็งเห็นความสำคัญของพลังงานทางเลือกก็มีสถานีชาร์จไฟให้บริการฟรีด้วยนะ
  2. ค่าดูแลรักษาที่ถูกกว่า เนื่องจากกระบวนการของรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ต้องมีการจุดระเบิดเผาไหม้เหมือนเครื่องยนต์เชื้อเพลิง และยังไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาน้อยลง
  3. เพราะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% จะไม่มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไม่มีการเผาไหม้เกิดขึ้น มลพิษกลายเป็นศูนย์ ซึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราดีขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าEV เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งหนึ่งในตัวแปรสำคัญสำหรับผู้บริโภคนั้นคือความสะดวกสบายและต้องง่ายต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน อาทิเช่นระยะเวลาในการชาร์จและสถานีชาร์จที่ต้องใช้เวลาไม่มากในการชาร์ทและสามารถหาได้ง่าย รวมทั้งความเข้าใจเรื่องเครื่องยนต์ของรถ EV ก็ยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง

ดังนั้นจึงนับเป็นแนวทางที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งผู้บริโภคต้องช่วยกันพัฒนาและเรียนรู้กันต่อไป โดยมี “สิ่งแวดล้อม” และ “สังคมโลก” เป็นเดิมพัน ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงและช่วยโลกของเราได้จริงหรือไม่ “จุดเปลี่ยน” สำคัญน่าจะอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำตลาดต้องเป็น “รถยนต์ระดับแมส” ที่ผู้บริโภคเอื้อมถึง มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ซึ่งนั่นจะช่วยปรับพฤติกรรม ความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและบริการต่อเนื่องอื่นๆ ทั้งหมดในอุตสาหกรรม


แชร์ :

You may also like