ละครดัง “เลือดข้นคนจาง” ที่ออนแอร์ไปไม่นานมานี้ ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า นี่คือเรื่องราวจริงๆ ของตระกูลใด สังคมต่างให้ความสนใจไปยังตระกูลดังอย่าง ธรรมวัฒนะ ที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันและทำให้หลายๆคน เริ่มค้นหาเรื่องราวในอดีตของตระกูลดังกล่าว
นอกจากนี้ ละครดัง “เลือดข้นคนจาง” ยังสร้าง Buzz เกี่ยวกับ #เฮงซวย กันเอิกเกริก เมื่อละครออนแอร์ถึงตอนที่ ภัสสร ทายาทหญิงในตระกูลที่ดูแลธุรกิจมาตลอด แต่กลับได้รับมรดกเพียงเงินสด 200 ล้านบาท ด้วยเหตุผลว่า ผู้หญิง “ แต่งออก” มรดกจึงตกกับ “ประเสริฐ” พี่ชายคนโต และทำให้เธอเอ่ยคำว่า เฮงซวย จนกลายเป็นแฮชแท็กที่โด่งดังติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ปัญหาของธุรกิจครอบครัวที่ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาและดำรงอยู่จริงทำให้ละครเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ทุกคน “อิน” ได้ไม่ยาก ที่สำคัญทำให้ธุรกิจครอบครัวหรือ Family Business หลายๆ ครอบครัวตื่นตัวกันมากขึ้น เนื่องจากละครเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ บางแง่มุมที่หลายๆ ธุรกิจครอบครัวมองข้ามไป หรือกำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกันอยู่แบบ “แทงใจดำ”
ดังนั้น การจัดงานสัมมนา “ถอดบทเรียนธุรกิจครอบครัว จากละคร เลือดข้นคนจาง” ซึ่งจัดโดย ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ReedTradex และ FAMZ (แฟมซ์) โดยได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ
ดร.นพดล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีจี คอปอเรชั่น จำกัด พร้อมด้วย ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล และดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ซึ่งได้ร่วมพูดคุย เพื่อถอดบทเรียนจากละครดังกล่าวและสะท้อนเรื่องราวปัญหาความขัดแย้งของธุรกิจครอบครัวจากละครสะท้อนแนวคิด ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาให้กับเหล่าธุรกิจครอบครัวจึงเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้เข้าร่วมงานสัมมนาและสาธารณชนทั่วไป
เนื่องจากกว่า 80% ของปัญหาความขัดแย้งจากครอบครัวหรือธุรกิจมักจะเป็น “จุดเริ่มต้นของจุดจบตระกูล” โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่เคยมีปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว แน่นอนว่า
สถานการณ์เหล่านี้ย่อมจะทำให้จุดเริ่มต้นของความกดดันเหล่านี้ลากยาวไปสู่จุจบของสถานการณ์ได้ ด้วยว่า ธุรกิจครอบครัวนั้นมีความสมดุลของสองฟากที่ต้องรักษานั่นคือความต้องการของ “ธุรกิจ” กับ “ครอบครัว” ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ทั้งนี้ ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล ได้ให้คำแนะนำการรักษาสมดุลนี้ว่า “สมาชิกครอบครัวต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองเสียก่อน หากจะกล่าวให้เห็นภาพก็ต้องขออ้างอิงจากทฤษฎี The Three Circle Model of Family Business วงกลมสามวงที่อธิบายถึงบทบาทการบริหารงาน การบริหารธุรกิจและการบริหารครอบครัวซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของหรือสมาชิกที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ทั้งสามวงนี้ให้ดีก่อน เพราะบางบทบาทหน้าที่มีส่วนทับซ้อนกัน บางคนเป็นสมาชิกครอบครัวและเป็นทั้งเจ้าของ บางคนเป็นสมาชิกครอบครัวเป็นเจ้าของและเป็นทั้งผู้บริหารด้วย จากทฤษฎีนี้หากเราเข้าใจว่า เราอยู่ตรงพื้นที่ไหนของวงกลมแล้วพื้นที่นั้นควรได้รับอะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร จะทำให้การอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวและการบริหารงานราบรื่นไปด้วยดี แต่ถ้าสมาชิกเกิดสับสนในบทบาทหน้าที่ปัญหาก็จะวนซ้ำ มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา”
ทั้งนี้ จากละครและกรอบทฤษฎีที่ ผศ.ดร.เอกชัยกล่าวถึงนั้นตรงกับชีวิตจริงของ ดร.นพดล ธรรมวัฒนะ ซึ่งเปิดเผยแง่มุมชีวิตส่วนนี้ว่า “หลังจากเหตุการณ์คุณแม่เสียชีวิตได้ 10 ปี สมาชิกบางคนไม่ได้เคารพในจุดยืนของตัวเองว่าอยู่ในตรงจุดไหน ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนอยู่ในสถานะบทบาทความเป็นเจ้าของที่มีสูงเหลือเกิน จนไม่อาจที่เคารพว่าจะบริหารอย่างไร หรือให้ได้รับผลประโยชน์อย่างไรในทางทฤษฎีฟังดูแล้วง่าย แต่พอเอาเข้าจริงๆ คุณสามารถสวมบทบาทอย่างนี้ได้หรือไม่” หากลองเปรียบเทียบกับตัวละคร “ภัสสร” ที่ได้รับมรดกเป็นเงินสดจำนวน 200 ล้านบาทแล้วต้องการซื้อหุ้นโรงแรมเพื่อบริหารธุรกิจที่ตนเองได้ทำมาตั้งแต่วันแรกกับประเสริฐพี่ชายคนโตของตระกูล แต่ถูกกลับปฏิเสธเพียงเพราะเธอแต่งงานออกจากตระกูลไปแล้วภัสสรคิดว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเธอ นี่จึงเกิดที่มาขอ แฮชแท็ค #เฮงซวย ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ หากตัวละครภัสสรเข้าใจบทบาทหน้าที่ตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของพื้นที่วงกลมสามวงนี้ เธออาจไม่ต้องน้อยใจหรือถามถึงความยุติธรรมจากมรดกที่ได้รับเพียงเพราะเธอเป็นลูกสาวตามธรรมเนียมมจีนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแบ่งมรดกของธุรกิจครอบครัวนั้นทั้งสามท่านได้ให้มุมมองว่าการที่จะตัดสินว่า กรณีนั้นๆ มีความยุติธรรมหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจตามเหตุและผลของผู้ตัดสินใจ หากเราอยู่ในสถานะของผู้รับมรดกก็ย่อมต้องเข้าใจและยอมรับเหตุผลของผู้ที่มอบมรดกให้แก่เรา เพราะคำว่า “ความยุติธรรม” กับ “ความเท่าเทียม” คือคำคนละความหมาย” ปัญหาความขัดแย้งยังคงเป็นเรื่องธรรมชาติเมื่อมีมนุษยสัมพันธ์เกิดขึ้นความขัดแย้งเป็นไปได้ทั้งบวกและลบ หากสมาชิกครอบครัวสามารถจัดการแก้ไขได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว สภาครอบครัวและสภาธุรกิจ คือ กลไกสำคัญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาและส่งต่อความยั่งยืนของตระกูลต่อไปได้