ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา คำว่า “AI” กลายเป็นคำยอดฮิตที่พูดถึงกันแพร่หลาย แต่ AI (Artificial Intelligence) หรือในหมู่คนไทยเรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ ที่ฉลาดมากๆ นี้เกิดขึ้นจากแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เกิดจากเทคโนโลยีที่คนเราเป็นคนสร้างขึ้นผ่านการป้อนข้อมูลและด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ทำให้วันนี้ AI สามารถจดจำ สร้างระบบการคำนวณ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลได้เอง
วันนี้ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนเราอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องของหุ่นยนต์ อย่างที่ดูกันในหนังดังๆ iRobot, Terminator, Pacific Rim, Real Steel ฯลฯ แต่ใกล้ชิดเรามากโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว เพราะถ้าสังเกตให้ดีไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่ ที่สั่งเปิดปิดเครื่องได้ด้วยการสแกนใบหน้า Real-time (Face Scan) กล้องหน้า กล้องหลัง (AI Camera) ที่สามารถถ่ายได้ชัดแจ๋ว รู้แม้กระทั่งว่าภาพที่ถ่ายอยู่เป็นคน ดอกไม้ รถยนต์ ธรรมชาติ ฯลฯ หรือแม้แต่สมาร์ททีวีทุกวันนี้ที่สามารถสั่งงานเปิดปิดเปลี่ยนโหมด เปลี่ยนช่อง ค้นหารายการที่ชอบ ด้วยเสียงพูดได้ โดยที่ไม่ต้องกดผ่านรีโมทอีกต่อไป เพราะใช้ AI มาช่วยด้วยระบบการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) รวมไปถึง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ
อุปกรณ์ใกล้ตัวทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนแต่มีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอำนวยความสะดวก สร้างความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์แทบทั้งสิ้น
หากมองในเชิงของธุรกิจ AI ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถออกแบบสินค้าและบริการให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง ยกตัวอย่าง ธนาคาร สถาบันการเงินของไทยทุกวันนี้ต่างทุ่มงบในการทำ R&D (Research and development) นำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อช่วยรวบรวมและประมวล BIG DATA หรือ ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าที่มีอยู่มหาศาล เพื่อวิเคราะห์ และปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้าในแต่ละราย ซึ่งการนำ AI มาช่วยแบบนี้ไม่เพียงเข้าถึงลูกค้า และตอบโจทย์สินเชื่อได้แบบเฉพาะคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ในมุมของธนาคารยังลดต้นทุน และความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิด สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่ได้ยินกันคุ้นหูว่า NPL (Non-Performing Loan)
นอกจากในเชิงของธุรกิจแล้ว ทางภาครัฐยังมีการนำ AI มาช่วยจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสร้างประโยชน์แก่คนไทยในเชิงมหาภาคด้วย อาทิ การบูรณาการทางด้านครอบครัว โดยมีการนำ AI สร้างสูตรสำหรับคัดกรองพ่อและแม่ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรให้มีคุณภาพที่ดีได้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถวางแผนให้ความช่วยเหลือกับพ่อและแม่ ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ เป็นเยาวชนที่ดีในอนาคตได้
หรือการลดปัญหาการตัดไฟฟ้าจากการชำระเงินล่าช้า โดยใช้ AI จัดกลุ่มประชากรกว่า 3.3 ล้านครัวเรือน ตามพฤติกรรมการชำระค่าไฟและการใช้ไฟของผู้ใช้ไฟจากการไฟฟ้านครหลวง เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการให้คำแนะนำช่องทางการชำระค่าไฟฟ้าก่อนที่จะโดนตัดไฟ ซึ่งทำให้การไฟฟ้านครหลวงประหยัดค่าใช้จ่ายในการต่อมิเตอร์ไฟหลังจากผู้ใช้ไฟถูกตัดได้
ร่วมนำมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว การใช้ข้อมูล Social media และ AI ศึกษาความเห็นของนักท่องเที่ยวจาก Trip advisor เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ มาสร้างการแสดงผล (Visualization) และนำมาช่วยในการวางแผนจัดการการท่องเที่ยว การบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม
ถัดมาคือ เตรียมความพร้อมของท่าอากาศยาน โดยนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่มีอยู่ และใช้ AI มาช่วยทำการวิเคราะห์ เพื่อจัดกลุ่มลักษณะภูมิอากาศ และวิเคราะห์ข้อมูลอนุกรมเวลา (Time series) ช่วยให้ท่าอากาศยานมีข้อมูลลักษณะภูมิอากาศที่เป็นปัจจุบัน ทำให้เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการการขึ้นและลงของเครื่องบินได้ดียิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นต้น
สมดุล ระหว่าง AI กับ สังคมไทย
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ไม่อาจปฏิเสธเทคโนโลยี AI ได้อีกต่อไป คำถามที่ตามมาคือ AI จะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง และเข้ามาทดแทนศักยภาพของคนเราไปจนหมดสิ้นหรือเปล่า
คำตอบคือ ไม่มีอะไรทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามีความชาญฉลาดมากขึ้น ทักษะความสามารถของคนเราก็ควรพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานใหม่ๆ
ดังนั้น หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในบ้านเรา จึงเร่งเดินหน้า และศึกษาบริบทของการพัฒนาระหว่างคน และเทคโนโลยีไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการสถาบันวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แนะว่า “โอกาสในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มีอนาคตที่สดใส เพราะสามารถแก้ปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งทางด้านเศรษฐกิจในทุกมิติ และช่วยให้มนุษย์มีประสิทธิผลมากขึ้นทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตามความท้าทายที่สำคัญต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ อาทิ ความยากในการพิจารณาการลงทุนในธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ที่ซับซ้อนนั้นยากต่อการเข้าใจและเห็นถึงความแตกต่างระหว่างบริษัท ความยากในการวัดความก้าวหน้าในปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากไม่มีตัวชี้วัดที่จะตัดสินได้ถึงคุณภาพของข้อมูล กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปในบางอุตสาหกรรม และสุดท้ายคือ ความยากในการจัดการข้อมูล เนื่องจากข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ข้อมูลมีทั้งรูปแบบที่แน่นอนและไม่แน่นอน และข้อมูลมีความซับซ้อน”
ส่วนทางด้าน ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำว่าการวางรากฐานให้ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยได้อย่างลงตัว และเต็มประสิทธิภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญใน 4 ด้านหลักๆ
“เริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง การปรับแต่งเทคโนโลยีให้เข้ากับสภาพการใช้งานจริง เช่น ในด้านของภาษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่กฎหมายและกรอบนโยบาย การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรและนักพัฒนาทั่วประเทศให้นำ AI มาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ และปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการมาโดยเฉพาะ เพื่อความสำเร็จของลูกค้าในประเทศไทย”
ในขณะที่ ดร. พญ. พิจิกา วัชราภิชาต เป็นนักวิจัยชาวไทยผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เชื่อว่า AI และ machine learning เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต แต่แม้ว่า AI จะสามารถทำงานในหลายๆ ด้านได้แม่นยำกว่ามนุษย์มาก ทว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ถือเป็นภัยต่อโอกาสในการทำงานของมนุษย์ เพราะ AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ แต่จะสามารถเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถทำงานกับข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพกว่าที่เคย ตัดสินใจได้แม่นยำกว่า และเดินหน้าสู่การค้นพบในหลากหลายสาขาได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนคงเห็นประโยชน์และบริบทของ AI มากขึ้นพร้อมกับเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต อย่างเข้าใจ และมีความสุข
ผู้ที่สนใจก็ต้องศึกษาและเลือกใช้อย่างชาญฉลาด โดยสามารถศึกษาข้อมูล และติดตามข่าวสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เพียงเข้าไปได้ที่ http://www.depa.or.th