ประกาศผลประกอบการปีล่าสุดไปเรียบร้อย สำหรับโออิชิ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น โดยปีงบประมาณ 2018 (ต.ค. 2018 – ก.ย. 2019) มีรายได้รวม 12,596 ล้านบาท รักษาผลกำไรไว้ได้ที่ 1,008 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในอัตราที่เท่ากันประมาณ 50% เติบโตลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า และถือเป็นหนึ่งปีที่ค่อนข้างท้าทายจากหลายๆ ปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แต่เชื่อว่าในปีนี้ (ปีงบประมาณ 2019) จะเป็นหนึ่งปีที่สดใสทั้งจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งการมาของเมกะเทรนด์ที่จะเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสามารถเติบโตได้
5 เทรนด์ 4 ปัจจัย ดันโออิชิโต
คุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในปัจจุบัน นำมาซึ่งเมกะเทรนด์ที่มองเห็นและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นโอกาสของธุรกิจที่สามารถตั้งรับและปรับตัวให้สอดคล้องไปกับเทนรด์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะใน 5 เมกะเทรนด์หลัก ซึ่งโออิชิมองว่าช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้โดยตรง ประกอบด้วย
1. Urbanization การขยายตัวของสังคมเมือง ที่ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น รวมทั้งต้องการความสะดวกสบายยิ่งขึ้น นำมาซึ่งการเติบโตของกลุ่มธุรกิจแพ็กเกจฟู้ดส์ หรือกลุ่ม Grab & Go ทั้งหลาย เพราะสามารถตอบโจทย์เรื่องของความสะดวกสบายที่ผู้บริโภคต้องการได้
2. Growing Middle Income Class การเติบโตของประชากรผู้มีรายได้ระดับกลาง ซึ่งแม้จะไม่ใช่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก แต่ก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยคาดว่ากลุ่มชนชั้นกลางจะขยายตัวจนมีมากกว่า 55% ในปี 2020 จากปี 2015 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ราว 25% ทำให้กำลังซื้อโดยภาพรวมทั้งประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์มากกว่าแค่การคำนึงถึงราคาถูก แต่เน้นที่ความคุ้มค่าและเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก
3. Tech-Dependent Lifestyles การพัฒนาของเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเป็น Mobile First ของผู้คนในปัจจุบันที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เป็นโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถ Offer ความสะดวกสบายต่างๆ ให้ลูกค้าได้มากขึ้นเช่นกัน
4. Healthy Eating / Aging Society กระแสคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ รวมทั้งอัตราส่วนผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่ภาพของอาหารญี่ปุ่นก็มีความชัดเจนใน Positioning ของอาหารเพื่อสุขภาพ ความพิถีพิถัน และการให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพอย่างเคร่งครัด จึงเป็นหนึ่งทางเลือกของคนกลุ่มนี้
5. Asian Century ความสำคัญของตลาดเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก หรือการพัฒนาเทคโนโลยี หรือ Innovation ต่างๆ จากเดิมที่จะมาจากฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนที่อยู่ในภูมิภาคที่ใกล้ชิดกับไทย และเป็นตลาดใหญ่ ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักที่โออิชิจะบุกเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยภายในต่างๆ ทั้งสัญญาณที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศไทยเอง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของทางโออิชิก็จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะผลักดันให้ภาพรวมธุรกิจในปี 2019 เติบโตได้ดีมากขึ้น โดยปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย
1. การจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งจากการลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของประชาชนที่กล้าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ตลาดมีความคึกคัก หลังจากอยู่ในภาวะซบเซามาหลายปี
2. จากนโยบายของรัฐบาลที่อัดฉีดเงินสวัสดิการไปยังกลุ่มรากหญ้า ซึ่งช่วยกระจายกำลังซื้อให้เติบโตไปได้ในภาพรวมทั้งประเทศ รวมถึงต่างจังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดการจับจ่ายกระจายตัวออกไป และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่จะคึกคักมากขึ้น
3. การทำการบ้านอย่างหนักของทีมโออิชิ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ถือเป็นโอกาสดีในการจัดทัพและปรับตัวกันภายใน โดยให้ความสำคัญทั้งในมิติของ Top Line และ Bottom Line โดยเฉพาะการวางกลยุทธ์เชิงรุกทั้งในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำที่แข็งแกร่ง และยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4. การสร้างความแข็งแรงให้กับอีกหนึ่ง Business Unit อย่าง “กลุ่มแพกเกจฟู้ดส์” เพื่อทำตลาดในธุรกิจอาหารพร้อมทาน-พร้อมปรุงอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งขาธุรกิจที่แข็งแรงของโออิชิ เช่นเดียวกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่โออิชิเป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจร้านอาหารหลายเท่าตัว รวมทั้งมีเซ็กเม้นต์ที่หลากหลาย ขณะที่โออิชิมีความพร้อมทั้งใน Brand Awareness และ Positioning ที่ค่อนข้างแข็งแรงและชัดเจน หากสามารถเข้ามาเป็นหนึ่งใน Key Player ของตลาดนี้ได้ก็จะเพิ่มการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด
เป้าหมาย Somebody ในตลาดอาเซียน
การขับเคลื่อนของโออิชิ กรุ๊ป สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่อย่างกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ที่ตั้งเป้าเป็นผู้นำในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะการสร้างให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ทั้งในแง่ของรายได้ที่ต้องโตได้เท่าตัวและรักษาผลกำไรที่ดีเอาไว้ ตามที่ประกาศไว้ใน Vision 2020
ขณะที่โออิชิเองก็มีเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งการรักษาความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและยั่งยืน และการเป็นแบรนด์สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทั้งในธุรกิจอาหารและชาพร้อมดื่มของประเทศไทย รวมทั้งการขยับจากแค่ในตลาดประเทศไทย ไปเป็น Somebody ในตลาดอาเซียน ให้ได้
สำหรับคำว่า “Somebody” ที่โออิชิต้องการจะเป็นนั้น คือ การเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำตลาดรู้จัก เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีขื่อเสียง และมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนตลาดนั้นๆ ทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
โดยคุณนงนุช อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโออิชิเริ่มส่งออกเครื่องดื่มไปในต่างประเทศบ้างแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดอาเซียนซึ่งโออิชิสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ในหลายๆ ตลาด ขณะที่ในกลุ่มอาหารแม้จะมีคนสนใจติดต่อเข้ามาเพื่อต้องการนำธุรกิจของโออิชิไปขยายในประเทศของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว สิงคโปร์ แต่มองว่าตอนนี้ยังไม่มีความพร้อมในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ
“การที่เราจะขยายธุรกิจออกไป เราต้องมั่นใจว่าเรามีความพร้อมมากที่สุด ต้องแข็งแรงและมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบคุณภาพสูงสุดให้แก่ลูกค้าได้ ซึ่งอาจจะง่ายในกลุ่มเครื่องดื่มที่ทุกอย่างถูกผลิตออกมาสำเร็จรูปจากโรงงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครที่นำไปขายลูกค้าก็จะได้รับรู้ถึงคุณภาพจากแบรนด์โออิชิได้ ขณะที่ในธุรกิจอาหาร จะมีหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง ทั้งเรื่องของโอเปอเรชั่น หรือคนที่จะมาบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์หรือแฟรนไชส์ที่ต้องเข้าใจ Core Value ของแบรนด์ เพราะถ้านำแบรนด์ไปแล้วไม่สามารถคุมคุณภาพได้เทียบเท่ากับในประเทศไทยหรือทำได้ไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของแบรนด์ ทำให้แบรนด์เสียชื่อเสียง ส่วนลูกค้าที่เคยเข้ามาแล้วไม่ประทับใจ โอกาสที่จะกลับมาใช้บริการครั้งใหม่ก็เป็นไปได้ยาก”
ดังนั้น การจะเป็น Somebody ในธุรกิจอาหาร ต้องอาศัยการทำการบ้านอย่างหนักและต้องมองอย่างรอบคอบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ ที่มีทั้งการดูแลควบคุมคุณภาพ ภาษีนำเข้าต่างๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ รวมทั้งเรื่องของต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้ต้องจัดการ Operation ต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี และต้องใช้ทีมงานที่เข้ามาดูแลและทำตลาดอย่างจริงจัง หรือเป็นการขยายเข้าไปในลักษณะที่เป็นอีกหนึ่ง Strategic Country
สุดท้ายแล้ว หากโออิชิทำได้ครบถ้วนทุกอย่างแล้ว ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของงานบริการ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของความสำเร็จเช่นกัน ทำให้ต้องมีการตั้งทีมงานเพื่อมาดูแลและศึกษาในเรื่องเหล่านี้ และต้องมีความพร้อมในระดับสูงสุดก่อนที่จะเดินหน้า เพราะเรื่องของคุณภาพเป็นสิ่งเดียวที่โออิชิจะไม่มีทางประนีประนอมอย่างเด็ดขาด
“ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและศึกษา เพื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบการขยายธุรกิจออกไป ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการแต่งตั้งแฟรนไชส์ การหาพาร์ทเนอร์ หรือแม้แต่การขยายธุรกิจด้วยตัวเอง โดยจะเน้นที่กลุ่มประเทศ CLMV ก่อน เนื่องจากเป็นตลาดที่มี Brand Awareness มาแล้วจากกลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งเมื่อคนในประเทศเหล่านี้มาเมืองไทยก็จะมีโอกาสได้มาทดลองทานอาหารในเครือโออิชิอยู่บ้าง ดังนั้น หากขยายธุรกิจอาหารเข้าไปในประเทศเหล่านี้ ก็เชื่อว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้จักและพร้อมที่จะเข้ามาใช้บริการ แต่การจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องอาศัยเวลาเป็นส่วนประกอบด้วย”
วางกลยุทธ์เชิงรุกปี 2019
ขณะที่ภาพรวมทั้งกรุ๊ปของโออิชิในปี 2018 เติบโตลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มที่ต้องเผชิญหลายปัจจัยรุมเร้า ทำให้ตลาดชาเขียวเติบโตได้น้อยที่สุดตั้งแต่มีการทำตลาดชาเขียวมากว่า 15 ปี
ตามข้อมูลของเนลสันระบุว่าตลาดชาเขียวหดตัวลงประมาณ 20% ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเริ่มบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียว ทำให้ตลาดเกิดภาวะช็อกโดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศใช้ใหม่ๆ ที่ในช่วงนั้นตลาดหดตัวลงถึง 45% แต่เชื่อว่าเมื่อผ่านพ้นสภาวะนี้ไปแล้วตลาดจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติ
คุณเจษฏากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมตลาดชาเขียวพร้อมดื่มที่ตกลงอย่างหนัก ทำให้ภาพรวมของโออิชิตกลงราว 9% แต่จากการตั้งรับเป็นอย่างดีทำให้โออิชิยังรักษาความเป็นผู้นำที่แข็งแรงของตลาดไว้ได้ รวมทั้งสามารถทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญในตลาดที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน แตกต่างกันเพียง 1 Digit แต่ล่าสุดสามารถทำแชร์ทิ้งห่างเบอร์สองในตลาดได้แล้วถึง 16%
รวมทั้งยังสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะ Top of Mind Brand ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ โออิชิเป็นเพียงแบรนด์เดียวที่ผู้บริโภคนึกถึง และยังเป็นแบรนด์แรกที่ลูกค้าเลือกเมื่อต้องการจะซื้อ รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ได้อย่างชัดเจนทั้งเรื่องของความเป็นญี่ปุ่น แบรนด์ที่มีความสนุกสนาน และเหมาะกับกลุ่มวัยรุ่น สะท้อนถึงความสำเร็จในการทำตลาดของโออิชิได้เป็นอย่างดี
ส่วนกลยุทธ์ที่จะใช้รุกตลาดในปี 2019 มีรายละเอียดต่อไปนี้
– เน้นการทำตลาดเชิงรุกโดยเลือกโฟกัสจากสินค้าและตลาดที่มีศักยภาพ หรือมีโอกาสที่จะเติบโตได้ โดยเฉพาะใน Core Flavors ที่ขายดีทั้งในตลาดประเทศไทยและหลายๆ ตลาดทั้งอาเซียนและในโซนยุโรปอย่างรสฮันนี่เลมอน ด้วยสัดส่วนยอดขายสูงถึง 60% และจะสร้างให้โปรดักต์ยิ่งแข็งแรงและแตกต่าง ด้วยสูตรดับเบิลเลมอน พร้อมใช้พรีเซ็นเตอร์อย่าง BNK 48 เพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และจะใช้ Key Visual เดียวกันนี้เพื่อทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย
– การรุกตลาดกลุ่มชาพรีเมียมซึ่งเป็นเซ็กเม้นต์ที่ยังคงเติบโตได้ดีถึง 2 หลัก ด้วยการรีลอนช์โปรดักต์กลุ่ม Healthy Premium ในสินค้าซีรี่ส์โออิชิ โกลด์ จำนวน 3 รสชาติ ได้แก่ โออิชิ โกลด์ คาบูเซฉะ สูตรไม่มีน้ำตาล และโออิชิ โกลด์ เก็นไมฉะ หรือข้าวคั่วญี่ปุ่น ที่มีทั้งสูตรหวานน้อย และสูตรไม่มีน้ำตาล สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังเติบโต
– ให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 25% ของรายได้ ด้วยการทำตลาดเชิงรุกทั้งในกลุ่มประเทศ Strategic Country ใน 4 ประเทศโซนอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา โดยจะมีทีมการตลาดเข้าไปดูแลทั้งในแง่ของการวางกลยุทธ์และการสร้างแบรนด์ รวมทั้งประเทศกลุ่ม Trading Country ที่เน้นส่งสินค้าออกไปจำหน่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้มากขึ้น เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยุโรปและอเมริกา ทำให้สามารถขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 24 ประเทศ เป็น 34 ประเทศ โดยเฉพาะความแข็งแรงในตลาดกัมพูชาและลาวที่โออิชิเป็นผู้นำในตลาดและมีการเติบโตในระดับสูง โดยกัมพูชาเติบโตได้ถึง 69% ส่วนลาวเติบโต 35% ส่วนในประเทศอื่นๆ รวมกันเติบโตได้เฉลี่ยถึง 30%
– ความสำเร็จของโออิชิในการทำตลาดและสร้างแบรนด์ในต่างประเทศ จนสามารถเติบโตได้ถึง 60% ยังเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบจากการที่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศหดตัวลงได้ ซึ่งมาจากการเข้าไปสร้างความแตกต่างในการทำตลาด โดยเฉพาะในกัมพูชา ที่พยายามสร้าง Brand Engagement ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการทำ Instant Win หรือชิงโชคต่อเนื่องทั้งปี รวมทั้งการจัดกิจกรรมโรดโชว์ต่างๆ แม้แต่การพัฒนาโปรดักต์เฉพาะในพื้นที่อย่างชาทับทิม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจนเป็นอีกหนึ่งรสชาติที่ขายดีในกัมพูชา รองจากฮันนี่เลมอน
ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารในปีนี้จะกลับมารุกตลาดด้วยการเพิ่มจำนวนสาขาใหม่อีก 19 สาขา ซึ่งเป็นการขยายสาขาที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี หลังจากปี 2013 ที่อยู่ในช่วงของการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ช่วงนั้นต้องเร่งเพิ่มจำนวนสาขาโดยขยายถึงปีละ 40-50 สาขา ก่อนจะรักษาระดับ New Store ไว้ที่ประมาณปีละ 15 สาขา จนมาปีนี้หลังจากเห็นสัญญาณบวกต่างๆ และทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีกว่าปีก่อนๆ ทำให้กลับมารุกขยายสาขามากขึ้นในปีนี้
คุณไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า ปี 2018 กลุ่มธุรกิจร้านอาหารสามารถเติบโตได้ทั้งรายได้และกำไร รวมทั้งสามารถขยายสาขาได้ตามเป้าหมาย โดยเปิดสาขาใหม่ไป 15 สาขา ทำให้มีสาขารวม 252 แห่ง แบ่งเป็นแบรนด์ต่างๆ คือ ชาบูชิ 136 สาขา, โออิชิ ราเมง 50 สาขา, คาคาชิ 22 สาขา, นิคุยะ 17 สาขา, โออิชิ บุฟเฟต์ 11 สาขา, โออิชิ อีทเทอเรียม 8 สาขา และโออิชิ แกรนด์ 1 สาขา รวมทั้งการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารในคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ทั้งการทำราคาบุฟเฟต์ให้หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกที่มากขึ้น หรือการเพิ่มคอนเซ็ปต์ร้านให้ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่และเทรนด์รักสุขภาพ รวมทั้งการเพิ่มแพลตฟอร์มให้บริการใหม่ๆ ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้สะดวกและสอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และการยึดมั่นในเรื่องของคุณภาพมาอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่การเติบโตในปี 2019 เชื่อว่าโอกาสยังมีอยู่มากจากแนวโน้มตามการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารในภาพรวม ทำให้กลับมาเร่งการขยายสาขามากกว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดย 19 สาขาใหม่ที่จะเปิดเพิ่มประกอบไปด้วย โออิชิ อีทเทอเรียม 5-6 สาขา ชาบูชิ 10 สาขา และที่เหลือจะเป็นคาคาชิ เดลิเวอรี่ โดยคาดใช้งบประมาณโดยรวมราว 400-500 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งปีที่จะต้องใช้ทั้งหมดทั้งในฝั่งของอาหารและเครื่องดื่มที่ราว 1 พันล้านบาท
“สิ่งที่จะโฟกัสของกลุ่มอาหารในปีนี้คือ การเพิ่ม Penetration ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้มีการปรับโมเดลของร้านให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เหมาะกับโลเกชั่นในการขยายธุรกิจ ที่ปีนี้จะเริ่มลงลึกไปในระดับอำเภอ หรือกลุ่ม Tier 3,4 มากขึ้น หลังเน้นกลุ่ม Tier 1-2 มาค่อนข้างครบแล้ว ทำให้ปรับลดขนาดร้านที่จะขยายลงจากไซส์ในยุค 1.0 ที่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ประมาณ 350 ตารางเมตร ก่อนจะค่อยๆ ปรับมาเป็น 200 ตารางเมตรในยุคต่อๆ มา จนล่าสุดอยู่ในยุค 5.0 ด้วยขนาดราว 160 ตารางเมตร รวมทั้งการมีโมเดลนอกห้างเพื่อรองรับธุรกิจเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจของโออิชิเองด้วย”
นอกจากไซส์ร้านที่เล็กลง เพื่อเหมาะแก่การขยายสาขาไปในทำเลระดับอำเภอมากขึ้นแล้ว ยังมีการปรับลดระยะเวลาในการจัดส่งเดลิเวอรี่ให้ลดลงจาก 45 นาที ให้เหลือเพียง 30 นาที ซึ่งจะทำให้โออิชิเป็นรายแรกในกลุ่มธุรกิจอาหาร ที่สามารถจัดส่งได้เร็วไม่ต่างจากฟาสต์ฟู้ด ด้วยการปรับโซนเพื่อลด Drive Time ลงจาก 15 นาที ให้เหลือเพียง 10-12 นาที รวมทั้งปรับเมนูอาหารให้สามารถจัดเตรียมได้เร็วขึ้น เพื่อให้ใช้เวลาทั้งกระบวนการไม่เกิน 30 นาที ซึ่งจากการทดลองนำไปใช้ในบางสาขาพบว่า การลดเวลาในการจัดส่งลงทำให้มีปริมาณออเอร์เพิ่มขึ้น 2 Digit ส่งผลให้ยอดการสั่งเดลิเวอรี่เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน
“เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดส่งเดลิเวอรี่เน้นการเพิ่ม Penetration ของพื้นที่ในการจัดส่งเป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลโดยรอบ ที่ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60% ต้องการขยายให้เป็น 80% ก่อนจะขยายพื้นที่ในต่างจังหวัดเพิ่มเติมในสเตปต่อไป”
เตรียมเปิด Sub-Brand ใหม่ ลุยขาธุรกิจที่สาม
ปีนี้โออิชิ ยังได้แยกหน่วยธุรกิจใหม่ในกลุ่มแพกเกจฟู้ดส์ออกมาเป็นอีกหนึ่ง BU ใหม่ จากที่เคยอยู่ในกลุ่มเดียวกับธุรกิจอาหาร เนื่องจากจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการทำให้โออิชิ พิชิตเป้าหมายที่ต้องการสร้างให้ธุรกิจเติบโตและเป็นผู้นำตลาดที่แข็งแรง จากตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยเตรียมจะเปิดตัวซับแบรนด์ใหม่ ในกลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมทาน- พร้อมปรุง ในราวเดือนเมษายน 2019 พร้อมกับเป้าหมายเพื่อผลักดันให้กลุ่มธุรกิจนี้เติบโตมีขนาดเทียบเท่ากับสองธุรกิจหลักที่มีอยู่
คุณเมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจสำเร็จรูป โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า ความแข็งแกร่งของแบรนด์โออิชิทั้งในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม จะเป็นแต้มต่อในการทำให้ธุรกิจแพกเกจฟูดส์สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับเทรนด์ต่างๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตให้ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งการขยายช่องทางกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากที่สุด
“การผลักดันให้กลุ่มอาหารสำเร็จรูปของโออิชิเติบโตจะมาทั้งจากการเร่งทำตลาดและสร้างแบรนด์ด้วยกลยทุธ์ One Brand จากการมีแบรนด์หลักที่แข็งแรงอยู่แล้ว รวมทั้งการออกโปรดักท์ใหม่ที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละมื้อของวัน โดยเน้นความแข็งแรงใน Positioning ของการเป็น Real Japanese Experience ที่สามารถรับประทานได้อย่างสะดวกในทุกที่ รวมทั้งการสร้างความแข็งแรงในช่องทางจำหน่ายทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% โดยจะต้องเพิ่มช่องทางให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม Horeca ซึ่งมีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดใหม่ๆ จำนวนมาก และมีความต้องการสินค้าสำเร็จรูปเพื่อไปใช้ในร้านก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเติบโต รวมไปถึงการซินเนอร์จี้กับช่องทางกระจายสินค้าที่แข็งแรงของกลุ่มไทยเบฟเองด้วยเช่นกัน”