หลังจากโรงภาพยนตร์ลิโด ซึ่งมีกลุ่มเอเพ็กซ์ (Apex) เป็นผู้บริหารพื้นที่ หมดสัญญากับทางสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ลงเมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา (ประมวลภาพวันสุดท้าย ‘ลิโด’) ท่ามกลางความใจหายของใครหลายคน เนื่องจากโรงภาพยนตร์แห่งนี้อยู่คู่กับย่านสยามสแควร์มากว่า 50 ปี ทำให้ “ลิโด” เป็นมากกว่าแค่โรงภาพยนตร์ แต่ยังเป็นจุดกำเนิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ มาตั้งแต่ยุค 70 หลังจากเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1968 และยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสโดยเฉพาะเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ SME โดยรอบมาอย่างยาวนาน
จากตำนาน “ลิโด” สู่ “ลิโด้ คอนเน็ค”
หลังสิ้นสุดสัญญา หลายคนสงสัยว่าพื้นที่แห่งนี้จะถูกนำไปพัฒนาเป็นอะไรต่อไป หรือใครจะเข้ามาเป็นผู้บริหารพื้นที่กลุ่มใหม่ และจะนำพื้นที่นี้ไปใช้ในทิศทางใด จะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนจนแทบจะจำเค้าโครงเดิมไม่ได้ หรือจะเข้ามาสานต่อเพื่อรักษาความหลัง ความประทับใจเดิมๆ ที่มีต่อสถานที่แห่งนี้เอาไว้
ตอนนี้คำตอบสำหรับคำถามต่างๆ เหล่านี้ชัดเจนแล้ว เมื่อ PMCU ผู้ถือสัมปทานพื้นที่สยามสแควร์ เปิดตัวผู้ที่จะเข้ามาบริหารพื้นที่โรงภาพยนตร์ลิโดรายใหม่ ซึ่งจะเป็นมากกว่าแค่ผู้เช่าแต่อยู่ในฐานะพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมบริหารพื้นที่แห่งนี้ร่วมกัน เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่สำหรับการเติมเต็มโอกาสและความฝัน รวมทั้งเป็นพื้นที่สร้าง Community ทั้งเรื่องของดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีเวทีในการแสดงออกหรือมีเวทีที่จะสามารถปล่อยของได้
ส่วนผู้ที่จะเข้ามาบริหารพื้นที่โรงภาพยนตร์ลิโดต่อจากกลุ่ม Apex นั้น ได้แก่ กลุ่มเลิฟอีส เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (LOVEis Entertainment) กลุ่มนักดนตรี นักแต่งเพลง ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการเพลงไทยจากค่ายเพลงเล็กๆ ที่มีแนวทางเป็นของตัวเอง จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเพลงที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจด้วยเสียงเพลงให้คนไทยมากว่า 20 ปี นำโดย เทพอาจ กวินอนันต์ ประธานบริหารกลุ่ม LOVEis, บอย โกสิยพงษ์ และ นภ พรชำนิ พร้อมทีมออกแบบจาก PIA Interior ที่เลือกจะเก็บรักษาความทรงจำกว่า 5 ทศวรรษ ที่เคยเกิดขึ้นมาในสถานที่แห่งนี้เอาไว้ รวมทั้งยังคงใช้ชื่อเดิมคือ “ลิโด้” เพื่อแสดงถึงความเคารพสถานที่และสิ่งที่ผู้ก่อตั้งได้สร้างเอาไว้
คำว่า “ลิโด้” นั้น เมื่อฟังแต่เสียงอาจจะคิดว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในการเขียนได้มีการเติมวรรณยุกต์ไม้โทเพิ่มเติมลงไปด้วย จากที่ก่อนหน้าจะเขียนว่า “ลิโด” เพื่อให้สามารถออกเสียงได้ตรงกับการผันวรรณยุกต์
รวมทั้งในจำนวนวรรณยุกต์ทั้ง 5 รูปนั้น ไม้โท คือ วรรณยุกต์ที่อยู่ตรงกลาง สื่อได้ถึงความเป็นกลางของพื้นที่ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีสิทธิ์มาใช้ประโยชน์จากกพื้นที่ตรงนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน พร้อมต่อท้ายชื่อด้วยคำว่า “คอนเน็ค” สะท้อนถึงวัตถุประสงค์หลักของการนำพื้นที่แห่งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงผู้คนทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกันอย่างไม่มีการปิดกั้น ตามโจทย์สำคัญของการพัฒนา Prime Location ผืนนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด โดยจะได้เห็นพื้นที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ค. 2562 หรือครบรอบปีพอดี หลังจากที่ผู้เช่ารายเดิมหมดสัญญาลง
ส่วนการตัดสินใจเลือกกลุ่ม LOVEis เข้ามาบริหาร “ลิโด้ คอนเน็ค” นั้น รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม PMCU ให้ข้อมูลว่า หลังจากผู้เช่ารายเดิมไม่ต่อสัญญาด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้ต้องมองหาวิธีต่อยอดพื้นที่ว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใดให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และเหมาะสมกับมูลค่าของพื้นที่ซึ่งอยู่ในโลเกชั่นสำคัญ โดยไม่ได้มองประโยชน์ในแง่ของรายได้เป็นตัวตั้ง แต่เป็นมิติที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงต้องมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถในการบริหารพื้นที่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ PMCU ต้องการ เนื่องจากทางจุฬาฯ ไม่มีความถนัดในการเข้าไปเป็นผู้บริหารพื้นที่ด้วยตัวเอง
ส่วนเม็ดเงินท่ีใช้ในการร่วมทุนจะมาจากฝั่งของจุฬาฯ ประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนในเรื่องของโครงสร้างอาคารและงานระบบต่างๆ ขณะที่กลุ่มเลิฟอีสจะลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาท เพื่อดูแลในเรื่องของการตกแต่งพื้นที่ รวมทั้งการจัดหาคอนเทนต์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการจัดแสดง
การเปลี่ยนผ่านจาก “ลิโด” สู่ “ลิโด้ คอนเน็ค” เลือกที่จะเติมสิ่งที่พื้นที่ในย่านสยามสแควร์ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ในการแสดงออกทางด้านดนตรีได้อย่างเสรี ซึ่งจะเป็นตัวกลางที่จะนำมาสู่การต่อยอดในการสร้าง Art Community ในแขนงอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการละคร การแสดง ทอล์กโชว์ งานออกแบบ งานสร้างสรรค์ หรือการแสดงนวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการรวบรวมและพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมจากทุกแขนงได้อย่างไม่จำกัด
“การเลือกเลิฟอีสมาเป็นผู้ดูแลพื้นที่ เนื่องจากเลิฟอีสก็คือเบเกอรี่ มิวสิค ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากสยามสแควร์เช่นกัน ทำให้มีความผูกพันกับย่านนี้ ประกอบกับตัวอาคารเดิมและพื้นที่โดยรอบขาดการบูรณะมานานแล้ว จึงนำมาสู่แนวทางในการพัฒนาจากที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์ ให้กลายมาเเป็น Co-Cultural Space เพื่อให้คนหลากหลายกลุ่มสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ได้ร่วมกัน มากกว่าเป็นการนำพื้นที่ไปใช้โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ตรงกับนโยบายการบริหารของ PMCU ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การสร้างผลกำไรทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสังคม ด้วยการมอบพื้นที่ให้เป็นสถานที่ในการแสดงออก การทำธุรกิจ หรือเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ โดยมีระยะเวลาในการบริหารพื้นที่ตามสัญญารวมเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ค่าเช่านั้นไม่ได้กำหนดไว้แบบตายตัว แต่จะเน้นในรูปแบบของการแบ่งรายได้จากการจัดงานต่างๆ ร่วมกันเป็นหลัก”
Back to Original แต่โยงไปสู่ Future
สำหรับแนวทางการพัฒนาลิโด้ คอนเน็ค ทางกลุ่มผู้ออกแบบจาก PIA Interior นำโดย คุณอู๋ ภฤศธร สกุลไทย เลือกที่จะไม่ทุบของเดิมทิ้งเพื่อสร้างใหม่ แต่ให้ความสำคัญกับการเคารพความคลาสสิกของสถานที่เดิม ที่มีมาอย่างยาวนานทำให้กว่า 70% ของพื้นที่แห่งนี้ จากพื้นที่รวมราว 4,000 ตารางเมตร ยังคงถูกรักษาไว้เช่นเดิม โดยเฉพาะเมื่อมองมาจากด้านนอก ภาพของลิโด้ คอนเน็ค ในวันนี้จะเหมือนกับลิโดในยุคเริ่มต้นเมื่อปี 1968 สมัยที่ยังเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่เพียงโรงเดียว ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ และทำการปรับปรุงมาเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจำนวน 3 โรง ตั้งแต่ปี 1993 มาจนถึงปัจจุบัน
และแม้ว่าจะให้ความสำคัญกับการรักษาความทรงจำต่างๆ ในอดีตเอาไว้ โดยพยายาม Renovate พื้นที่ในตึกเก่าให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ดัดแปลงให้น้อยที่สุด แต่ต้องสร้างประโยชน์ได้สูงสุด และยังคงเชื่อมโยงเป็นภาพเดียวกับยุคปัจจุบันได้ เพื่อให้สามารถคอนเน็คกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะการถ่ายทอดเสน่ห์และความคลาสสิคในแบบเก่าให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รับรู้และมีโอกาสได้สัมผัส รวมทั้งสามารถส่งต่อไปสู่อนาคตได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ลิโดทำมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
“การปรุงปรุงพื้นที่ ทำขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Back to Original เนื่องจาก ลิโด ถูกสร้างขึ้นในยุค 70 ก่อนจะปิดตัวลงและถูกรีโนเวทให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้งในยุค 90 ผู้ออกแบบจึงพยายามที่จะดึงเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมต่างๆ ในยุค 70 ที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาได้มากที่สุด และเติมเต็มด้วยดีไซน์ยุคใหม่ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยี ที่นอกจากจะมีความโดดเด่นและสวยงามแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานในการเป็น Media เพื่อการสื่อสารต่างๆ กับสาธารณะได้อีกด้วย ที่สำคัญระหว่างออกแบบได้มีการสอบถามความต้องการหรือความเห็นจากกลุ่มศิลปินที่จะเข้ามาเป็นผู้ใช้งานจริงด้วย ว่าต้องการได้พื้นที่เป็นอย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบให้สอดคล้องกัน”
ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของดีไซน์หรือการออกแบบเท่านั้น ที่ยังคงรักษาความเป็น Original ของลิโดเอาไว้ แต่ชั้น 2 ของลิโด้ คอนเน็ค ก็ยังคงจะใช้สำหรับฉายภาพยนตร์อยู่ โดยทางผู้ออกแบบได้คงสภาพเดิมของโรงภาพยนตร์ 2 แห่งเอาไว้ เพื่อตั้งใจใช้สำหรับฉายหนังต่อไป โดยมีจำนวนเก้าอี้ 147 -150 ที่นั่ง และอีกหนึ่งโรงจะมี 234 ที่นั่ง ส่วนการเลือกโปรแกรมหนังมาฉายนั้น ในเบื้องต้นมีเพียงความตั้งใจไว้ว่าจะไม่ให้โปรแกรมการฉายชนกับเรื่องที่ฉายอยู่ในสกาล่า ส่วนจะเลือกโปรแกรมมาฉายอย่างไรบ้างนั้นคงต้องติดตามต่อไป
“พื้นที่โรงภาพยนตร์อีกหนึ่งแห่ง ได้ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมดให้กลายเป็น Black Box Theater โดยรื้อจอภาพยนตร์ออก รวมทั้งตกแต่งใหม่ด้วยการล้อมรอบโรงด้วยผ้าม่านดำ เติม Stage วางระบบไฟและเสียง เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ หรือมีความเป็น Multi Purpose โดยเฉพาะในกลุ่ม Performing Art ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสด ละคร ทอล์ก รวมทั้งงานโชว์หรือรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ นำมาซึ่งการเกิด Community ใหม่ๆ ในพื้นที่นี้ด้วย”
และเพื่อให้สอดคล้องกับนโนบายทั้งของจุฬาฯ และกลุ่มเลิฟอีส ที่ต้องการให้พื้นที่มีเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน จึงได้ออกแบบชั้น 1 ให้เปิดโล่ง สามารถเข้าถึงได้จากทุกช่องทาง และเพิ่มพื้นที่สาธารณะด้านหน้า ทั้งการใช้สอยของผู้คนทั่วไป รวมทั้งเปิดโอกาสให้ศิลปินอิสระต่างๆ สามารถมาทำการแสดงแบบเปิดหมวกเพื่อแนะนำผลงานของตัวเองได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็น Pain Point จากประสบการณ์ตรงของหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นอย่าง นภ พรชำนิ ที่ได้พบมากับตัวเอง เนื่องจากเคยมาแสดงเปิดหมวกในพื้นที่ลิโด ร่วมกับ ป๊อด โมเดิร์นด็อก และ โป้ โยคีย์เพลย์บอย แต่ไม่สามารถแสดงได้เพราะถูกไล่ ทำให้เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาดูแลพื้นที่ จึงได้จัดสรรพื้นที่ถึง 800 -900 ตารางเมตร รอบบริเวณชั้น 1ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ หรือเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีความสามารถ ให้มีเวทีสำหรับปล่อยของได้
‘LOVEis’ จากค่ายเพลงรัก สู่คนบริหารพื้นที่
ในส่วนของคอนเทนต์ต่างๆ ที่จะนำเข้ามาเติมเต็มในพื้นที่ หลังจากเริ่มเปิดให้บริการในเดือน พ.ค. 2562 โดยจะพยายามชักชวนกลุ่มศิลปินแขนงต่างๆ เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งพยายามสื่อสารความสามารถของพื้นที่ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดคอนเสิร์ตฮอลล์, ละครเวที, การจัดนิทรรศการ, ภาพวาด, ภาพถ่าย, งานเขียน, การใช้บันทึกเสียง, ถ่ายภาพยนตร์ หรือกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ ซึ่ง คุณเทพอาจ กวินอนันต์ ประธานบริหารกลุ่ม LOVEis กล่าวว่า ถือเป็นการก้าวเข้ามารับบทบาทใหม่ จากค่ายเพลงมาอยู่ในฐานะผู้บริหารพื้นที่เป็นครั้งแรก โดยสิ่งที่เลิฟอีสมีความแข็งแรง คือเรื่องของคอนเทนต์และการมีเครือข่ายของกลุ่มศิลปิน ซึ่งถือว่าเป็นมากกว่าแค่ค่ายเพลงแต่เป็นการมี Community ของคนที่มีความเชื่อ ความรัก และแรงบันดาลใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้สามารถหาคอนเทนต์มาจัดในพื้นที่ได้ตลอดทั้งปี
“ด้วยความโชคดีที่ลิโด้เป็นสถานที่ที่ทุกคนรัก มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน หลายคนเคยมีประสบการณ์กับสถานที่แห่งนี้มาก่อน ประกอบกับขนาดของโรงภาพยนตร์ที่พอเหมาะกับการใช้งานได้หลากหลาย ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ทำให้สามารถเปิดกว้างกับงานแสดงได้หลายประเภท เปิดโอกาสให้ศิลปินทุกแขนงสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างงานได้อย่างไม่จำกัด และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงกลุ่มนักดนตรีเท่านั้น ซึ่งการมีพื้นที่ในขนาดที่เหมาะสมและอยู่ใจกลางเมือง เดินทางได้สะดวกสบาย ทำให้ศิลปินสามารถนำเสนอผลงานให้เข้าถึงผู้คนทั่วไปได้ง่ายขึ้น เป็นผลดีต่อกลุ่มศิลปินและนักสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ ให้มีเวทีในการแสดงผลงานและแจ้งเกิดได้ด้วย”
ขณะที่โมเดลในการหารายได้เพื่อสร้างความแข็งแรงให้พื้นที่แห่งนี้ ให้สามารถเติบโตและอยู่รอดได้ในปัจจุบัน ทั้งเลิฟอีสและทางุฬาฯ ไม่ได้มองในเรื่องของเม็ดเงินที่จะได้กลับคืนมาเป็นประเด็นหลัก แต่ให้ความสำคัญกับการนำพื้นที่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพมากที่สุด แต่หากจะแบ่งสัดส่วนให้เห็นออกมาได้อย่างคร่าวๆ พื้นที่ราวๆ 20% จะถูกกันออกไปเพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนอีก 80% ที่เหลือแม้จะนำมาต่อยอดในเชิง Commercial แต่ก็จะให้โอกาสกับกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือสตาร์ทอัพต่างๆ ด้วยการให้เช่าพื้นที่ในราคาไม่สูงมาก ส่วน Tenant Mix ก็จะมีทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ โดยจะให้โจทย์ร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ต้องมีโมเดลในการทำธุรกิจเพื่อสังคม
“รายได้หลักจะมาจากการจำหน่ายตั๋วเพื่อชมภาพยนตร์ และจัดสรรพื้นที่ในส่วนของ Live Performance ต่างๆ แต่ไม่ได้มีการตั้งราคาไว้อย่างตายตัว จะขึ้นอยู่กับรูปแบบงานหรือกิจกรรมที่เข้ามาใช้พื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะการสนับสนุนงานที่นำพื้นที่ไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมเป็นหลัก แม้บางงานอาจจะไม่ได้สร้างรายได้กลับมา รวมทั้งพยายามที่จะทำให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดแสดงโชว์จากศิลปินคุณภาพ ในราคาบัตรที่ไม่ได้แพงมากเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปชมได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ระดับ Prime Location ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่มีเงินมากเท่านั้นจึงจะเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการจัดงานได้”
ซึ่งในเรื่องนี้ คุณนภ พรชำนิ ศิลปินนักร้อง และยังเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนจากฝั่งของเลิฟอีส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปกติเลิฟอีสจะมีงานโชว์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้หลักอยู่แล้ว แต่เมื่อเรามีพื้นที่เป็นของตัวเอง ก็ทำให้สามารถครีเอทรูปแบบในการจัดงานที่หลากหลายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีแจ๊ส คลาสสิก หรือศิลปะแบบผสมผสานต่างๆ รวมทั้งสามารถลดต้นทุนในการจัดงานลงได้ และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ศิลปิน ขณะที่คนมาดูโชว์ก็จะสามารถชมโชว์คุณภาพต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิดและมีอรรถรสในราคาที่ไม่แพงมาก รวมทั้งยังทำให้รายได้กระจายให้กับศิลปินและคนสร้างสรรค์งานโดยตรง จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนให้วงการดนตรีและวงการศิลปะทุกแขนงของบ้านเรามีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นด้วย”