มาแรงแซงทุกโค้ง ต้องยกให้กระแสการช้อปปิ้งออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เข้าถึง Social Media ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงธุรกิจ E-Commerce ที่คอยสนับสนุนเหล่านักช้อปออนไลน์ให้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อลิงค์กันง่ายขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็พลอยสะดวกแค่คลิกนิ้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจในแต่ละแพลตฟอร์ม ยังคงเข้าถึงและครองใจนักช้อปออนไลน์ได้อย่างลื่นไหลและไม่มีสะดุด
บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) แชร์ข้อมูลจากการจัดงาน “Priceza E-Commerce Trends : The Infinity of E-Commerce Wars 2019” เพื่อเจาะลึกพฤติกรรมและทำความเข้าใจนักช้อปออนไลน์ชาวไทยกันได้ดีมากย่ิงขึ้น
คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพร์ซซ่า จำกัด เปิดเผยถึงพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งเพื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพื่อการติดต่อสื่อสาร เพื่อโอนเงินทำธุรกรรมต่างๆ ไปจนถึงการซื้อ-ขายสินค้า โดยการช้อปปิ้งออนไลน์หรือซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซนั้น กลายมาเป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน สะท้อนถึงกระแสที่ชัดเจนในปัจจุบันว่า ถนนทุกสายเริ่มมุ่งมาสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้นแล้ว
แต่ถึงแม้ว่าถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ ที่เปิดโอกาสที่กว้างขึ้นให้กับบรรดาผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการทุกรายที่จะประสบความสำเร็จสามารถปิดการขายสินค้าได้สำเร็จทุกราย เพราะผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องทราบด้วยว่า ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันและเพิ่มโอกาสให้สามารถขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
“จากพฤติกรรมของคนไทยที่เข้ามาค้นหาสินค้าเปรียบเทียบราคาบนแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่า พบว่า วันที่พีคที่สุดคือวันจันทร์ และจำนวนจะค่อยๆ ลดลงในวันถัดไป ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการเข้ามาน้อยที่สุด นั่นอาจหมายถึงว่า คนไทยนิยมช้อปปิ้งในวันทำงานมากกว่าวันหยุด ร้านค้าจำเป็นต้องเท่าทันข้อมูลและพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในเวลาที่เหมาะสม”
สอดคล้องกับข้อมูลจาก คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในปัจจุบันจะมีแอปพลิเคชั่นอยู่บนหน้าจอมือถือคนละ 32 แอป จากจำนวนแอปพลิเคชั่นเป็นล้านๆ รายการ ซึ่งในจำนวนนั้นมีแอปที่แต่ละคนจะใช้ในทุกๆ วันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 แอป ทำให้ผู้พัฒนาแอปฯ หรือบรรดาเจ้าของแบรนด์ในแต่ละธุรกิจพยายามให้แอปฯ ของตัวเองสามารถแทรกตัวเข้าไปเป็น 1 ใน 8 แอปฯ หลักที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำให้ได้
“สิ่งสำคัญที่นักพัฒนาแอปฯ จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคในปัจจุบัน คือ ต้องสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวก และสามารถใช้งานได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่ต้องสามารถทำธุรกรรมทุกอย่างให้จบได้ภายในหน้าเดียว ไม่ต้องเข้าออกหลายแอปฯ หรือต้องส่งหลักฐานการโอนเงินเพิ่มเติมเข้าไปให้ยุ่งยากอีก เพื่อให้การซื้อขายลื่นไหลไม่สะดุด และป้องกันการเปลี่ยนใจหรือการหยุดช้อปปิ้งลงกลางคันของผู้บริโภค ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกๆ ครั้งที่การทำธุรกรรมขาดตอน”
จากข้อมูลยังพบว่า ผู้บริโภคมักโอนเงินสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ในวันธรรมดามากกว่าวันเสาร์-อาทิตย์ และมักอยู่ในช่วงเวลา 13.00-14.00 น. ซึ่งสะท้อนได้ว่า ผู้คนในปัจจุบันนิยมช้อปปิ้งในวันธรรมดาหรือช่วงระหว่างเวลาทำงานมากกว่าในช่วงวันหยุด เพื่ออาจจะต้องการคลายเครียดระหว่างการทำงาน ดังนั้น แบรนด์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้แบบ Right Time ก็มีโอกาสที่จะถูกเลือกได้สูงกว่า
ขณะที่พฤติกรรมในการจ่ายเงินค่าสินค้าจากการช้อปปิ้งออนไลน์ของคนไทย ยังคงมีเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจ่ายในรูปแบบของการโอนเงินหรือการจ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยเฉพาะการจ่ายด้วยการโอนที่มีสัดส่วนความนิยมมากกว่าจากหลากหลายสาเหตุ
ลาซาด้าเน้น Personalize และวิเคราะห์แบบข้ามช็อต
ด้าน คุณสุพัชเชษฐ์ เภาวะนิต Vice President, Seller Operations ลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ ETDA พบว่าปี 2561 นี้ เป็นปีแรกที่การซื้อสินค้าหรือบริการผ่านออนไลน์ติด Top 5 กิจกรรมที่คนท่องอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยนิยมทำสูงสุด นอกเหนือจากนั้นจะมีกิจกรรมอย่างอื่นที่เพิ่มหลากหลายขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ อาทิเช่น การสั่งอาหารเพื่อส่งอาหาร การจองโรงแรมจองตั๋วต่างๆ การหาเพื่อน หาคู่ พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นข้อบ่งชี้ว่าสังคมไทย เริ่มขับเคลื่อนสู่สังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่คนที่ทำธุรกิจ E-Commerce ต้องจับตามองว่าจะนำไปสู่ทิศทางไหน
ขณะที่ ลาซาด้าเองมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยการทำ Personalization มากขึ้น เช่น เมื่อเปิดแอปลาซาด้าหน้าเว็บของแต่ละคนจะเห็นของที่ไม่เหมือนกันเลย เนื่องจากการทำงานด้วย Big Data ที่วิเคราะห์จากการเสิร์ช และพฤติกรรมในการให้ความสนใจสินค้าในแต่ละประเภทที่แตกต่างกันไป
“เรา Track พฤติกรรมจากการคลิก ดูว่าคลิกอะไรบ่อยขนาดไหน สินค้าที่ตัดสินใจซื้อ ซื้อบ่อยขนาดไหน สินค้าที่เขาต้องการเห็น คืออะไรบ้าง วิธีการเอาสินค้าขึ้นมาโชว์ เราจะไม่โชว์อะไรที่ไม่เกี่ยวพันกับพฤติกรรมผู้บริโภค หรือหลังจากที่ลูกค้าซื้อไปแล้วจะประเมินว่าช่วงเวลาหลังจากซื้อไป ว่ามีความเป็นไปได้ในการซื้อสินค้าตัวอื่นที่มันสอดคล้องกันอีกหรือไม่ เพื่อมองภาพให้ยาวไปในอนาคต เช่น แม่และเด็กอ่อน ที่เคยซื้อผ้าอ้อมไซส์ S ไปแล้ว จะต้องวิเคราะห์ต่อว่าใน 3-6 เดือนหลังจากนี้ ลูกค้าจะต้องการซื้อสินค้าอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เช่น นมผง อาหารเสริม ผ้าอ้อม ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ลาซาด้าสามารถตอบสนองผู้บริโภคทุกวัยได้”
เครดิตภาเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand