ทุ่มเม็ดเงินลงทุนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท สำหรับใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ 8,000 ไร่ ของไร่บุญรอด จ.เชียงราย จากพื้นที่สำหรับใช้เพื่อทำธุรกิจเชิงเกษตรสู่การเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ภายใต้ชื่อ สิงห์ปาร์ค เชียงราย เพื่อปั้นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวในภาคเหนือ และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จากทั่วประเทศ ซึ่งหากมองย้อนการเติบโตของเชียงรายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กับช่วงก่อนหน้านั้น ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิงห์ปาร์ค เป็นหนึ่งกลไกจากภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเชียงรายได้เป็นอย่างดี
ปักหมุดใหม่ Worldclass Sport Destination
คุณพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด เล่าย้อนถึงการเติบโตของเชียงรายในรอบ 7 ปี โดยเฉพาะในมิติที่จับต้องและเห็นได้ชัดเจนเมื่อวัดจากจำนวนเที่ยวบินเดินทางมายังเชียงราย จากวันละไม่ถึงสิบเที่ยว แต่ปัจจุบันมีไฟลท์บินมาเชียงรายไม่ต่ำกว่า 60-70 เที่ยวต่อวัน รวมทั้งอัตราการเติบโตของ GDP ของเชียงรายที่เติบโตต่อเนื่องมา 6-7 ปีแล้ว ขณะที่สิงห์ปาร์คเองก็เป็นหนึ่งใน Top of Mind ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเชียงรายหรือแม้แต่ภาคเหนือในลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างนึกถึง
ขณะที่ Next Step สำคัญหลังจากนี้คือ การปั้นให้สิงห์ปาร์ค เชียงราย ขยับไปสู่ภาพของการเป็น Worldclass Sport Destination ในฐานะศูนย์กลางการจัดการแข่งขัน หรือรองรับกิจกรรมด้านการกีฬาระดับโลก หลังจากสร้างความแข็งแรงในฐานะ Tourist Destination ได้ค่อนข้างดีแล้ว
ล่าสุดได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่ภายในสิงห์ปาร์ค ด้วยการขุดทะเลสาบขนาดใหญ่กว่า 250 ไร่ ซึ่งสามารถบรรจุน้ำได้มากถึง 3 ล้านคิว เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับรองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลก โดยมีแผนจะนำการแข่งขันอย่าง Ironman หรือการจัดไตรกีฬาต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นแทรนด์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเข้ามาจัดภายในสิงห์ปาร์ค เชียงราย ภายในปีหน้า รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมา ก็เพิ่มการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาต่างๆ ภายในสิงห์ปาร์คมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 15-17 รายการ
ขณะเดียวกันยังมีแผนลงทุนสร้างที่พักในรูปแบบ รีสอร์ทวิลล่า ระดับลักซ์ชัวรี่ สไตล์ล้านนา 6 ดาว บนพื้นที่ 60 ไร่ เพื่อดึงกลุ่มกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ให้เข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบไลฟสไตล์และกิจกรรมต่างๆ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ เช่น เส้นทางจักรยานหรือขี่ม้ารอบภูเขา โดยคาดว่าต้องลงทุนเพิ่มอีกราว 500-1,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างรีสอร์ทไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และกว่า 100 ล้านบาท สำหรับการขุดทะเลสาบขนาดใหญ่ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว รวมทั้งส่วนที่เหลือสำหรับการปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมให้เข้าพักได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
“ปัจจุบันสิงห์ปาร์คมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 30% โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนจีน 25% มีชาติอื่นๆ ประมาณ 5% และคนไทยมีมากกว่า 70% หากสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มกำลังซื้อสูง ด้วยการมีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากขึ้น รวมทั้งการมีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเพิ่มการพักให้ยาวนานมากขึ้น จะช่วยเพิ่มให้เกิดการจับจ่ายได้หลายชั้น และส่งต่อประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ”
ในส่วนของการรักษาความแข็งแรงในฐานะ Tourtist Destination จะเน้นการเพิ่ม Attraction ในพื้นที่มากขึ้น ทั้งจากธรรมชาติที่สวยงาม กิจกรรมสนุกๆ สำหรับผู้มาเที่ยวชมไร่ รวมทั้งการนำ Big Event ที่สามารถดึงดูดผู้คนได้จากทั่วประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะ Music Festival ระดับชาติอย่าง Singha Park Chiangrai Farm Festival On The Hill ที่จัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งงาน Singha International Balloon Fiesta ที่จะจัดช่วงต้นปีราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็น 2 งานใหญ่ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการจัดงานอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเดินทางมาเชียงรายได้บ่อยครั้งและสามารถอยู่ได้นานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มักจะเป็น Low Season ก็จะพยายามหากิจกรรมให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ Green Season เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
กำไรต้องมี แต่สังคมที่ดีต้องมาก่อน
รูปแบบที่คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ยึดถือในการบริหารสิงห์ปาร์ค เชียงราย คือ การทำธุรกิจแบบ Social Enterprise หรือการบริหารธุรกิจให้มีกำไร เพื่อนำผลกำไรที่ได้มาใช้ในการดูแลและพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะการยกระดับและสร้างความอยู่ดี กินดีให้กับผู้คนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากการจ้างงานโดยตรงจำนวน 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาจังหวัดเพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมได้ทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย
“สิงห์ปาร์คใช้งบประมาณมหาศาลในแต่ละปี เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพในพื้นที่ให้มีความสวยงามอยู่เสมอ รวมทั้งการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกและการมีกิจกรรมต่างๆ ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 2,500 คน และจะเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัวเป็นหลายหมื่นคนในช่วงที่มีเทศกาลต่างๆ ทำให้เทศกาลที่จัดโดยสิงห์ปาร์คไม่ต่างจากการมีงานประจำปีที่ถูกบรรจุไว้ในปฏิทินของจังหวัด ที่ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวรวมทั้งคนในเชียงรายเองต่างเฝ้าคอย เนื่องจากสร้างความคึกคักและสีสันให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเกิดการใช้จ่ายเม็ดเงินไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึงทั้งจังหวัด”
และแม้ว่าจะพยายามเพิ่มเติมแม็กเน็ตใหม่ๆ มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สิงห์ปาร์คคำนึงถึงคือ ความเข้ากันได้และเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบุญรอดมาโดยตลอด ที่จะให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่จะเกิดแก่สังคมและชุมชนโดยรอบมากกว่าแค่ผลตอบแทนทางธุรกิจ ทำให้แม้ว่าจะมีโอกาสได้จัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลกเพียงใด แต่หากไม่ใช่ตัวตนหรือไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนก็เลือกที่จะปล่อยโอกาสในการสร้างผลกำไรเหล่านั้นไปเช่นกัน
“แม้ว่าเราเกือบจะมีโอกาสได้เป็นพาร์ทเนอร์กับเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Tomorrow Land ที่สนใจอยากได้พื้นที่ในสิงห์ปาร์ค เชียงราย เป็นพื้นที่สำหรับจัดงานในประเทศไทย ซึ่งจะนำมาทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมทั้งความร่วมมือในฐานะพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี รวมทั้งโอกาสในการขยายสเกลการจัดงาน Music Festival ให้เป็นที่รู้จักและยิ่งใหญ่ขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว แต่ด้วยมุมมองว่าอาจจะไม่เหมาะกับตัวตนและความเป็นเชียงราย ที่เน้นเอกลักษณ์โดดเด่นในการเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม และการขายธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้ทางสิงห์ปาร์คเลือกที่จะปฏิเสธโอกาสเหล่านั้นไป ซึ่งสะท้อนว่าการดำเนินธุรกิจของสิงห์ปาร์ค หรือกลุ่มบุญรอดไม่ได้มองที่เรื่องของการเติบโตของยอดขายหรือกำไรเท่านั้น แต่การรักษาความสบายใจและการยอมรับจากสังคมโดยรอบก็มีความสำคัญมากเช่นกัน”
คุณพงษ์รัตน์ กล่าวถึง เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาสิงห์ปาร์ค เชียงราย คือ การสร้างพื้นที่แห่งความสุขสำหรับทุกคนในเชียงรายหรือทุกคนที่เดินทางมาเชียงราย ทั้งจากการมอบธรรมชาติที่สวยงามเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่ราว 60% ภายในสิงห์ปาร์ค จากพื้นที่รวม 8,000 ไร่ เพื่อนำไปพัฒนาในมิติต่างๆ เช่น การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ ด้านงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้เมืองหนาวต่างๆ เพื่อส่งต่อความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปต่อยอดด้วยการสร้างประโยชน์ในการประกอบอาชีพของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเก็บรักษาพื้นที่อีก 40% หรือกว่า 3,000 ไร่ ของพื้นที่ทั้งหมดเอาไว้ เพื่อรักษาให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นการดูแลและรักษาสมดุลธรรมชาติในพื้นที่ไว้อีกทางหนึ่งด้วย
“สิงห์ปาร์ค เชียงราย ยังได้มีการรีแบรนด์ให้มีความสอดคล้องกับทิศทางที่จะมุ่งไปนับจากนี้ ด้วยการทำให้ภาพของการดำเนินธุรกิจเปิดกว้างและต่อยอดโอกาสไปในหลากหลายมิติมากกว่าแค่การเป็นธุรกิจเชิงเกษตร โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่สำหรับส่งมอบความสุขและการมีสุขภาพที่ดีให้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งจากการมอบบรรยากาศและธรรมชาติที่สวยงาม การมีกิจกรรมต่างๆ ภายในไร่ที่มีให้บริการผู้มาเยือน รวมทั้งการจะเพิ่มการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตได้มากขึ้น จากปัจจุบันสิงห์ปาร์ค เชียงรายมีการเติบโตจากยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ภายในฟาร์ม ปีละ 25% และยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีแรกที่มียอดขายราว 60 ล้านบาท แต่ปีล่าสุดสามารถทำยอดขายเพิ่มไปได้มากกว่า 375 ล้านบาท”