โลกธุรกิจข้อมูลข่าวสารเป็นหัวใจสำคัญในการวิเคราะห์และวางแผนงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การมีข้อมูลที่มากพอเพื่อใช้ตัดสินใจ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ แต่สิ่งที่ควรจะมีมากกว่าปริมาณ คือ เรื่องคุณภาพของข้อมูล โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ เรื่องของ Big Data จึงเข้ามาเป็นหนึ่งในหัวใจการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เพราะลูกค้าเดี๋ยวนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ เรียกได้ว่า ฉลาดมากขึ้นและเลือกมากขึ้นด้วย จากการใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารอันมหาศาลบนโลกออนไลน์
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เรื่องของข้อมูลถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งฝั่งนักพัฒนาก่อนที่จำลงมือทำโครงการขึ้นมา ต้องสำรวจและวิจัยตลาด รวมถึงวิเคราะห์ปริมาณความต้องการของลูกค้า ส่วนลูกค้าเมื่อต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ต้องหาข้อมูลและเข้าเยี่ยมชมโครงการเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ในอดีตการหาข้อมูลต้องทำในรูปแบบ Offline คือ การดูสื่อโฆษณาต่างๆ ก่อนตัดสินใจไปสู่รูปแบบ On ground คือการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการที่สนใจ แล้วนำมาเปรียบเทียบตัดสินใจ แต่ปัจจุบันข้อมูลทุกอย่างล้วนมารวมอยู่บนโลก Online สามารถหาข้อมูลได้ง่ายและมากมาย
“Smart Buyer – Personalize” ผู้บริโภคยุค Big Data
คุณอัญชนา วิลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย และมีปริมาณมหาศาลบนโลกออนไลน์ จะส่งผลให้ลูกค้าในยุคดิจิทัล กลายเป็น Smart Buyer ที่สมบูรณ์ คือ มีพฤติกรรมการหาข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างดี ก่อนการตัดสินใจเข้าชมโครงการ แล้วจึงมาเลือกว่าจะซื้อโครงการอะไร ค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคจะเลือกดูโครงการที่สนใจประมาณ 11 โครงการ ในอดีตผู้บริโภคจะต้องเดินทางไปดูโครงการทั้ง 11 แห่ง แต่ผู้บริโภคยุคใหม่ จะหาข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างดีก่อน แล้วจึงคัดเลือกให้เหลือประมาณ 3 โครงการ เพื่อเข้าเยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง
สิ่งที่ Smart Buyer ต้องการในการซื้ออสังหาฯ คือ การเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ไม่ยุ่งยาก สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการนั้นได้โดยตรง ลูกค้ายุคใหม่ไม่ต้องการอะไรที่ขั้นตอนมากมาย ต้องการความสะดวก รวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการในสิ่งที่เป็นเฉพาะของตัวเอง หรือ Personalize เห็นได้จากหลักเกณฑ์การค้นหาที่อยู่อาศัยบนโลกออนไลน์ ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้บอกว่าสินค้าที่ต้องการเป็นอะไร แต่จะบอกไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่าอยากมีชีวิตแบบไหน หรือมีไลฟ์สไตล์อย่างไร
“คนรุ่นใหม่ไม่ได้ฟันธงว่าเขาต้องการอะไร แต่เขาจะต้องการสิ่งที่ฟิตกับตัวเขา เราสังเกตได้ว่า เด็กรุ่นใหม่ เอาไลฟ์สไตล์มาเป็นตัวนำ แทนเรื่องของสินค้าและราคา”
คุณอัญชนา เล่าอีกว่า พวกเราทุกจะมีความต้องการอะไรที่เฉพาะตัวเองเยอะขึ้น เช่น ถ้าเราสนใจบ้านเชียงใหม่ ตัวมาร์เก็ตเพลสต้องตอบโจทย์เฉพาะบุคคล ข้อมูลที่ค้นก็ต้องเป็นเฉพาะที่นั่น เพราะปัจจุบันเวลาค้นยังต้องไปในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ การเป็น Personalize คนต้องการข้อมูลเฉพาะตัวจริงๆ ไม่ใช่ข้อมูลแมส สองต้องการการติดต่อที่รวดเร็ว และติดต่อกับคนที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ติดต่อโครงการ ก็ต้องการติดต่อเจ้าหน้าที่โครงการนั้นเลย ไม่ใช่ไปคอลเซ็นเตอร์บริษัท หรือถ้าต้องการติดต่อแบงก์ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่แบงก์ที่ดูแลโครงการนั้นโดยตรง
บ้านกลุ่มราคา 1-2 ล้านดีมานด์สูงสุด
แม้ปัจจัยเรื่องของราคาอาจจะเป็นเหตุผลรองๆ ลงมา ในการเลือกซื้อของลูกค้ายุคใหม่ แต่เรื่องของราคาก็ยังมีความสำคัญต่อการซื้อในขั้นตอนสุดท้ายเช่นกัน ลูกค้าจะมีความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้เหมาะกับกำลังทรัพย์ตัวเองหรือไม่ ซึ่งดูเทรนด์ตลาดแล้วลูกค้ามีความต้องการที่อยู่อาศัยระดับ 1-2 ล้านบาทมากที่สุดซึ่งส่วนใหญ่ในทำเลเมือง แต่เอาเข้าจริงที่อยู่อาศัยระดับราคานี้มีพัฒนาออกมาน้อย หรือแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย เพราะต้นทุนที่ดินไม่เอื้ออำนวย ถ้าจะให้ดีเวลลอปเปอร์พัฒนาได้ ก็ต้องออกไปโน้นเลย “แถบชานเมือง” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการไปอยู่
ส่วนทำเลที่ลูกค้ายังมีความต้องการและให้ความสูงสุดในปีหน้า คือ โซนสุขุมวิท เพราะมีระบบแมสทรานซิท และราคายังสามารถจับต้องได้ อีกทำเล คือ ถนนพระราม 4 ที่กำลังพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็กต์หลายแห่ง และจะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จไปจนถึงปี 2565 ซึ่งจะมีอาคารสำนักงานจำนวนมาก กลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดใช้โครงข่ายระบบแมสทรานซิท ในย่านฝั่งธนเชื่อมโยงเข้ามาในใจกลางเมือง ก็เป็นแรงหนุนให้ย่านนี้มีความต้องการสูงนั่นเอง
Topic of The Year บนโลกโซเซียลมีเดีย
ในโลกยุคดิจิทัล โซเชียล มีเดีย ก็มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตของ Smart Buyer เพราะเป็นทั้งแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ พื้นที่แสดงความเห็น และการร้องเรียนเมื่อยามประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ ของการดำเนินชีวิต แถมยังได้ผลมากกว่าการไปพึ่งพาหน่วยงาน ให้มารับผิดชอบดูแลปัญหาด้วยซ้ำ หลายครั้งพบว่าผู้ประกอบการซึ่งทำตลาดและสร้างแบรนด์มาอย่างดี พอเจอปัญหาและถูกนำเอามาแชร์ผ่านโลกโซเชียล มีเดีย แบรนด์นั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ชื่อเสียงของแบรนด์ที่สั่งสมมานานนับปี จบลงได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญต่อเสียงในโลกโซเชียล มีเดียเพิ่มมากขึ้น
มาดูกันว่าช่วง มกราคม-พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาคนในโลกโซเชียล มีเดีย มีประเด็นการพูดถึงในอสังหาฯ อย่างไรบ้าง สำหรับ Topic of The Year เกี่ยวกับเรื่องบ้าน ข้อความถูกพูดถึงมากที่สุด อันดับ 1 คือ ความสนใจบ้านย่านสุขุมวิท 13.53% อันดับ 2 คือ เว็บไซต์ Baania 6.05% อันดับ 3 พูดถึงโครงการแสนสิริ 5.94% อันดับ 4 ให้ความสนใจบ้านย่าน สาทร อโศก รัชดาฯ และลาดพร้าว 77% และอันดับ 5 ให้ความสนใจโฮมออฟฟิศในย่านรังสิต เพชรเกษม และรามอินทรา 5.54%
ส่วนข้อความที่พูดถึงเกี่ยวกับคอนโดฯ มากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 ข้อมูลข่าวของบริษัทอสังหาฯ 14.84% อันดับ 2 โครงการเปิดตัวในย่านสุขุมวิท 14.80% อันดับ 3 ข้อความประกาศขายคอนโดฯ บนโซเชียล มีเดีย 13.05% อันดับ 4 คอนโดฯ กับเสียงระฆังวัดไทร 10.18% และอันดับ 5 มหกรรมบ้านและคอนโดฯ และมาตรการคุมสินเชื่อของธปท. 4.68%
เสียงของผู้บริโภคบนโลกโซเชียล มีเดีย สามารถบ่งบอกได้ถึงความนิยม ความต้องการ ปัญหา และอีกสารพัดความในใจ ที่เปิดเผยออกมาให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ หากนักการตลาดจับทิศทางและมอนิเตอร์ได้ทัน จะเป็นประโยชน์ในด้านการทำตลาดและสนองตอบความต้องการของพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างดี ที่สำคัญยามเมื่อเกิดปัญหาก็แก้ปัญหาได้ทัน หรือไม่ก็หยุดระดับความรุนแรงของปัญหาไม่ให้ลุกลามใหญ่โตได้ด้วย
เพิ่มบริการใหม่เพื่อคนรักการตกแต่งบ้าน
สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทในปีหน้าจะเพิ่มบริการใหม่ ได้แก่ Baania Décor บริการค้นหาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้าน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยแนะนำสินค้า เมื่อลูกค้าเลือกห้องที่ถูกตกแต่งด้วยสไตล์ต่างๆ ในคลังข้อมูลภาพ ระบบจะแสดงสินค้าดังกล่าวพร้อมบอกข้อมูลรายละเอียด และยังแสดงสินค้าใกล้เคียงเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม เบื้องต้นได้ร่วมทุนกับกลุ่มเอสซีจี เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หลายพันรายการ ในอนาคตยังจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ในวงการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์ของแต่ละสินค้า เพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีด้วย และเพิ่มการให้บริการด้านข้อมูลที่ดิน Baania Land ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดินในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการตัดสินใจพัฒนาโครงการ ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งด้านระบบคมนาคมขนส่ง เส้นทางรถไฟฟ้า การจัดสรรที่ดิน