ดร.ปีเตอร์ เจ. เบนท์ลีย์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เบรนทรี จำกัด และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน AI Machine Learning และ Deep Learning เปิดเผยในงานสัมมนา TMA Thailand Management Day 2018 ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Rise of AI and the World of Machine Learning ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)และแมชชีนเลิร์นนิ่ง จะเป็นโอกาสครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างงานและอาชีพรูปแบบใหม่ ที่ใช้ AI ในการหารายได้
“ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่เคยมีมาก่อนแต่ตอนนี้เป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมาก หรืออย่าง แชตบอท ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้ AI ในการสร้างรายได้ และในอนาคตจะเห็นคนที่หารายได้ผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่นมากขึ้น” ดร.ปีเตอร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน AI ก็จะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ทุกธุรกิจก็จะมีข้อมูลที่จัดเก็บของตัวเอง ซึ่งสามารถนำ AI มายกระดับบริการของตัวเอง สร้างมูลค่าการบริการที่เพิ่มขึ้น หรือนำมาช่วยคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจ ความต้องการของลูกค้า และหากเป็นองค์กรทีมีข้อมูลที่มีคุณค่า ก็อาจจะสามารถสร้างหน่วยธุรกิจใหม่จาก AI ได้ด้วย
สำหรับเทรนด์ของธุรกิจ AI จะถูกนำมาใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์พฤฒิกรรมมนุษย์ การใช้งานด้านสาธารณสุข อย่างการขยายตัวของเชลล์มะเร็งเป็นต้น
ดร. ปีเตอร์ ยังกล่าวถึงโอกาสของการใช้ AI ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เริ่มมีการตื่นตัวนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ ซึ่งก็มีบางธุรกิจนำมาประยุกต์ใช้แล้ว แต่บางธุรกิจก็ยัง ซึ่งมองว่า เอกชนควรที่จะมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะนอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรแล้ว การลงทุนยังน้อยมาก มีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์และคนที่ช่วยจัดเก็บบริหารข้อมูลเท่ทานั้น
นอกจากนี้ภาครัฐก็ต้องช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ AI เกิดขึ้นด้วย อย่างในอังกฤษ รัฐบาลก็ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อผลักดันให้อังกฤษเป็นศูนย์กลางของยุโรป รวมถึงเรื่องของการผลักดันกฎหมายต่างๆ ในการสนับสนุนให้เอกชน หันมาวิจัยพัฒนา มากขึ้น อย่างในยุโรปบริษัททางด้าน AI ก็เกิดขึ้นมาหลายพันบริษัท หรืออย่างในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ให้ความสำคัญกับ AI ค่อนข้างมาก
มร. มาร์ติน วีซอฟสกี้ ประธานกรรมการบริหาร ด้านการออกแบบและนักอนาคตศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมของ SAP เปิดเผยในหัวข้อ What is work and what is human in the superhuman future เปิดเผยว่า องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในยุคต่อไปจะต้องปรับทัศนคติในการทำงานใหม่ จากเดิมที่ชูกำไรเป็นตัวตั้ง จะต้องหันมามองที่เป้าหมายเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนการทำงานเป็นลักษณะเครือข่าย ไม่ใช่ลำดับชั้น และเน้นการร่วมมือมากกว่าการควบคุม รวมถึงมีการทดลองทดสอบบริการรูปแบบใหม่ให้มากกขึ้น รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใส โดยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นทางรอดสำหรับการทำธุรกิจในยุคต่อไป บริษัทที่ไม่ทำการค้นหา หรือ ทดสอบนวัตกรรม จะอยู่ไม่ได้ ขณะเดียวกันการทำงานของคนในองค์กร อะไรที่เป็นเรื่องของงานประจำ ควรปล่อยมือให้คอมพิวเตอร์ เป็นคนดำเนินการ ส่วนบุคลากรในองค์กรจะต้องหันไปคิดในงานที่เป็นวิสัยทัศน์ในอนาคต