โมเดลธุรกิจในปัจจุบันของ Google คือ ช่วยให้คุณค้นหาสิ่งที่คุณต้องการ และ ขายโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับของที่คุณค้นหา เช่นเดียวกันกับ Facebook ที่ช่วยให้คุณเลือกดูคอนเทนต์ที่คุณชอบได้อย่างอิสระ และ ขายโฆษณาเกี่ยวกับคอนเทนต์ที่คาดว่าคุณจะสนใจ แล้วทำไม Uber ผู้ช่วยคลายความหิวของคุณในยุคนี้ จะกลายเป็น “พื้นที่โฆษณา” ให้กับร้านอาหารบ้างไม่ได้ละ???
แนวคิดของบริการนี้ได้เริ่มชิมลางมาบ้างแล้วกับ Uber Eats India โดยได้ทดลองให้ร้านอาหารในอินเดียใช้บริการ ร้านอาหารเข้ามาเพิ่มชื่อร้านของตัวเองเข้าไปในระบบ แล้วนำเสนอส่วนลดให้กับลูกค้า พร้อมกันนี้ยังมีฟังก์ชั่น “ค้นหา” (Search) ซึ่งสำหรับร้านที่ซื้อโฆษณาก็จะปรากฏให้เห็นเป็นพิเศษ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์กับร้านอาหารที่ต้องการเพิ่มยอดขายในช่วงนอกเวลาอาหารที่มียอดขายต่ำ ระบายสต็อคอาหาร นำเสนออาหารที่ทำกำไรได้มาก หรือ เพิ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาในร้าน รวมถึงอีกหลายเหตุผลที่จะต้องจ่ายเงินให้ Uber ไม่ว่าจะทางอ้อมผ่านการให้ส่วนลดหรือทางตรงโดยการซื้อโฆษณาเพื่อการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
Stephen Chau หัวหน้าฝ่าย Uber Eats ระบุถึงความตั้งใจที่จะเป็นบริษัทโฆษณากับ Tech Crunch ว่า “มีหนทางมากมายที่พวกเราสามารถทำงานกับร้านอาหาร หากพวกเรามีร้านอาหารในพื้นที่ค้าขายและพวกเราให้เครื่องมือแก่พวกเขา ก็จะเป็นหนทางที่ช่วยให้ร้านเหล่านี้เติบโตขึ้น การทำการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกเขาจำเป็นจะต้องซื้อโฆษณาที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ขณะนี้เรากำลังทดสอบขั้นต่อไป ให้ร้านค้าสามารถใส่โปรโมชั่นเข้าไปได้ทันที ด้วยตัวเอง ทำให้โปรโมชั่นสามารถปรากฏให้ลูกค้าเห็นได้ในทันที”
นอกจากจะเพิ่มเติม “พื้นที่โฆษณา” เข้าไปในโมเดลธุรกิจแล้ว Uber ยังรุกธุรกิจด้านอาหารเพิ่มขึ้น โดยสร้าง “Uber Eats Pool” ขึ้นมา บริการนี้จะจับคู่ออร์เดอร์อาหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันให้ไปด้วยกัน คล้ายๆ Car Pool ที่ทำให้ผู้โดยสารหลายคนที่ไปทางเดียกวัน นั่งรถคันเดียวกัน สำหรับ “Uber Eats Pool” นี้จะจับคู่ในลักษณะเดียวกัน แล้วให้ส่วนลดกับคนที่สั่งอาหารทีหลัง แต่ยอมรับอาหารจากร้านที่มีคนสั่งก่อนหน้า (ประมาณว่า ในเมื่อคุณไม่ได้เลือกอาหารด้วยตัวเอง 100% แต่จำใจสั่งอาหารจากร้านที่มีคนสั่งอยู่ก่อนหน้าแล้ว ระบบก็จะมอบส่วนลดเป็นแรงจูงใจ) รวมทั้งระบบจะมี “เวลานับถอยหลัง” เพื่อไม่ให้คนที่สั่งก่อนต้องรอนานเกินไป
นอกจากนี้ “Uber Eats Pool” ยังมีแผน จับคู่ “คน” กับ “อาหาร” ผู้โดยสารที่ยอมเดินทางไปพร้อมกับการเดลิเวอรี่อาหารในเส้นทางเดียวกัน ก็จะได้ส่วนลด เพราะผลขับเองก็ลดต้นทุนลงไปเช่นเดียวกัน
เหตุผลที่ Uber สามารถทำบริการที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลยในอดีตให้เกิดขึ้นได้เพราะ Uber นำข้อมูลของการสั่งซื้อมาทำประโยชน์มากขึ้นร่วมกับความชำนาญด้านการขนส่งจึงสามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับคนขับ Uber สุดท้ายส่งผลให้ Uber ได้รับค่าธรรมเนียมมากขึ้นอีกด้วยและการเริ่มมาทำธุรกิจโฆษณาก็เพื่อช่วยให้เกิด conversion rate มากที่สุดภายในแอปฯ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือให้กับร้านอาหารสามารถติดตามการทำโปรโมชันการบันทึกการขายได้อย่างมีประสิทธภาพมากยิ่งขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ Uber น่าจะเข้าสู่การระดมทุนในปีนี้ ดังนั้น การสร้างโมเดลที่สามารถหารายได้เพิ่มขึ้น ก็ดูจะเป็นหนทางที่ต้องเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในฐานะพลเมืองของโลก ที่อยู่ในพื้นที่ที่ ไม่มี Uber ให้บริการซะแล้ว เราก็คงต้องลุ้นกันว่าแนวคิดของ Uber ที่เป็นวิธีคิดแบบ Sharing-Economy ไปอีกขั้น ในเทคโนโลยีและข้อมูลมาพล็อตเส้นทาง แล้วจับคู่ให้คน/อาหาร ที่ต้องเดินทาง/ขนส่งเส้นทางดียวกันไปด้วยกัน จะสำเร็จหรือไม่ ถ้าทำได้น่าสนใจและน่าจะช่วยให้ลดบริการการใช้ทรัพยากรเพื่อการเดินทางไปอีกไม่มากก็น้อย