HomeDigital#10yearchallenge เมื่อเบื้องหลังความฮา อาจนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง”

#10yearchallenge เมื่อเบื้องหลังความฮา อาจนำมาซึ่ง “ความเสี่ยง”

แชร์ :

เรียกว่าเป็นกระแสฮอตฮิตอย่างมากสำหรับแคมเปญ #10yearchallenge บน Facebook(เฟซบุ๊ก) และลามไปถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Instagram(อินสตาแกรม) กับการโพสต์รูปตัวเองในปีนี้ (2019) เปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน (2009) แต่เบื้องหลังความสนุกและยอดไลก์ของแคมเปญนี้อาจหมายถึง โอกาสดีของปัญญาประดิษฐ์ที่จะได้ข้อมูลวิวัฒนาการใบหน้าของผู้ใช้งานแต่ละรายไปศึกษากันฟรีๆ ซึ่งนั่นแปลว่าข้อมูลใบหน้าของเราซึ่งในระยะหลังถูกใช้เพื่อปลดล็อคดีไวซ์ ใส่แทนพาสเวิร์ด หรือจ่ายเงิน ได้ถูกนำไปใช้อย่างง่ายๆ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยในประเด็นของการใช้ภาพใบหน้าให้ปัญญาประดิษฐ์ได้ศึกษานั้น ต้องยอมรับว่ากำลังเป็นที่ต้องการในโลกตะวันตก เนื่องจากวิธีการเก็บข้อมูลใบหน้าที่ผ่านมา ทำได้ไม่สะดวกนัก การมาถึงของแคมเปญ #10yearchallenge จึงถือเป็นโอกาสอันดีให้ผู้ที่มีเทคโนโลยีได้เข้ามาเก็บข้อมูลภาพใบหน้าไปศึกษากันอย่างสบายอารมณ์


ส่วนจะมีข้อมูลมากแค่ไหนนั้น ข้อมูลจาก
เคท โอเนล (Kate O’Neill) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและเทคโนโลยีแห่ง Koinsight คาดการณ์ว่า ภายใน 3 วันแรก แคมเปญ #10yearchallenge น่าจะสร้าง Interaction บน Facebook ได้มากกว่า 5 ล้านครั้ง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ภายนอก แต่หากเป็นจริง ก็ถือเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่มาก

แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรายนี้มองว่าเป็นความเสี่ยงก็คือ ยิ่งผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียแชร์ข้อมูลต่างๆ บนแพลตฟอร์มมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้แพลตฟอร์มรู้จักเราดีมากขึ้น และสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นไปพัฒนาสินค้าและบริการอื่นๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจประกันภัย การมีชุดข้อมูลจำนวนมากช่วยให้ระบบสามารถวิเคราะห์ได้ว่า มนุษย์คนใดมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงได้มากกว่ากันจากวิวัฒนาการของใบหน้า และอาจทำให้บริษัทตอบรับหรือปฏิเสธการให้ประกันได้โดยอิงจากฐานข้อมูลเหล่านี้ได้

พูดถึงข้อเสียไปแล้ว ข้อดีก็มีเช่นกัน เพราะมีรายงานข่าวว่า ตำรวจในนิวเดลี ประเทศอินเดียสามารถตามหาเด็กหายเกือบ 3,000 คนได้ภายใน 4 วันจากการให้ปัญญาประดิษฐ์ศึกษาภาพใบหน้าของเด็กๆ ที่หายตัวไป ซึ่งตอนนี้เด็กๆ ได้ถูกส่งตัวกลับบ้านแล้วเรียบร้อย

หรือในแง่ของการให้บริการ ข้อมูลใบหน้าก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่มีศักยภาพมากในการสร้างบริการแบบ Personalized หนึ่งในภาพที่ชัดที่สุดก็คือบรรยากาศของงาน CES 2019 ในลาสเวกัสที่พบว่า ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ยานยนต์ เฮลท์แคร์ ฯลฯ ต่างเข็นนวัตกรรมของตัวเองออกมาโดยอิงพื้นฐานจากใบหน้าเป็นสำคัญ เช่น รถยนต์จากค่าย Byton ของจีน ที่ออกแบบให้ระบบเอนเตอร์เทนเมนต์ภายในรถยนต์สามารถเลือกเพลงได้ตามความชอบของผู้โดยสาร

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ตระหนักถึงความเสี่ยงของการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลออกสู่โลกออนไลน์ และอยากหาทางป้องกันก็ยังมีโอกาสอยู่ นั่นคือการกลับไปตั้งค่าการโพสต์ให้มองเห็นได้เฉพาะเพื่อน เพราะหากไม่เปิดให้เป็นโพสต์สาธารณะ โอกาสที่บุคคลภายนอกจะเข้าถึงข้อมูลก็ลดลงไปด้วย

ที่สำคัญ การโพสต์หรือแชร์ข้อมูลต่าง ๆ สู่โลกโซเชียลนั้น ไม่ควรเป็นการโพสต์พร้อมกับฝากความหวังว่าแพลตฟอร์มจะรักษาข้อมูลนั้น ๆ ให้เราอย่างดี แต่ควรเป็นการคิดก่อนโพสต์ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อโพสต์ออกไปแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นจะไม่ทำให้เราเดือดร้อนในภายหลังนั่นเอง

ส่วน Facebook ล่าสุดได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า บริษัทไม่ได้มีส่วนร่วมกับ #10yearchallenge แต่อย่างใด ความฮอตฮิตในตอนนี้มาจากผู้ใช้งานที่เริ่มต้นเล่นกันเองทั้งสิ้น เอาจริงๆ แล้วตอนนี้ยังไม่มีผู้เสียหายรายใดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกรณีนี้ แต่ดูเหมือนเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว จะกลายเป็นความคลางแคลงใจที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งหลายระวังตัวเอาไว้ก่อนก็คงจะดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ตั้งค่าโพสต์ของตัวเองเป็น “สาธารณะ” (Public)

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like