แม้ว่าหลายคนจะมอง Google ว่ามีความคิดสร้างสรรค์มากในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตั้งแต่แผนที่ จนไปถึงระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือ Android แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งที่บริษัททำจะประสบความสำเร็จดังเป็นพลุแตกทั้งหมด
บริการบางอย่างเกิดขึ้นมาเพื่อต่อยอดไปสู่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง หรือ ถูกสร้างขึ้นมาจาก “Insight” ของคนบางกลุ่ม ที่ถูกคาดหวังว่าจะทำให้บริการที่สร้างขึ้นมานั้นไปตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม และบางบริการที่ต้องยุติการให้บริการอาจจะด้วยเหตุผลว่า ในปัจจุบันนี้พัฒนาการของเทคโนโลยีมีนวัตกรรมที่ดีกว่า เข้ามาตอบโจทย์แล้ว และนั่นก็หมายความว่าบริการบางอย่างก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป
ล่าสุด ถึงคิวของ Allo แอปฯ รับส่งข้อความอีกตัวหนึ่งของ Google ที่ประกาศยกเลิกการพัฒนาต่อและจะยุติการให้บริการในเดือนมีนาคมในปี 2019 และนี่คือ 19 ผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวและย้ายไปอยู่ในสุสานของ Google จากหลายปีที่ผ่านมา
1. Google Answers คือโปรเจคแรกที่ Google เข็นออกมาตามแนวคิดของ Larry Page Answers มีอายุได้ 4 ปี ก่อนที่จะปิดรับคำถามในที่สุดในปี 2006 แม้ว่าไอเดียของ Page คือเปิดตลาดความรู้ จากผู้ใช้งานสามารถตอบคำถามที่มีการทำวิจัย ค้นหามาดีระดับหนึ่ง และคำตอบที่คนถามเลือกให้เป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็จะได้รับเงินไปตั้งแต่ 2 ถึง 200 ดอลลาร์ ตั้งแต่การเปิดบริการนี้ขึ้นมา Google ได้เงินรางวัลคิดเป็น 25% ของเงินที่จ่ายทั้งหมด และยังได้ค่าธรรมเนียม 50 เซนต์ ต่อ 1 คำถาม
2. Lively โลกเสมือนจริงของ Google ที่มีอายุได้เพียงปีกว่าๆ Google กล่าวว่า Lively ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต้องการให้ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและการแสดงออกเกี่ยวกับตนเองในวิธีใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจนทำให้ปิดตัวลงในปี 2008
3.Google Glass ซึ่งในตอนเปิดตัวครั้งแรกก็สร้างความฮือฮากับผู้คนอย่างมาก เพราะเป็น Gadget ล้ำยุคเหมือนหลุดออกมาจากหนัง Sci-Fi ในปี 2012 แต่แว่นตาอัจฉริยะนี้ก็ไม่ได้ผลิตออกจำหน่ายทั่วไป ด้วยสาเหตุจากราคาค่าตัวที่สูงมาก ปัญหาซอฟท์แวร์ และความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นเพราะเจ้าตัวแว่นตานี้ของ Google มีกล้องติดอยู่ด้านหน้า และในที่สุด Google ยุติการขายแว่นตานี้ในเดือนมกราคม 2015 แต่ Google ยังคงพัฒนาแว่นตานี้ต่อไปให้เพื่อใช้ในเชิงธุรกิจหรืออุตสาหกรรมบางอย่าง รวมทั้งยังคงพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อ เพื่อรองรับอนาคต
4. Google Buzz หนึ่งในโซเชียวเน็ตเวิร์คที่ผนวกเข้ากับ Gmail แต่ก็มีปัญหาเรื่องของความเป็นส่วนตัวและไม่ได้รับความนิยมเลย ทำให้ Google ประกาศปิดตัวลงในเดือนตุลาคม 2011 และหันไปให้ความสนใจกับ Google+ แทน
5.มือถือรุ่นพิเศษ Google Played edition ที่มีการเปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิปี 2014 แต่ในเดือนมกราคม 2015 โทรศัพท์มือถือรุ่นพิเศษนี้ก็ไม่มีการวางจำหน่ายอีกต่อไป พาลทำให้ Samsung และ HTC พาร์ทเนอร์ในโปรเจ็กท์นี้ต้องเงียบกริบไปด้วย
6. Google Wave ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนสามารถสื่อสารและร่วมมือทำงานด้วยกันแบบ real time แต่เนื่องจากผู้ใช้งานสับสนในการใช้งาน จนในที่สุดก็ถูก Google ปิดตัวลงในเดือนสิงหาคม 2010 มีอายุได้ปีกว่า
7. Google Video ก่อนที่ Google จะเข้าซื้อกิจการ YouTube ในปี 2006 Google พยายามที่จะมีเว็บไซต์บริการ video streaming เพื่อมาแข่งกับ YouTube นั่นก็คือ Google Video นั่นเอง แม้ Google จะปิดบริการ Google Video ในปี 2012 ก็ตามแต่ในปี 2009 ก็ไม่สามารถอัพโหลดวีดีโอใหม่ขึ้นไปได้แล้ว
8. Google’s Nexus Q ก่อนที่ Google Home จะเปิดตัวพร้อมผู้ช่วยอัจฉริยะ ก็มี Google’s Nexus Q นี่เป็นสินค้าที่คล้ายกัน ที่เปิดตัวในงานประชุมนักพัฒนาในปี 2012 ด้วยราคา 299 ดอลลาร์ Google ตัดสินใจเก็บสินค้านี้ออกจากชั้นวางจำหน่ายก่อนถึงวันขายจริงด้วยซ้ำเนื่องจากเสียงตอบรับด้านลบของบล็อกเกอร์สายเทคโนโลยี
9.Google X ตัวเลือกสำหรับ UI ของบริการค้นหา ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนักจนถูกปิดตัวลงในเดือนมีนาคม 2005 และชื่อของ Google X ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นชื่อของหน่วยวิจัยของ Google
10.Google Health ที่ในตอนแรกมีความตั้งใจจะให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลสำหรับสุขภาพแต่กลับถูกปิดตัวลงในเดือนมกราคม 2012 หลังจากการสังเกตการณ์พบว่าการบริการนี้ไม่มีผลกระทบในวงกว้างเท่าที่ Google คาดหวังไว้
11. Google Reader เป็นแอปฯ สำหรับอ่านข่าวที่ให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลข่าวจากบลอคหรือเว็ปไซต์ข่าว โดย Google ประกาศปิดตัวบริการนี้ลงในเดือนมีนาคม 2013 แต่เนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมากเรียกร้องทำให้ปิดตัวลงได้จริงๆ ก็ปาเข้าไปเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน
12. Google Catalogs แหล่งรวมแคตตาลอกสำหรับสาวกนักชอปที่เมื่อเปิดแคตตาลอกแล้วสามารถคลิกรูปเพื่อซื้อของได้เลย หรือ หาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นได้เช่นวิดีโอ รวมทั้งการตัดแปะภาพเป็นสมุดรวมเล่มไอเทมที่อยากได้พร้อมแชร์ให้ผู้ใช้ Google Catalogs หรือ social media อื่นได้ด้วย แต่น่าเสียดายที่บริการนี้ถูกปิดตัวลงไปในปี 2013 สำหรับแอปฯ ในมือถือ และปิดตัวลงถาวรผ่านเดสก์ทอปในปี 2015
13. Google Hangouts On Air บริการถ่ายทอดสดซึ่งตอนหลังกลายมาเป็น YouTube Live แทน ถูกยุติบทบาทลงในเดือนกันยายน 2016 ซึ่งในตอนแรกก็ได้รับการตอบรับที่ดีและถูกใช้โดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และ โป๊ป ฟรานสิส
14. Dodgeball แอปฯ ที่ให้ผู้ใช้สามารถเช็คอินสถานที่ได้ ถูกซื้อโดย Google ในปี 2005 แต่ดูเหมือนว่าผู้ก่อตั้ง Dennis Crowley จะมีเรื่องบาดหมางกับ Google และได้ลาออกไปในปี 2007 และ Crowley เองก็ได้สร้างแอปฯ ใหม่สองปีหลังจากนั้นที่มีชื่อว่า Foursquare
15. iGoogle หน้าโฮมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานเช่นการเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ถูกสร้างขึ้นในปี 2005 และปิดตัวลงในปี 2013 โดยเหตุผลในการปิดบริการนี้คือผู้ใช้ไม่ต้องการ iGoogle แล้วเพราะสามารถใช้งานต่างๆ ผ่าน Chrome และ Android ได้
16. Orkut เป็นหนึ่งในบริการ social network ของ Google จากโปรเจคที่มีชื่อว่า “20% time” และได้รับความนิยมอย่างมากนอกอเมริกา โดย Google ตัดสินใจยุติการให้บริการนี้ในเดือนกันยายน 2014
17.Google Notebook บริการที่ให้ผู้ใช้ก็อปวางลิ้งค์ URL หรือเขียนโน้ตที่สามารถแชร์หรือพิมพ์ได้ ซึ่งบริการนี้ถูกแทนที่ด้วย Google Docs และยุติการพัฒนาต่อในปี 2009 และปิดการใช้งานปี 2012 จากการปิดนี้ Google ได้ย้ายสิ่งที่อยู่ใน Google Notebook มาที่ Google Docs แทน
18. Google+ อีกหนึ่งบริการ social networking ที่ Google หมายมั่นปั้นมือให้เป็นตัวชูโรงแต่กลับต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถเป็นที่นิยมของสาธารณะชนได้ และ Google ทำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานหลุดไปหลายแสนราย แม้ว่าจะมีการรับรู้ถึงปัญหาข้อมูลส่วนตัวหลุดตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่ผู้บริการกลับตัดสินใจที่จะไม่เปิดเผยเรื่องราวนี้ออกสู่สาธารณะ จากรายงานของ WSJ
19. Allo แอปฯ ส่งข้อความพลัง AI ที่ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คิดไว้ ได้เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปี 2016 แอปฯ นี้ถูกคาดหวังให้เป็นแอปฯ ส่งข้อความฉลาดโดยมี Google Assistant ฝังอยู่ในแอปฯ สำหรับการค้นหาบางอย่าง เช่น แนะนำร้านอาหาร หรือ ให้ข้อมูลบางอย่าง และในเดือนเมษายน ปี 2018 Google ได้ประกาศหยุดการลงทุนในแอปฯ ส่งข้อความนี้และสุดท้ายประกาศปิดตัวลงในเดือนมีนาคม ปี 2019
ถึงแม้ว่าจะมีหลายโปรดักท์ต้องโบกมือบ๊ายบายจากไป แต่ต้องยกย่องว่าความมุ่งมั่นตั้งใจ R&D ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้ใช้งาน ของกูเกิ้ล มีส่วนผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ที่ช่วยมนุษยชาติให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น และหลายๆบริการก็ถูกพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นภายหลัง ถ้าหากว่าไม่มีการลงมือทำในวันนั้น ก็อาจจะไม่มีสินค้าที่ดีเช่นทุกวันนี้..