HomeBrand Move !!5 ทางรอดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก ในยุคที่บิ๊กเนมครองตลาด

5 ทางรอดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก ในยุคที่บิ๊กเนมครองตลาด

แชร์ :

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมืองไทยแต่ละปีมีการเปิดตัวโครงการใหม่ไม่ต่ำกว่า 300,000-400,000 ล้านบาท  โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล ซึ่งเป็นผลจากความเจริญของเมืองที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในเมืองหลวง ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี

แต่หากกวาดสายตาไปดูชื่อของผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการออกมาขาย ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทบิ๊กเนมในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งนับจำนวนโครงการรวมกันก็กินแชร์ในตลาดที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 80% เพราะด้วยขนาดบริษัทที่ใหญ่ มีความสามารถทั้งด้านการบริหาร แหล่งเงินทุน และประสบการณ์ จึงนับได้ว่ามีความได้เปรียบมากกว่าดีเวลลอปเปอร์รายกลางและรายเล็ก ซึ่งสมรภูมิการแข่งขันในปี 2562 ยังเชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯ ยังจะคงร้อนแรงต่อเนื่อง การเปิดตัวโครงการก็ยังคงมีไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าในภาพรวมแล้วปีนี้ธุรกิจอาจจะต้องเผชิญกับปัจจัยที่มาชะลอความร้อนแรงของธุรกิจอสังหาฯ ลงบ้าง อย่างมาตรการการเพิ่มเงินดาวน์จาก 10% เป็น 20% กับการซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่จะถูกนำมาใช้ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้หลายฝ่ายยังคงมองภาพรวมตลาดอสังหาฯ ว่ามีทิศทางเป็นบวก แต่การดำเนินธุรกิจคงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างรอบด้าน เพราะการดำเนินธุรกิจในทุกวันนี้ สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสามารถทั้งการบริหารงานและเงินทุนอาจจะได้เปรียบกว่าเพื่อน ส่วนดีเวลลอปเปอร์รายกลางและรายเล็ก คงต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังมากกว่าที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

และนี่คือ 5 แนวทางในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ​ ของผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อสร้างการเติบโตในปี 2562 

1.ลดปริมาณสินค้าที่มีอยู่ (Stock) ให้น้อยลง โดยต้องพยายามขายสินค้าที่มีอยู่ออกให้หมดโดยเร็ว ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ในการเพิ่มเงินดาวน์ในการซื้อบ้านหลังที่ 2 จะเริ่มบังคับใช้ในต้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และอาจเกิดภาวะชะลอตัวของการซื้อบ้านได้

2.การทำวิจัยตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อหาช่องว่างหรือโอกาสทางการตลาด และสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3.ควบคุมหนี้สินต่อทุน (DE Ratio) ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไป เพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินจะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อโครงการ ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนก็น่าจะยังสูง

4.ยึดพื้นที่ทำตลาดที่ตนเองชำนาญ ถ้าเราเป็นรายเล็กที่ชำนาญการทำธุรกิจในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ควรขยายธุรกิจออกนอกพื้นที่ดังกล่าว หรือพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เพราะจะเผชิญความยากลำบากในการทำตลาด และหากมีโอกาสควร Re-positioning ตัวเองให้ชัดเจน

5.ปรับปรุงระบบการบริหารภายใน โดยเน้นการดำเนินธุรกิจที่รวดเร็ว เพราะบริษัทที่จะอยู่รอดได้ไม่ได้วัดกันที่ขนาด แต่จะดูเรื่องประสิทธิภาพการบริหารงานที่รวดเร็ว และความแข็งแกร่งของธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงต้องกลับมาทบทวนและดูว่า ภายในองค์กรอะไรเป็นจุดแข็ง และอะไรเป็นจุดอ่อนที่จะต้องปรับปรุง

ในส่วนของ  ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อีกรายที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย เมื่อภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ยังคงเติบโต แต่เป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว และยังมีความต้องเจอกับความเสี่ยงหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัว สงครามการค้า การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

Big Data พัฒนาตอบโจทย์ลูกค้ายุค 4.0

คุณไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปีนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ​ จะต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น รวมทั้งสำหรับแผนงานของบริษัทในปีนี้ จะใช้ Big Data มาทำการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า และทำการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ตรงจุด โดยเฉพาะการปรับฟังก์ชั่นบ้านตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ จะปรับฟังก์ชั่นห้องชั้นล่างเป็นห้องทำงาน กลุ่มครอบครัว จะปรับฟังก์ชั่นห้องชั้นล่างเป็น ห้องของผู้สูงอายุ หรือห้องสำหรับครอบครัว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังนำเอา Big Data มาใช้ทำการวิเคราะห์การทำตลาด การบริการหลังการขาย และการจัดทำกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM ด้วย ซึ่งจะออกแบบกิจกรรมให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้ากว่า 20,000 ราย และมีลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโครงการแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 8,000-9,000 คน นอกจากการใช้ Big Data เข้ามาวิเคราะห์ด้านการทำตลาดแล้ว ปัจจุบันบริษัทยังมุ่งเน้นการสื่อสารและการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในช่องทางออนไลน์เป็น 30%

ส่วนแผนการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ วางไว้ประมาณ 8-10 โครงการ  มูลค่าโครงการรวม 4,000-4,500 ล้าบาท ซึ่งเตรียมงบประมาณซื้อที่ดินไว้ 1,000 ล้านบาท ​คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 5,300 ล้าบาท และรับรู้รายได้ 4,650 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% จากปีที่ผ่านมา


แชร์ :

You may also like