หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 สิ่งที่ University Carlos III de Madrid ได้มีการศึกษาและนำตัวเลขมาเปิดเผยกันในเวลาต่อมาก็คือ การใช้เงินของทีมงานโดนัล ทรัมป์ ที่ใช้จ่ายไปถึง 44 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,399 ล้านบาท) ผ่านแคมเปญโฆษณากว่า 175,000 ชิ้นบนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook” (เฟซบุ๊ก) ขณะที่ ฮิลลารี คลินตันจากพรรคเดโมแครตใช้เงินไป 28 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 890 ล้านบาท
หันมาที่ประเทศไทย การเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ทำให้โลกโซเชียลมีเดียในบ้านเราคึกคักขึ้นเช่นกัน แต่ในความคึกคักนั้น ก็มาพร้อมกับข้อสงสัยเกี่ยวกับการโพสต์ และการลงโฆษณาของพรรคการเมืองบน Facebook ด้วยว่าสิ่งใดสามารถทำได้ และสิ่งใดที่ไม่สามารถทำได้
โดยหากพิจารณาจากมาตรฐานชุมชน หรือ Community Standards ของ Facebook ที่มีการเผยแพร่ในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า หลัก ๆ แล้ว การโพสต์ของผู้ใช้งานปกติทำได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ไม่ใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)
- ไม่ใช่การกลั่นแกล้งรังแก (Bullying)
- ไม่ใช่คอนเทนต์หัวรุนแรง (Extremist Content)
- ไม่ใช่คอนเทนต์ภาพโป๊ หรือกิจกรรมทางเพศ
- ไม่ใช่การเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News)
- ไม่ใช่การแทรกแซงการเลือกตั้ง
- เป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างอิสระ และแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม
ส่วนการแยกแยะว่าโฆษณาใดเป็นโฆษณาทางการเมืองนั้น เคธี ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลก และการประสานงานกับภาครัฐของ Facebook เผยว่า โฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง (Political Ads) บนเฟซบุ๊กจะมีจุดสังเกตดังนี้
- มีการเปิดเผยตัวตนผู้ลงโฆษณา
- มีการระบุว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินค่าโฆษณาครั้งนี้
- มีการเปิดเผยกลุ่มเป้าหมายตาม Demographic ที่ผู้ลงโฆษณากำหนด
- หากมีข้อสงสัย สามารถเข้าไปตรวจสอบในเพจของผู้ลงโฆษณาได้ เพราะจะปรากฏโฆษณาอยู่ที่ด้านบนของเพจ และมีข้อมูลของเพจให้ตรวจสอบย้อนหลัง
นอกจากนั้น Facebook ยังมีเครื่องมือสำหรับการลงโฆษณาทางการเมือง (Political Ads) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น และปัจจุบันเปิดใช้งานแล้วในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีแผนจะเปิดตัวในระดับโลกเดือนมิถุนายนนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี Facebook ระบุว่า เครื่องมือเพื่อการลงโฆษณาทางการเมืองนั้นต้องปรับแต่งให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการเลือกตั้งของแต่ละประเทศ ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของแต่ละประเทศประกาศความชัดเจนออกมาก่อน ทางแพลตฟอร์มจึงจะปรับเครื่องมือให้เป็นไปตามที่กฎข้อบังคับของแต่ละประเทศต่อไป
False News สังเกตอย่างไร
False News เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เราจึงขอนำวิธีการสังเกต False News เบื้องต้นบนแพลตฟอร์มของ Facebook มาฝากกัน ดังนี้
- ข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจ บางทีก็ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์เข้ามาร่วมด้วย ดังนั้น ให้สงสัยไว้ก่อน หากพบข่าวสารที่มีพาดหัวตื่นตระหนกเกินจริง
- สังเกตที่ URL เพราะเว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
- สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน “เกี่ยวกับ” เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
- เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาท์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
- พิจารณารูปภาพ หากพบภาพน่าสงสัย เช่น รูปภาพหรือวิดีโอที่ตัดต่อขึ้น หรือภาพจากเหตุการณ์อื่น ผู้ใช้งานก็สามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากที่ไหน
- ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
- ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
- ดูรายงานอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
หรือในกรณีที่มันดูเป็นเรื่องตลกมากเกินไป ก็อาจต้องเข้าไปยังที่มา ว่าเป็นเว็บไซต์ หรือผู้ผลิตคอนเทนต์แนวล้อเลียนหรือไม่ เพราะบางทีก็แยกกันได้ยากระหว่างข่าวปลอมกับเรื่องตลก สิ่งสุดท้ายที่ Facebook ฝากไว้จึงเป็นการใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ เสมอ และแชร์เฉพาะข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ระวัง Close Groups
ส่วนรูปแบบการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียในการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาอย่างไร รวมถึงจะมีการพลิกแพลงโซเชียลมีเดียเพื่อให้เข้ากับผลประโยชน์ของฝ่ายตนเองอย่างไรนั้น คุณกฤชญา กู้ธนวัฒน์ Head of Social & Content บริษัทคามิลเลี่ยน ในเครือวันเดอร์แมน ธอมสัน ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นไปได้ที่กลุ่มการเมืองจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มปิด (Close Group) มากขึ้น โดยเฉพาะบรรดาหัวคะแนนของแต่ละพรรค เนื่องจากการมอนิเตอร์ทำได้ยากกว่าการลงโฆษณา
ส่วนรูปแบบการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียนั้น คุณกฤชญามองว่า จะได้เห็นคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในพรรคการเมืองมากขึ้น แต่ภาพเหล่านี้ เบื้องหลังอาจเป็นนักการเมืองรุ่นบุกเบิกที่คอยวางกลยุทธ์ให้ก็เป็นได้