สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี เผยผลการศึกษาทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย แนะให้คนไทยต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีหน่วยงานที่วิเคราะห์ลักษณะงานที่เป็นที่ต้องการในอนาคต แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข และส่งเสริมการปรับชุดความคิด (Mindset) และฝึกทักษะ (Skill) ที่จำเป็น พร้อมเสนอแนะภาครัฐให้สร้างภาพลักษณ์ของคนไทย ปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างความตระหนักในการปรับชุดความคิดให้ทันโลกในปัจจุบัน
ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี เปิดเผยภายหลังงานแถลงข่าว “แนวโน้มยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศไทย : สร้างประชากรไทย 4.0 สู่โลกยุคใหม่” ว่า จากการศึกษาทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย โดยไอทีดีสามารถสรุปบทวิเคราะห์ได้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการวางแผนกลยุทธ์จะช่วยทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคประชาสังคม มีแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยหาทางแก้ไข พร้อมทั้งสามารถกำกับติดตามและประเมินผลแผนงานได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อสร้างคนคุณภาพ ให้มีความรอบรู้ในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้และสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากการใช้เทคโนโลยี
2. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและงานในอนาคต จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ส่งผลให้แนวโน้มอุตสาหกรรมและงานในอนาคตมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภาครัฐควรมีการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและงานเพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมด้านทุนมนุษย์ เพราะหากอุตสาหกรรมและงานมีการทดแทนการใช้แรงงานคนด้วยเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ ควรมีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการจ้างงานที่เชื่อมโยงกับการใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ รวมทั้งศึกษาทักษะและคุณลักษณะที่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
3. ความเหลื่อมล้ำ ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย คือ การศึกษา ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยยังดำเนินไปได้ช้า และในช่วงที่ผ่านมามีแนวคิดให้ครูปรับเปลี่ยนวิธีการสอนโดยเน้นให้นักเรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง วิธีการสอนดังกล่าวได้ผลดีกับผู้เรียนที่ครอบครัวและผู้ปกครองมีความพร้อม แต่สำหรับเด็กที่ครอบครัวและผู้ปกครองไม่มีความพร้อมย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ทำให้การเข้าถึงการเรียนรู้ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน สำหรับผู้เรียนที่ไม่พร้อม ขาดต้นทุนในการเรียน จะกลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสำหรับยุคดิจิทัลในอนาคต อีกประเด็นคือ ด้านสาธารณสุข สาเหตุจากการใช้จ่ายภาครัฐที่กำหนดให้สวัสดิการข้าราชการครอบคลุมการเบิกจ่ายยาในบัญชียาหลักและยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทองและประกันสุขภาพเข้าถึงเฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น โดยยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นยาใหม่ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสด้านสาธารณสุข และ
4.ชุดความคิด (Mindset) และทักษะ (Skills) ที่จำเป็น โดยแบ่งเป็นการปรับชุดความคิดและทักษะของข้าราชการและบุคลากรของรัฐ โดยภาครัฐควรมีชุดความคิดที่เปิดกว้าง คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การทำงานต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสมเพื่อที่จะเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้เกิดการบูรณาการเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล นอกจากนั้นการปรับชุดความคิดของผู้เรียนก็มีส่วนสำคัญเพราะปัจจุบันประเทศไทยเน้นการเรียนรู้เพื่อการสอบแข่งขันมากกว่าการเรียนเพื่อเสริมสร้างความรู้ ขาดการสร้างกระบวนความคิด ให้คิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ และสุดท้าย ต้องเพิ่มทักษะที่มีความจำเป็นเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานและอุตสาหกรรมในอนาคต โดยสถาบันแมคเคนซี่ พบว่า ภายในปี 2030 ความต้องการทักษะทางเทคโนโลยี จะมีอัตราการเพิ่มสูงสุด รองลงมาคือทักษะทางอารมณ์และสังคม
ดร.กมลินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากบทวิเคราะห์ดังกล่าวสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ประเด็น ได้แก่
1. การสร้างอัตลักษณ์ (Positive Identity) ของคนไทย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการกำหนดเป้าหมายใช้ชัดเจนเกี่ยวกับอัตลักษณ์คนไทย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับคนไทยในมุมมองนานาชาติ
2. การปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาควรมีการวางแนวทางร่วมกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญา ทั้งนี้ ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะต่อไปของการปฏิรูปการศึกษาของไทย ประกอบด้วย การส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาแบบบูรณาการเข้ากับการทำงานในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน และการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยการจัดทำและบริหารโครงการ
3. การผลักดันแนวทางและนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ ควรเร่งทำความเข้าใจและผลักดันแนวทาง นโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้งานและปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา นอกจากนี้ จะต้องดำเนินยุทธศาสตร์การใช้จ่ายภาครัฐที่มุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างทั่วถึงคู่ขนานไปอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณที่จะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไป และ
4. การสร้างความตระหนักในการปรับชุดความคิด (Mindset) และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ในยุคของการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน (Disruptive Transformation) ส่งผลให้เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการปรับชุดความคิดและทักษะให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง”
“สำหรับแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศไทย ได้มีการจัดทำและดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม 2) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 3) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 4) ตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย 5) การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และ 6) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561- 2580) สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีความสมบูรณ์ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง”